เดินหน้าชน : รุกต่อปิโตรฯ : โดย สราวุฒิ สิงห์เอี่ยม

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เป็นประธาน มีมติเห็นชอบแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561-2580 หรือ “PDP 2018” จะมีกำลังผลิตไฟฟ้าถึงปี 2580 ที่ 77,211 เมกะวัตต์ ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยที่ 3.58 บาทต่อหน่วย

นอกจากนี้ ปรับเพิ่มสัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติเพื่อผลิตไฟฟ้าเป็น 53% สูงกว่า PDP 2015 ที่กำหนดสัดส่วนไว้ที่ 37%

สอดคล้องกับการประมูลแหล่งปิโตรเลียม “เอราวัณ” และ “บงกช” ที่ ครม.มีมติอนุมัติให้ “ปตท.สผ.” เป็นผู้ชนะการประมูลทั้ง 2 แปลงเมื่อปลายปีที่ผ่านมา

ด้วยเพราะทั้ง “เอราวัณ” และ “บงกช” เป็นแหล่งผลิตหลักถึง 75% ของกำลังผลิตในอ่าวไทย และส่วนใหญ่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า

Advertisement

แต่จนถึงป่านนี้ กลุ่มเดิมที่ตั้งหน้าตั้งตาคัดค้านมาตลอด ก็ยังไม่เลิกรา ได้จังหวะเข้าสู่โหมดเลือกตั้ง เดินสายยื่นหนังสือถึงพรรคต่างๆ เพื่อหวังผูกมัดว่าถ้าพรรคไหนเป็นรัฐบาลต้องร่วมล้มการประมูลครั้งนี้ หากพรรคใดเซ่อซ่ารับข้อเสนอมีแต่เจ็บตัว

ข้ออ้างต่างๆ ที่ยกเมฆมาทั้งเรื่องความไม่โปร่งใสและประเทศเสียประโยชน์ ก็มีการชี้แจงมาตลอดตั้งแต่ก่อนเริ่มประมูล ที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยต่อสาธารณชนมาอย่างต่อเนื่อง ถึงขนาดเปิดห้องข้อมูลให้กลุ่มที่คัดค้านเข้าชม

แล้วผลการประมูลที่ออกมาประเทศชาติก็ได้ประโยชน์ไม่น้อย ทั้งค่าภาคหลวง ภาษีต่างๆ คาดกันว่าช่วง 10 ปีข้างหน้า ผลประโยชน์โดยรวมสูงถึง 6.5 แสนล้านบาท

ที่จริงแล้ว ไม่เพียงแค่การประมูล “เอราวัณ” และ “บงกช” เท่านั้น แต่ควรเดินหน้าประมูลสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม รอบใหม่ หรือรอบที่ 21 หลังหยุดชะงักมานานเป็น 10 ปีแล้ว

ขณะที่ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม มีผลบังคับใช้มานานแล้ว ควรเริ่มดำเนินการเพื่อเปิดให้มีการสำรวจและผลิตแหล่งอื่นๆ ได้แล้ว ทั้งแหล่งใหม่ และแหล่งเก่าที่เคยสำรวจมาแล้วในอดีต แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ขณะที่ปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยขึ้น ทำให้มีโอกาสมากขึ้นที่จะขุดพบน้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติ

น่ายินดีที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ โดยอธิบดี “เปรมฤทัย วินัยแพทย์” ระบุว่า ปี 2562 หนึ่งในนโยบายหลักคือการเตรียมความพร้อมในการเปิดประมูลสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ ที่คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ช่วงครึ่งหลังปี 2562

โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ปัญหาและอุปสรรคต่างๆ เช่น ความไม่ชัดเจนของกฎหมายในเรื่องความทับซ้อนของพื้นที่และการยึดปฏิบัติตามกฎหมายที่ต่างกัน เช่น พื้นที่ป่าไม้ หรือ พื้นที่ ส.ป.ก.

ดังนั้น หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถหาจุดร่วมกันได้ ยึดผลประโยชน์ของชาติโดยรวมเป็นที่ตั้ง การเปิดสัมปทานรอบใหม่ ก็คงจะเดินหน้าได้อย่างราบรื่นขึ้น

ฝ่ายปฏิบัตินั้น พร้อมเดินหน้าแล้ว อยู่ที่ระดับนโยบาย โดยเฉพาะ “บิ๊กตู่” จะกล้าจัดการเรื่องที่คาราคาซังมานานนี้หรือไม่ เพื่อช่วยสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ

การเปิดประมูลสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ สำคัญแค่ไหน ขออนุญาตนำความเห็นบางส่วนของ “บรรยง พงษ์พานิช” ประธานกรรมการบริหารกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ที่เคยแสดงทรรศนะไว้ก่อนหน้านี้มาตอกย้ำอีกครั้ง ว่า “สัมปทานรอบที่ 21 มีความสำคัญมากต่อความมั่นคงทางพลังงาน …หมายถึงการที่เราจะมีพลังงานใช้อย่างต่อเนื่องไม่ขาดตอนในราคาต้นทุนที่สมควร”

“ถ้าก๊าซธรรมชาติหมด เราเดือดร้อนใหญ่หลวงแน่ เพราะถ้านำเข้า ราคาต้นทุนจะสูงขึ้นเป็นเท่าตัว…ถ้าไม่มีก๊าซก็ต้องขึ้นราคาหลายสิบเปอร์เซ็นต์ กับเสี่ยงไฟดับ”

“การเปิดสัมปทานเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วน จริงอยู่ที่อาจไม่มีการค้นพบเลยก็ได้ แต่เรามีโอกาสไม่น้อย และถ้ามันไม่มีจริงๆ ก็จะได้รู้แน่นอน จะได้วางแผนปรับตัวได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ทันเวลา”

ได้ยินได้ฟังแล้ว จะเลือกทางไหน เตรียมพร้อมไว้ก่อน หรือรอให้เกิดวิกฤตพลังงานก่อน

สราวุฒิ สิงห์เอี่ยม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image