สุจิตต์ วงษ์เทศ : จิตร ภูมิศักดิ์ ว่าสำเนียงสุพรรณเป็นสำเนียงลาวเหนือเจือปน

คนสุพรรณในตลาดเช้าที่สุพรรณบุรี (ภาพจาก http://www.hotsia.com/suphanburi)

สำเนียงสุพรรณ เป็นสำเนียงลาวเหนือเจือปน จิตร ภูมิศักดิ์ อธิบายไว้ในหนังสือสังคมไทยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ก่อนสมัยศรีอยุธยา (เขียนไว้ก่อน พ.ศ. 2509 แต่ต้นฉบับเพิ่งเผยแพร่สู่สาธารณะ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2526) จะคัดเฉพาะตอนสำคัญมาดังนี้

“ปลอกเขตภาษาที่เรียกกันว่าสำเนียงสุพรรณทั้งหมด ซึ่งคลุมในบริเวณจังหวัดสุพรรณบุรี, กาญจนบุรี, นครปฐม, ราชบุรี และเพชรบุรี เป็นสำเนียงภาษาที่มีความสูงต่ำทางวรรณยุกต์คล้ายคลึงกับภาษาลาวเหนือทางแขวงหลวงพระบางไปถึงซำเหนือ (หัวพัน) นี่เป็นสิ่งที่ข้าพเจ้าแปลกใจมานานแล้ว
ภาษาพูดที่ชาวสุพรรณบุรีและกลุ่มสำเนียงนี้พูดเป็นภาษาไทย (ที่ว่าภาษาไทย หมายความว่าเป็นภาษาที่ใช้ถ้อยคำและสำนวนอย่างไทยภาคกลาง ไม่ใช่ถ้อยคำและสำนวนอย่างลาวในประเทศลาว) แต่สำเนียงเป็นสำเนียงลาวเหนือเจือปนจนสังเกตได้ชัด

จริงอยู่ในสมัยกรุงเทพฯ นี้ ได้เคยมีการกวาดต้อนพวกผู้ไทดำ (โซ่ง) ทางแขวง ซำเหนือและลาวเวียงทางเขตเวียงจันทน์ตลอดจนชาวเมืองพวน (แขวงเชียงขวาง) มาไว้ที่จังหวัดสุพรรณบุรี-ราชบุรี-เพชรบุรี; แต่นั้นไม่ใช่ต้นเหตุที่ทำให้สำเนียงภาษาไทยของชาวสุพรรณเป็นดังที่เป็นอยู่นี้
เพราะพวกที่ถูกกวาดมาในชั้นกรุงเทพฯ นี้ ตั้งบ้านของเขาอยู่เป็นหมู่ใหญ่ต่างหากไม่ปะปนกันกับชาวสุพรรณบุรี-ราชบุรี-เพชรบุรี เดิม และยังคงใช้ภาษาเดิมของตนจนกระทั่งทุกวันนี้, หาได้เคล้าคละปะปนทั้งชีวิตประจำวันและภาษาเข้ากับชาวเจ้าของถิ่นเดิมไม่ ทั้งสำเนียงของชาวสุพรรณบุรีก็เป็นแบบลาวเหนือ มิใช่แบบผู้ไทย”

(จากหนังสือสังคมไทยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ก่อนสมัยศรีอยุธยา สำนักพิมพ์ไม้งาม พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2526 หน้า 340-341)

Advertisement

กระทั่ง พ.ศ. 2530 ผมไปหลวงพระบาง กินเหล้าแล้วดูเล่นขับทุ้มกับชาวหลวงพระบาง ฯลฯ สำเนียงหลวงพระบงเข้าหูจนหูกระดิกเล็กน้อย คล้อยไปกับคำอธิบายว่าเป็นต้นเค้าส่งให้สำเนียงเหน่อสุพรรณ
เลยยกไปเขียนหลายครั้งในหลายงาน คนสุพรรณหงิดหงิดใส่ไม่ไน้อย จนล่าสุดเขียนไว้ในหนังสือสุพรรณบุรี มาจากไหน? (กรมศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2557) ดังนี้

คนในวัฒนธรรมลาวจากลุ่มน้ำโขง ทยอยอพยพโยกย้ายลงไปตั้งหลักแหล่งทางลุ่มน้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ราวหลัง พ.ศ. 1500
มีหลักฐานสำคัญมากและยังมีชีวิตเคลื่อนไหว คือ สำเนียงสุพรรณ หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า เหน่อสุพรรณ เป็นเครือญาติชาติภาษาใกล้ชิดอย่างยิ่งกับสำเนียงลาวเหนือ เช่น หลวงพระบาง
ร่องรอยอีกอย่างหนึ่งคือสำเนียงภาษาพูดของกลุ่มคนพื้นเมือง ตั้งแต่ลุ่มน้ำยมที่เมืองสุโขทัย ลงไปทางฝั่งตะวันตกลุ่มน้ำเจ้าพระยา เช่น สุพรรณ, ราชบุรี, เพชรบุรี ที่จดหมายเหตุจีนเรียกว่าพวกเสียมหรือสยาม ล้วนใกล้ชิดกับสำเนียงหลวงพระบาง
โดยเฉพาะสำเนียงสุพรรณ ที่คนต่างถิ่นฟังเป็น “เหน่อ” ยิ่งใกล้เคียงสำเนียงหลวงพระบาง จนเกือบเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

สำเนียงที่ว่า “เหน่อ” นี่แหละ คือสำเนียงหลวงของกรุงศรีอยุธยา

หมายความว่าพระเจ้าแผ่นดินก็ดี ไพร่ฟ้าประชาราษฎรส่วนมากก็ดี ล้วนตรัสและพูดจาในชีวิตประจำวันด้วยสำเนียงอย่างนี้
ดังมีร่องรอยเป็น “ขนบ” อยู่ในการละเล่นโขน เมื่อถึงเจรจาโขนต้องใช้สำเนียงหลวงอยุธยา ซึ่ง “เหน่อ” สืบเนื่องมาถึงทุกวันนี้ ถ้าใช้สำเนียงกรุงเทพฯ ทุกวันนี้ถือว่า “ผิดขนบ” ไม่เป็นโขน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image