สารจากสี จิ้นผิง ถึงพี่น้องชาวจีนไต้หวัน โรดแมปการรวมตัวเพื่อมาตุภูมิ : โดย ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

1 มกราคม 2019 เป็นวันครบรอบ 40 ปี ที่รัฐบาลปักกิ่งส่งสารถึงพี่น้องไต้หวันอันเกี่ยวกับการรวมตัวเป็นหนึ่งเดียว จึงได้จัดประชุมเพื่อเป็นการรำลึกถึงวันแห่งประวัติศาสตร์

และในวันเดียวกัน “สี จิ้นผิง” เลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ และประธานาธิบดีจีน ได้ส่งสารถึงพี่น้องชาวจีนไต้หวัน โดยมีสาระสำคัญว่า “ความฝันจีนเป็นความฝันของพี่น้องสองฝั่งช่องแคบ ปัญหาไต้หวันควรต้องสิ้นสุดลงตามกาลและการณ์ คัดค้านความเป็นเอกราชของไต้หวัน เรื่องของคนจีน ต้องให้คนจีนแก้ไขกันเอง ช่องแคบไต้หวันต้องดำรงอยู่ในสถานะที่มั่นคง ไม่ว่าผู้ใดก็ไม่สามารถทำการสกัดกั้น นโยบายจีนเดียวเป็นพื้นฐานทางการเมืองของทั้งสองฝั่งช่องแคบ พี่น้องไต้หวันยึดถือนโยบายจีนเดียวก็จะได้รับประโยชน์ ในทางตรงกันข้าม ความสัมพันธ์ของสองฝั่งมีความสั่นคลอน กระทบถึงผลประโยชน์ส่วนตัวของพี่น้องไต้หวัน คนจีนไม่ตีคนจีนด้วยกัน แต่ก็ไม่สามารถให้คำมั่นการละเว้นใช้พละกำลัง ทั้งนี้ เป็นการมุ่งเน้นต่อพลังภายนอกกับลัทธิสร้างความแตกแยก หากมิได้หมายถึงพี่น้องไต้หวัน”

สารของสี จิ้นผิง มีความยาวเป็นอักษรจีน 4,240 ตัว

การรวมตัวจีนแผ่นดินใหญ่กับจีนไต้หวันเป็นเป้าหมายของการประชุมพรรคสมัยที่ 19 โดยให้ถือเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อทำการฟื้นฟูเผ่าพันธุ์ของจีน เป็นสัญลักษณ์บ่งบอกในการเป็นเอกภาพ โดยยึดนโยบาย “หนึ่งประเทศสองระบบ” ให้เป็นรูปธรรม ไม่ว่าพรรคการเมืองใดจะขึ้นมาบริหารประเทศ ปักกิ่งก็จะประสานกันโดยตรง เพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์

Advertisement

สี จิ้นผิง ยืนยันแน่ชัดและหนักแน่นว่า ปัญหาไต้หวันยืดเยื้อต่อไปมิได้

ย้อนอดีตเมื่อวันปีใหม่ 1979 สหรัฐกับไต้หวันสิ้นสุดความสัมพันธ์ทางการทูต เพื่อสถาปนาทางการทูตกับปักกิ่ง และในวันเดียวกัน สภาผู้แทนราษฎรจีนได้มีสารถึงพี่น้องชาวจีนไต้หวันโดยการยกเลิกคำขวัญ “ปลดปล่อยให้ไต้หวันเป็นอิสระ” ทั้งนี้ได้เสนอให้เป็นการ “รวมตัวโดยสันติวิธี” ซึ่งถือเป็นนโยบายใหม่ของปักกิ่งที่มีต่อไต้หวันในขณะนั้น

40 ปีผ่านไป แม้ยังไม่มีความคืบหน้า แต่ประเด็น “หนึ่งประเทศสองระบบ การรวมตัวอย่างสันติ” ยังเป็นนโยบายหลักและสำคัญของปักกิ่งไม่แปรเปลี่ยน

Advertisement

ที่ประชุมพรรคสมัยที่ 19 มีมติให้การรวมตัวอย่างช้าควรต้องบรรลุภายในสิ้นปี 2040

ปี 1980 ปักกิ่งได้เสนอนโยบาย “หนึ่งประเทศสองระบบ” เพื่อรวมไต้หวัน ทั้งนี้ ไต้หวันสามารถธำรงไว้ซึ่งระบบเศรษฐกิจของสังคม และวิถีชีวิตเหมือนเดิมไม่แปรเปลี่ยน ตลอดจนมีสิทธิคงไว้ซึ่งกองทัพ สะท้อนให้เห็นว่านโยบาย “หนึ่งประเทศสองระบบ” ของไต้หวันนั้นมีความแตกต่างกับฮ่องกงและมาเก๊า

สมัยนั้น สารที่ถึงไต้หวันเน้นว่า “ขอฝากความหวังไว้กับคนจีน 17 ล้านคน และทางการ”

สมัยนี้ สารที่ถึงไต้หวันเน้นว่า “ยืนยันการฝากความหวังไว้กับคนไต้หวัน”

คือจุดเปลี่ยนของเป้าหมายหลักในการทำงานชิ้นนี้

อดีตไม่ว่าจะเป็น “เจียง เจ๋อหมิน” ไม่ว่าจะเป็น “หู จิ่นเทา” จัดการกับประเด็นรวมไต้หวันเป็น “เอกภาพ” นั้น ไม่ต่างไปจากวลีที่ว่า “คืนความสุขให้แก่ประชาชน”

ปัจจุบัน “สี จิ้นผิง” เอาจริง การเจรจาจะมิใช่รูปแบบเก่า ที่ส่งตัวแทน เพราะแต่ละคนล้วนไม่มีอำนาจในการตัดสินใจ ฉะนั้น ปักกิ่งจะทำการเจรจากับผู้บริหารของไต้หวันโดยตรงเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองใด ไม่ว่าจะเป็นบุคคลใดที่เป็นผู้บริหาร ก็คือคู่สนทนาของปักกิ่ง

กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือปักกิ่งไม่ยอมให้ไต้หวัน “เปลี่ยนเจ้ามือ” อีกต่อไป

ปักกิ่งกำหนดเงื่อนไขการเจรจาเพียงขอให้ผู้บริหารไต้หวันสนับสนุน “ฉันทามติ 92” และคัดค้านการเป็น “เอกราชไต้หวัน” ย่อมเป็นคุณสมบัติที่เหมาะสมที่จะเข้าร่วมกันทำงานชิ้นนี้ให้สำเร็จตามเป้าหมาย และปักกิ่งจะไม่ตัดสินใจฝ่ายเดียวเป็นอันขาด

แน่นอนจะต้องมีคนไต้หวันทำการคัดค้านในประเด็นนี้ แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ คลังสมองไต้หวันได้ทำการสำรวจ ผลปรากฏว่าเรตติ้งการยอมรับของคนไต้หวันสูงขึ้นเป็น 26 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่การสำรวจครั้งแรกคือ 23 เปอร์เซ็นต์ ส่วนเรตติ้งการสนับสนุนให้เป็นเอกราช ลดลงจากแรกเกินกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ เหลือเพียง 36 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

พินิจพิเคราะห์สถานการณ์สองฝั่งช่องแคบ รูปแบบเดิมที่คาบลูกคาบดอกนั้นจะยืดเยื้อต่อไปมิได้อีกแล้ว คนไต้หวันควรต้องทำการตัดสินใจโดยพลัน และพอจะอนุมานได้ว่า จะต้องมีคนส่วนหนึ่งเลือกการรวมตัว แต่อีกส่วนหนึ่งก็คงเกาะชายกางเกงประธานาธิบดีสหรัฐต่อไป

แต่ในที่สุดน่าเชื่อว่าประเด็นไต้หวันต้องขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐ

เมื่อ 40 ปีก่อน สารจากปักกิ่งถึงพี่น้องไต้หวัน เพราะกระทำภายใต้บรรยากาศการสถาปนาทางการทูตจีนกับสหรัฐ เพื่อความร่วมมือระหว่างสองประเทศ จีนจึงใช้มาตรการนิ่มนวล

แต่วันนี้ จีนมีความจำเป็นต้องใช้ “ยาแรง” เพราะว่าสภาพการณ์ของสหรัฐได้แปรเปลี่ยนไปจากมิตรเป็นอยู่กันคนละฝั่ง และทำการต่อต้านสกัดจีนทั้งการเมืองและการทูต มิได้ว่างเว้น

2 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายท่องเที่ยวไต้หวัน ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายกลาโหมของสหรัฐ ล้วนเป็นการกระทำละเมิดอันเกี่ยวกับการแทรกแซงนโยบายจีนเดียว

นอกจากนี้ ยังมีโครงการเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐเยือนไต้หวัน การขายอาวุธให้แก่ไต้หวัน เป็นต้น ล้วนเป็นการสวนทางกับแถลงการณ์ร่วมของการสถาปนาทางการทูต

เป็นเจตนาโดยสมบูรณ์ที่สหรัฐประสงค์ใช้ไต้หวันเป็นเครื่องมือในการสกัดปักกิ่ง

ฉะนั้น การที่ปักกิ่งจะทำงานชิ้นนี้สำเร็จได้ ก็ต้องเคลียร์ปัญหาการแทรกแซงของสหรัฐก่อน หากมิฉะนั้น คงยากที่จะเดินหน้าต่อไป

กรณีของไต้หวันต่างกับฮ่องกงและมาเก๊า เพราะฮ่องกงและมาเก๊าบังคับตามสนธิสัญญา เสมือนมะม่วงสุกงอม เพียงเอาตะกร้าไปรองรับเท่านั้น

ส่วนกรณีไต้หวันละม้ายกับมะม่วงครึ่งสุกครึ่งดิบ และมีคนคอยสกัดไม่ได้เด็ด ฉะนั้นจึงยาก

ปักกิ่งจึงกำหนดโรดแมปไว้ถึง 2 ทศวรรษ

แม้เป็นการซื้อเวลา แต่มีเหตุผลและสอดคล้องกับหลักของตรรกะ

1 คือรอให้คนรุ่นเก่าของสองฝั่งช่องแคบที่เรียกกันว่าชาวจีนรักชาติล้มหายตายจากไปก่อน

1 คือคนรุ่นใหม่ไม่สนใจการเมือง สนใจแต่การค้า สิ่งใดที่สามารถทำเงินได้เขาเอาหมด

อย่างไรก็ตาม โรดแมปของจีน น่าเชื่อว่าเป็นความจริงใจและอยู่ในวิสัยที่เป็นไปได้ หากมิใช่โรดแมปที่มีหลายปฏิญญา เลื่อนแล้วเลื่อนอีก เหลวไหลสิ้นดี

ผู้นำจีนยึดมั่นคติพจน์ของพรรค “ค้นหาสัจธรรมจากความเป็นจริง” พูดไหนเป็นนั่น ไม่หุนหันพลันแล่น ไม่จัดฉากสร้างภาพ เป็นคนควรที่เขาทั้งหลายจะเคารพนับถือได้และดูมีราคา

อนึ่ง แม้ว่าประเทศจีนปกครองด้วยระบอบสังคมนิยม แต่ประชาชนมีความสุขมากกว่าคนที่อยู่ในระบอบประชาธิปไตยบางประเทศ เพราะพวกเขาไม่ต้องมานั่งฟังผู้นำระบายอารมณ์ และก็ไม่มีผู้นำมาทำสามหาวหรือเกรี้ยวกราดชี้หน้าสั่งสอนประชาชนแต่อย่างใด

ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image