จิตวิวัฒน์ : รักแบบโอเพ่นซอร์ส : โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย

ในช่วงสองเดือนที่ผ่านมาผมค้นพบว่า ผมได้ก้าวทะลุการเรียนรู้ไปอีกขั้นหนึ่ง เริ่มจากการที่ผมได้ตกลงรับจะเป็น “ผู้พูด” ให้กับเวที TedX เจริญกรุง ซึ่งในปีนี้ประเด็นงานเป็นเรื่องของคนตัวเล็กๆ ที่ริเริ่มทำอะไรบางอย่าง เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคม

ผมค้นพบว่าตัวเองน่าจะเป็นผู้พูดที่อายุมากที่สุดบนเวที อยู่ในกลุ่มน้องๆ คนรุ่นใหม่ไฟแรงที่มีพลังสร้างสรรค์สังคม บ้างก็เปิดวิสาหกิจชุมชนเพื่อให้คำปรึกษากับผู้มีปัญหาทางจิตใจ บ้างก็เป็นคนรุ่นใหม่ซึ่งพยายามจะทำทุกอย่างเพื่อให้ชุมชนของตนเองมีความน่าอยู่น่าเที่ยวและยังคงเอกลักษณ์ที่เขาประทับใจมาตั้งแต่เล็กๆ นอกจากนั้นยังมีน้าหมอนซึ่งเป็นคนขับวินมอเตอร์ไซค์ซึ่งชักชวนเพื่อนร่วมวินมาริเริ่มโครงการรับส่งผู้สูงอายุฟรี เพื่อบริการสังคมและชุมชน

ผมเองขึ้นไปพูดเรื่องละครของผู้ถูกกดขี่ซึ่งผมได้ทดลองฝึกปฏิบัติทำในประเทศไทยมาเป็นเวลาสิบปีแล้ว มันเป็นกระบวนการที่เปิดโอกาสให้ผู้ชมมีส่วนร่วม และลดช่องว่างระหว่างผู้ชมและนักแสดง ซึ่งผมเห็นว่าเป็นเรื่องเดียวกับการลดการกดขี่ในสังคม เพราะเมื่อเราเปิดโอกาสให้คนตัวเล็กตัวน้อยมีโอกาสส่งเสียง เราก็จะสร้างสังคมที่เป็นของพวกเราจริงๆ ไม่ใช่สังคมที่มีคนเพียงหยิบมือเป็นผู้กำหนด

จากการขึ้นพูดบนเวทีครั้งนี้ ผลก็คือหลายคนเดินเข้ามาและพูดกับผมว่า “ผม/ฉันชอบทอล์กของพี่” ซึ่งผมเองก็พึงพอใจกับการพูดของตนเองมาก สิ่งที่หลายคนไม่ทราบก็คือ ผมเองก็เหมือนกับคนทั่วไปที่กลัวการพูดในที่ชุมนุมชนมาก โดยเฉพาะเมื่อตอนเป็นวัยรุ่น

Advertisement

โพลสำรวจทางจิตวิทยาที่ทำๆ กัน “ความกลัวการพูดต่อหน้าสาธารณชน” (Glossophobia) มักจะติดอันดับเป็นหนึ่งในความกลัวที่ผู้คนลงคะแนนให้ ที่น่าตลกก็คือ บางคนลงคะแนนให้มากกว่า “ความตาย” เสียอีก คำถามก็คือ ทำไม? นักวิชาการสายจิตวิทยาวิวัฒนาการให้คำอธิบายว่า เป็นเพราะมนุษย์เราตั้งแต่สมัยยุคที่เริ่มมารวมกลุ่มกัน เราได้รับความปลอดภัยมากกว่าการอยู่เพียงลำพัง ต่อมามนุษย์จึงวิวัฒนาการมาเป็นสัตว์สังคมเพื่อความอยู่รอด ดังนั้น สิ่งที่พวกเรากลัวมากที่สุดก็คือ การถูกขับไล่ออกจากกลุ่ม เพราะมันอาจจะนำมาซึ่ง “ความตาย” จริงๆ ในยุคที่เรายังอยู่ป่าอยู่ถ้ำ แต่ในปัจจุบันมันอาจจะหมายความถึงความตายในระดับจิตใจ

การศึกษาพบว่าผู้ที่กลัวการพูดในที่สาธารณะจะมีอาการทางร่างกายที่เห็นได้ชัดคือ การหายใจผิดปกติ เพราะระบบประสาทซิมพาเธติกเริ่มทำงานในโหมดปกป้อง จะมีการหลั่งสารอะดรีนาลิน ส่งผลให้ความดันโลหิตและการอัตราการเต้นของหัวใจสูงขึ้น รูม่านตาเบิกกว้าง มีเหงื่อออกตามรูขุมขน กล้ามเนื้อแข็งเกร็ง (เพราะเรานึกว่าเรากำลังเผชิญอยู่กับอันตราย) แม้แต่กล้ามเนื้อบริเวณขากรรไกร นั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้เราพูดเสียงสั่น

สำหรับนักการละครอย่างผมปรากฏการณ์แบบนี้น่าสนใจ เพราะรู้ว่าถ้านักแสดงเกิดความวิตกกังวล หรือที่เรียกกว่า อาการ “ตื่นเวที” ร่างกายจะทำงานผิดปกติและการแสดงก็จะไม่ดีอย่างที่ควรจะเป็น เราจึงมีคำพูดบ่อยๆ ว่านักแสดง “หูดับ” หมายถึงไม่ยอมฟังในสิ่งที่ตัวละครอื่นๆ กำลังสนทนาอยู่กับเรา ดังนั้น ศิลปะการแสดงไม่ว่าจะมาจากสายไหนต่างก็ให้ความสำคัญกับการผ่อนคลาย ผ่อนคลายในมุมของจิตวิทยาวิวัฒนาการก็คือ การพาตัวเองเข้าสู่โหมดปกติ และปล่อยให้ประสาทส่วนพาราซิมพาเธติกทำงาน แต่จะทำอย่างไรนักแสดงจึงจะผ่อนคลายตัวเองได้ และไม่ตื่นตระหนกเมื่อต้องขึ้นเวที นี่คือคำถามที่พวกเรานักการละครเพียรหาคำตอบกันมานาน

ครูของผมคนหนึ่งชื่อว่า อมิต รอน ได้ลองให้พวกเราทำแบบฝึกหัดง่ายๆ อยู่สองสามครั้ง ครั้งแรกเขาบอกให้อาสาสมัครคนหนึ่งเดินออกไปนั่งบนเก้าอี้ที่หันหน้ามาหาพวกเรา ซึ่งเป็นผู้เข้าร่วมอบรมราวๆ 20-30 ท่าน จากนั้นเขาบอกให้เรา “อนุญาต” ให้ผู้อื่นได้มองเห็นเรา และอนุญาตให้ตัวเองได้มองเห็นผู้อื่นทุกๆ คน เป็นคำสั่งง่ายๆ แต่ทำไม่ง่าย แต่อย่าได้คิดไปถามให้เขาอธิบาย

อมิตจะไม่อธิบายและปล่อยให้เราทำเองตามความเข้าใจของเรา อีกแบบฝึกหัดหนึ่งเขาให้เดินออกไปยืนประจันหน้ากับคนทั้งห้องอบรม แล้วทำสามอย่างคือ ทำตัวให้เล็กจนไม่มีใครมองเห็น และต่อมาให้ทำตัวให้ทุกคน “ต้อง” มองเห็นเรา สุดท้ายทำตัวปกติ เนื่องจากผมเป็นนักแสดงที่มีประสบการณ์สูง การทำตัวใหญ่ให้คนเห็นไม่ใช่เรื่องยาก แต่ผมมีปัญหากับการทำตัวเล็ก เพราะครูของผมบอกว่า “ยังตัวเล็กไม่พอ ยังเห็นคุณอยู่” ซึ่งผมรู้สึกว่าเป็นเรื่องตลกที่ผมไม่รู้ว่าจะทำตัวอย่างไรถึงจะไม่ถูกเห็น

แต่สำหรับหลายๆ คนที่ไม่เคยเรียนการแสดง หรือไม่เคยมีประสบการณ์ยืนอยู่ต่อหน้าคนจำนวนมาก กลับพบว่าการยืนอยู่เฉยๆ ต่อหน้าผู้อื่นแล้ว “บังคับ” ให้ผู้อื่นต้องมองเห็นเราเป็นเรื่องยาก อมิตยกตัวอย่างบุคคลสาธารณะอย่าง โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งเขาไม่มีปัญหากับการให้คนมองเห็นเขาอยู่ในสายตา อันที่จริงด้วยอะไรบางอย่าง อาจจะเป็นท่าทางหรือภาษากายของเขา เขาสามารถ “บังคับ” ให้คุณต้องมองเขา ก่อนที่เขาจะเริ่มพูดอะไรเสียอีก

ในระหว่างที่ทำแบบฝึกหัดดังกล่าว อมิตตั้งข้อสังเกตว่าผู้เข้าร่วมอบรมเพศหญิงหลายคนมีปัญหากับ “ถูกมอง” เขาจึงตั้งข้อสันนิษฐานว่าอาจจะเป็นเพราะในสังคมเอเชียมักจะถือคติเรื่องชายเป็นใหญ่ เพศหญิงจึงถูกกดทับในเรื่องการแสดงออกตั้งแต่เป็นเด็ก ซึ่งผมเห็นว่ามีส่วนจริง เพราะหญิงไทยมักจะถูกอบรมสั่งสอนว่าต้องทำตัวเรียบร้อย ต้องไม่แสดงออกอย่างประเจิดประเจ้อโดยพ่อแม่ครูบาอาจารย์ จึงเป็นเรื่องยากที่ผู้หญิงทั่วๆ ไป จะมีความมั่นใจในระดับที่จะ “บังคับ” สายตาของผู้อื่นได้

ผมคิดว่าการที่ผมสามารถก้าวข้ามความกลัวต่อการพูดในที่สาธารณะไม่ได้เป็นเรื่องลึกลับอะไรเลย แรกๆ ผมเคยถูกสอนว่าเวลาพูดในที่สาธารณะให้มองข้ามหัวคนไปเลยเราจะไม่ประหม่า แต่หลังๆ มานี้ ผมกลับไม่เคยใช้วิธีการนั้นเลย ผมสบตาผู้ฟังที่อยู่ตรงหน้า ผมคิดว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ การฝึกฝน คุณต้องฝึกที่จะยืนอยู่ต่อหน้าคนอื่นและอนุญาตให้เขามองเรา ไม่ใช่เพียงอนุญาตให้เขามองเราเวลาที่พูด แต่เราต้องอนุญาตให้เขามองเรายืนหายใจ ครุ่นคิดคำนึง สับสนฉงนฉงาย ตื่นเต้น เศร้าสร้อย และอื่นๆ หลายคนคิดว่าการเป็นผู้พูดที่ดีเราต้องดูมั่นใจตลอดเวลา แต่ผมกลับไม่คิดอย่างนั้น ถ้าเมื่อไรเราอนุญาตให้เขาเห็นด้านที่เราไม่มั่นใจ ด้านที่เปราะบางของเรา ประตูบานเล็กๆ จะเปิดออกและเชื่อมต่อตัวเรากับความเป็นมนุษย์ของผู้ฟัง

โชคไม่ดีที่เราไม่อาจจะทำแบบนั้นได้ตลอดทุกครั้งไป แต่ถ้าหากคุณทำได้สักครั้งหนึ่ง คุณจะรู้สึกเหมือนผม คุณจะได้สัมผัสถึงประสบการณ์อันยิ่งใหญ่ซึ่งน้อยคนในโลกสมัยใหม่จะได้สัมผัส มันเป็นประสบการณ์ที่คุณรู้สึกว่ามันโอเคที่จะเป็นตัวเอง และภายในช่วงเวลาไม่กี่นาทีนั้น ความเป็นมนุษย์ที่กระจัดกระจายออกไปและถูกตัดแบ่งด้วยขอบเขตของร่างกายที่ประกอบด้วยวัตถุธาตุของแต่ละบุคคลได้กลับมาเชื่อมต่อกันอีกครั้ง

ช่วงเวลาแบบนั้นใกล้เคียงที่สุดกับสิ่งที่เราเรียกมันว่า “ความรัก” แต่ไม่ใช่ความรักแบบเจาะจงหรือหวงแหน แต่เป็นความรักที่เป็นแบบโอเพ่นซอร์ส เพราะแหล่งที่มาของมันอยู่นอกเหนือความเป็นตัวเองอันกระจิริดของเรา

ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
www.thaissf.org, twitter.com/jitwiwat
สนับสนุนโดย มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image