สรุปถอดบทเรียนและการสะท้อนการเรียนรู้ สองปีของการทำงานในฐานะประธานสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ : โดย จุมพล พูลภัทรชีวิน

สองปีของการทำงานในฐานะประธานกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำกัด ผมมีโอกาส “พบพาน ผูกพัน แต่ไม่ผูกติด” กับความสำเร็จและความล้มเหลวมากมายหลายเรื่อง ได้พบและรู้จักคนที่น่าคบ ควรค่าต่อการเคารพนับถือหลายคน ท่ามกลางวิกฤตการณ์ แต่ทั้งหมด ผมถือว่าผมโชคดีที่มีโอกาสได้ทำงานให้กับสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯและขบวนการสหกรณ์โดยรวม ทุกคนที่ผมพบและรู้จักในวงการสหกรณ์ไม่ว่าจะดีหรือร้าย ต่างเป็น “ครูสหกรณ์” และที่สำคัญเป็น “ครูคน” ของผมทั้งสิ้น ในลักษณะหนึ่งลักษณะใด ในช่วงเวลาและสถานการณ์หนึ่งใดเสมอ ผมจึงขอคารวะครูของผมทุกคนด้วยความเคารพ

หากแบ่งงานออกเป็นสองประเภทคือ งานภายในสหกรณ์กับงานภายนอกสหกรณ์ ผมประเมินว่าผมประสบความสำเร็จกับการทำงานภายนอกในระดับที่น่าพึงพอใจเพราะได้รับการยอมรับจากเพื่อนๆ ในขบวนการสหกรณ์ที่พบพานและทำงานร่วมกันค่อนข้างมาก แต่งานภายในสหกรณ์ ผมยังไม่ประสบความสำเร็จตามที่ตั้งใจไว้โดยเฉพาะงานพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (HRD) การปรับโครงสร้างและวัฒนธรรมองค์กรซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก หากสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯจะสร้างและดำรงความเป็น “หนึ่งในต้นแบบที่ดีงาม” ของขบวนการสหกรณ์ที่มีการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามหลักการและอุดมการณ์ของสหกรณ์

สองปีของการทำงานภายในสหกรณ์เป็นการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีตเป็นส่วนใหญ่ที่ส่งผลกระทบมาถึงปัจจุบัน ทำให้สหกรณ์ต้องทยอยตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเป็นจำนวนมากทุกปี ทำให้เงินปันผลที่สมาชิกควรจะได้มากตามผลประกอบการต้องลดลงไปอย่างน่าเสียดาย

นโยบายที่ผมให้ไว้ตอนหาเสียงที่สำคัญบางเรื่องเช่นการปรับโครงสร้างองค์กร การตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ และคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง ก็ไม่สามารถผลักดันให้เกิดขึ้นได้ แม้เป็นประธาน แต่ก็เป็นประธานเสียงข้างน้อย จึงต้องพยุงและประสานความแตกต่างและความขัดแย้ง บริหารงานอย่างมีสติ รอบคอบรอบด้าน เพื่อให้สหกรณ์ดำเนินต่อไปให้ดีที่สุดตามเหตุปัจจัย ภายใต้บริบทที่เป็นจริง ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อมวลสมาชิก และธำรงไว้ซึ่งชื่อเสียงเกียรติภูมิของ
สหกรณ์ฯ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งผมยอมรับว่าเป็นงานที่หนักและยากมากในฐานะที่เป็นประธานคนใหม่ ไม่มีความรู้และประสบการณ์การบริหารงานสหกรณ์มาก่อน ไม่รู้จักใครเลยในสหกรณ์

Advertisement

ผมจึงต้องเรียนรู้งานสหกรณ์ คนในสหกรณ์ คนในขบวนการสหกรณ์อย่างทุ่มเท จริงจัง เพื่อเผชิญและหาทางจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นกับสหกรณ์ และขบวนการสหกรณ์ในช่วงปีแรกอย่างสุขุมรอบคอบมากที่สุดเท่าที่ผมจะทำได้

ปัญหาที่ “พบพาน แต่ไม่ผูกติด” เป็นปัญหาหนักๆ และท้าทายมากทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับคดีของอดีตประธานสหกรณ์ทั้งสองท่าน ปัญหาสหกรณ์เคหสถานนพเก้ารวมใจถูกนายทะเบียนยกเลิกเพิกถอนกิจการ ปัญหาสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น และสหกรณ์อื่นๆ ที่สหกรณ์มีธุรกรรมทางการเงินอยู่ด้วยรวมประมาณสามพันล้านบาท ผมเริ่มทำงานได้แค่สองสามเดือน ผมก็ต้องให้สัมภาษณ์ออกรายการทั้งทีวี วิทยุ และหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับปัญหาและวิธีจัดการปัญหาต่างๆ ที่ถาโถมเข้ามา

ปัญหาภายในที่เจ็บปวดต่อความรู้สึกของผมมากที่สุดคือการที่ถูกนายทะเบียนสหกรณ์สั่งให้คณะกรรมการชุดปัจจุบันที่มีผมเป็นประธาน ฟ้องอดีตกรรมการสองชุดจำนวนยี่สิบกว่าคนให้ชดใช้ค่าเสียหายให้กับสหกรณ์ในกรณีของสหกรณ์เคหสถานนพเก้ารวมใจ จำกัด 600 กว่าล้านบาท ที่ลำบากใจมากที่สุดก็คือมีกรรมการที่ถูกฟ้องบางคนยังคงปฏิบัติหน้าที่ในฐานะกรรมการอยู่ในกรรมการชุดปัจจุบันด้วย แต่ด้วยกำลังใจและความช่วยเหลือจากกรรมการเสียงข้างน้อย เพื่อนคณาจารย์ อาจารย์อาวุโส สมาชิกสหกรณ์ที่เข้าใจสถานการณ์ของสหกรณ์ ตลอดจนผู้บริหารมหาวิทยาลัยบางท่าน ผมก็สามารถผ่านวิกฤต
การทำงานมาได้ ที่สำคัญ สหกรณ์ได้รับการประเมินจากหน่วยเหนือให้อยู่ในระดับดีเลิศติดต่อกันทั้งสองปี

การทำงานของผม ถ้าพิจารณาโดยรวม จะแบ่งออกเป็นสองส่วนคือ

1.การทำในสิ่งที่ถูกต้อง ดีงาม (Doing the right things) หากเราเริ่มต้นด้วยการทำสิ่งที่ถูกต้อง ดีงาม ไม่ทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ไม่ดีงามทั้งในแง่ของคุณธรรมจริยธรรมและกฎหมาย เราก็ไม่ต้องมาตามแก้ปัญหาทีหลัง กรรมการชุดผมจึงปล่อยกู้หรือนำเงินไปฝาก ไปลงทุนอย่างรอบคอบ ถูกต้องตามกฎหมาย จ่ายปันผลตามความเป็นจริง ไม่นำเงินกองทุนรักษาระดับเงินปันผลมาใช้เหมือนในอดีต ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นจริงแก่สมาชิกตามโอกาสที่อำนวย กระตุ้นให้เจ้าหน้าที่สหกรณ์ทุกคนทุกระดับเรียนรู้และทำงานอย่างมืออาชีพ สื่อสารรูปแบบต่างๆ เท่าที่โอกาสและความเป็นไปได้กับสมาชิก ให้สนใจเข้ามามีส่วนร่วมในการติดตาม กำกับ ดูแลงานของสหกรณ์เป็นระยะๆ

2.การทำสิ่งต่างๆ ให้ถูกต้อง (Doing things right) ความบกพร่อง ผิดพลาด ความเสียหาย ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการทำงาน ไม่ว่าจะมีเจตนาหรือไม่มีเจตนาก็ตาม ต้องพยายามหาทางจัดการเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สุขกับส่วนรวมให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกโดยรวม เจ้าหน้าที่ ความมั่นคง และความก้าวหน้าของสหกรณ์ ชื่อเสียงและเกียรติภูมิของสหกรณ์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปัญหาที่เกิดขึ้นมีความละเอียดอ่อน และความเป็นเฉพาะตัวของมันเอง และที่สำคัญมันมีความสัมพันธ์เชื่อมโยง มีผลกระทบกับสิ่งอื่นและคนที่เกี่ยวข้อง จึงต้องพิจารณาและจัดการอย่างเป็นองค์รวม จึงมักใช้เวลานานกว่าการแก้ปัญหาแบบทางเดียว เป็นเส้นตรง ถูก-ผิดทางกฎหมายโดยไม่พิจารณาถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอย่างเป็นองค์รวม ด้วยแนวคิดแนวปฏิบัติดังกล่าว อาจทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องบางคนบางกลุ่มมองว่าผมไม่กล้าทำ ไม่กล้าตัดสินใจ ทำงานช้า

ซึ่งผมก็น้อมรับทุกเสียงวิพากษ์วิจารณ์ด้วยความเคารพ และที่สำคัญในสมัยผม ได้มีการขออนุญาตใช้ตราสัญลักษณ์พระเกี้ยวจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอย่างถูกต้องเป็นทางการครั้งแรก

การ “พบพาน” กับการทำงานกับสหกรณ์ และขบวนการสหกรณ์ ถือเป็นโชคดีของชีวิตของผมอีกครั้งหนึ่ง เพราะประสบการณ์ที่ได้รับ นับว่าทรงคุณค่าอย่างยิ่ง และเพราะสรรพสิ่งล้วนสัมพันธ์เชื่อมโยงตามหลักอิทัปปัจจยตา และมีการเปลี่ยนแปลงตลอดตามหลักอนิจจัง

ดังนั้น แม้จะมีความ “ผูกพัน” กับสหกรณ์และขบวนการสหกรณ์มากเท่าไหร่ ผมก็ยินดีก้าวออกมาโดยไม่ “ผูกติด” เปิดโอกาสให้สมาชิกที่มีความสนใจและเจตนาดีที่จะเข้ามาช่วยกันทำงานให้สหกรณ์ ได้มีโอกาสใช้ความรู้ความสามารถและเจตนาที่ดีงาม สานสร้างและพัฒนาสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ และขบวนการสหกรณ์โดยรวมต่อไป

จุมพล พูลภัทรชีวิน
www.thaissf.org, twitter.com/jitwiwat
สนับสนุนโดย มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image