วันนี้ที่ปลายด้ามขวาน กับทางรอดทางเลือกสู่สันติสุข : โดย ผศ.ดร.รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร

ปรากฏการณ์ปฏิบัติการก่อการร้ายด้วยการบุกฆ่าพระสงฆ์ที่วัดรัตนานุภาพ อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส ของขบวนการก่อการร้ายในจังหวัดชายแดนใต้จนนำมาซึ่งการมรณภาพของเจ้าอาวาสและเจ้าคณะอำเภอพร้อมพระลูกวัดเมื่อวันวันที่ 18 มกราคม 2562 ที่ผ่านมา ก่อให้เกิดความสะเทือนใจต่อคนไทยทั่วประเทศอีกครั้งหนึ่ง

การปฏิบัติการก่อการร้ายในสามจังหวัดชายแดนใต้นับตั้งแต่ผ่านปีใหม่มาได้ไม่กี่วันพบว่ากลุ่มผู้ก่อการร้ายได้ระดมพลังเข้าโจมตีจนนำมาซึ่งการสูญเสียในหลายพื้นที่ และเหตุการณ์ลักษณะนี้ทำให้ย้อนกลับไปถึงก่อการลอบปล้นปืนที่กองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “ค่ายปิเหล็ง” อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส และเหตุการณ์ครั้งนั้นนำมาซึ่งการสูญเสียประกอบด้วยทหารหาญต้องสังเวยชีวิตให้คนร้ายไป 4 นาย รวมทั้งอาวุธปืน 413 กระบอกปืน

จากวันนั้นถึงวันนี้จะเห็นได้ว่าสถานการณ์ในแดนปลายด้ามขวานของประเทศ สิ่งที่คนไทยทั้งมวลต้องการคือความสงบและให้ผู้ก่อการร้ายหันมาเจรจากับฝ่ายมั่นคงเพื่อแก้ปัญหาพร้อมกับสร้างสันติภาพร่วมกัน แต่จนแล้วจนรอดความพยายามของรัฐบาลไทยและมาเลเซียที่จะเจรจาเพื่อนำความสงบสู่สังคมก็ยังไม่ปรากฏให้เห็นเป็นรูปธรรมส่งผู้คนในพื้นที่ต้องใช้ชีวิตด้วยความหวาดผวา โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐไม่ว่าจะเป็น ครู ทหาร ตำรวจ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านรวมทั้ง ชรบ.และอาสาสมัครทั่วไป

อย่างไรก็ตาม การก่อการร้ายในภาคใต้ของประเทศโดยเฉพาะในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนนั้นจะเห็นได้ว่าเป็นปัญหาเรื้อรังมาอย่างยาวนานแต่ในอดีต การแก้ปัญหาด้วยการดับไฟใต้ชั่วคราวเพื่อความยู่รอดไปวันๆ ของฝ่ายก่อการและผู้ที่เกี่ยวข้องจึงเปิดให้เกิด “ขบวนการแบ่งแยกดิน” หลายกลุ่มแดนตามมาภายหลังปี พ.ศ.2497 การจับกุมผู้นำในพื้นที่ด้วยข้อหาต่างๆ เช่นในปี 2504 มีการจับกุมนายหะยีอามีน โต๊ะมีนา (ฮาฌี มิง) ด้วยข้อหาบ่อนทำลายชาติ จวบจนปรากฏการณ์การจับครูเปาะสู วาแมดิซา ชาวบ้านท่าธง ตำบลท่าธง อำเภอรามัน จังหวัดยะลา ด้วยข้อหากบฏแบ่งแยกดินแดนในปี 2510

Advertisement

และจากการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ราชการบางหน่วยเพื่อปราบปรามโจรผู้ร้ายที่ซ่องสุมในหมู่บ้าน ชาวบ้านส่วนหนึ่งที่ตกเป็นเหยื่อของคำกล่าวหาต้องหนีเข้าป่าไปร่วมกับขบวนการกับหน่วยบีเอ็นพีพี, หน่วยบีอาร์เอ็น, หน่วยพูโล ในเมื่อการปราบปรามเข้มข้นขึ้นความหวาดผวาก็เข้ามาเยือน คนหนุ่มสาวและชายฉกรรจ์จากหลายหมู่บ้านต้องไปตั้งหลักทำมาหากินในจังหวัดอื่นที่ห่างไกล เช่น ในกรุงเทพมหานคร หรือไปให้ไกลที่สุดถึงภาคเหนือและภาคอีสานก็มีให้เห็น

ในอดีตการปฏิบัติการปราบปรามของเจ้าหน้าที่รัฐบางกลุ่มทำให้ชาวบ้านส่วนหนึ่งหวาดผวาในอันตรายและข้อหาที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม วันนี้ทายาทของผู้ที่มีชีวิตอยู่หลายชีวิตที่เคยประสบเหตุการณ์ของการถูกกระทำต่างปฏิเสธและบอกปัดที่จะกล่าวถึงความชั่วร้ายที่ครอบครัวได้รับ และมักจะกล่าวว่า “อย่าไปพูดถึงมันอีกเลย มันน่ากลัวน่าโกรธแค้นมาก” คำพูดในลักษณะนี้เหมือนยืนยันให้คนรุ่นหลังได้รับรู้ว่าพวกเขามีความรู้สึกกดดันและเจ็บปวดเป็นอย่างมาก

ต่อกรณีปัญหาชายแดนใต้ หากย้อนกลับไปศึกษาถึงมูลเหตุและลำดับเหตุการณ์ที่มีการบันทึกไว้จะพบว่ามีหลากหลายของประเด็นปัญหาและถึงแม้ว่ารัฐบาลทุกยุคผู้นำประเทศหรือนายกรัฐมนตรีจะตระหนักและให้ความสนในด้วยการกำหนดแนวนโยบายดับไฟใต้ ทุ่มเทงบประมาณนับแสนล้านพร้อมระดมส่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ทั้งทหาร ตำรวจ อาสาสมัครลงไปประจำในพื้นเป็นจำนวนมาก แต่ปัญหาก็ยังลุกลามมาถึงปัจจุบัน

Advertisement

ด้วยปรากฏการณ์ความรุนแรงที่ส่งผลให้ไฟใต้ลุกโชนขึ้นอย่างต่อเนื่องและดูเหมือนว่าจะทำให้มอดไหม้ได้ด้วยความยากลำบาก ประเด็นนี้มีนักคิด นักบริหาร และนักวิชาการจำนวนหนึ่งได้ศึกษาวิจัยพร้อมทั้งเสนอทางรอดทางเลือกไว้น่าสนใจยิ่ง และครั้งหนึ่งเมื่อสิบกว่าปีที่แล้วในงานเสวนา เครือข่ายวัฒนธรรมเพื่อสันติภาพเมื่อวันอาทิตย์ที่ 7 มีนาคม 2547 ศ.นพ.ประเวศ วะสี ได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า “ปัญหาวิกฤตชายแดนใต้มีรากเหง้ามาจากความขัดแย้งระหว่างระบบราชการรวมศูนย์กับวัฒนธรรมท้องถิ่นซึ่งมีประวัติมาอย่างยาวนานกว่า 100 ปี ความไม่เข้าใจและมายาคติระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐโดยทั่วไปซึ่งส่วนใหญ่ในท้องถิ่นที่เป็นมุสลิมมีส่วนขยายปัญหาความขัดแย้งอยู่บ้าง แต่ไม่ถึงกับทำให้เกิดความรุนแรง”

ที่น่าสนใจในวันดังกล่าว ศ.พน.ประเวศ วะสี ยังตอกย้ำให้เห็นว่าปัญหาที่ส่งผลให้เกิดมิติแห่งความปัญหาและความขัดแย้งในพื้นที่ว่า “วิกฤตชายแดนใต้ส่งผลให้เกิดความแตกร้าวทางสังคมอย่างรุนแรงภายในท้องถิ่น ชาวบ้านตกอยู่ในความหวาดผวากลัวทั้งโจร กลัวทั้งทหาร-ตำรวจ กลัวการถูกจับอุ้ม-ฆ่าจากคนที่ไม่รู้ว่าเป็นฝ่ายใด ประชาชนและภาครัฐหมดความศรัทธาเชื่อมั่นต่อกันไม่สามารถพึ่งพิงกันได้แล้วระหว่างประชาชนด้วยกันเองก็อยู่ในภาวะที่หวาดระแวงกันไปหมดเพราะไม่รู้ว่าจะถูกฆ่า ถูกทำร้ายเป็นเป้าหมายรายวันของกลุ่มใด” (มติชน 2 มีนาคม 2547)

การแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ของหน่วยงานภาครัฐเชื่อได้ว่าทุกภาคส่วนต้องการให้เหตุการณ์สงบและนำมาซึ่งสันติประชาชนสามรถดำรงชีวิตและประกอบอาชีพได้ตามปกติสุข แต่ด้วยความพยายามด้วยมิติและนวัตกรรมที่หลากหลาย รัฐก็ยังเกาไม่ถูกที่คันอย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตาม สำหรับรากเหง้าที่นำมาซึ่งมูลเหตุของปัญหาอาจจะสอดคล้องกับการที่อดีตนายกรัฐมนตรี พลตรี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยกล่าวไว้ตอนหนึ่งเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2519 ในการรับฟังการบรรยายสรุปหลังเหตุการณ์ประท้วงที่จังหวัดปัตตานีความว่า “การแก้ปัญหา 3 จังหวัดภาคใต้คิดอย่างไรไม่ออกเพราะเราหลอกเขาว่าเขาเป็นคนไทย ซึ่งที่จริงเขาเป็นคนมาลายู ตัวที่เป็นปัญหาคือการหลอกตัวเขาเองเป็นคนไทย …อย่าบังคับให้เขาเป็นคนไทย ส่งเสริมให้เขาเป็นตัวของเขา รักษาเอกลักษณ์ (Identity ชนมาลายูไว้ แต่ไม่ใช่ให้สิทธิเหนือคนที่นับถือศาสนาพุทธ ซึ่งอาศัยอยู่ในจังหวัดนี้…ที่เราดำเนินงานที่ผ่านมาเราเริ่มต้นก็ผิดแล้ว คือบอกว่าเป็นแขกไทย การให้เขาพูดภาษาไทยจึงยากมาก” (หนังสือการปฏิสัมพันธ์ระหว่างศาสนิกฯ สกว. 2544)

การแสวงหาทางรอดทางเลือกเพื่อนำมาซึ่งความสงบสุขในจังหวัดชายแดนใต้เป็นหนึ่งในมิติที่ทุกภาคส่วนเรียกหา การเกาให้ถูกที่คันกับมูลเหตุแห่งปัญหาโดยเฉพาะปรากฏการณ์ที่ทำให้มีการสูญเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่ ทหาร ตำรวจ ครู และชาวบ้านมาอย่างต่อเนื่อง แม้กระทั่งล่าสุดกับชีวิตของพระสงฆ์ที่จังหวัดนราธิวาสเมื่อวันที่ 18 มกราคม ที่ผ่านมา สิ่งหนึ่งที่ภาครัฐไม่ควรมองข้ามคือ การน้อมนำยุทธศาสตร์พระราชทานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่พระองค์ท่านได้พระราชทานไว้ว่าด้วย “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ตลอดจนการรับฟังเสียงสะท้อนจากชาวบ้านในพื้นที่เพื่อแสวงหามุมมองของสันติสุขที่จะตามมา ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ผู้เกี่ยวข้องควรดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

หนึ่งในเสียงของชาวบ้านที่ส่งสัญญาณไปยังภาครัฐเพื่อหาทางออกและยุติปัญหา คือ นายรักชาติ สุวรรณ ในฐานะรองประธานสภาสังคมชายแดนใต้กล่าวว่า “ทางฝ่ายมั่นคงในพื้นที่ต้องเร่งการประชุมพระภิกษุเพื่อหามาตรการในการดูแลความปลอดภัยไม่ให้ตกเป็นเป้าของฝ่ายตรงข้ามไม่ว่าการจะงดบิณฑบาต หรือดูแลวัดอย่างไร ซึ่งต้องดูบริบทของวัดในแต่ละสถานที่ด้วยเช่นกัน และนอกจากการหามาตรการดูแลความปลอดภัยพระสงฆ์แล้วก็ต้องดูแลผู้นำศาสนาในพื้นที่ด้วยเช่นกัน อย่าปล่อยปละละเลย เพราะหากฝ่ายตรงข้ามฉกฉวยโอกาสเหตุการณ์ก็จะบานปลายนำไปสู่การเอาคืน หรือการแก้แค้น ซึ่งเรื่องดังกล่าวถือเป็นเรื่องสำคัญ” (ข่าวสด ออนไลน์ 19 มกราคม 2562)

ในขณะที่รัฐบาลกับแนวนโยบายการแก้ปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เคยแถลงนโยบายต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2557 โดยระบุไว้ในข้อ 2.2 ว่า “เร่งแก้ไขปัญหาการใช้ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยการนำยุทธศาสตร์ เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา มาใช้ตามแนวทางกัลยาณมิตรแบบสันติ ส่งเสริมการพูดคุยสันติสุขกับผู้ที่มีความเห็นต่างจากรัฐ รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมตามหลักนิติธรรมและหลักสิทธิมนุษยชน โดยไม่เลือกปฏิบัติควบคู่กับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ซึ่งเป็นพหุสังคม ขจัดการฉวยโอกาสก่อความรุนแรงแทรกซ้อนเพื่อซ้ำเติมปัญหาว่ามาจากผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นหรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายบ้านเมือง ทั้งจะเพิ่มระดับปฏิสัมพันธ์กับต่างประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศที่อาจช่วยคลี่คลายปัญหาได้”

หากส่องไปดูที่ประกาศ คสช.ในข้อที่เกี่ยวข้องกับการพูดคุยสันติสุขเพื่อดับไฟใต้ ในข้อ 3.2 ระบุให้สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ รับผิดชอบในการประสานกับส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดทำแผนขับเคลื่อนกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้อันเป็นการสร้างหลักประกันความต่อเนื่องและความเชื่อมั่นต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ทุกกลุ่มในการเข้ามามีส่วนร่วมในการพูดคุย…

วันนี้ถึงแม้ว่าสถานการณ์ความร้อนแรงในจังหวัดชายแดนใต้ยังไม่สามารถนำไปสู่ความสงบสุขได้ดังความปรารถนาของพี่น้องประชาชนและรัฐบาลก็ตาม ที่สำคัญจากนี้ไปต้องจับตาไปที่การเลือกตั้งซึ่งจะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ ว่าพรรคการเมืองตลอดจนรัฐบาลในสมัยหน้าจะมีนโยบายหรือยุทธศาสตร์ตลอดจนนวัตกรรมแห่งการพัฒนาเพื่อการแสวงหาแนวทางสู่การสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นในพื้นที่ปลายด้ามขวานของประเทศได้อย่างไร

ปรากฏการณ์หรือมิติของการนำไปสู่สะพานเชื่อมแห่งสันติสุขที่น่าสนใจยิ่งโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงตลอดจนผู้เกี่ยวข้องจำเป็นต้องถือเป็นวัตรปฏิบัติ คือ การน้อมนำยุทธศาสตร์ เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา ควบคู่ไปกับการพัฒนาคนหรือทุนมนุษย์ ให้มีความพร้อมตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อส่งผลในการสร้างความเป็นอยู่ที่ดีภายใต้ความเชื่อมั่นซึ่งกันและกัน

ทางรอดทางเลือกเพื่อสันติสุขในพื้นที่ปลายด้ามขวานของประเทศจะบังเกิดขึ้นได้หรือไม่ อย่างไร “ความจริงใจ และจริงจังกับวัตรปฏิบัติที่ดีงาม” ของภาครัฐน่าจะเป็นอีกหนึ่งคำตอบที่สามารถแก้ปมและรากเหง้าแห่งปัญหาที่ชาวบ้านแสวงหาได้ในระดับหนึ่ง

ผศ.ดร.รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร
ศูนย์นวัตกรรมการพัฒนาทุนมนุษย์
มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image