ประโยชน์ของประชาชน โดย สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน

แฟ้มภาพ

มีหลายคนบอกว่า สภาพสังคมยุคใหม่ที่สลับซับซ้อนมากขึ้น ทำให้หลายต่อหลายปัญหาในบ้านเมืองไม่สามารถหาคำอธิบายที่เป็นหลักได้ชัดเจน จนนำมาสู่ความคิดความเชื่อที่สับสนไปทั่วทั้งสังคม และลงเอยหลงทิศหลงทางไปตามกระแสที่ผิดๆ

ทั้งที่ในท่ามกลางความสลับซับซ้อนเหล่านี้ หากเรายึดถือประโยชน์ของประชาชนโดยรวมเป็นที่ตั้ง ก็จะนำมาสู่การกำหนดจุดยืนหรือแนวทางในเรื่องนั้นๆได้ไม่ยาก

อย่างคดีสลายม็อบ 7 ตุลาคม 2551 กับคดีสลายม็อบ 10 เมษายน-19 พฤษภาคม 2553 ที่กำลังกลายเป็นข้อเปรียบเทียบกัน อันเนื่องจากผลงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดที่แล้ว ซึ่งกำลังสร้างปัญหาให้กับ ป.ป.ช.ชุดปัจจุบัน

โดย ป.ป.ช.ชุดใหม่กำลังมานั่งทบทวนสำนวนคดี 7 ตุลาคม 2551 ที่ ป.ป.ช.ชุดที่แล้วไปยื่นฟ้องเองต่อศาล หลังจากที่เดิมทีผ่านกระบวนการปกติ โดยเสนอสำนวนต่ออัยการ แล้วอัยการเห็นตรงข้ามคือสั่งไม่ฟ้อง

Advertisement

ต่อมาฝ่ายแกนนำเสื้อแดง ก็ออกมาเรียกร้องให้ ป.ป.ช.ทบทวนสำนวนคดี เมษายน-พฤษภาคม 2553 หรือคดี 99 ศพด้วย เพราะ ป.ป.ช.ชุดเดิมไปชี้ว่าไม่มีมูลความผิด ตีตกไป

เมื่อจะทบทวนถอนฟ้องคดี 7 ตุลาคม 2551 ก็ควรทบทวนนำคดี 99 ศพมาฟ้องใหม่

เพราะทั้ง 2 คดีนี้ ป.ป.ช.ชุดเก่าชี้มูลเอาไว้ มีข้อโต้แย้งมากมาย

Advertisement

2 เหตุการณ์สลายม็อบดังกล่าว หากหลงไปกับคำอธิบายเฉพาะบางมุมของบางกลุ่มบางฝ่าย ก็จะเกิดความสับสนตามมา

แต่หากนำเอาผลประโยชน์ของประชาชนอย่างเราๆ ท่านๆ มาเป็นหลัก เราก็จะมีคำอธิบายและสามารถกำหนดความคิดจุดยืนต่อเรื่องนี้ บนพื้นฐานประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ได้ไม่ยาก

ผลประโยชน์ของประชาชนในเหตุการณ์สลายม็อบคืออะไร

ก็คือแนวปฏิบัติของรัฐบาลในทุกยุค ต้องยึดตามแนวทางที่ทั่วทั้งโลกสรุปเอาไว้ เป็นมาตรฐานและรักษาชีวิตของประชาชนที่ใช้สิทธิเสรีภาพทางการเมืองได้ดีที่สุด

ต้องใช้ตำรวจปราบจลาจล ซึ่งไม่มีอาวุธจริง มีอุปกรณ์เพียงโล่ กระบอง กระสุนยาง แก๊สน้ำตา

เพราะอุปกรณ์พวกนี้ ตามหลักสากลที่ใช้ทั่วโลก ถือว่าไม่สามารถฆ่าประชาชนได้ อย่างมากก็เจ็บๆ น่วมๆ หรือได้เลือดกันไปนิดๆ หน่อยๆ

ประเทศไทยเรา เคยสรุปบทเรียนเลือดครั้งใหญ่ หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬปี 2535 โดยรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน ที่เข้ามาบริหารบ้านเมืองหลังเหตุนองเลือดดังกล่าว ได้มีมติ ครม.ชัดเจนว่า จากนี้ไปประเทศไทยต้องสลายม็อบด้วยหน่วยปราบจลาจล ด้วยกระสุนยาง แก๊สน้ำตาเท่านั้น

แถมอนุมัติงบประมาณครั้งใหญ่ให้จัดตั้งตำรวจปราบจลาจลเป็นทางการ จัดซื้ออุปกรณ์มาตรฐานสากลมาเพียบพร้อม

ไม่เท่านั้นรัฐบาลอานันท์ยังยกเลิกกฎหมายหลายฉบับที่ให้อำนาจหน่วยงานอื่นเข้ามาควบคุมการชุมนุมประท้วงในเมือง เช่น เลิกกฎหมายกองกำลังรักษาพระนคร ด้วยต้องการให้ยุติการนองเลือดกลางถนนเสียที

แล้วหลังจากนั้นมารัฐบาลไหนที่ยึดหลักสากลนี้ ยึดตามมติ ครม.อานันท์ดังกล่าว

รัฐบาลไหนและตำรวจยุคไหน สลายม็อบด้วยตำรวจปราบจลาจลและแก๊สน้ำตา

รัฐบาลไหนที่ใช้หน่วยรบพร้อมกระสุนจริง อ้างว่ามีผู้ก่อการร้าย แต่สุดท้ายตายร่วมร้อยศพ ไม่มีผู้ก่อการร้ายสักคน

เอาหลักการประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง ก็ต้องร่วมสนับสนุนหากจะมีการทบทวนทั้งคดี 7 ตุลาคม 2551 และคดี 99 ศพ 2553

เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานว่า รัฐบาลในภายภาคหน้าควรต้องใช้ตำรวจปราบจลาจลเป็นหลักเท่านั้น

เลิกได้แล้วอ้างผู้ก่อการร้ายแล้วยิงกันจริงๆ ลงเอยตายเป็นเบือไม่มีผู้ก่อการร้ายเลย

นี่คือหลักประกันต่อชีวิตของประชาชนที่จะใช้สิทธิเสรีภาพทางการเมืองในอนาคต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image