ส่องโผบัญชีชื่อชิงนายกฯ จุดแข็ง-จุดขายแต่ละพรรค

เมื่อพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ.2562 มีผลบังคับใช้ ขณะเดียวกันคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกมารับลูกทันที ในการกำหนดวันให้การเลือกตั้ง ส.ส. คือวันที่ 24 มีนาคม

พร้อมกับกำหนดวันรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส.ทั้งแบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อ ระหว่างวันที่ 4-8 กุมภาพันธ์นี้ แต่ที่น่าจับตาของในห้วงวันรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส. ตามระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม ซึ่งรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 88 กำหนดไว้ว่าพรรคการเมืองที่จะส่งผู้สมัคร ส.ส.ทั้งแบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อ จะต้องเสนอรายชื่อบุคคลที่แต่ละพรรคจะเสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรี ไม่เกิน 3 รายชื่อต่อ กกต.ในช่วงเปิดรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส.ด้วย

แน่นอนเมื่อกรอบระยะเวลาการรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส. กำหนดไว้คือช่วงวันที่ 4-8 กุมภาพันธ์นี้ ชื่อของว่าที่นายกฯคนในของแต่ละพรรคที่จะเสนอให้กับพี่น้องประชาชน ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง จะต้องโชว์ชื่อในห้วงเวลาดังกล่าวเช่นเดียวกัน

หากมาไล่เรียงว่าที่บัญชีนายกฯ ของพรรคการเมืองที่คาดว่าจะได้รับการเลือกตั้ง มีจำนวน ส.ส.เพียงพอต่อการเสนอชื่อว่าที่นายกฯ คือ ส.ส.จำนวน 25 เสียง ให้ที่ประชุมรัฐสภา คือ 750 คน แบ่งเป็น ส.ส.500 คน สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 250 คน ร่วมกันโหวตเลือกนายกฯ ให้ได้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง คือ 376 เสียง

Advertisement

เริ่มจากพรรคใหญ่เจ้าของแชมป์เก่า อย่างพรรคเพื่อไทย (พท.) ล่าสุดมีการคาดการณ์และเปิดชื่อว่าที่บัญชีนายกฯของพรรค พท. มา 2 ชื่อ คือ 1.“คุณหญิงหน่อย” คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้ง พรรค พท. และ 2.นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เจ้าของฉายา “รัฐมนตรีผู้แข็งแกร่งในปฐพี” ในฐานะคณะทำงานด้านเศรษฐกิจ พรรค พท. ที่ได้แรงเชียร์ทั้งจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ กลุ่มชนชั้นกลาง ดูจากตัวเลขของโพลที่สนับสนุนล่าสุดระหว่าง “คุณหญิงสุดารัตน์” กับ “ชัชชาติ” ถือว่าสูสีกัน

ขณะที่รายชื่อว่าที่นายกฯชื่อที่ 3 ของพรรค พท. แกนนำพรรคยังอุบเงียบให้ลุ้นว่าจะเปิดชื่อแบบเซอร์ไพรส์ ขึ้นมาหรือไม่

หากจะวิเคราะห์หากพรรค พท.เสนอชื่อ “คุณหญิงสุดารัตน์” และ “นายชัชชาติ” ให้เป็นบัญชีนายกฯของพรรค แน่นอนย่อมต้องชูจุดแข็งความเป็นนักบริหารของนายชัชชาติ ที่ไม่มีภาพของการเล่นการเมืองแบบเก่า ที่สาดโคลน ตอบโต้ฝ่ายตรงข้าม มุ่งเน้นการแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจทั้้งในภาพใหญ่ และเศรษฐกิจในระดับพื้นที่

Advertisement

ส่วน “คุณหญิงสุดารัตน์” จะชูจุดแข็งของทีมผู้บริหารจากพรรค พท.ที่เน้นความเป็นมืออาชีพ รู้ปัญหาและวิธีการแก้ปัญหาให้กับประชาชนได้จริง กับปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง ที่ยังเป็นจุดอ่อนของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตลอดระยะเวลาการเข้ามาบริหารประเทศเข้าปีที่ 5 โดยสโลแกนของพรรค พท.ที่ว่า “อยู่กับเรากระเป๋าตุง อยู่กับลุงกระเป๋าแฟบ”

ขณะที่ฝั่งของผู้ท้าชิงอย่างพรรคใหม่แต่ไม่ใหม่ทางการเมือง อย่าง “พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)” ที่มี 4 รัฐมนตรี สายตรง นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่ร่วมอยู่ใน ครม. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั่งเป็นแกนนำพรรค นำโดย อุตตม
สาวนายน หัวหน้าพรรค พปชร.

โดยบัญชีว่าที่นายกฯของพรรค พปชร. ที่เปิดโผออกมาผ่านสื่อ นั่นคือ 1.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช. 2.นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ฝ่ายเศรษฐกิจ และ 3.นายอุตตม หัวหน้าพรรค พปชร.

หากสแกนบัญชีว่าที่นายกฯของพรรค พปชร. แน่นอนจุดแข็งที่จะใช้หาเสียงเลือกตั้ง นั่นคือ ในด้านของความสงบของประเทศ และความต่อเนื่องในการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล หากพรรค พปชร.เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ย่อมจะเดินหน้าสานงานต่อนโยบายประชารัฐ ทั้งเรื่องบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รถไฟฟ้าความเร็วสูง โครงการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

แม้ “บิ๊กตู่” จะยังไม่เซย์เยส ตกปากรับคำ รับเป็นว่าที่นายกฯในบัญชีของพรรค พปชร.
อย่างเป็นทางการ เนื่องจากยังรอประเมินเหตุและปัจจัยทางการเมืองว่าจะยอมรับเป็นนายกฯคนใน หรือนายกฯคนนอก

รวมทั้งหากเกิดเหตุพลิกล็อก “บิ๊กตู่” ไม่ยอมรับเป็นว่าที่นายกฯของพรรคใดเลย พรรค พปชร.ยังมีชื่อของ “สมคิด” และ “อุตตม” ที่ชูภาพของนักบริหารในด้านเศรษฐกิจที่ยังพอเป็นจุดขายในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจให้กับพรรคได้

ขณะที่พรรคเก่าแก่ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ยังเปิดโผว่าที่่รายชื่อนายกฯของพรรค ปชป. มาที่รายชื่อเดียว คือ “หัวหน้ามาร์ค” อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ปชป. พร้อมกับชูจุดมอตโตพรรค ปชป.ในการเลือกตั้งครั้งนี้ คือ “ประชาชนเป็นใหญ่ ประชาธิปไตยสุจริต” และนโยบาย “แก้จน สร้างคน สร้างชาติ” โดย “อภิสิทธิ์” ประกาศจุดยืนของพรรค ปชป.ในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นว่า “หมดเวลาเกรงใจใครแล้ว และพรรค ปชป.จะมุ่งหน้าเป็นเส้นทางหลักในการเป็นพรรคการเมืองหลักของประเทศ”

ส่วนผู้สนับสนุนในพรรค ปชป.อีกฝ่าย ยังคงมีความเห็นว่าควรเสนอชื่อ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรค ปชป. ในฐานะอดีตนายกฯ และอดีตหัวหน้าพรรค ปชป. ที่ยังมีบารมีทางการเมืองและครองใจฐานเสียงทางการเมืองของพรรค ปชป.ในพื้นที่ภาคใต้

อีกทั้งการมีชื่อ “นายชวน” มาเป็นอีกหนึ่งบัญชีว่าที่นายกฯของพรรค ปชป. ยังเป็นอีกหนึ่งทางเลือกทางการเมืองของพรรค ปชป. หากเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองในการเลือกนายกฯคนในไม่ได้

สำหรับพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) อีกหนึ่งพรรคพันธมิตรฝ่ายประชาธิปไตยของพรรค พท. คาดว่าจะส่งโผบัญชีนายกฯ คือ 1.จาตุรนต์ ฉายแสง ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค ที่มีจุดยืนทางด้านการเมือง ในการยึดหลักประชาธิปไตยไม่ยอมหักยอมงอกับการสืบทอดอำนาจทุกรูปแบบ 2.ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช หัวหน้าพรรค ทษช. กับจุดเด่นที่มีประสบการณ์ทางการเมืองทั้งการประสานงานกับพรรคต่างๆ และบทบาทในสภาผู้แทนราษฎร
รวมทั้งการนำสโลแกนของพรรค ทษช.มาหาเสียง คือ “โลกก้าวไกล ไทยต้องก้าวทัน”

ส่วนอีกพรรคการเมืองขนาดกลาง อย่าง “พรรคภูมิใจไทย (ภท.)” บัญชีนายกฯของพรรค มาวินคนเดียว คือ “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค ภท.

กับสโลแกนที่จะในการหาเสียงคือ “การเป็นศัตรูอันดับหนึ่งของความยากจน เอาเปรียบ เหลื่อมล้ำ ขออาสาทลายทุกข้อจำกัด ลดอำนาจรัฐเพื่อปากท้องประชาชน” รวมทั้งจะใช้จุดแข็งของพรรคคือการไม่เป็นศัตรูกับใคร ไม่โจมตีในทางการเมืองกับพรรคใด และพร้อมทำตามกติกาไม่ว่าจะออกมาเช่นใด

ส่วนชื่อในบัญชีนายกฯคนในของแต่ละพรรค จะเป็นไปตามโผตามหน้าสื่อหรือไม่ ช่วงของการรับสมัครเลือกตั้ง ระหว่างวันที่ 4-8 กุมภาพันธ์นี้ จะได้รู้กัน

เพราะชื่อที่เห็นอาจจะยังไม่ใช่ และชื่อที่ใช่อาจจะยังไม่เห็น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image