กบิลเมืองเกินคาดหมาย โดย กล้า สมุทวณิช

แฟ้มภาพ

มีตลกเรื่องเก่าเล่าว่า เมื่อเจ้าหน้าที่ค้นตัวนาย ก. จนหมดจด หาสิ่งผิดกฎหมายใดไม่ได้ เว้นแต่เพียงลูกเต๋าลูกหนึ่ง เจ้าหน้าที่ก็แจ้งข้อหาแก่นาย ก. ว่า เขากระทำความผิดฐาน “พยายามเล่นการพนัน” เพราะมีอุปกรณ์ในการเล่นการพนันไว้ในครอบครอง

ผู้ถูกกล่าวหาสวนไปทันใดว่า “เช่นนั้นผมขอแจ้งความจับท่านเช่นกัน ด้วยข้อหาพยายามข่มขืนกระทำชำเรา ด้วยมี ‘อุปกรณ์’ เพื่อการดังกล่าวไว้ในครอบครอง”

หลักการทางกฎหมายข้อสำคัญที่รัฐไม่พึงละเมิด เพราะเกี่ยวข้องกับหลักประกันของสิทธิและเสรีภาพของประชาชน นั่นคือประชาชนควรรู้ล่วงหน้า หรือคาดการณ์ได้ว่า เรื่องอะไรบ้างที่ รัฐกำหนดไว้ว่าห้ามทำ หากฝ่าฝืนแล้วจะต้อง “กบิลเมือง” หรือโทษอาญา เป็นที่มาของหลักกฎหมายทั่วไปทางรัฐธรรมนูญและทางอาญาว่า “บุคคลไม่ต้องรับโทษอาญา เว้นแต่ได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้”

นอกเหนือจากที่กฎหมายต้องกำหนดไว้ชัดเจนว่าอะไรเป็นความผิดอาญาแล้ว ในการใช้บังคับกฎหมายของรัฐก็จะต้องชัดเจนต่อเนื่องให้ประชาชนได้รับรู้สะท้อนผ่านการบังคับใช้กฎหมายนั้น ให้ได้เห็นได้ทราบว่า มีผู้กระทำการอย่างนี้ๆ แล้วถูกดำเนินคดีอย่างไร กฎหมายบางเรื่องกำหนดข้อห้ามหรือหน้าที่ของประชาชนไว้หยุมหยิมไม่ค่อยมีการบังคับใช้ ก็ยากที่ประชาชนจะรู้ว่าการกระทำบางเรื่องที่ดูเล็กน้อยแต่ก็เป็นความผิดอาญา เช่น การมี “ไพ่” ซึ่งไม่ใช่ไพ่ที่กรมสรรพสามิตทำขึ้นไว้ในความครอบครองเกินกว่า 120 ใบ ก็ผิดกฎหมาย มีโทษจำคุกได้ถึงสามปี ตามพระราชบัญญัติไพ่ มาตรา 8

Advertisement

ในบางระบบกฎหมายจึงมีการยอมรับหลักที่ว่า หากกฎหมายใดไม่ถูกใช้บังคับมาเป็นเวลานาน ก็อาจถือได้ว่ากฎหมายนั้นถูกยกเลิกไปโดยพฤตินัย (Desuetude) นั่นเพราะเมื่อผู้คนเห็นว่า การกระทำแบบนั้นไม่มีใครเคยถูกบังคับดำเนินคดีตามกฎหมายและถูกลงโทษ นานไปนานไปก็อาจเข้าใจไปได้ว่าการกระทำนั้นไม่มีกฎหมายห้ามไว้ หรือถึงมีก็คงยกเลิกแล้ว เช่นถ้ามีถนนเส้นหนึ่งที่ใครๆ ก็เอารถมาจอดเป็นปกติมาหลายสิบปีแล้ว วันหนึ่ง คุณเอารถมาจอดบ้าง ก็มีเจ้าหน้าที่มาล็อกล้อด้วยข้อหาขับรถในที่ห้ามจอด โดยอ้างว่าแต่ก่อนเมื่อสี่สิบปีที่แล้วตรงนี้เคยมีป้ายห้ามจอด และเมื่อเคยกำหนดเป็นที่ห้ามจอดแล้วก็ยังไม่มีการถอน ใครมาจอดรถตรงนี้ก็ผิด

 

อย่างนี้คงไม่ยุติธรรมกับผู้คนสักเท่าไร

Advertisement

นอกจากตัวบทกฎหมายและการบังคับใช้จะต้องชัดเจนต่อเนื่องแล้ว การ “ตีความ” กฎหมายก็ต้องมีบรรทัดฐานด้วย เมื่อกฎหมายบัญญัติไว้เช่นนี้ๆ แล้ว การกระทำแบบไหนเล่าที่จะผิดกฎหมาย และกรณีไหนอยู่นอกเงื้อมมือที่กฎหมายจะมาจับตัวไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การตีความกฎหมายอาญาจะต้องตีความไปในทางที่เคร่งครัด เพื่อมิให้กฎหมายอาญาไปละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้คนอย่างเกินคาดหมาย

การตีความกฎหมายที่เอื้อมไกลเกินเจตนา เลยล้นขอบองค์ประกอบความผิดจนผู้อยู่ใต้กฎหมายนั้นคาดเดาไม่ได้ว่าทำอะไรอย่างไรแล้วจะผิดกฎหมาย อันนี้ก็จะเป็นเหมือนตลกเฉียดใต้สะดือที่เล่ามาในตอนต้นเรื่องนั่นแหละ

เช่นเดียวกับปัญหาว่าการล้อเลียนผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีถือเป็นการกระทำผิดทางกฎหมายหรือไม่ เราอาจจะถกเถียงได้ถึงความเหมาะควรหรือการละเมิดสิทธิของบุคคลต่อบุคคลที่ชอบที่จะดำเนินคดีแพ่งอาญากันไป แต่คงไม่มีใครคาดการณ์ไปถึงว่า การล้อเลียนนายกรัฐมนตรีนั้นจะก่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือทำให้ไปล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดินอันเป็นองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ไปได้ ก็ในเมื่อการล้อเลียนนายกรัฐมนตรีนั้นมีมาหลายยุคสมัย ไม่ว่าจะในสมัยประชาธิปไตยเต็มใบ ครึ่งใบ หรือแม้แต่ในสมัยรัฐประหารครั้งก่อนๆ ก็ไม่เคยมีนายกฯคนไหนรอดจากการถูกล้อเลียนไปได้ และอย่างมาก “ผู้ก่อการล้อ” นั้นก็ถูกฟ้องหมิ่นประมาทอันเป็นความผิดต่อส่วนตัวกันไป ไม่เกี่ยวกับ “หัวโขน” นายกรัฐมนตรี

หรืออย่างการกระทำความผิดในกลุ่มหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่น วิญญูชนคนทั่วไปก็เข้าใจว่าการกระทำจะครบองค์ประกอบนั้นก็จะต้องมีการแสดงข้อความ คำพูดหรือการสื่อความหมาย ที่ถือเป็นการทำให้บุคคลผู้เป็นเป้าหมายแห่งการใส่ความนั้นได้รับความเสียหายถูกดูหมิ่นต้องเสื่อมเสียชื่อเสียงหรือลบหลู่เกียรติยศ

โดยที่คนทั่วไปรับรู้ข้อความหรือการสื่อสารนั้นแล้วต้องเข้าใจไปในทางร้ายเช่นนั้นตรงกัน

ไม่ใช่เพียงแค่การตอบรับลอยๆ ให้กับข้อความของผู้อื่น แล้วตีความไปว่าการตอบรับนั้นคือการร่วมกระทำความผิดไปด้วย 
ถ้ารัฐจะมีความชอบธรรมในการลงโทษคนที่ละเมิดกฎหมาย เพราะเขาเลือกที่จะกระทำความผิด โดย “รู้ราคา” ของการกระทำนั้นแล้วแต่ก็ยังฝืนทำ จึงควรต้อง “ใช้ราคา” ต่อการละเมิดต่อรัฐหรือสังคม ความชอบธรรมนี้จะหมดลงทันที หากเราตีความขยายความผิดของกฎหมายลงไปในพฤติกรรมที่คาดไม่ถึง พฤติกรรมที่คนทั่วไปเข้าใจมาตลอดว่า การกระทำดังกล่าวเป็นสิ่งที่กระทำได้โดยไม่ผิดกฎหมาย เพราะมันไม่เคยผิดกฎหมาย เพราะมันพิสูจน์ไม่ได้เลยว่า ถ้าเขารู้ว่ากระทำการ “อันไม่น่าสบอารมณ์” นั้นแล้วจะถือว่า “ละเมิดต่อกฎหมาย” ที่มีโทษอาญา เขาจะกระทำสิ่งนั้นอยู่หรือไม่ เพราะตัวผู้กระทำนั้นก็ไม่อาจรู้เลยว่ากำลังก้าวล้ำเส้นความชอบกฎหมายไปหมิ่นเหม่ต่อคุกตารางแล้วหรือยัง

หากการตีความกฎหมายไกลออกไปเป็นไมล์ทะเลสามารถเอื้อมไปเอาผิดได้แล้ว ก็ไม่ต่างจากเขียนกฎหมายว่า “ผู้ใดกระทำการอันไม่ถูกต้อง ถือว่ามีความผิดอาญา” แล้วไปลุ้นกันเอาเองว่าทางการบ้านเมืองเขาจะ “ตีความ” ว่ากระทำการใดถือว่าเป็น “การกระทำอันไม่ถูกต้อง”

ภาวะความไม่มั่นคงทางนิติฐานะจะเกิดขึ้นอย่างน่าหวาดหวั่น เป็นภาวะที่ใครๆ ก็สามารถกระทำผิดกฎหมายต้องส่งเข้าคุกได้เสมอ ไม่อาจคาดหมายได้ว่าวันนี้ทำเรื่องนี้แล้วไม่มีความผิด พรุ่งนี้เขาจะตีความกฎหมายเอื้อมมาพาตัวไปลงโทษบ้างหรือไม่ ภายใต้รัฐตำรวจที่สิทธิและเสรีภาพของผู้คนมีอยู่เพียงเท่าที่เขาจะอนุญาต และเรียกคืนเสียเมื่อไรก็ได้ไม่ต้องบอกแจ้งล่วงหน้า

ท่านอาจเคยได้ยินว่าเพียงการไม่เปิดโทรทัศน์ชมสารจากท่านผู้นำ หรือยืนหาวในแถวขบวนเกียรติยศ ก็อาจถูกตีความเป็นความผิดฐานทรยศต่อชาติอันมีโทษถึงประหารชีวิตได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image