เมื่อเทเรซา เมย์ แพ้โหวตเบร็กซิท : โดย ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

การที่รัฐสภาสหราชอาณาจักรไม่ผ่านญัตติการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป ถือเป็นความพ่ายแพ้ของเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีครั้งยิ่งใหญ่ ที่เกิดจากเหตุผลทางประวัติศาสตร์

คำพูดที่ว่าการแยกตัวที่ไม่เจ็บตัว มีแต่ได้กับได้ เป็นความเท็จของนักการเมือง

เป็นการแปลงจินตนาการและสร้างความเท็จให้กลายเป็นความจริง ทั้งที่เริ่มต้นก็รู้ว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปมิได้ ฉะนั้น ความพ่ายแพ้ของเทเรซา เมย์ จึงไม่นอกเหนือจากความคาดหมาย

สหราชอาณาจักรมีเพียง 2 ทางเลือกคือ รวมตัวกับแยกตัวอันปราศจากข้อตกลง

Advertisement

หากจะผ่าทางตัน บรรดานักการเมืองต้องพักเรื่องผลประโยชน์ส่วนตน และแสดงสปิริตทางการเมืองพูดความจริงกับประชาชน ยุติเรื่องจินตนาการ หรือความเพ้อฝัน ยกตัวอย่าง เช่น สามารถงมพระจันทร์ในน้ำหรือเด็ดดอกไม้ที่เห็นในกระจก ล้วนไม่อยู่ในวิสัยที่เป็นไปได้

ปัญหาเบร็กซิทสอดคล้องกับวลีที่ว่า Politic is the art of the possible (การเมืองเป็นศิลปะที่เป็นไปได้) โดยปราศจากหลักสัจธรรม มัวเมาหลงใหลแต่จินตนาการทางการเมืองซึ่งเปี่ยมด้วยกิเลสอันได้แก่โลภะและโมหะ ย่อมไม่มีทางออก เพราะความจริงกับความฝันสวนทางกัน

รัฐบาลเทเรซา เมย์ ใช้เวลาถึง 2 ปี ทำการเจรจากับสหภาพยุโรป จนบรรลุสัญญาฉบับชั่วคราว แต่เป็นสัญญาที่มิได้รับความเห็นดีเห็นชอบ แม้สมาชิกพรรคอนุรักษนิยมเองก็ยังเอาใจออกห่าง และไปรวมตัวกับพรรคแรงงานทำการต่อต้านคัดค้าน โดยการโหวตคว่ำญัตติเบร็กซิทด้วยคะแนนเสียง 432 ต่อ 202 ผลต่างคือ 230 คะแนน ทิ้งกันมองไม่เห็นฝุ่น

เป็นความพ่ายแพ้ครั้งยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ของสหราชอาณาจักร กรณีเสมือนรัฐบาลเทเรซา เมย์ ล้มทั้งยืน และก็ไม่มีผู้ใดพรรคใดประสงค์จะรับช่วงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไปในยามนี้ แต่โชคดีที่เทเรซา เมย์ รอดพ้นจากการลงมติไม่ไว้วางใจ

สหราชอาณาจักรพบพานทางตัน เป็นหน้าที่ของเธอที่จะต้องทำการแก้ไขวิกฤต

ย้อนมองอดีต สหราชอาณาจักรจะทำการแยกตัวชนิดไม่เจ็บตัว เพราะเมื่อแรกเริ่มฝ่ายที่ต้องการแยกตัวเพื่อจะเอาชนะให้ได้ จึงได้สร้างเรื่องโกหกหลอกลวงประชาชนว่า ลำพังถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปไม่ทำให้เศรษฐกิจของอังกฤษเสียหาย หากยังได้ประหยัดเงินจำนวนมหาศาลมาปรับปรุงคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น อีกทั้งยังสามารถยึดอำนาจอธิปไตยกลับคืน

ครั้นเมื่อเทเรซา เมย์ ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็ได้ยืนยันว่าต้องเคารพประชาธิปไตย ประเด็นจึงอยู่ที่ว่า การทำประชามติของการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปนั้น ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานจินตนาการทางการเมืองและความเท็จโดยแท้

ต่อให้เทเรซา เมย์ มีอิทธิฤทธิ์ดุจดั่งเห้งเจียในเรื่องไซอิ๋ว ก็ไม่สามารถทำให้สำเร็จ เพราะว่า ถ้อยคำอันเป็นเท็จที่มีต่อคนอังกฤษเสมือนการสั่งจ่ายเช็คที่ไม่มีเงิน

ทฤษฎีของ Prof.Dani Rodrik แห่ง Harvard Kennedy School ที่เรียกว่า “impossibility trilemma” ที่ใช้อธิบายเกี่ยวกับสถานการณ์อันคับขันในโลกาภิวัตน์นั้น สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับกรณีเบร็กซิทเพื่ออธิบายว่าเหตุใดจึงพ่ายแพ้หมดรูป ดังนี้

“ประชาธิปไตย อธิปไตย และการรวมตัวการทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (International economic integration) ไม่อยู่ในวิสัยที่จะเดินหน้าไปพร้อมกันได้ เต็มที่ก็ได้แค่ 2 จาก 3 อีกประการหนึ่งต้องมีความเสียสละด้วย เช่น การรวมตัวเศรษฐกิจเชิงลึกจำเป็นต้องยกเลิกต้นทุนการซื้อขาย แต่ความอยู่รอดของประเทศคือการซื้อขาย ถ้าจะเอาประชาธิปไตยและอำนาจอธิปไตยมาก่อน จำต้องลดความเข้มข้นแห่งการรวมตัวทางเศรษฐกิจ ถ้าจะยึดหลักเศรษฐกิจและอำนาจอธิปไตย ก็คือต้องสละหลักการแห่งประชาธิปไตย ละทิ้งนโยบายบางอย่างในประเทศ”

เวลา 2 ปี ที่เทเรซา เมย์ ได้ทำการเจรจากับสหภาพยุโรปก็เพื่อธำรงไว้ซึ่งการรวมตัวทางเศรษฐกิจและทวงคืนอธิปไตยให้กลับคืนมา เช่น ระบบการเข้า-ออกเมือง เป็นต้น

การยอมเสียสละของเมย์ก็คือ ยอมให้กฎเกณฑ์บางอย่างให้คงไว้ในอังกฤษ หากไม่สามารถธำรงไว้ซึ่งหลักการประชาธิปไตยในประเทศ ยกตัวอย่าง เช่น

เมย์ยินยอมให้ไอร์แลนด์เหนือคงไว้ในสหภาพยุโรปไปพลางก่อนที่จะมีข้อตกลงยุติ

ทว่า ผู้สนับสนุนการแยกตัวต้องการทั้งอำนาจอธิปไตย ประชาธิปไตย และผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ รวม 3 รายการไปพร้อมกัน แต่ในเอกภพนี้ไม่มีโปรโมชั่น “สมดังใจ”

ไม่ว่าเทเรซา เมย์ จะใช้ความพยายามสักปานใดก็ไม่สามารถงมพระจันทร์ขึ้นมาจากในน้ำได้

เพียงแต่นำสิ่งที่คล้ายกันมาทดแทน วิธีการที่บัวไม่ให้ช้ำน้ำไม่ให้ขุ่นของเธอนั้น

ฝ่ายที่ต้องการแยกตัวถือว่าเป็น “ของปลอม” ฝ่ายที่อยากอยู่ก็ไม่ยอมรับ

ปัญหาเบร็กซิทที่ดำรงอยู่ในขณะนี้ ยังมองไม่เห็นว่าเทเรซา เมย์ จะหาทางออกใหม่ได้อย่างไร สหภาพยุโรปก็คงไม่ยอมถอย เพื่อให้ฝ่ายขอแยกตัวได้ประโยชน์ หากมิฉะนั้น พันธมิตรก็จะยึดถือเอาเป็นตัวอย่าง และอาจเป็นเหตุทำให้สหภาพยุโรปไปสู่วิฤตแห่งความแตกแยก

ถึงเวลาแล้วที่คนอังกฤษจักต้องหันหน้าให้กับความจริง คือต้องด่วนทำการตัดสินใจระหว่างประเด็นอยู่กับสหภาพยุโรปต่อไปหรือแยกตัวอย่างไม่มีข้อตกลง

มีนักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากได้แจ้งเตือนว่า “การแยกตัวที่ไม่มีข้อตกลงคือภยันตราย เพียงจากเหตุการณ์ยับยั้งของรัฐสภา เงินปอนด์ดิ่งลงแล้วทะยานขึ้นอย่างรวดเร็ว

ดูประหนึ่งเป็นการส่งสัญญาณของตลาดว่าให้เลือกการอยู่ต่อไป แต่คนอังกฤษส่วนหนึ่งยังตกอยู่ในภาวะแห่งความฝันอันเพ้อเจ้อ มิได้เสื่อมคลาย ส่วนฝ่ายที่ต้องการแยกตัวยังยืนยันว่าการแยกตัวที่ปราศจากข้อตกลงเป็น “ทางออก” ที่ดีที่สุด

การวิจารณ์อันเกี่ยวกับภยันตรายทางเศรษฐกิจหลังการแยกตัวคือข่าวที่ก่อให้เกิดความตื่นตระหนก กรณีละม้ายกับกระแส “Y2K” เมื่อปลายศตวรรษที่แล้ว คือ

ปัญหาปี 2000 ที่เรียกว่า “Y2K problem” เป็นปัญหาระบบเอกสารและการบันทึกข้อมูลของคอมพิวเตอร์ ลือกันว่าจะมีปัญหาเมื่ออุปกรณ์ต่างๆ ใช้งานจนถึงหลังเที่ยงคืน 31 ธันวาคม 1999 และเข้าสู่ 1 มกราคม 2000 การทำงานจะเกิดการผิดเพี้ยนหรือหยุดชะงัก สร้างความตื่นตระหนกในแวดวงธุรกิจธนาคาร การแพทย์ และการทหารตลอดจนด้านสาธารณูปโภค เป็นต้น

ปัญหาของคนอังกฤษวันนี้คือ ความสงสัยลังเล ไม่กล้าตัดสินใจ ทั้งนี้ ก็เพราะนักการเมืองไม่พูดความจริงกับประชาชน แทบจะเหมือนกันหมดทั่วโลก นักการเมืองเวลาหาเสียงให้หมดทุกอย่าง เมื่อได้เข้าสภาแล้วก็พูดเหมือนคนบ้า มีภาษิตของไทยว่า “รกคนดีกว่ารกหญ้า” แต่ถ้ารกคนบ้าแล้วรกหญ้าดีกว่ารกคน ทว่า นักการเมืองส่วนใหญ่มีความสามารถสูงทุกด้าน ไม่ว่าจะเตะฟุตบอล ไม่ว่าจะช่วยรดน้ำสวนผัก ไม่ว่าจะสวมกอดกับแม่ค้า ทำได้หมดโดยไม่เคอะเขิน

จากการสำรวจประชามติครั้งล่าสุดปรากฏว่า จำนวนคนอังกฤษที่สนับสนุน “การอยู่” มากกว่า “การแยก” ในทางทฤษฎี ถ้าใช้ผลการลงประชามติครั้งที่ 2 มาล้มล้างผลครั้งก่อน น่าจะเป็นทางออกที่ดี และดูผิวเผินก็มีความสอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย

ฝ่ายที่ต้องการอยู่ได้อ้างตัวอย่างเดนมาร์กและไอร์แลนด์เป็นเหตุผลว่า ทั้งสองประเทศได้ทำการคว่ำเงื่อนไขของสหภาพยุโรป ครั้นเมื่อถึงการลงประชามติครั้งที่ 2 จึงได้รับความสำเร็จ

ในทำนองเดียวกันถ้าสหราชอาณาจักรจะใช้ประชามติครั้งที่ 2 เป็นการตัดสินใจ ฝ่ายที่ต้องการแยกตัวก็ต้องกล่าวหาว่า “ขาดไร้คุณธรรม ประชาธิปไตยปลอม”

เหลือเวลาไม่มากก็จะถึง 29 มีนาคม คือ “เส้นตาย” ของการแยกตัว

ปัญหาการแยกตัวเป็นประเด็นที่สร้างความแตกแยกให้แก่สังคมของคนอังกฤษมากที่สุด

คนอังกฤษส่วนหนึ่งยังเห็นว่าการรวมตัวกันทางเศรษฐกิจไม่สามารถนำมาซึ่งผลประโยชน์แก่พวกเขา จึงขอให้มีการทำประชามติรอบที่ 2 ถ้าคนอังกฤษลงมติเห็นชอบกับการแยกตัว แต่รัฐบาลก็ต้องจัดทำโรดแมปออกมา เพื่อแก้ไขประเด็นความขัดแย้ง หากมิฉะนั้น เหตุการณ์ก็จะต้องขยายวงกว้างขึ้นและมากขึ้น เป็นความระทึกและน่าจับตาดู

ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image