สิทธิในอากาศสะอาด และการก้าวสู่ธรรมาภิบาลเขียวใหม่

สิ่งที่ผมจะนำเสนอวันนี้คิดในกรอบของสิ่งที่ในระดับสากลเรียกว่า “The Rights to Clean Air : Towards the Green Governance” ซึ่งเป็นประเด็นที่มีการเคลื่อนไหว พูดถึง และยอมรับกันในระดับสากลมาได้ระยะหนึ่งแล้ว

สิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องเดียวกับทรรศนะ 2-3 ประการที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองเราในช่วงนี้

อาทิ ทรรศนะของผู้บัญชาการทหารบก ที่ถูกนำมาเล่นเป็นข่าวแนว “ผบ.ทบ.วอนประชาชนช่วยแก้ปัญหาฝุ่นพิษ อย่าโยนภาระให้รัฐจัดการลำพัง” (https://www.springnews.co.th/thailand/433500) หรือบางช่วงบางตอนของข่าวที่บอกว่า “อากาศที่เราหายใจ ไม่ใช่ของรัฐบาล แต่เป็นของประชาชนทุกคน” ทั้งที่ในข่าวเต็มก็บอกว่า “ส่วนตัวเชื่อว่า หากประชาชนทุกคนเชื่อว่าวิกฤตที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของทุกคน วิกฤตก็จะบรรเทา”

เพื่อความเป็นธรรมกับตัว ผบ.ทบ. ผมคิดว่าท่านคงจะพยายามเรียกร้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม และมีจิตอาสา ไม่ปล่อยให้เป็นภาระของรัฐบาล เพียงแต่ว่าตอนนี้อารมณ์ของผู้คนอาจจะไม่ค่อยพอใจกับบางส่วนของการให้สัมภาษณ์มากนัก และอาจมองว่าการออกมาของ ผบ.ทบ.และกองทัพเข้าข้างรัฐบาลที่ตกอยู่ในกระแสกดดัน โดยเฉพาะในประโยคที่ว่า “ในส่วนของรัฐบาลก็ทำเต็มที่โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี” ทั้งที่ถ้าพยายามเข้าใจก็คงจะเป็นเรื่องของการให้กำลังใจและให้การสนับสนุนรัฐบาลตามสายงานการบังคับบัญชา และทางกองทัพก็ได้ระดมสรรพกำลังเข้าช่วยเหลืออย่างเต็มที่ในหลายภารกิจ

Advertisement

ส่วนทัศนคติแบบที่ 2 ก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่น “อย่าเอาแต่ด่า ให้ช่วยเสนอทางออกและทางแก้ปัญหา” หรือ “อย่าเอาแต่ด่าหรือวิจารณ์ แต่ให้มาร่วมมือกัน” หรือ “ก็พยายามทำอยู่ ดีกว่าไม่ทำแล้วเอาแต่ด่าหรือวิจารณ์”

ผมอยากนำเสนอว่า ในช่วงนี้การวิพากษ์วิจารณ์นั้นก็เป็นสิ่งที่จำเป็นและสำคัญอย่างยิ่ง แต่ไม่ควรเน้นไปที่ตัวบุคคล แต่ควรไปเน้นที่ทรรศนะเสียมากกว่า เพื่อไม่ให้ทุกคนมองว่าความเห็นต่างๆ เป็นความเห็นโจมตีกันเฉพาะตัว

สิ่งที่อยากจะเน้นก็คือ การแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นจำเป็นจะต้องทำความเข้าใจสักนิดว่า ในทุกวันนี้เรากำลังเผชิญกับวิกฤตใหม่ๆ ที่ถาโถมและท้าทายพวกเราในแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน อย่างปีที่แล้ว วิกฤตถ้ำหลวงก็เป็นส่วนหนึ่งที่ผ่านมาได้ และแทนที่เราจะเน้นแต่เรื่องของการร่วมแรงร่วมใจในฐานะการเชื่อฟังคำสั่ง เราก็ควรถอดบทเรียนมากมายในเรื่องของการปฏิบัติประจำวันไปพร้อมๆ กับการมุ่งหาวีรบุรุษเท่านั้น

Advertisement

ในกรณีของฝุ่นพิษในรอบนี้ นอกเหนือจากการร่วมมือร่วมใจที่อย่างน้อยก็ไม่ได้มีใครขวางทางใคร สิ่งสำคัญก็คือการมองเรื่องของวิกฤตฝุ่นพิษโดยเฉพาะในแง่ของการแสดงทรรศนะวิพากษ์วิจารณ์และเรียกร้องฝุ่นพิษไม่ใช่ในแง่ของการทำลายล้าง

แต่เป็นเรื่องของ “สิทธิในการมีชีวิตในอากาศที่สะอาด” (The Rights to Clean Air)

ซึ่งทั้งถูกนับเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิในการอยู่ใน สิ่งแวดล้อมที่ดี (The Rights to Safe and Healthy Environments)

และถูกนับซ้อนเข้าไปในฐานะสิทธิมนุษยชน (Human Rights)

อีกทั้งยังถูกนับเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติที่รัฐบาลไทยเข้าร่วม และถอดออกมาเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ชาติด้วย

รวมถึงสิทธิที่จะมีอำนาจในการใช้ชีวิตและกำหนดความเป็นไปของเมือง (The Rights to the City)

การทำความเข้าใจว่าการวิพากษ์วิจารณ์และเรียกร้องนั้นเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน จะทำให้เรายกระดับความเข้าใจของประเด็นสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความเข้าใจการเข้าสู่โลกที่เสรี และการมีรากฐานของประชาธิปไตยของสังคมนั้นๆ ด้วย หรือแม้กระทั่งในสังคมเผด็จการ หลายประเทศที่สามารถแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ไม่ใช่แค่ว่าเขามีอำนาจ แต่แก้ได้เพราะเขามองว่าเขาต้องรับผิดชอบต่อประชาชนตามพันธสัญญาที่เขาจะอยู่ในอำนาจ

อีกอย่างหนึ่งที่สำคัญก็คือ ในปรัชญาวิทยาศาสตร์สายหนึ่ง เชื่อว่าข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์นั้นไม่ใช่สัจธรรม ดังนั้น เมื่อเราพิสูจน์อะไรได้ เราต้องไม่ยึดมั่นถือมั่นกับมันจนไม่เผื่อใจว่า สิ่งที่เราพิสูจน์ได้เป็นเพียงสิ่งที่ชั่วคราวเพื่อรอการพิสูจน์สิ่งนั้นต่อไป เหมือนกับยุคหนึ่งเราเชื่อว่าสารส้มทำให้น้ำสะอาดเพราะเราดูมันด้วยตาเปล่า ขณะที่ในวันนี้เรามีวิทยาการมากมายในการทำและพิสูจน์ความสะอาดของน้ำได้ดีขึ้น

ในแง่นี้สังคมเสรีที่ถกเถียงวิจารณ์กันได้ต่างหากที่จะทำให้วิทยาศาสตร์เติบโตอย่างก้าวหน้าและยั่งยืนและเป็นประโยชน์ต่อผู้คน

อีกเรื่องหนึ่งที่ต้องมีความเข้าใจก็คือ การเรียกร้องหาความเด็ดขาดในการจัดการปัญหาเป็นสิ่งดีแต่ไม่เสมอไปที่จะใช้วิธีคิดแบบทันสมัยสุดโต่ง (hyper modernism) ประเภทที่เชื่อว่า ถ้าพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์แล้วพบว่าฝุ่นพิษเกิดจากเครื่องยนต์ดีเซล ก็จะจัดการขั้นเด็ดขาด หรือประเภทไม่ให้รถเข้าเมือง หรือห้ามนั่งรถคนเดียว ด้วยมาตรการทางกฎหมายแบบที่ให้สิทธิขาดประเภทคำสั่งคณะรัฐประหาร ทั้งที่เราอาจจะยังไม่ได้พิสูจน์องค์ประกอบของสภาวะอากาศในระดับจุลภาคของแต่ละพื้นที่กันจริงจัง (micro climate) ว่ากาญจนบุรี กทม.แต่ละเขต เชียงใหม่ ฯลฯ มีโครงสร้างของมลภาวะทางอากาศต่างกันไหม และมาตรการจะใช้อย่างไรให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด

ส่วนมาตรการการบังคับใช้กฎหมายนั้นในหลายประเทศเขาใช้คำสั่งศาลในการห้าม เช่น เยอรมนีและโปแลนด์ ตรงนี้สำคัญ เพราะการตัดสินของศาลสร้างความชอบธรรมในระยะยาว และเปิดให้มีการถกเถียงอภิปรายได้มากกว่า

เหมือนๆ กับกระแสที่พยายามจะหาความรู้ว่าประเทศต่างๆ เขา “แก้” ปัญหาในเรื่องฝุ่นพิษกันอย่างไรบ้าง โดยเน้นแต่ผลลัพธ์ที่ออกมาในเรื่องนี้ หรือเรื่องที่มาเชิงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ ประเภทว่าในอดีตมีคนตายมาก เลยออกกฎหมายอย่างเข้มงวด หรือมีมาตรการมากมายที่น่าสรรเสริญ

ทั้งที่ไม่ได้พยายามศึกษาทำความเข้าใจว่า กว่าแต่ละประเทศจะผลักดันให้ประเด็นของสิทธิในอากาศสะอาดเป็นสิทธิและปกป้องสิทธิเหล่านั้นได้ ใช้เวลานานแค่ไหน ปัญหาในแต่ละประเทศและการแก้ไขไม่ได้เริ่มจากแค่มีปัญหา แล้วแก้ไขได้ด้วยอำนาจ กฎหมาย และเทคโนโลยี

ประสบการณ์ของเราเองก็สอนว่า กว่าเรื่องเรื่องหนึ่งจะยอมรับว่าเป็นปัญหาก็ใช้เวลายาวนาน และกว่าที่ปัญหามันจะถูกมองว่าต้องแก้เพราะมันไม่ใช่แค่เป็นปัญหา แต่มันเป็นสิทธิที่จะเรียกร้องได้ และ รัฐบาลมีภารกิจที่จะต้องรับผิดชอบในเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่สำคัญ ไม่ใช่เพราะเงื่อนไขทางกฎหมายเท่านั้น แต่สิทธิ  มนุษยชนเป็นเรื่องของพันธสัญญาที่เหนือไปกว่าข้อกฎหมายที่ไล่จับการละเมิดสิทธิเท่านั้น

ถ้าเราไม่จับหลักสิทธิมนุษยชนให้แม่น เราก็จะวนเวียนในโลกอำนาจนิยมที่หมกมุ่นแต่การใช้อำนาจ และมองคนเห็นต่างเป็นศัตรู ทั้งที่การเห็นต่างและวิพากษ์วิจารณ์นั้นเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในสังคมเสรี และเป็นสิทธิที่รัฐบาลที่มาตามพันธสัญญากับประชาชนพึงจะต้องแก้ปัญหา

บอกตรงๆ นะครับ บางครั้งเผด็จการที่ว่าน่ากลัวแล้วนี่ กองเชียร์และฝ่ายสนับสนุนเผด็จการน่ากลัวกว่ามาก

เมื่อเราเข้าใจเรื่องของสิทธิในการมีอากาศสะอาดแล้ว สิ่งต่อมาก็คือ ต้องทำความเข้าใจเรื่องของรัฐบาลและการปกครองเสียใหม่ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงความเข้าใจว่า รัฐบาลเขียวด้วยกำลังทหารที่เข้มงวดมองทุกปัญหาเป็นภัยที่จะต้องจัดการโดยฟังคำสั่งผู้บังคับบัญชา มาสู่ “ธรรมาภิบาลเขียวใหม่” (green governance) ที่สนใจว่า การมีธรรมาภิบาลด้านสิ่งแวดล้อมก็เป็นส่วนหนึ่งของสิทธิมนุษยชนเช่นเดียวกัน

นอกจากเป้าหมายของการพิทักษ์คุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมจะมีส่วนสำคัญแล้ว การทำความเข้าใจว่า คนที่ตัดสินใจไม่ใช่แค่รัฐบาล แต่ต้องร่วมใช้อำนาจกับหลายภาคส่วน และคำนึงถึงการตัดสินใจของชุมชนก็เป็นส่วนสำคัญในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม

เรื่องนี้ในบ้านเราก็พูดกันมานานแล้ว แต่ประเด็นท้าทายก็คือ ธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมในระดับเมืองเราคืบหน้าน้อย เจ้าภาพไม่เกิด และระบบการทำงานไม่ค่อยมี ตอนนี้เท่าที่พูดกันก็มีแต่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อม ซึ่งเน้นไปที่รูปแบบการรวมสรรพกำลังของระบบราชการ แต่มิติการมีส่วนร่วมของประชาชน และการร่วมกันทั้งตัดสินใจและแก้ปัญหาในระดับชุมชนยังไม่ค่อยเป็นรูปธรรมและเกิดในระดับที่กว้างขวาง โดยเฉพาะในระดับเมือง ซึ่งถ้าผลักดัน เราจะพบว่าทุกฝ่ายทั้งคนจน คนรวยที่อยู่ในพื้นที่เดียวกัน รวมทั้งภาคเศรษฐกิจที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ อาทิ หาบเร่แผงลอย พี่วินมอเตอร์ไซค์ จะต้องเข้าอกเข้าใจกันมากขึ้น สิ่งเหล่านี้คือสถาปัตยกรรมทางสถาบันการตัดสินใจที่จำเป็นต่อการบริหารจัดการคุณภาพชีวิต

การปรับมุมมองเรื่องสิ่งแวดล้อมจากเรื่องของต้นไม้ใบหญ้า มาสู่เรื่องของการมองนิเวศวิทยา ก็เป็นเรื่องสำคัญ เพื่อทำให้เห็นระบบความสัมพันธ์ของสรรพสิ่ง มากกว่าบังคับใช้เป็นเรื่องๆ ตามมาตรฐานก็เป็นสิ่งจำเป็น

การไล่จับรถควันดำ ไล่จับโรงงานควันดำก็จำเป็น แต่สิ่งที่ต้องขยายต่อไปก็คือ การสร้างแรงจูงใจในการลดมลพิษในอากาศ เช่น การลดหย่อนภาษีของเครื่องกรองอากาศ การบังคับให้หน่วยงานรัฐและเอกชน และอาคารสาธารณะ และอาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ ต้องมีเครื่องกรองอากาศ และมีการตรวจวัดมาตรฐานเป็นเรื่องที่ทำได้และต้องทำในฐานะส่วนหนึ่งของมาตรฐานอาคาร

การเรียกร้องให้ร่วมมือร่วมใจกันในการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศไม่ได้มีวิธีเดียวคือการคอยฟังคำสั่งของรัฐบาล และการวิพากษ์วิจารณ์แนวทางการแก้ปัญหาของรัฐบาลไม่ได้เป็นเรื่องของปัญหาความมั่นคง เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยเฉพาะมุมมองเรื่องของสิทธิที่มีต่ออากาศสะอาด สิ่งแวดล้อมที่ดี การมีชีวิตและกำหนดความเป็นไปของเมือง และสิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้การแก้ปัญหามลพิษทางอากาศในระดับเมือง

รวมทั้งรูปแบบการตัดสินใจใหม่ๆ นั้นมีความสำคัญไม่น้อยกว่าข้อเสนอทางเทคโนโลยี และการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดจากรัฐบาลกลาง

หมายเหตุศึกษาเพิ่มเติมได้จาก B.H.Weston and D. Bollier. 2013. Green Governance: Ecological Survival, Human Rights, and the Law of the Commons. Cambridge: Cambridge University Press.

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image