เข้าฤดูการเลือกตั้งแล้ว… : โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

พลันที่ พ.ร.ฎ.กำหนดให้มีการเลือกตั้งออกมา และ กกต.ก็ประกาศวันเลือกตั้งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ความคึกคักทางการเมืองก็เริ่มขึ้นในระดับหนึ่ง แม้จะยังไม่มากนัก เนื่องจากต้องรอความชัดเจนอีกสักสามเรื่องใหญ่ๆ

หนึ่ง การกำหนดกติกาต่างๆ ในการรณรงค์หาเสียง เช่น จุดปักป้าย การออกอากาศโทรทัศน์และการใช้สื่ออื่นๆ ในการรณรงค์หาเสียง

สอง การประกาศทั้งรายชื่อและเขตต่างๆ ที่ผู้สมัครแต่ละพรรคจะลงสมัคร รวมทั้งประกาศรายชื่อผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อ และรายชื่อที่แต่ละพรรคจะเสนอเพื่อเข้าชิงการเป็นนายกรัฐมนตรี รวมทั้งการประกาศนโยบายของแต่ละพรรค

สาม เรื่องที่สำคัญที่สุดจนกว่าจะถึงวันเสนอชื่อของแต่ละพรรคว่าใครจะอยู่ในรายชื่อของผู้ที่จะรับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี ก็คือว่า พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะทั้งหัวหน้าคณะรัฐประหารและนายกรัฐมนตรีจากการรัฐประหารนั้น จะยอมรับคำเชิญจากพลังประชารัฐที่ก่อตั้งโดยคนในรัฐบาลเองไหม และเอาเข้าจริงพลังประชารัฐจะเชิญ พล.อ.ประยุทธ์จริงไหม

Advertisement

หาก พล.อ.ประยุทธ์ยอมรับเชิญในรอบนี้ ก็มีความเป็นไปได้สูงว่าสนามการเลือกตั้งในรอบนี้จะกลายเป็นสนามรบทางอุดมการณ์ที่ชัดเจนและแหลมคมยิ่ง เพราะเท่ากับการพุ่งเป้าไปที่ประเด็นว่า การรัฐประหารเมื่อปี 2557 มาจนถึงวันนี้มีความเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับการวางรากฐานทางอำนาจของกลุ่มที่ยึดอำนาจ

หากใครจำความรู้สึกของผู้คนที่มีต่อ “การเสียสัตย์เพื่อชาติ” ในครั้งที่ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ผู้นำรัฐประหารเมื่อปี 2534 ยินยอมรับตำแหน่งตามคำเชิญของพรรคสามัคคีธรรมในปี 2535 ได้ ก็จะเข้าใจว่าการยอมรับของสังคมที่มีต่อคณะ รสช.และผลงานของการบริหารประเทศของคุณอานันท์ ในฐานะที่ถูกเชิญมาเป็นนายกครั้งแรกนั้นมีสูงขนาดไหน และการขึ้นสู่อำนาจของ พล.อ.สุจินดาไม่ได้ขัดกับรัฐธรรมนูญอีกต่างหาก พูดกันตรงๆ ก็คือขนาดบุญเก่าดีขนาดนั้น พล.อ.สุจินดาก็ยังไปไม่รอดในสถานการณ์นั้น

งานนี้ผมคิดว่า พล.อ.ประยุทธ์น่าจะเจอมรสุมทางการเมืองครั้งใหญ่ และใหญ่กว่ายุค รสช.มากนัก ด้วยว่ารอบนี้ พล.อ.ประยุทธ์นั้น “ทำเองและบริหารเอง” ซึ่งไม่เหมือนกับกรณีของ รสช.ที่ให้รุ่นพี่เป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร และ ให้คนนอกมาเป็นนายกฯ

Advertisement

เอาเป็นว่า พล.อ.ประวิตรก็คงจะสามารถนั่งกินข้าวเหนียวมะม่วงอย่างสบายใจได้มากขึ้น เพราะสามารถคืนตำแหน่ง “ตำบลกระสุนตก” ให้กับน้องรักไปได้เลย

นอกจากคำวิพากษ์วิจารณ์ที่จะโถมเข้าหา พล.อ.ประยุทธ์อย่างเต็มที่หาก พล.อ.ประยุทธ์ยอมรับการเสนอชื่อจากพรรคพลังประชารัฐแล้ว การต่อสู้ในแง่การนำเสนอนโยบายของแต่ละพรรคในการเลือกตั้งจะไม่ได้มีลักษณะที่แข่งกันในแง่ของการนำเสนอนโยบายเหมือนที่ผ่านมา แต่เราน่าจะได้พบกับการโจมตีและถกเถียงต่อความสำเร็จและความล้มเหลวของรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์อย่างไม่เคยมีมาก่อนนับตั้งแต่การยึดอำนาจ

ที่พูดเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลนี้ไม่มีผลงานที่ดีและประสบความสำเร็จเอาเสียเลย เพราะทุกรัฐบาลก็ย่อมจะมีนโยบายที่สำเร็จและไม่สำเร็จทั้งสิ้น แต่เราก็อาจจะกล่าวได้ในระดับหนึ่งว่า สิ่งที่อยู่เหนือกว่าจำนวนผลงาน ความสำเร็จและความล้มเหลวของนโยบายก็คือ ความคาดหวังที่ประชาชนมีต่อการบริหารและการปกครองสี่ปีกว่าที่ผ่านมานั้นมีสูงมาก

เพราะส่วนหนึ่งที่เพิ่มไปจากความคาดหวังปกติของประชาชนที่มีต่อสภาพบ้านเมืองและการบริหารก็คือการที่คณะรัฐประหารให้ “สัญญา” กับประชาชนทั้งในเรื่องของผลการแก้ปัญหา และเรื่องของเวลาที่จะอยู่ในอำนาจ (ประเภทแผ่นดินดีในไม่ช้าฯ)

หาก พล.อ.ประยุทธ์และคณะ คสช.จะเสียเปรียบในเรื่องของการแข่งขันในสนามเลือกตั้ง ก็หมายถึงว่าพวกเขาจะเพลี่ยงพล้ำต่อความคาดหวังของประชาชน และองคาพยพบวกสรรพกำลังของรัฐรวมทั้งการมีกลุ่มนักการเมืองเก่าเข้ามาอยู่ด้วยนั้นก็อาจไม่ใช่พลังที่ทำให้ผู้มีอำนาจในวันนี้ได้เปรียบเสมอไป เหมือนที่มีการคาดเดากันในช่วงที่ผ่านมาถึงความได้เปรียบของระบอบที่ดำเนินอยู่ในการแข่งขันการเลือกตั้งในรอบนี้

ในอีกส่วนหนึ่งก็คือหากพิจารณาถึงระบอบอำนาจนิยมทั้งเผด็จการเต็มใบหรือครึ่งใบในอดีตนั้น ระบอบการเมืองสมัยก่อนถือครองอำนาจได้นานผ่านการพึ่งพิงกับสถาบันทางความรู้เชิงนโยบายที่ชัดเจน โดยเฉพาะธนาคารแห่งประเทศไทย สภาพัฒน์ และนักวิชาการหลายท่านในระดับมหาวิทยาลัยที่ออกไปรับตำแหน่งบริหารในรัฐบาล ทั้งหมดนี้ทำให้เราเห็นทิศทางในการกำหนดนโยบายที่ชัดเจน อาทิ การพึ่งพาสภาพัฒน์ ธนาคารแห่งประเทศไทย และนักวิชาการ จนเกิดเป็นชุดความรู้และการปฏิบัติบางอย่างที่ชัดเจนในสมัยจอมพลสฤษดิ์ และ พล.อ.เปรม

แต่ในปัจจุบัน แม้จะมีการพูดถึงยุทธศาสตร์ชาติ สิ่งที่เราเห็นก็คือเราไม่พบสาระสำคัญที่ทุกคนเข้าใจจากยุทธศาสตร์ชาติมากไปกว่าสภาพบังคับและความศักดิ์สิทธิ์ของตัวแผนยุทธศาสตร์ชาติเอง ซึ่งทำงานราวกับอุดมการณ์ที่กลวงเปล่าของรัฐ และเราไม่พบเจ้าภาพทางหลักวิชาที่น่าเชื่อถือนอกจากการตั้งคณะกรรมการที่ทำหน้าที่เสมือนองค์กรตุลาการแห่งยุทธศาสตร์ชาติ

เพราะเราเข้าใจกันว่า แผนยุทธศาสตร์ชาตินั้นถูกกำหนดมาจากหน่วยงานราชการเสียเป็นส่วนใหญ่ และกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนมีลักษณะแค่การให้ข้อมูลและแสดงความเห็นมากกว่าการจัดทำและควบคุมกำกับดูแลรัฐผ่านยุทธศาสตร์เหล่านั้นด้วยสถาบันตัวแทนของพวกเขา

ในประการถัดมา เราอาจจะพยายามสร้างระบบเปรียบเทียบถึง “เป้าหมาย” และ “จินตนาการ” ของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงและวางกติกาในรอบนี้ในฐานะจุดเน้นในการศึกษา วิเคราะห์ และทำนายปรากฏการณ์ทางการเมืองที่กำลังจะถึง โดยเชื่อว่าชนชั้นนำที่กุมอำนาจนั้นมีความต้องการที่จะยึด รักษาและสืบสานความสัมพันธ์ทางอำนาจบางประการต่อไปผ่านกฎกติกา และการกระทำอีกมากมายที่สร้างขึ้นมา และทำให้ฝ่ายตนนั้นได้เปรียบ

แต่สิ่งที่ยังขาดการวิเคราะห์และอภิปรายกันก็คือเรื่องของมุมมองของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งในครั้งนี้

ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะว่านักวิเคราะห์และทำนายอาจจะรอให้ผลการเลือกตั้งออกมาก่อน แล้วค่อยวิเคราะห์ความนิยมของประชาชนที่มีต่อพรรคการเมืองและนักการเมืองที่ทรงอิทธิพลต่างๆ

นอกจากนี้ในระบอบการเมืองที่ค่อนข้างปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นมาหลายปี ก็เป็นเรื่องยากที่จะสามารถวัดประเมิน หรือล่วงรู้ว่าผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งนั้นคิดอย่างไรจริงๆ

แต่ในอีกมุมหนึ่งอาจเป็นไปได้ว่า ประชาชนอาจแสดงออกกับทุกพรรคว่าสนใจทางเลือกใหม่ๆ แต่เมื่อถึงนาทีสุดท้ายอาจมีปัจจัยอีกหลายปัจจัยที่มีส่วนต่อการตัดสินใจของพวกเขา ทั้งในแง่แบบแผนปฏิบัติในพื้นที่ หรือการคาดคำนวณว่าหากพวกเขาลงคะแนนให้กับคนที่เขาต้องการเลือกจริงๆ ภารกิจทางประวัติศาสตร์อื่นๆ อาจไม่เกิดขึ้น เช่น การขับไล่เผด็จการ หรือการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในด้านเศรษฐกิจ

การลงคะแนนเลือกตั้งเชิงยุทธศาสตร์จึงอาจจะมีส่วนสำคัญในการเลือกตั้งในรอบนี้ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า แทนที่จะทำความเข้าใจการเลือกตั้งจากมุมมองของชนชั้นนำเท่านั้น หรือศึกษาด้านกลยุทธ์หาเสียง หรือคาดเดาคะแนนเสียงในพื้นที่จากผลของโพลโดยเชื่อว่าคะแนนเสียงที่ออกมานั้นน่าจะสะท้อนถึงความต้องการที่แท้จริงของประชาชนในแต่ละพื้นที่

ส่วนที่อาจจะต้องพิจารณาก็คือความท้าทายว่า ในระดับประเทศและในระดับเขตนั้น ผลการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่าการเลือกตั้งในครั้งที่จะถึงนี้ คนในพื้นที่ไหน และ/หรือ เป็นสัดส่วนเท่าไหร่ที่เลือกตั้งจากนโยบาย จากอุดมการณ์ จากมุมมองทางยุทธศาสตร์ (คือเลือกพรรคที่ไม่ใช่พรรคที่ชอบจริงๆ แต่เลือกเพราะต้องการชัยชนะที่มีต่ออีกฝ่ายหนึ่ง หรือทำให้อีกฝ่ายหนึ่งอ่อนแอลง) หรืออาจจะเลือกด้วยเงื่อนไขทางวัฒนธรรม หรือเงื่อนไขผลประโยชน์ระยะสั้นตั้งแต่การซื้อสิทธิขายเสียง ไปจนถึงเรื่องของการแลกเปลี่ยนโครงการกับคะแนนเสียงก็อาจเป็นได้

การเลือกตั้งครั้งนี้ยังมีลักษณะโดดเด่นอีกประการหนึ่ง นั่นก็คือมีคนรุ่นใหม่และหน้าใหม่เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการเมืองมากขึ้นเป็นอย่างมาก ในแง่ของการเข้ามาเสนอตัวจัดตั้งพรรคหรือเข้าร่วมกับพรรคการเมืองที่มีอยู่เดิม

แต่ในอีกด้านหนึ่ง สิ่งที่ยังไม่มีความชัดเจนก็คือ ความสนใจของผู้คนที่มีต่อการสังเกตการณ์ การตรวจสอบการหาเสียง และการเรียกร้องความต้องการของตนและกลุ่มตนต่อทุกพรรคการเมือง เพื่อให้แต่ละพรรคการเมืองจำเป็นต้องจัดทำนโยบายรองรับ หรือตอบคำถามกับประชาชนอย่างเป็นระบบ

จนถึงวันนี้การรายงานข่าวของสื่อมวลชนก็ยังเป็นเรื่องของการคาดเดาผลโพล และข่าวการลงพื้นที่ของแต่ละพรรค ส่วนการรวมตัวของประชาชนออกเป็นองค์กรอิสระเพื่อเรียกร้อง จับตา กดดัน ทุกฟากฝ่ายทางการเมืองนั้นไม่ค่อยชัดเจนนัก ทั้งที่กระแสสังคมก็ดูจะไม่ค่อยเชื่อถือและให้น้ำหนักกับองค์กรอิสระที่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งในครั้งที่จะถึงนี้มากเท่าไหร่

ประการสุดท้าย หากลองพิจารณาหนึ่งในคำอภิปรายยอดฮิตว่าระบอบเปรมนั้นเป็นเป้าหมายที่ระบอบปัจจุบันต้องการไปให้ถึงจริงหรือไม่ จะพบว่าส่วนใหญ่การวิเคราะห์มักจะเน้นไปที่การเปรียบเทียบบุคลิกและภาวะผู้นำของ พล.อ.เปรมกับผู้นำในวันนี้ หรือมองเปรียบเทียบเอกภาพของทหารในช่วงนั้นและในช่วงนี้

แต่อีกส่วนที่ยังขาดการวิเคราะห์ที่ชัดเจนก็คือ พัฒนาของกลุ่มทุนไทยในวันนี้มีขนาดและอิทธิพลแค่ไหนต่อการเมือง และต่อการสะสมทุนของระบบทุนนิยมไทยและทุนนิยมในภาพรวมของโลก

ในยุค พล.อ.เปรมเราไม่พบกลุ่มทุนที่ทรงอิทธิพลและเชื่อมประสานกับรัฐในลักษณะที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ และนี่คืออีกประเด็นท้าทายที่สำคัญที่ควรตั้งคำถามร่วมกันที่ไปไกลกว่าว่า ผลการเลือกตั้งนั้น ทหารและเครือข่ายหรือนักการเมืองและเครือข่ายจะได้ประโยชน์

หากแต่ตั้งคำถามว่า กลุ่มทุนใหญ่ที่ผนึกตัวเองเข้าไปในยุทธศาสตร์และโครงการต่างๆ ของรัฐในช่วงที่ผ่านมา จะได้ประโยชน์จากการเมืองหลังการเลือกตั้งในครั้งนี้อย่างไร

ในสมัย พล.อ.เปรมแม้ว่าทุนไทยจะมีพัฒนาการเติบโตมาในระดับหนึ่ง แต่ทุนไทยก็มีลักษณะการเข้าแถวร่วมมือกับรัฐบาลอย่างชัดเจนตามระบบของคณะกรรมการรัฐร่วมเอกชน (กรอ.) ขณะที่ทุนไทยในวันนี้ไม่ได้มีลักษณะเข้าแถวให้ความร่วมมือกับรัฐเช่นเคย แต่มีลักษณะที่เป็นพี่เลี้ยงให้กับนโยบายและโครงการของรัฐ อย่างเช่น โครงการประชารัฐ เป็นต้น

การอธิบายว่ารัฐอนุญาติหรือเลือกทุนบางกลุ่มมาเข้าร่วมงานอาจจะเป็นการตั้งต้นคำอธิบายที่เข้าใจความเป็นจริงไม่ครบด้าน เพราะทุนบางกลุ่มอาจทรงอิทธิพลจนรัฐปฏิเสธไม่ได้และผนึกตัวเองเข้าสู่ระบบสะสมทุนดังกล่าวเสียมากกว่า

ลองจับตาดูกันครับว่า ระยะเวลาอีกสองเดือนที่จะถึงนี้ เราจะเห็นอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหนทั้งในช่วงการประกาศตัวผู้สมัคร นโยบาย และการรับ/ไม่รับการเสนอชื่อชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รวมทั้งพฤติกรรมการหาเสียงและการเลือกตั้ง และความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ ทุนและสังคม ในช่วงที่กำลังจะถึงอีกไม่นานนี้ครับ

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์
[email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image