เมื่อตำรวจเป็นผู้ร้าย โดย วสิษฐ เดชกุญชร

ตํารวจยังตกเป็นจำเลยของสังคมและยังไม่มีทีท่าว่าจะพ้นข้อหา ซ้ำร้ายยังเกิดกรณีใหม่ขึ้นอีกหลายกรณี ซึ่งเป็นการซ้ำเติมและทำให้ภาพลักษณ์ของตำรวจเสียหายหนักลงไปอีก

กรณีหนึ่งเกิดขึ้นเมื่อบุตรชายของนางบังอร ทองอ่อน ชาวบ้านดงบัง ตำบลโนนทอง อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ไปร้องทุกข์กับสถานีวิทยุ โทรทัศน์ช่อง 9 ว่ามารดาของตนหายไปเมื่อเดือนมิถุนายน 2557 ทางสถานีจึงได้ส่งผู้สื่อข่าวไปตรวจสอบจนพบซากศพซึ่งเชื่อว่าเป็นของนางบังอร และต่อมาการพิสูจน์หลักฐานก็ยืนยันว่าเป็นซากศพของนางบังอรจริง การตรวจพบนั้นนำไปสู่การตรวจพบร่องรอยอื่นๆ ซึ่งน่าสงสัยว่าเป็นของการฆ่าและเผาศพโดยใช้วิธี “นั่งยาง” (คือฆ่าแล้วเผาเพื่อทำลายหลักฐานโดยใช้ยางรถยนต์เป็นเชื้อเพลิง) อีกหลายจุดในป่าสงวนแห่งชาติกุดจับ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านไปนี้

ราษฎรในหมู่บ้านใกล้เคียงบอกผู้สื่อข่าวว่า บริเวณนั้นเป็นที่ๆ เจ้าหน้าที่ใช้เป็นที่ฆ่าและเผานั่งยางผู้ต้องสงสัยว่าค้ายาเสพติดมาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว และชาวบ้านไม่ติดใจ เพราะเชื่อว่าผู้ถูกฆ่าและเผาเป็นผู้กระทำผิดฐานค้ายาเสพติดจริงๆ

พอข่าวการตรวจพบซากศพของนางบังอรแพร่ออกไป ก็มีราษฎรอีกหลายรายเข้าแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ว่าญาติของตนก็หาย และสงสัยว่าจะถูกตำรวจนำไปฆ่าและเผานั่งยางในบริเวณเดียวกัน และขอให้เจ้าหน้าที่ช่วยตรวจสอบให้ด้วย ร้อนถึงผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ผู้บัญชาการตำรวจ ภูธรภาค 4 และผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 24 ต้องสั่งให้เจ้าหน้าที่ออกไปร่วมกันสืบสวน

Advertisement

ต่อมาเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2559 พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้นำคณะออกไปตรวจที่เกิดเหตุ หลังจากนั้น พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติได้เสนอผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติขอให้หน่วยงานอื่นๆ เข้าร่วมตรวจสอบคดีนี้ด้วยเพื่อความโปร่งใส เนื่องจากมีบางคดีที่ตำรวจมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แถลงว่าสามารถทำได้และถือว่าเป็นเรื่องดี เพราะสังคมจะได้ไม่เคลือบแคลงสงสัยในการทำงานของตำรวจ

การเสนอให้หน่วยงานอื่นร่วมตรวจสอบเป็นวิธีที่มิได้อยู่ในกฎหมายหรือระเบียบข้อบังคับของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่เป็นการยอมรับว่าหากการสอบสวนกระทำโดยตำรวจแต่ฝ่ายเดียวก็อาจทำให้มีผู้สงสัยหรือข้องใจได้ว่าตำรวจจะมีอคติเข้าข้างผู้ต้องสงสัยซึ่งเป็นตำรวจด้วยกันหรือไม่ การเสนอให้หน่วยราชการอื่นร่วมตรวจสอบด้วยจึงสะท้อนความมีวิสัยทัศน์ที่น่าชมเชยของผู้เสนอคือ พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ และการที่ พล.ต.อ.จักรทิพย์เห็นสอดคล้องว่ากระทำได้ ก็เป็นสิ่งที่น่าชมเชยเช่นเดียวกัน

ผมจึงหวังว่าในไม่ช้านี้เราจะได้ข่าวการตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างตำรวจและผู้แทนหน่วยอื่นทั้งที่เป็นของราชการและเอกชน อาทิ ผู้แทน กระทรวงยุติธรรม ผู้แทนสภาทนายความ ขึ้นเพื่อติดตามการสืบสวนและสอบสวนคดีฆ่าและเผานั่งยางที่อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี

Advertisement

การตั้งคณะกรรมการร่วมของสำนักงานตำรวจแห่งชาติและหน่วยงานราชการและเอกชนนี้จะเป็นต้นแบบให้เกิดการร่วมกันติดตามการสืบสวน และสอบสวนคดีอื่นๆ ที่ตำรวจเป็นผู้ต้องสงสัย เป็นการประกันความสุจริตและโปร่งใสของตำรวจ และประกันด้วยว่าประชาชนผู้เสียหายและญาติจะได้รับความเป็นธรรมอย่างแท้จริงในการดำเนินคดีของตำรวจ

สำนักงานตำรวจแห่งชาติควรรีบผลักดันให้เกิดคณะกรรมการร่วมนี้ขึ้นโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะจะเป็นการช่วยกู้ชื่อเสียงและเกียรติภูมิของตำรวจที่ตกต่ำและเสียหายไปให้คืนมาโดยลงทุนน้อยที่สุด

เพียงแต่อาศัยความสุจริตใจและจริงใจของตำรวจเท่านั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image