สุจิตต์ วงษ์เทศ : เทริดโนราภาคใต้ แพร่หลายลงไปจากภาคกลาง พร้อมละครชาวบ้านยุคอยุธยา เรียกละครชาตรี

ชม ‘มโนห์รา’ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ชมการแสดงการรำมโนห์รา การแสดงพื้นถิ่นของภาคใต้ เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ภาพยนตร์เรื่อง “เทริด” ที่จะเข้าฉายในโรงภาพยนตร์วันที่ 19 พฤษภาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม

เทริด เป็นเครื่องสวมหัวเมื่อเล่นละครแบบเก่าสุดในราชสํานักยุคต้นอยุธยา (หรือก่อนนั้น) มีต้นเค้าแรกสุดเป็นกะบังหน้าในประติมากรรมแบบเขมร ตั้งแต่ราวหลัง พ.ศ. 1400
ปัจจุบันมักเรียก “เทริดโนรา” เพราะยังใช้ใส่เล่นโนราทางภาคใต้
แต่ความจริงเป็นเทริดละครยุคแรกเริ่มในอยุธยา ส่วนโนราแบบภาคใต้แท้จริงแล้วคือละครนอกของอยุธยา แพร่หลายลงไปทางใต้ นับเป็นละครนอกตกค้างเก่าแก่ที่สุด แต่เรียกโนราตามชื่อตัวละครเอกที่นิยมเล่นเรื่องนางมโนห์รา
ความสําาคัญของเทริดยังเห็นได้จากบนแท่นเชิญศีรษะศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ในพิธีไหว้ครู ครอบโขนละคร ต้องมีเทริดตั้งไว้บูชาด้วย

 (ซ้าย) เทริด รําแม่บท โนราทางภาคใต้ (ขวา) ชฎานางและมงกุฎพระ
(ซ้าย) เทริด รําแม่บท โนราทางภาคใต้ (ขวา) ชฎานางและมงกุฎพระ

เครื่องสวมหัวละคร คือศิราภรณ์ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มีหลักฐานวิวัฒนาการในประติมากรรมทางศาสนาทั้งในสุวรรณภูมิและอุษาคเนย์ ตั้งแต่ยุคยังไม่พบหลักฐานว่ามีคนเรียกตัวเองว่า “คนไทย”

ฉะนั้น จะตีขลุมว่าเครื่องสวมหัวเป็นงานช่างไทยมาแต่เดิม ย่อมไม่ตรงความจริงตามหลักฐานประวัติศาสตร์และโบราณคดี เพราะเครื่องสวมหัวละคร เป็น “วัฒนธรรมร่วม” ของสุวรรณภูมิและอุษาคเนย์ มีชื่อเรียกต่างๆ กันว่า ชฎา, มงกุฎ ฯลฯ

ชฎา, มงกุฎ มีต้นแบบจากวัฒนธรรมอินโด-เปอร์เซีย ที่นักบวชอินเดียโบราณรวบผมถักเป็นลอนเกล้าสูงขึ้นไป

Advertisement

เพื่อยืนยันให้รู้ว่าเทริด, ชฎา, มงกุฎ เครื่องสวมหัวละคร เป็น “วัฒนธรรมร่วม” ของสุวรรณภูมิและอุษาคเนย์ จะขอยกคําอธิบายและรูปประกอบของ ดร. ประภัสสร์ ชูวิเชียร (อาจารย์ประจําภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร) ที่กรุณาทํามาให้ดังต่อไปนี้

 

(ซ้าย) ชฎามกุฎ คือการรวบผมที่ถักเป็นลอนให้เกล้าสูงขึ้นไป แล้วทิ้งปลายปัดไปด้านหลัง อันเป็นทรงผมของนักบวชอินเดียโบราณ (พระโพธิสัตว์ อวโลกิเตศวร พบที่           อ. ไชยา จ. สุราษฎร์ธานี อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12-13 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร)  (กลาง) ชฎามกุฎในศิลปะเขมร เริ่มเอากะบังหน้าสวมครอบทับมวยผมที่เกล้าสูงเป็นรูปทรงกระบอกคือให้เป็นแบบประดิษฐ์มากขึ้น (เศียรรูปบุคคล ศิลปะเขมร อายุราวพุทธศตวรรษที่ 15-16 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร)  (ขวา) ศิลปะเขมรยังมีศิราภรณ์อีกแบบซึ่งใช้ระบบกะบังหน้า-รัดเกล้า คือมีที่เกี้ยวครอบมวยผมเป็นรูปสามเหลี่ยมซ้อนกันเป็นชั้นๆ และสวมเทริดไว้ด้านหน้า เป็นต้นเค้าของ “มงกุฎ” คือเริ่มมีเครื่องประดับมาครอบลงบนมวยผม ต่างจาก “ชฎา” ที่เกิดจากการเกล้าผมสูงอย่างเดียว (ประติมากรรมรูปพระวัชรธร? ศิลปะเขมรแบบบายน พุทธศตวรรษที่ 18 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร)
(ซ้าย) ชฎามกุฎ คือการรวบผมที่ถักเป็นลอนให้เกล้าสูงขึ้นไป แล้วทิ้งปลายปัดไปด้านหลัง อันเป็นทรงผมของนักบวชอินเดียโบราณ (พระโพธิสัตว์ อวโลกิเตศวร พบที่ อ. ไชยา จ. สุราษฎร์ธานี อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12-13 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร)
(กลาง) ชฎามกุฎในศิลปะเขมร เริ่มเอากะบังหน้าสวมครอบทับมวยผมที่เกล้าสูงเป็นรูปทรงกระบอกคือให้เป็นแบบประดิษฐ์มากขึ้น (เศียรรูปบุคคล ศิลปะเขมร อายุราวพุทธศตวรรษที่ 15-16 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร)
(ขวา) ศิลปะเขมรยังมีศิราภรณ์อีกแบบซึ่งใช้ระบบกะบังหน้า-รัดเกล้า คือมีที่เกี้ยวครอบมวยผมเป็นรูปสามเหลี่ยมซ้อนกันเป็นชั้นๆ และสวมเทริดไว้ด้านหน้า เป็นต้นเค้าของ “มงกุฎ” คือเริ่มมีเครื่องประดับมาครอบลงบนมวยผม ต่างจาก “ชฎา” ที่เกิดจากการเกล้าผมสูงอย่างเดียว (ประติมากรรมรูปพระวัชรธร? ศิลปะเขมรแบบบายน พุทธศตวรรษที่ 18 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร)
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image