การส่งออกหดตัว โดย วีรพงษ์ รามางกูร

ข้อมูลตัวเลขการส่งออกของประเทศไทยหดตัวมาโดยตลอด การหดตัวของการส่งออกเป็นสาเหตุสำคัญของการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ยังเคราะห์ดีที่การท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากตลาดจีนยังขยายตัว ช่วยพยุงอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไม่ให้ติดลบอย่างที่เห็นในกรณีของยุโรปและญี่ปุ่น อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยเท่ากับ 2.8 เปอร์เซ็นต์ตามที่มีการคาดการณ์กัน น่าจะเป็นอัตราต่ำที่สุดเท่าที่เคยเห็นมา ในยามที่เศรษฐกิจเป็นภาวะเศรษฐกิจขาลง มักจะมีการปรับปรุงหรือทบทวนตัวเลขการคาดการณ์อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจลดลงเป็นระยะๆ ในระยะที่เศรษฐกิจเป็นขาขึ้นก็มักจะมีการทบทวนตัวเลขการคาดการณ์อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นเป็นระยะเหมือนกัน

การทบทวนตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจว่าทบทวนขึ้นหรือทบทวนลง ก็เป็นเครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจอย่างหนึ่งว่า แนวโน้มของเศรษฐกิจยังคงเป็นขาขึ้นหรือขาลง

เนื่องจากมูลค่าการส่งออกต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ มีมูลค่าถึงร้อยละ 60 ในยามเศรษฐกิจซบเซาและเกินกว่าร้อยละ 70 ในยามเศรษฐกิจรุ่งเรือง ดังนั้นการส่งออกจึงมีความสำคัญที่สุดสำหรับระบบเศรษฐกิจที่เล็กและเปิดอย่างประเทศไทย ที่ต้องพึ่งตลาดส่งออกเป็นตลาดสำคัญสำหรับสินค้าและบริการ เศรษฐกิจจะรุ่งเรืองหรือซบเซาก็ขึ้นอยู่กับความสามารถในการส่งออกสินค้าและบริการ สินค้าเกือบทุกชนิดของประเทศไทยมีความเชื่อมโยงกับต่างประเทศทั้งนั้น สินค้าหลักๆ เช่น ข้าว ยางพารา น้ำตาล มันสำปะหลัง หรือสินค้าอุตสาหกรรมที่ญี่ปุ่นและต่างชาติมาลงทุนในประเทศไทย ก็อาศัยตลาดส่งออกเป็นหลักทั้งสิ้น

จะชอบหรือไม่ชอบก็ตาม โครงสร้างเศรษฐกิจของเราเป็นอย่างนี้ เศรษฐกิจของเราเจริญเติบโตมาถึงระดับนี้ ก็เพราะการลงทุนและการใช้ตลาดของต่างชาติ ที่คนไทยไม่อาจจะพัฒนาขึ้นมาเองได้ ถ้าหากประเทศไทยมีปัญหากับบริษัทต่างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งญี่ปุ่นที่พร้อมจะโยกย้ายออกจากประเทศไทยไปประเทศอื่น เช่น อินโดนีเซีย เวียดนาม พม่าและประเทศอื่นๆ ที่ยินดีต้อนรับการลงทุนที่ย้ายมาจากไทยเป็นอย่างยิ่ง มีแรงงานที่พร้อมจะได้รับการพัฒนา ฝึกอบรมฝีมือให้เท่าเทียมกับช่างฝีมือไทย

Advertisement

สาเหตุสำคัญของการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทยจึงอยู่ที่การชะลอตัวของรายรับจากการส่งออกในบัญชีเดินสะพัดของประเทศไทย การแก้ไขหรือการบรรเทาความเดือดร้อนอันเกิดจากต้นเหตุอันนี้จึงจะถูกต้อง การใช้วาทะว่าจะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยวิธีใช้จ่ายงบประมาณให้มากขึ้น จึงเป็นเพียงวาทกรรมที่ฟังดูสวยงามเท่านั้น ไม่เกิดมีผลอะไร

การชะลอตัวของการส่งออก พูดง่ายๆ ก็คือบริษัทโรงงานต่างๆ กว่าร้อยละ 70 ผลิตแล้วขายไม่ออก เมื่อขายไม่ออกสินค้าคงเหลือหรือสินค้าคงคลังก็เหลือมาก เงินทุนก็ไปจมอยู่กับสินค้าคงคลังเหล่านี้ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะเครื่องจักรเมื่อเดินเครื่องแล้วหยุดไม่ได้ ถ้าหยุดแล้วเปิดใหม่ค่าใช้จ่ายจะสูงมาก คนงานก็ปลดไม่ได้ เพราะถ้าปลดออกก็ต้องจ่ายค่าชดเชย แล้วถ้าเปิดโรงงานใหม่ก็อาจจะหาแรงงานที่มีฝีมือตามที่ได้ฝึกฝนเอาไว้ไม่ได้ ถ้าจะลดการผลิตก็ทำได้เพียงลดชั่วโมงการทำงานลงในส่วนที่เป็นการทำงานล่วงเวลา แรงงานแม้จะยังมีงานทำในโรงงาน ในสำนักงาน ในโรงแรม ร้านอาหาร และอื่นๆ แต่ชั่วโมงการทำงานจะลดลง รายได้จึงลดลงไปด้วย ต่อไปนี้การรับพนักงานใหม่คงมีน้อยหรือไม่มี ปัญหาการตกงานของบัณฑิตจบใหม่คงจะเป็นข่าวใหญ่ต่อไป

เมื่อรายได้ภาคการเกษตรลดลง เพราะราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกทุกตัวลดลงอย่างมากและรวดเร็ว รายได้ของเกษตรซึ่งเป็นคนจำนวนมากของประเทศลดลง รายได้ของแรงงานลดลง รายจ่ายเพื่อการบริโภคอุปโภคก็ย่อมลดลง เมื่อรายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคลดลง การค้าปลีกค้าส่งก็พลอยซบเซาเพราะเป็นผลมาจากการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคอุปโภคลดลง

Advertisement

ความซบเซาทางเศรษฐกิจ อันเกิดมาจากการหดตัวของการส่งออกสินค้าและการเพิ่มขึ้นของสินค้าคงคลัง ซึ่งมีทั้งสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรม จะเป็นสาเหตุสำคัญของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือ NPL ของสถาบันการเงิน แต่เนื่องจากในปี 2558 หรือปีที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์รายใหญ่ได้กันสำรองหนี้สูญไว้เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด พร้อมๆ กับลดสินเชื่อของบริษัทขนาดเล็กและขนาดกลางหรือ SME ที่เป็นบริษัทของคนไทย แต่บริษัทเล็กและกลางที่เป็นเครือของบริษัทต่างชาติที่เป็นบริษัทญี่ปุ่น รวมทั้งธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่แห่งหนึ่งที่เป็นของญี่ปุ่น บริษัทแม่จะเป็นผู้ดูแลแก้ปัญหาให้ สถาบันการเงินจึงมี 2 ประเภท ประเภทที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าของกับประเภทที่ญี่ปุ่นไม่ได้เป็นเจ้าของ

อย่างไรก็ตาม เงินสำรองหนี้สูญที่สถาบันการเงินได้กันสำรองไว้เกินกว่าความจำเป็นที่กฎหมายกำหนด บัดนี้ก็ได้ใช้ไปมากจนเกือบเต็มตามจำนวนแล้ว ในระยะต่อไปถ้าหากเศรษฐกิจยังซบเซาต่อเนื่องไปอีก ปัญหาเรื่องความเพียงพอของเงินสำรองก็อาจจะกลับมาเป็นปัญหาได้

การระดมทุนโดยการออกหุ้นกู้ระยะปานกลาง 3-5 ปี และที่เกิน 5 ปี เพราะผู้ออกหุ้นกู้เสนอผลตอบแทนที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของสถาบันการเงิน ยังสามารถออกได้สำหรับบริษัทที่ได้รับการจัดอันดับที่ผู้ลงทุนสามารถลงทุนได้ ส่วนบริษัทที่ได้รับการจัดอันดับต่ำลงมาเล็กน้อยผู้รับประกันการขายก็มีความระมัดระวังมากขึ้นและอัตราผลตอบแทนก็ยังอยู่ในระดับสูงเกินกว่าร้อยละ 5 ขึ้นไป

การส่งออกหดตัวลง บริษัทห้างร้านต่างๆ ลดการผลิต ทำให้โรงงานมีกำลังการผลิตเหลือ การลงทุนที่แท้จริงกล่าวคือ การลงทุนก่อสร้างโรงงาน เปลี่ยนเครื่องจักร ขยายโรงงาน จึงไม่มี จะมีก็เพียงการเพิ่มขึ้นของสินค้าคงคลัง ซึ่งตำราเศรษฐศาสตร์ถือว่าเป็นการลงทุนด้วย

เมื่อการผลิตทั้งภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรมชะลอตัว การจ้างงานในระบบเศรษฐกิจก็พลอยลดลงไปด้วย ทั้งที่เป็นแรงงานระดับล่าง ระดับกลาง และระดับสูง

ปกติการชะลอตัวทางเศรษฐกิจมักจะเริ่มจากภาคอสังหาริมทรัพย์ เราจะเห็นตึกระฟ้าที่สร้างไม่เสร็จขึ้นเกะกะไปทั่วกรุง แต่คราวนี้เราจะไม่เห็นเช่นนั้น เพราะทั้งสถาบันการเงินและผู้ลงทุนเจ้าของโครงการมีความระมัดระวังเป็นพิเศษ ภาคอสังหาริมทรัพย์สำหรับที่อยู่อาศัยระดับล่างที่ราคาไม่แพงมากยังค่อนข้างดี อุตสาหกรรมก่อสร้างยังไม่ได้รับการกระทบจากภาวะเศรษฐกิจซบเซาในขณะนี้มากนัก แต่ในอนาคตสำหรับปีต่อไปผลกระทบคงจะไปถึง

สําหรับสาเหตุสำคัญของการหดตัวของการส่งออกสินค้าเกือบทั้งหมดนั้น ท่าจะมาจากสาเหตุหลักๆ 3 ประการ

ประการแรก ภาวะเศรษฐกิจของโลกยังอยู่ในภาวะขาลง เคยมีความหวังว่าเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาคงจะฟื้นตัวและเป็นตัวที่มาช่วยเสริมเศรษฐกิจของจีน ที่อัตราการขยายตัวแม้จะยังสูงอยู่แต่ก็ขยายตัวในอัตราที่ลดลง ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เคยพุ่งสูงขึ้นเพราะจีนเป็นผู้ใช้รายใหญ่ เป็นผู้สั่งเข้าสินค้าประเภทนี้เป็นจำนวนมาก แต่เมื่อจีนเริ่มชะลอตัวลง เพราะการส่งออกของจีนไปยังยุโรปและสหรัฐอเมริกาถึงขั้นอิ่มตัวแล้ว จึงทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์อ่อนตัวลงด้วย ราคาและปริมาณการสั่งเข้า

และส่งออกสินค้าประเทศนี้จึงลดลงอย่างรวดเร็ว เศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาซึ่งส่วนใหญ่ต้องพึ่งพาสินค้าเหล่านี้ นับตั้งแต่ธัญพืช ยางพารา น้ำตาล กุ้ง ปลาและอาหารกระป๋อง ฯลฯ น้ำมันดิบ สินแร่ต่างๆ เช่น เหล็ก ทองแดง อะลูมิเนียม และอื่นๆ พากันลดลงไปหมด ประเทศไทยก็อยู่ในฐานะอย่างเดียวกัน จึงได้รับผลกระทบไปด้วย

ประการที่สอง การกีดกันการค้าของกลุ่มยุโรปและสหรัฐอเมริกาเป็นประเด็นทางการเมือง การอ้างเรื่องสิทธิมนุษยชนและระบอบการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย การที่เราไม่ได้เข้าร่วมกับกลุ่มการค้าในกลุ่มใหญ่ๆ เช่น ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership: TPP) ทำให้เราเสียโอกาส เสียเปรียบคู่แข่งขันอื่นๆ ในกลุ่มประชาคมอาเซียนเป็นอย่างมาก

ประการที่สาม ซึ่งผู้คนไม่ค่อยได้พูดถึงก็คือ ในรอบ 3-4 ปีที่ผ่านมา ค่าเงินบาทของเราแข็งค่าขึ้นมาโดยตลอด ความผิดพลาดของธนาคารแห่งประเทศไทยหลายครั้งหลายคราว โดยเฉพาะอย่างยิ่งความผิดพลาดในเรื่องนโยบาย “ค่าเงินบาท” ซึ่งเชื่อมโยงกับนโยบายการเงินหรือนโยบายดอกเบี้ย มีผลทางด้านจิตวิทยาของเจ้าหน้าที่ที่ดูแลนโยบายการเงินเป็นอย่างมาก ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงพยายามหลีกเลี่ยงที่จะไม่เข้าไปแตะต้องอัตราแลกเปลี่ยน แต่ปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด หรือปล่อยให้เป็นไปตาม “ยถากรรม” จะได้ไม่ต้องรับผิดชอบ เมื่อเงินบาทมีค่าแข็งไปผู้ส่งออกก็ต้องรับภาระไป เราจึงอาจจะเห็นว่าค่าเงินบาทจะแข็งขึ้นเป็นระยะๆ เมื่อค่าเงินบาทแข็งขึ้นเป็นระยะ ประเทศไทยก็สูญเสียความสามารถในการแข่งขันไปเรื่อยๆ อัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกก็ลดลงจนกลายเป็นการหดตัวอย่างที่เห็น ในระยะสั้นอาจจะมีการฟื้นตัวบ้างเล็กน้อย แล้วก็ตกลงไปอีกในระยะยาว ปัญหาค่าเงินบาทแข็งค่ากว่าคู่ค้ากับคู่แข่ง เป็นปัญหาที่สำคัญมากที่สุด

อัตราการขยายตัวของการส่งออกจะไม่มี เศรษฐกิจจะหดตัวลงเรื่อยๆ อย่างที่เห็นในรอบหลายปีมานี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image