ความไม่รู้เกี่ยวกับสวัสติกะ

กรณีกลุ่มนักร้องวัยรุ่นสารภาพว่าไม่รู้จัก เครื่องหมายสวัสติกะของนาซี ทำให้มีผู้ตั้งคำถามกับการศึกษาไทย แต่ที่จริงแล้วเครื่องหมายสวัสติกะเป็นส่วนหนึ่งของการแสดง ซึ่งเป็นธุรกิจ จึงต้องหมายถึงคนซึ่งอยู่เบื้องหลังอีกมาก ซึ่งบางคนก็น่าจะรู้จักเครื่องหมายนี้ เพียงแต่อาจไม่รู้ถึงนัยยะทางสังคม, ศีลธรรม และการเมืองของเครื่องหมายนี้ในโลกปัจจุบัน

หรือร้ายไปกว่านั้น คือรู้หมดแหละ แต่เป็นวิธีขายของอย่างหนึ่ง

บางคนท้วงว่า ถ้าจะยกความบกพร่องต่างๆ ของมนุษย์ให้แก่การศึกษา ก็ยกได้ทุกเรื่อง ผมก็เห็นด้วยว่าจริงครับ เพียงแต่ต้องระวังว่า การศึกษาในที่นี้ไม่ได้หมายความถึงโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาเท่านั้น แต่รวมถึงการเรียนรู้ในชีวิตจริงทุกด้าน ตั้งแต่เล็กจนโต ฉะนั้นการตั้งคำถามกับการศึกษา จึงหมายถึงการตั้งคำถามเกี่ยวกับการเรียนรู้ของสังคมทั้งหมด

และใน “การศึกษา” ตามความหมายนี้ ความรู้เกี่ยวกับลัทธินาซี หรือเผด็จการเบ็ดเสร็จ อาจมีความหมายต่อชีวิตคนน้อยลง จนถึงไม่มีเลย และอย่างน้อย ก็เพราะ “การศึกษา” ตามความหมายนี้ของโลกปัจจุบัน ให้คุณค่าแก่ความรู้ไว้เพียงอย่างเดียว คือ เงิน เช่น เราควรเรียนรู้ภาษาอังกฤษ เพราะมีเงินหลายถุงซ่อนอยู่ในนั้น ไม่ใช่เพราะมีเชคสเปียร์นั่งเป็นสง่าอยู่หรอก ความรู้เกี่ยวกับนาซีไม่นำไปสู่เงินสักถุง จึงไม่ค่อยสำคัญนัก

Advertisement

แต่ที่จริงแล้ว ระบอบเผด็จการทุกรูปแบบ รวมทั้งเผด็จการเบ็ดเสร็จแบบนาซี, ลัทธิสตาลิน, ลัทธิเหมา ก็อาจหวนกลับมาครอบงำชีวิตผู้คนในบางรัฐได้อีก เพราะจะว่าไปแล้ว เผด็จการในรูปแบบต่างๆ คือระบอบปกครองที่เป็นมาอย่างยาวนานในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ เพิ่งมาอยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยไม่นานมานี้เอง

ว่าเฉพาะภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระบอบเผด็จการไม่เคยมีลักษณะเบ็ดเสร็จ ยิ่งไปกว่านั้นอำนาจเด็ดขาดไม่เคยกระจุกอยู่ในบุคคลคนเดียว หรือตระกูลเดียว แต่ต้องกระจายไปใน 2-3 ตระกูลที่คุมกำลังผู้คนไว้ได้มาก ซ้ำในแต่ละตระกูลยังมีความขัดแย้งถึงขั้นแตกแยกกันเองด้วย เช่น ระหว่างชั่วอายุคน, ระหว่างเพศ, ระหว่างสายใกล้-สายห่าง ฯลฯ (ดังนั้นไม่แต่เพียงระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จเท่านั้นที่ไม่มีทางเกิดขึ้นในภูมิภาคนี้ แม้แต่โศกนาฏกรรมแบบโรเมโอและจูเลียตก็เกิดขึ้นไม่ได้เช่นกัน)

แม้ในช่วงที่กษัตริย์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทรงพระราชอำนาจอย่างสูง เพราะรวบรวมผลประโยชน์ทางการค้าระหว่างประเทศไว้ในมือของตนได้มากกว่าคนกลุ่มอื่น ก็ยังมีกลุ่มพ่อค้า, ขุนนาง, และรัฐคู่แข่งทางการค้า คอยคานพระราชอำนาจอยู่เสมอ (ถ้าเห็นด้วยกับ Anthony Reid ใน The Age of Commerce) ยิ่งเมื่อการค้าซบเซาลง พระราชอำนาจก็ยิ่งถูกจำกัดลง

Advertisement

ภายใต้สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็ยังมีกฤษณ์ สีวะราและนายพลคนอื่นที่สฤษดิ์ต้องคอยระแวดระวัง ภายใต้ซูฮาร์โต  ก็ยังมี ผบ.สส. Benny Moerdani ซึ่งในที่สุดก็ต้องปลดออกจากตำแหน่งใน ค.ศ.1988

แม้จนถึงยุคปัจจุบัน ปัจจัยที่จะช่วยหนุนให้ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเผด็จการเบ็ดเสร็จก็ไม่พร้อมนัก แม้แต่เวียดนามภายใต้พรรคคอมมิวนิสต์ ประชาชนยังสามารถอ้อมการบังคับควบคุมของพรรคไปยังจุดมุ่งหมายส่วนตัวได้ไม่ยากนัก โดยเฉพาะในหมู่นักธุรกิจ (ดู Martin Gainsborough, Vietnam : Rethinking the State) หากดูจากสมรรถนะของรัฐในการบังคับควบคุมพฤติกรรมด้านต่างๆ ของประชาชนแล้ว สิงคโปร์ยัง “เบ็ดเสร็จ” กว่ามาก แต่สิงคโปร์ก็ไม่สามารถเป็นเผด็จการเบ็ดเสร็จได้ เพราะประชากรและทรัพยากรธรรมชาติน้อยเกินไป

กล่าวโดยสรุปก็คือ เช่นเดียวกับประชาธิปไตย เผด็จการก็มีหลายรูปแบบเหมือนกัน เผด็จการเบ็ดเสร็จของนาซีนั้นห่างไกลจากประเทศไทย ไม่ใช่ห่างไกลทางภูมิศาสตร์ แต่ห่างไกลทางประสบการณ์และห่างไกลทางความเป็นไปได้ จึงไม่แปลกที่เด็กไทย หรือเด็กอาเซียน จะไม่ค่อยรู้อะไรเกี่ยวกับนาซีมากนัก

อย่าว่าแต่ผู้คนในภูมิภาคนี้เลย แม้แต่จากการสำรวจในโลกตะวันตกเอง ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับนาซีก็ลดลงอย่างมากเหมือนกัน เพราะพวกเขาก็เริ่มอยู่ห่างไกลจากนาซีทั้งทางสังคมและเศรษฐกิจมากขึ้น

เรามักจะคิดว่าเผด็จการจะอยู่ในรูปแบบไหน ขึ้นอยู่กับความสามารถและบุคลิกของผู้เผด็จอำนาจ แต่ที่จริงแล้วตัวกำหนดรูปแบบของเผด็จการ ขึ้นอยู่กับตัวบุคคลไม่สู้จะมากนัก ปัจจัยสำคัญที่กำหนดรูปแบบของเผด็จการอยู่ที่เงื่อนไขทางสังคม, เศรษฐกิจ และการเมืองของประเทศในช่วงนั้นๆ มากกว่า (ทั้งหมดเหล่านี้มักเรียกกันว่าเงื่อนไขทาง “ประวัติศาสตร์”)

อาจกล่าวได้ว่า ความแตกต่างที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของระบอบเผด็จการกับประชาธิปไตยอยู่ที่ทรรศนะซึ่งมีต่อมนุษย์ ฝ่ายประชาธิปไตยเชื่อว่ามนุษย์มีหรือมีศักยภาพที่จะมีเหตุผล, คิดเป็น, เรียนรู้ได้ ฉะนั้นแม้อาจตัดสินใจผิดก็อาจรู้และแก้ไขได้หากมีโอกาส, มองเห็นประโยชน์ส่วนรวมจากประโยชน์ส่วนตนเป็น, ปรับเปลี่ยนตัวเองได้ ฯลฯ ในขณะที่เผด็จการมีทรรศนะว่ามนุษย์ส่วนใหญ่มีธรรมชาติที่อ่อนแอ, เห็นแก่ตัวอย่างมืดบอดต่อประโยชน์ส่วนรวม, จึงพร้อมจะนำสังคมไปสู่ความปั่นป่วนวุ่นวาย ฯลฯ

ประชาธิปไตยในโลกตะวันตกวางอยู่บนรากฐานของการปฏิวัติทรรศนะที่มีต่อมนุษย์ ซึ่งเกิดและสั่งสมมาอย่างช้าๆ นับตั้งแต่ยุคเรอเนสซองส์เป็นต้นมา

เราไม่จำเป็นต้องผ่านกระบวนการปฏิวัติทางความคิดอย่างเดียวกับตะวันตก เพราะทรรศนะที่มีต่อมนุษย์ในศาสนาของโลกตะวันออก ไม่ได้มุ่งจะตอบคำถามเดียวกับตะวันตกหลังเรอเนสซองส์ แต่หากเราต้องการเป็นประชาธิปไตย คำสอนเรื่องบัว 4 เหล่าของพระพุทธศาสนา ก็จะอ่านและเข้าใจไปในทางเน้นศักยภาพของมนุษย์ หากต้องการเป็นเผด็จการ ก็ต้องอ่านและเข้าใจไปในทางความไม่เท่าเทียมกันของมนุษย์

การศึกษาไทย (ในความหมายกว้าง คือรวมการเรียนรู้นอกโรงเรียนด้วย) ไม่ได้มุ่งจะสอนประชาธิปไตย ซ้ำยังคอยตอกย้ำความคิดเก่าที่มีมาจากศาสนาหรือสังคมในความหมายเดิมที่ไม่เกี่ยวอะไรกับประชาธิปไตย เช่นเรื่องทิศด้านข้างและด้านล่างในคำสอนเรื่องทิศ 6 ทั้ง 3 ทิศก็ยังหมายถึงเพียงผู้ที่สัมพันธ์กับเราโดยตรง ไม่รวมถึงคนอื่นๆ ในสังคม ซึ่งแม้เราไม่รู้จักเป็นส่วนตัว แต่คนเหล่านั้นแหละที่ช่วยเกื้อหนุนให้ชีวิตของเราเป็นไปได้ การเอาภาษีของเราไปเกื้อหนุนคนอื่น เช่นโครงการสุขภาพถ้วนหน้า จึงเป็นสิ่งที่ถูกต้องทั้งในทางประชาธิปไตยและศาสนา

ที่เด็กไทยไม่รู้จักเครื่องหมายสวัสติกะของนาซี ไม่ใช่เพียงเพราะไม่ได้เรียนเรื่องนาซี (ซึ่งก็อาจเป็นความรู้ที่ไม่จำเป็นแก่คนทั่วไปกระมัง) แต่เพราะไม่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับประชาธิปไตยอย่างเพียงพอต่างหาก หากเรียนรู้ประชาธิปไตยก็ต้องเรียนรู้ศัตรูของประชาธิปไตยด้วยอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก

และเผด็จการเบ็ดเสร็จเช่นนาซีนี่แหละที่เป็นภัยคุกคามต่อประชาธิปไตยในโลกปัจจุบันอย่างมาก เพราะทุกรัฐในปัจจุบันล้วนมี หรือเกือบมีสมรรถนะจะทำให้เผด็จการของตนมีลักษณะ “เบ็ดเสร็จ” ได้มากขึ้น (เช่นเมืองไทยไม่เคยมีเผด็จการทหารที่สามารถไล่จับขันน้ำสีแดงได้เหมือน คสช.)

จึงขอสรุปอย่างง่ายๆ ว่า ที่ไม่รู้จักสวัสติกะนั้นก็เพราะไม่รู้จักประชาธิปไตยต่างหาก

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image