เราจะเลือกได้ว่าอยากอยู่กับฝุ่นด้วยวิธีใด : โดย กล้า สมุทวณิช

เคยมีผู้อ่านท่านหนึ่งที่อาจจะติดตามผมมาจากงานเขียนเชิงวรรณกรรม คอลัมน์ หรือจากสื่อไหนก็ตามเถิด เธอคนนั้นได้มาขอ “แอดเฟรนด์” ในเฟซบุ๊กส่วนตัวของผม

ต่อมาสักระยะ เธอก็ได้ส่งข้อความมาว่า ขออนุญาตกด “อันเฟรนด์” ผมด้วยเหตุผลที่ว่า ในเฟซบุ๊กของผมนั้นมีเรื่องการเมืองมากเกินไป

ซึ่งอันนี้ไม่ได้แปลกใจ และออกจะชอบใจในความ “แฟร์” ของเธอด้วย ที่บอกกันตรงๆ ว่าไม่ชอบใจกันเรื่องอะไร จะเลิกสนใจกันก็บอก (ดีกว่าการอันเฟรนด์ บล็อก แล้วแคปหน้าจอไปด่าเป็นไหนๆ)

จริงๆ เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อนานน่าจะเกินหกเจ็ดปีไปแล้วล่ะ แต่มาระลึกได้เมื่อไปอ่านข้อความในเพจของคุณหมอท่านหนึ่งซึ่งได้ชื่อว่ามีเนื้อหาเกี่ยวกับการเลี้ยงดูเด็กที่ดีที่สุด มีผู้ขอทรรศนะคุณหมอท่านว่า ในสภาพที่กรุงเทพฯและเมืองใหญ่ปกคลุมไปด้วยหมอกควัน PM 2.5 นี้ เราจะป้องกันบุตรหลานได้อย่างไร และจะแก้ปัญหานี้ได้ด้วยวิธีไหน

Advertisement

วิธีป้องกันบุตรหลานก็ว่ากันไป แต่การแก้ไขปัญหาฝุ่นควันนี้คุณหมอท่านตอบว่า “แก้ไขได้ด้วยการเลือกตั้ง”

คําตอบนี้ทำให้ท่านได้รับการตอบสนองจากลูกเพจเช่นเดียวกับที่ผมโดนอันเฟรนด์ที่เล่าไปตอนต้น มีทั้งที่บอกว่าจะเลิกติดตามคุณหมอแล้ว และตัดพ้อว่าคุณหมอจะลากเรื่องนี้เข้าเป็นเรื่องการเมืองทำไม ไม่เห็นจะเกี่ยวกัน ในเรื่องนี้คุณหมอก็ได้ตอบไว้ค่อนข้างละเอียดและสวยงาม หากใครได้อ่านก็จะนึกออก

พาให้ผมนึกถึงคำตอบบางส่วนที่ผมอธิบายให้อดีตเฟรนด์ท่านนั้นไปก่อนจะแยกย้ายว่า อันที่จริง แม้แต่การบ่นว่าทำไมรถของเทศบาลไม่มาเก็บขยะหน้าบ้านสักที มันก็เป็นเรื่องการเมืองเสียแล้ว เพราะนั่นคือการบริหารจัดการของภาครัฐคือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นองค์กรทางการเมืองเหมือนกัน

Advertisement

ที่ผ่านมา คำว่า “การเมือง” ถูกทำให้เป็นเรื่องสกปรก คือการแย่งชิงอำนาจของคนไม่กี่กลุ่ม ส่วนประชาชนที่สนับสนุนหรือตื่นตัวทางการเมืองก็ถูกมองว่านั่นเป็นเพียงรสนิยมอย่างหนึ่งในการเลือกข้างแข่งขันเพื่อเอาชนะคะคาน เหมือนการเชียร์แช่งในการแข่งขันที่เราไม่มีส่วนได้เสีย การแสดงออกทางการเมืองว่าชื่นชอบในระบอบประชาธิปไตยอันมีผู้แทนหรือเผด็จการทหาร หรือการชื่นชอบพรรคไหนสนับสนุนบุคคลใด ถูกลดทอนลงไปให้เท่ากับระดับเดียวกับการเลือกทีมเชียร์ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก

ทั้งๆ ที่เชื่อหรือไม่ว่าปัญหาทั้งหลายที่เราบ่นนั้นเกินกว่าครึ่งเป็นปัญหาเชิงการเมือง เรื่องของฝุ่นควัน PM 2.5 นี้ก็เช่นกัน และการลดทอนเช่นนี้ก็ตัดประชาชนออกไปจากการเมือง รดน้ำใส่ปุ๋ยให้แนวคิดปัจเจกชนนิยมที่เชื่อในการแก้ปัญหาแบบตัวใครตัวมัน ตามกำลังของเราแต่ละคน

บ้างก็ยอมรับกันแบบสิ้นหวังเสมือนว่าไม่มีรัฐว่าปัญหานี้ต่างคนต่างต้องแก้ไขกันเองตามบุญตามกรรม ดูแลตนเองและครอบครัวคนที่รัก ที่พอมีเงินและช่องทางก็ซื้อเครื่องฟอกอากาศ (ที่กำลังขาดตลาด) มาไว้ที่บ้าน ตั้งไว้ทุกห้อง ออกจากบ้านก็ใส่หน้ากาก N95 ที่ดีที่สุดตามแต่กำลัง

กับคนอีกกลุ่มหนึ่ง ที่อาจจะยังนิยมชมชอบรัฐบาลหรือการปกครองโดยระบอบทหารอยู่ หรือแม้แต่ผู้ที่มีทรรศนะเชื่อว่าเราอาจตัดการเมืองเรื่องรัฐออกจากปัญหาโดยสุจริตใจ ก็ออกมาสวนฝ่ายที่เรียกร้องให้รัฐเข้ามาแก้ปัญหาในเรื่องนี้ว่า แทนที่จะบ่น ทำไมเราไม่แก้ที่ตัวเอง ช่วยกันคนละไม้คนละมือก่อน คุณล่ะเลิกขับรถไปทำงานได้ไหม เลิกใช้ไฟไหว้เจ้าหรือเผาขยะได้หรือเปล่า ลองปลูกต้นไม้คนละต้นกันหรือยัง ฯลฯ

โดยเฉพาะคนในเครื่องแบบเสียงดังที่ออกมาขึงขังว่า อย่ามาโยนปัญหานี้ให้รัฐบาลเพียงอย่างเดียว เป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้องออกมาล้างหน้าบ้านลดฝุ่นกันคนละไม้คนละมือ

คำพูดและความคิดข้างต้นอันที่จริงก็ถูกต้องทีเดียว เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้มีต้นเหตุโดยตรงมาจากรัฐบาล มันเป็นกึ่งๆ ปัญหาสะสมที่ก่อขึ้นร่วมกัน บวกกับความโชคร้ายด้วยเหตุปัจจัยทางธรรมชาติลมฟ้า ทำให้ชาวกรุงเทพฯต้องพบกับปัญหาฝุ่นควันอย่างชัดเจน ที่แม้อาจจะเคยเจอมาก่อนแต่ก็ไม่ได้หนักหนาขนาดนี้

แต่เราคนเดียวช่วยกันแก้ปัญหาคนละไม้คนละมือได้หรือไม่? เราช่วยกันล้างหน้าบ้าน งดจุดธูปเทียนหรือเผากระดาษเงินกระดาษทอง เลิกขับรถไปทำงาน แต่ถ้าคนบ้านข้างๆ เขายังทำเช่นนั้นเป็นปกติเล่า หรือต่อให้เราแต่ละคนพร้อมใจกันจริงๆ แต่มองไปตรงโน้นก็เห็นรถประจำทางพ่นควันดำปี๋ออกมา หรือเห็นควันโขมงขึ้นจากปากปล่องอาคารสักหลังใกล้ที่ทำงาน รถสิบแปดล้อสิบสองคันวิ่งเข้าออกไซต์ก่อสร้างอาคารสูงปากซอยบ้าน เช่นนี้เราจะทำอะไรได้

สิ่งที่เราเรียกร้องคืออำนาจรัฐที่จะมาจัดการ อำนาจรัฐที่เกิดจากการควบรวมอำนาจของ “เราทั้งหมด” อำนาจของปัจเจกชนแต่ละคน ที่รวมเข้าด้วยกันและมอบให้รัฐเอาไปใช้ อำนาจมหาศาลที่จะจัดการและบังคับการเพื่อให้แก้ปัญหานี้ได้

อํานาจรัฐนั้นอาจจะบังคับให้เราต้องลดการขับรถไปทำงาน ผลัดกันไปตามป้ายทะเบียนวันคู่วันคี่ แบ่งปันที่นั่งว่างบนรถให้คนอื่นโดยสารไปด้วย ห้ามขับเข้าไปในพื้นที่ซึ่งอากาศแย่ระดับวิกฤต อำนาจรัฐที่จะหยุดการก่อสร้างที่ไม่จำเป็นลงชั่วคราว อำนาจที่จะกวดขันให้เครื่องจักรเครื่องยนต์ที่เป็นต้นตอของมลพิษทั้งของรัฐและเอกชนไปปรับปรุงเพื่อลดปัญหา มาตรการหรือทางแก้ปัญหาเช่นนี้เป็นเรื่องที่ในหลายประเทศเขาก็ใช้กันมาแล้ว เช่นในสิงคโปร์หรืออินโดนีเซีย

อำนาจรัฐที่จะวางมาตรการแก้ปัญหาระยะยาวด้วยการลดใช้พลังงานที่ต้องเผาไหม้จากฟอสซิล สนับสนุนพลังงานสะอาด และการลดมลพิษจากการเผาด้วยกระบวนการทางเลือกอื่นๆ

หรือแม้แต่อำนาจระยะสั้นที่สุดที่ทำได้ง่ายที่สุดที่กล่าวมาด้วย คือการงดเว้นการจัดเก็บภาษีหน้ากากกรองฝุ่น PM 2.5 ทุกกรณี ให้มีการนำเข้าโดยเสรีหรือแจกจ่ายไปให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้

นี่คือสิ่งที่เราพึงและต้องเรียกร้องเอาจากรัฐบาลผู้ถืออำนาจรัฐนี้ไว้

เพราะนี่คือหน้าที่ของรัฐที่เราสร้างขึ้นและหล่อเลี้ยงด้วยเงินภาษีของเรา เพื่อให้เขาใช้อำนาจมหาชนแทนเรา รัฐไม่ใช่เพียงแค่ถุงเงินที่เอาไว้จ่ายเงินเดือนหรือปรนเปรออภิสิทธิ์ทั้งหลายทั้งปวงให้พวกข้าราชการออกมาพูดจาสามหาวออกมาชี้หน้ากล่าวโทษหรือผลักภาระให้ประชาชน

และแม้ว่ามาตรการของรัฐที่กล่าวมาข้างต้นนั้นจะทำให้เราถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพใดๆ ไปบ้าง เช่น แทนที่จะขับรถคนเดียวสบายๆ ไปทำงานทุกวันก็ทำไม่ได้ แต่การจำกัดสิทธิเสรีภาพเช่นว่านั้น ตามทฤษฎีสัญญาประชาคมก็อธิบายได้ว่า อันที่จริงมันคือการ “เชื่อฟังตนเอง” อยู่ดีนั่นแหละ แต่เป็นส่วนหนึ่งของตัวเราเองที่ไปรวมกันอยู่ในรัฐ เป็นคำสั่งของรัฐที่มาจากคำสั่งร่วมกันของพลเมืองทั้งหลายในประเทศ ของตัวเราเองและตัวเราเองคนอื่นๆ

ซึ่งแน่นอนว่ามาตรการจำกัดสิทธิเช่นว่านั้นก็ควรมาจากผู้แทนที่เป็นตัวแทนของพวกเราพลเมืองทั้งหลาย ไม่ใช่จากการทุบโต๊ะของตาลุงอารมณ์ร้ายที่ได้อำนาจไปด้วยวิธีการปล้นชิงด้วยอาวุธเมื่อหลายปีก่อน

โดยที่คำสั่งนั้นก็ไม่ได้มาจากทัศนคติที่จะแก้ปัญหาเสียด้วยซ้ำ หากมันเป็นแต่เพียง “คำขู่” ที่มีไว้เพื่อหมายจะลงโทษประชาชน ว่าบ่นมากใช่ไหม ฉันจะใช้มาตรการที่ทำให้พวกแกใช้ชีวิตลำบากไปเลย หยุดบ่นเสียที มาตรการขึงขังเช่นว่านั้นไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่ามาจากความคิดไตร่ตรองแล้ว หรือเพียงมาจากอารมณ์ฉุนเฉียวร้ายกาจที่เราพบกันจนชินชา

แล้วการเลือกตั้งจะมาแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร? การเลือกตั้งทำให้เราได้ผู้แทนของเราแต่ละคนผ่านกระบวนการดังกล่าว เข้าไปสวมใช้อำนาจรัฐ และจะเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะใช้มาตรการใดในการแก้ปัญหาระยะสั้นและระยะยาว ไม่ใช่เพียงปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 นี้เท่านั้น แต่ยังรวมถึงปัญหาอื่นๆ ทั้งที่ปรากฏแล้วและอาจจะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย

การเลือกพรรคการเมืองที่มีนโยบายชัดเจน นอกจากจะทำให้เราได้เลือกล่วงหน้าแล้วว่า เรายินดีที่จะใช้มาตรการใดในการแก้ปัญหาทั้งหลายที่เกิดขึ้นและมีอยู่ ตั้งแต่ปัญหาฝุ่นควันยันการศึกษา เศรษฐกิจ สังคมและการคมนาคม แนวทางของพรรคการเมืองแต่ละพรรคก็จะทำให้เราคาดเดาได้ว่า หากมีปัญหาที่เรายังไม่อาจคาดคิดไว้ได้ในตอนนี้เกิดขึ้น พรรคที่เราเลือกนั้นจะแก้ปัญหาอย่างไร เช่น ใช้กลไกราชการตามปกติมาแก้ปัญหา คิดเร็วทำเร็วแก้ไขมาตรการทางกฎหมายหรือราชการเพื่อความคล่องตัว หรือลอยตัวไม่ทำอะไรยักไหล่ให้ประชาชนแก้ปัญหาด้วยตัวเองอย่ามาเรียกร้องเอากับรัฐ

เราเลือกได้ เช่นเดียวกับที่เราจะได้เลือกในวันที่ 24 มีนาคม 2562 ที่กำลังจะมาถึงนี้

เราจะเลือกเอาผู้ปกครองรัฐแบบที่เราคุ้นเคยมาก่อนหน้านี้เมื่อนานแล้ว ทั้งที่ขับเคลื่อนตามกลไกราชการประจำแบบปลัดประเทศ หรือกลุ่มที่เน้นคิดเร็วทำเร็วสร้างนวัตกรรมโดยไม่ให้น้ำหนักกับกรอบกักกลไกของระบบหรือกฎเกณฑ์ต่างๆ

หรืออาจจะลองเลือกอนาคตที่เราไม่เคยมีที่เราไม่เคยเห็น คนรุ่นใหม่ที่อาสาจะเข้ามารับช่วงประเทศนี้ต่อไป

แม้กระทั่งชอบอะไรแบบเดิม ชอบอยู่ไปแบบเดิมๆ พอใจในสภาพเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม เช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ กับกลไกราชการเป็นใหญ่และตาลุงปากร้าย

ทั้งหมดทั้งปวงนี้ เราเลือกได้ทั้งหมดว่าจะอยู่กับฝุ่น PM 2.5 นี้อย่างไรในอีกหลายปีข้างหน้า รวมถึงประเทศที่เราและลูกหลานจะใช้ชีวิตกันต่อไปด้วย

กล้า สมุทวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image