‘หลวงพ่อคูณ’

วันที่ 29 มกราคม 2562 จะมีพิธีพระราชทานเพลิงพระเทพวิทยาคม (หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ) ที่จังหวัดขอนแก่น

จึงอยากชวนผู้อ่านไปร่วมรำลึกถึงสถานภาพและบทบาทสำคัญของหลวงพ่อ ผ่านความเห็นของ ดร.พัฒนา กิติอาษา (2511-2556) นักมานุษยวิทยาลูกอีสานและอดีตอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ซึ่งเคยเขียนถึง “หลวงพ่อคูณ” ไว้ในบทความภาษาอังกฤษชื่อ “Luang Pho Khun: A Postmodern Monk”

ตามทรรศนะของ ดร.พัฒนา “หลวงพ่อคูณ” มีสถานะเป็น “คนกลาง” ในสังคมไทยช่วงทศวรรษ 2530-2540 ซึ่งทำหน้าที่เชื่อมโยงความศักดิ์สิทธิ์กับเรื่องราวทางโลกย์เข้าไว้ด้วยกัน

ท่ามกลางปริมณฑลทางอำนาจแขนงต่างๆ เช่น การเมืองและเศรษฐกิจ

Advertisement

ผ่านวัตถุมงคลจำนวนมาก เรื่องราวเชิงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ที่ได้รับการเผยแพร่ในสื่อมวลชนอย่างกว้างขวาง สายสัมพันธ์กับชนชั้นนำแทบทุกกลุ่ม ตลอดจนโครงการระดมทุนเพื่อสาธารณประโยชน์มากมาย

“คนกลาง” “หลวงพ่อคูณ” เป็นผู้ถักทอสายสัมพันธ์ระหว่างข้อเท็จจริง, การกระทำ และประสบการณ์ชุดต่างๆ ซึ่งเคยดำรงอยู่อย่างแยกขาดออกจากกัน ให้มีจุดร่วมอันเชื่อมร้อยกันมากยิ่งขึ้น

พูดอีกอย่างได้ว่า หลวงพ่อคือผู้เผยให้เห็นถึง “สายสัมพันธ์ทางสังคม” บางประการ ที่ไม่เคยถูกเปิดเผยมาก่อน

Advertisement

ดร.พัฒนายกตัวอย่างการแสดงบทบาทดังกล่าวของหลวงพ่อคูณไว้จำนวนหนึ่ง อาทิ

ข้อแรก “หลวงพ่อคูณ” ได้ช่วยทำให้เส้นแบ่งหรือพรมแดนระหว่างคนรวยกับคนยากจน คนชั้นสูงกับคนชั้นล่าง ผู้มีอำนาจกับผู้ด้อยอำนาจ มีความพร่าเลือนกว่าเดิม

เพราะผู้ที่นับถือศรัทธาหลวงพ่อ ล้วนปรารถนาที่จะมีความร่ำรวยในเชิงวัตถุ, มีอำนาจปากเสียง และมีความอยู่ยงคงกระพันรอดพ้นจากภยันตรายต่างๆ คล้ายคลึงกัน ไม่ว่าพวกเขาและเธอจะมีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมแบบไหนก็ตาม

คนทั้งหลายเหล่านั้นต่างไม่มั่นใจว่าพวกตนจะสามารถเดินทางไปถึงเป้าหมายที่วางเอาไว้ด้วยระบบเหตุผลและการดำเนินชีวิตตามปกติ

ทั้งหมดจึงพร้อมใจกันหันมาพึ่งพาความศักดิ์สิทธิ์ของ “หลวงพ่อคูณ”

อีกหนึ่งเรื่องที่ ดร.พัฒนาอธิบายไว้อย่างน่าประทับใจ ก็คือการใช้สรรพนาม “กู-มึง” ของ “หลวงพ่อคูณ” ทั้งในการสนทนากับญาติโยม ไปจนถึงการตั้งชื่อวัตถุมงคลรุ่นต่างๆ

นักมานุษยวิทยาสายเลือดอีสานตีความว่านั่นคือการคืนเสียงให้ “ภาษาชาวบ้าน” ในยุคสมัยที่ภาษาส่วนกลางของทางการ (ซึ่งถูกประเมินว่าสุภาพกว่า) แพร่ขยายไปพร้อมกับระบบการศึกษาของรัฐ ระบบราชการ และสื่อมวลชน ตามรสนิยม-มาตรฐานที่กำหนดโดยชนชั้นนำ

อย่างไรก็ดี เมื่อ “หลวงพ่อคูณ” ได้รับความนับถือจากคนทุกกลุ่มในสังคม คำพูด “กู-มึง” ที่ท่านเอ่ย จึงกลายเป็น “ภาษาศักดิ์สิทธิ์” มากกว่าจะถูกปรามาสว่าเป็นกิริยามารยาทที่ไม่สุภาพของชาวชนบท

พิจารณาในภาพรวม คุณูปการที่ “หลวงพ่อคูณ” มีต่อสังคมไทย ก็ได้แก่ การปรับประสานต่อรองคำสอนทางพุทธศาสนาให้ดำรงอยู่คู่กันได้กับการพาณิชย์และความเชื่อเรื่องปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติ ซึ่งเป็น “วัฒนธรรมประชานิยม” ของคนไทย

“หลวงพ่อคูณ” เป็นตัวแทนของศาสนาพุทธแบบชาวบ้านในยุค “หลังสมัยใหม่” ที่ด้านหนึ่ง ก็ไม่มีความขัดแย้งกับอุดมการณ์หลักๆ ของรัฐไทย ส่วนอีกด้านหนึ่ง ก็มีความสอดคล้องลงรอยกับระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม

ทั้งยังเปิดพื้นที่ให้แก่ “เสียงอันหลากหลาย” ของสมาชิกในสังคม

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า “หลวงพ่อคูณ” คือ “คนกลาง” ผู้มีบทบาทสำคัญในบริบทเฉพาะของสังคมไทยยุค 2530-2540 ซึ่งการแข่งขันทางเศรษฐกิจและการเมืองย้ายสังเวียนมาต่อสู้กันบน “สนามทุนนิยม”

หลังจากที่ช่วง 1-2 ทศวรรษก่อนหน้านั้น “พระเครื่อง-วัตถุมงคล” มีความหมายหลักเป็น “เครื่องปกป้องคุ้มภัย” ในยุคสมัยที่เกมอำนาจต้องตัดสินกันด้วยการใช้ความรุนแรง

คำถามต่อเนื่อง คือ ในสังคมไทยปัจจุบัน เรากำลังต้องการ “คนกลาง” แบบไหน?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image