อบต.เมล็ดพันธุ์ประชาธิปไตย…ระดับรากหญ้า : โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร

รัฐบาลประกาศในขณะนั้น ประกาศให้ปี พ.ศ.2527 เป็นปีแห่งการสาธารณสุขมูลฐานแห่งชาติ พร้อมทั้งกำหนดให้คนไทยทุกคนในประเทศไทยจะมีสุขภาพดีถ้วนหน้า ในปี 2543 ซึ่งองค์การอนามัยโลกก็ระบุเป็นต้นแบบว่าทั้งโลกจะบรรลุ “Health For All” ในปี ค.ศ.2000 หรือปี 2543

ต่อมาในปี 2528-2530 มีการ “รณรงค์คุณภาพชีวิตแห่งชาติ” มีระบบการพัฒนาประเทศจากล่างสู่บน คือ มีการสำรวจ และใช้ “จปฐ.” ในระดับหมู่บ้านเป็นเครื่องมือในการพัฒนาประเทศจากชุมชน (หมู่บ้าน) สู่ประเทศไทย และเรามี “คณะกรรมการสภาตำบล” กสต. เป็นองค์กรที่รัฐตั้งขึ้นในระดับตำบล และมี “คณะกรรมการหมู่บ้าน = กม.” ในระดับหมู่บ้าน ส่วนเจ้าหน้าที่รัฐเรียกว่าคณะกรรมการประสานงานคณะทำงานระดับตำบล มี 4 กระทรวงหลัก คือ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงศึกษาฯ และกระทรวงสาธารณสุข เรียกชื่อย่อว่า “คปต.”

ต่อมาการเมืองการปกครองของประเทศในแต่ละรัฐบาลมีความพยายามที่จะกระจายอำนาจจากส่วนกลางสู่ระดับภูมิภาคและท้องถิ่น ซึ่งเกิดการกระจายอำนาจเป็นรูปธรรมสำเร็จ ในโครงสร้างและกระบวนการประชาธิปไตย การปฏิรูปการเมืองด้วยรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 และฉบับปี 2550 มีการกระจายอำนาจชัดเจนโดยโครงสร้างเดิมที่เป็น “กสต.” ต่อมาก็คือ “อบต.” นั่นเอง ส่วน “กม.” ไม่ปรากฏการเปลี่ยนแปลงใดๆ และไม่ได้มีการพูดถึงยังคงมีผู้ใหญ่บ้าน 1 คน และสมาชิกสภาตำบล (สต.) หมู่บ้านละ 2 คน มาจากการเลือกตั้ง

“องค์การบริหารส่วนตำบล” (อบต.) เป็นหน่วยงานที่เป็น “นิติบุคคล” ในระดับรากหญ้า ส่วน “ตำบล” ซึ่งมีการเลือกตั้ง “นายก อบต.” และ “สมาชิก อบต.” ตามปฏิทิน ถ้าหากมี พ.ร.บ.การเลือกตั้งท้องถิ่น เกิดขึ้นอยู่ในวาระคราวละ 4 ปี

Advertisement

ผู้เขียนมีโอกาสได้อ่านหนังสือ “การเมืองไทยและประชาธิปไตย” ของศาสตราจารย์ ดร.ลิขิต ธีรเวคิน ราชบัณฑิตที่ได้เขียนถึง “อบต.” มีความสำคัญในระบอบประชาธิปไตยระดับท้องถิ่น ซึ่งในส่วนตัวเห็นด้วยและคิดว่าควรแก่การถ่ายทอดเป็น “องค์ความรู้” แบ่งปันซึ่งกันและกัน ความว่า :

การปกครองในส่วนท้องถิ่นในระดับรากหญ้า ซึ่งได้แก่ “อบต.” มีบทบาทสำคัญยิ่ง 3 ประการ ดังต่อไปนี้

1.ถ้า “อบต.” สามารถจะพัฒนาตนเองให้ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วทั้งในด้านการเมือง การบริหารจัดการ การบริหารบุคคล การใช้ทรัพยากรที่เอื้ออำนวยประโยชน์ต่อการ “พัฒนาชุมชน” และตอบสนองต่อความต้องการของท้องถิ่น “อบต.” เมื่อท้องถิ่นมีการ “พัฒนา” ก็จะเป็นผลรวมของการพัฒนาระดับชาติในที่สุด บทบาทของ “อบต.” ในแง่การพัฒนาและการสร้างความเจริญให้กับท้องถิ่นเป็นสิ่งที่เห็นได้ชัด

2.“อบต.” จะนำไปสู่การเกิดความตื่นตัวทางการเมืองของประชาชนในระดับรากหญ้า และช่วยเสริมให้ประชาชนรู้จักสิทธิเสรีภาพ รู้จักการเรียกร้องและต่อรอง ป้องกันสิทธิของตนตามกฎหมาย

3.ความสำเร็จของ “อบต.” ในข้อ 1, 2 ดังกล่าวจะมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนา “วัฒนธรรมการเมืองแบบประชาธิปไตย” ให้หยั่งรากลึกลงในชุมชนชนบท และเข้าไปสู่การเป็นส่วนหนึ่งของ “วัฒนธรรมการเมือง” (Political Culture) ของประชาชนในระดับรากหญ้า ผลในส่วนนี้จะทำให้ “อบต.” สามารถทำภารกิจสำคัญยิ่งในการ “พัฒนาระบอบประชาธิปไตยในระดับชาติ” ซึ่งในทาง “ทฤษฎีรัฐศาสตร์” นั้น ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยจะสามารถพัฒนาได้นั้นตามที่ได้กล่าวแล้วต้องอาศัย 3 ตัวแปรที่สำคัญ คือ

ก) สภาพสังคมเศรษฐกิจต้องเอื้ออำนวยต้องการพัฒนา กระบวนการประชาธิปไตย เช่น • การที่คนส่วนใหญ่ต้องมีระดับการศึกษาพอสมควร ผู้เขียนเชื่อว่านโยบายข้อนี้มีความสำคัญที่สุด เด็กนักเรียนหรือหากคนในชาติ จบการศึกษาอย่างน้อย ปวส. หรือ ป.ตรี ทุกคนร้อยเปอร์เซ็นต์ (Education for All, All for Education) ถ้าเราเริ่มต้นกำหนดนโยบายของรัฐบาลใหม่นี้ได้ก็จะเป็นการเริ่มนับหนึ่ง สอง สาม…ได้และต้องเกิดได้ตามเป้าหมายว่า เด็กไทยทุกคนที่เกิดภายในรัฐบาลใดก็ตามให้ถือว่าเป็นหน้าที่ของ “พ่อแม่” ต้องส่งลูกเรียนให้จบอย่างน้อย “ปวส.” หรือ “ป.ตรี” โดยรัฐบาลประกาศชัดเจนว่าเป็นหน้าที่ของรัฐบาลนี้จะสนับสนุนให้เด็กไทยทุกคนต้องเรียนจบตามเป้าหมาย 100%

ผลจากระบบการศึกษานี่เองผู้เขียนเชื่อว่า เด็กไทยในยุคนั้นเมื่อมาถึงเป้าหมายดังกล่าว (100%) เขาจะมีความรู้มีประสบการณ์ ฉลาดรู้จักเลือกคน ฉลาดตัดสินใจอะไรดี อะไรถูกต้อง อะไรเป็นธรรม เขาจะเลือก “คนดี” เป็น “ผู้แทน”… “เข้าสภา” และเชื่อว่า “การเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย” หากมีการดำเนินการต่อเนื่อง เหมือนอังกฤษ อเมริกา…(โดยไม่มีการปฏิวัติ) เด็กวันนี้ คือ ผู้ใหญ่ในวันหน้า จะเป็นตะแกรงร่อนเลือก “คนที่ดี” ยิ่งๆ ขึ้น ส่วนที่เป็น “คนไม่ดี พรรคไม่ดี” ก็จะถูกร่อนผ่านรูตะแกรงออกไปเอง ท้ายสุดก็จะเหลือ “พรรคที่ดี” หรือ “คนที่ดี” มาเป็นตัวแทนหรือผู้แทนใน “สภา” นั่นคือ “การศึกษา” มีส่วนสำคัญยิ่งในการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยได้ดีขึ้นตามลำดับเกิดความตื่นตัวต่อทางการเมือง มีเหตุมีผล และมีปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ มีสภาพเศรษฐกิจดีเพียงพอที่ไม่เดือดร้อนจนมีเวลาพอที่จะให้เอาใจใส่ต่อเรื่องการบ้านการเมือง

ข) โครงสร้างและกระบวนการประชาธิปไตย การปฏิรูปการเมืองด้วยรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 และฉบับปี 2550 ก็คือ พยายามที่จะพัฒนาโครงสร้างและกระบวนการทางการเมืองให้สามารถพัฒนาไปสู่ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่ต่อเนื่องและยั่งยืนได้

ค) การพัฒนาทางการเมืองแบบประชาธิปไตย ซึ่งในส่วนนี้ถือได้ว่า “อบต.” กำลังรับหน้าที่อันสำคัญที่จะมีส่วนในการพัฒนาตัวแปรที่ 3 นี้ เพื่อให้ระบอบการปกครองระบบประชาธิปไตยทั้งระบบสามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

นั่นคือ “บทบาทหน้าที่ อบต.” ซึ่งเราเชื่อมั่นว่าจะทำได้ดีมาก และควรให้การสนับสนุนอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม เมื่อมี “จุดแข็ง” ก็ต้องมี “จุดอ่อน” ที่ต้องวิเคราะห์อย่างลึกซึ้งและมีการปรับปรุงก็คงต้องมีการกล่าวให้กระจ่าง ซึ่งมีปัญหาหลักๆ 4 ประการ ดังนี้ คือ

1) ระดับการพัฒนาของ “อบต.” ไม่เท่าเทียมกัน มี “อบต.” จำนวนหนึ่งยังมีสภาพที่ล้าหลังอย่างมาก การพัฒนาที่กล่าวถึงอย่างมากและมีขนาดเล็กเกินไป ในลักษณะนี้จะขาดทั้งจำนวนประชากร ระดับการพัฒนาและความพร้อมที่จะปกครองตนเอง ที่สำคัญที่สุดโอกาสที่จะพัฒนาต่อไปเท่าเทียมกับ อบต.อื่นย่อมเป็นไปได้ยาก จึงมีดำริ…ควรแก่การทบทวนนำไปสู่การพัฒนาปรับปรุง

2) คงปฏิเสธไม่ได้ว่าในแง่บุคลากรและระดับความรู้ทางวิทยาการของ “อบต.” บางส่วนยังไม่สามารถปรับให้ทันกับสภาวะและความรับผิดชอบที่ได้รับมอบหมาย ดังนั้นการพัฒนา+อบรมบุคลากร ของ “อบต.” ยังเป็นหัวใจสำคัญ รวมทั้งมีงบประมาณคน สิ่งของเพียงพอสนับสนุน (Logistic) อื่นไม่ว่าการจ้างผู้เชี่ยวชาญการใช้ระบบไอที การปรับกฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ ตลอดจนกระบวนการวางแผนพัฒนาดำเนินการติดตาม ประเมินผล อย่างเป็นระบบและต่อเนื่องให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของบ้านเมือง

3) คงปฏิเสธไม่ได้ว่ามีการครหาเกี่ยวกับการรั่วไหลของงบประมาณของ “อบต.” บาง “อบต.” รวมตลอดทั้งความไม่ชอบมาพากลของการใช้งบประมาณ ซึ่งในส่วนนี้จำเป็นอย่างยิ่งจะต้องมีและทำการแก้อย่างรีบด่วน ซึ่งขณะนี้ได้รับการพัฒนามาต่อเนื่อง เนื่องจากความตื่นตัวของประชาชน รวมทั้งจิตสำนึกของ “อบต.” มีความรับผิดชอบ ตรวจสอบ หลาย “อบต.” แนวโน้มลดน้อยลงและคาดหวังว่าจะมีการพัฒนาไปในทางดีขึ้นตามลำดับ

4) นอกเหนือจากบทบาทสำคัญของการ “พัฒนา วัฒนธรรมทางการเมือง” แบบประชาธิปไตย การบริหารและพัฒนาท้องถิ่น อบต. คงมีบทบาทสำคัญ คือ การร่วมกับองค์กรปกครองสภาท้องถิ่นอื่นๆ ประชุมหารือเพื่อ “ร่างแผนการพัฒนาในระดับจังหวัด” นั้นให้บรรลุในภาพรวมของจังหวัด คือ “เจ็บ จน โง่” ให้หมดไป ที่สำคัญต้องป้องกันการครอบงำทางการเมืองจากระดับบน

จะเห็นได้ว่าภารกิจของ “อบต.” เป็นภารกิจสำคัญต่อการสร้างความเจริญให้กับประเทศชาติ และการปฏิรูปการปกครองแบบประชาธิปไตย ดังนั้น “อบต.” จึงเป็นที่จับตามองและคาดหวังของประชาชนทั้งประเทศ ถือเป็นสรณะสร้างให้เกิดความศรัทธาและความชอบธรรมทางการเมืองนั่นคือ หลักการ “ธรรมรัฏฐาภิบาล” ซึ่งได้แก่ ความชอบธรรมทางการเมือง การมีส่วนร่วมของประชาชน ความโปร่งใสตรวจสอบได้ ความรับผิดชอบ ประสิทธิภาพและประสิทธิผล ซึ่งถ้า “อบต.” ส่วนใหญ่สามารถดำเนินการได้ตามที่กล่าวมาเบื้องต้น ก็จะเป็น “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” ที่เป็นไปตามความต้องการของประชาชนและตามเจตนารมณ์ของการกระจายอำนาจตามของรัฐธรรมนูญ

ผู้เขียนได้มีโอกาสอ่านพระราชดำรัสของ… “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร” เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2517 จากหนังสือของมูลนิธิสร้างอนาคตไทย ความว่า…

“ในหมู่บ้านแต่ละหมู่บ้านที่ไปเยี่ยม ส่วนมากเขาอยู่อย่างกันเอง สามารถที่จะพยุงตนเองได้ มีผู้ที่เป็นหัวหน้า มีผู้ที่ปฏิบัติงานอย่างแบ่งงานกันและสามัคคีกัน ถ้าจะเรียกว่าการเป็นอยู่แบบไทย ก็หมายความว่าอยู่แบบประชาธิปไตยขั้นหมู่บ้านนี้เรากำลังอยากที่จะทำลาย เพราะว่าอยากทำประชาธิปไตยขั้นประเทศ แต่ว่าประชาธิปไตยขั้นประเทศนั้น ก็ต้องมีรากฐานที่ประชาธิปไตยขั้นหมู่บ้าน ซึ่งเรามีอยู่แล้วแต่ประชาธิปไตยขั้นหมู่บ้านนี้ ก็จำเป็นที่จะมีความรู้เพื่อที่จะทำให้การพัฒนาของหมู่บ้านเกิดขึ้นมาได้”

อนึ่ง “กม.” คณะกรรมการหมู่บ้าน ตามที่ผู้เขียนเกริ่นตอนแรกนั้นมีปรากฏอยู่ในส่วน “ปีแห่งการรณรงค์ การพัฒนาคุณภาพชีวิต ปี 2528-2530” มีการพูดถึง กสต. กม…คปต…อยู่แต่พระราชดำรัสของ… “พระเจ้าอยู่หัวของเรา” ได้พูดล่วงหน้ามา 10 ปีแล้ว (2517) จะเห็นได้ว่า “ในหลวงของเรา” มองเห็นความสำคัญของชุมชนระดับรากหญ้าที่เล็กกว่าตำบล คือ “หมู่บ้าน” เป็นระดับรากหญ้าอย่างแท้จริง ควรแก่การพัฒนาหรือกระจายอำนาจลงสู่ระดับหมู่บ้าน ด้วยการให้คนไทยทุกคนในระดับหมู่บ้านสามารถเข้ามามีส่วนร่วมของประชาชน

ชุมชนจาก “สภาตำบล” เป็น “สภาหมู่บ้าน, สภาหมู่บ้านชุมชน” นั่นคือ เป็นการสร้างประชาธิปไตยจาก “ระดับตำบล” สู่ “ระดับหมู่บ้าน” เป็นการสนองตามแนวทางพระราชดำรัสของ “ในหลวงของเรา” ไงเล่าครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image