สะพานแห่งกาลเวลา : รถยนต์ที่บินได้ : โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

ฟลายอิ้งคาร์ ของโบอิ้ง ขณะกำลังบินทดสอบครั้งแรกเมื่อปี 2018 (ภาพ-Boing)

รถยนต์บินได้ หรือเครื่องบินที่แล่นบนถนนได้ เป็นแนวคิดที่มีมานานแล้ว ยานยนต์บินได้ต้นแบบยุคแรกๆ มักพัฒนาบนพื้นฐานของเครื่องบิน กล่าวคือ จำเป็นต้องมีรันเวย์ เพื่อเร่งความเร็วในการยกตัวขึ้นสู่อากาศ ซึ่งไม่ได้ผลและเสื่อมความนิยมลงตามลำดับ เพราะไม่เพียงผู้ขับขี่จำเป็นต้องมีทักษะสูงแล้ว ยังต้องอาศัยการวิ่งไปยังสนามบิน เพื่อใช้รันเวย์ แถมยังติดปัญหาเรื่องใบอนุญาตในการใช้งานและอื่นๆ อีกสารพัด

นักวิเคราะห์ด้านการตลาดเคยยืนกรานเอาไว้ว่า รถบินได้ที่ว่านี้ไม่มีทางเกิดและโตได้แน่นอนพันเปอร์เซ็นต์

“ฟลายอิ้งคาร์” ที่ถูกหยิบมาปัดฝุ่นใหม่อีกครั้งในระยะหลังนี้ หันมาพัฒนาในรูปแบบของอากาศยานที่ขึ้น-ลงในแนวดิ่ง (วีทีโอแอล) เป็นหลัก

ที่สำคัญก็คือ สามารถขึ้นบินได้ในที่จำกัด แล้วไปหย่อนผู้โดยสารลงสนามหญ้าหน้าคฤหาสน์ได้ทันที

Advertisement

อากาศยานกึ่งรถยนต์ที่ขึ้นลงในแนวดิ่งได้นี้ แก้ปัญหาหลายอย่างให้ลุล่วงไปได้ โดยเฉพาะการแก้ปัญหาต้องใช้รันเวย์ของสนามบินร่วมกับเครื่องบินโดยสารทั่วไป ถูกพัฒนาขึ้นมาภายใต้แนวคิดของการเป็นยานพาหนะสำหรับใช้ในระยะสั้นเพื่อแก้ปัญหาการจราจรภายในตัวเมืองใหญ่ๆ เป็นสำคัญ ดังนั้นนอกจากจะเป็นวีทีโอแอลแล้ว ยังต้องใช้ไฟฟ้า เพื่อความเงียบและลดมลภาวะอีกด้วย

ภายใต้หลักคิดที่เปลี่ยนแปลงไป หลายคนเริ่มหันมาประเมินความเป็นไปได้ของฟลายอิงคาร์กันใหม่ บทวิเคราะห์เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาของ มอร์แกน สแตนลีย์ วาณิชธนกิจชื่อดัง ถึงกับฟันธงบอกกับลูกค้าของตัวเองเลยว่า เตรียมตัวให้พร้อมฟลายอิงคาร์มาแน่นอน

อดัม โจนาส นักวิเคราะห์ของมอร์แกนฯให้เหตุผลไว้น่าสนใจทีเดียว แรกสุดนั้นเขาบอกว่า ตอนนี้โดรนสำหรับนำส่งสินค้าและวัสดุไปส่งยังเป้าหมายโดยตรงเริ่มมีการทดสอบกันเป็นงานเป็นการ และเริ่มได้รับการยอมรับกันแล้ว ถ้าเปลี่ยนจากโดรนเป็นอากาศยานวีทีโอแอลสำหรับให้บริการคน ก็คงไม่ต่างอะไรออกไปมากมายนัก

Advertisement

ข้อสองนั้น โจนาสบอกว่า เมื่อปลายปีที่ผ่านมานี่เอง องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ ที่รู้จักกันมากกว่าในชื่อย่อว่า นาซา เริ่มออกมากระตุ้น สนับสนุนให้เกิดพัฒนาการการใช้อากาศยานภายในเมืองแล้ว

สุดท้าย โจนาสบอกว่า บรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่ทางด้านการบินและบริษัทผู้ให้บริการด้านกลาโหมเริ่มทุ่มเงินลงทุนลงไปในตลาดให้บริการ เฮลิคอปเตอร์แบบ “ไรด์-ฮอลลิ่ง เซอร์วิส” ที่เป็น “ไฟฟ้า” กันมหาศาล เพื่อให้บริการรับส่งผู้โดยสารด้วย ฮ.ไฟฟ้า ที่ “เงียบ” กว่า

นั่นหมายความถ้าวีทีโอแอลรุ่นใหม่ๆ พัฒนาขึ้นมาได้สำเร็จ ก็สามารถแทนที่เฮลิคอปเตอร์ไฟฟ้า กลายเป็นรถกึ่งเครื่องบิน เปิดให้บริการได้ในทันที

ที่สำคัญที่สุดก็คือ ผู้พัฒนารถยนต์กึ่งเครื่องบินแบบวีทีโอแอลในขณะนี้ ไม่ใช่บริษัทสตาร์ตอัพหน้าใหม่อีกต่อไปแล้ว แต่มีอย่างน้อย 4 บริษัทที่เป็นยักษ์ใหญ่ในวงการการบิน 2 ในจำนวนนั้นเอ่ยชื่อขึ้นมาเป็นร้องอ๋อกันทั่วโลก นั่นคือ โบอิ้ง ของสหรัฐอเมริกา กับ แอร์บัส ของทางฝั่งยุโรป

โจนาสคิดสะระตะให้เสร็จสรรพว่า บริการไรด์-ฮอลลิ่ง ที่ทุกวันนี้เน้นหนักอยู่ที่บริการรถยนต์ ถ้าให้บริการในระยะทาง 25 ไมล์/เที่ยวจากใจกลางเมืองไปนอกเมืองที่เป็นย่านที่อยู่อาศัย ใช้ความเร็ว 25 ไมล์/ชั่วโมง จำเป็นต้องใช้เวลา 48 นาที ถ้าคิดค่าบริการ 1.50 ดอลลาร์/ไมล์ ค่าบริการก็จะอยู่ที่ 30 ดอลลาร์/เที่ยว

วันหนึ่งถ้าขับได้ 10 เที่ยวตามประสาจราจรแบบนรก คนขับ (หรือบริษัทผู้ให้บริการ) ก็จะได้เงินถึง 300 ดอลลาร์/วัน หรือ 75,000 ดอลลาร์/ปี

ถ้าเปลี่ยนเป็นบริการด้วยฟลายอิ้งคาร์ ที่เร็วกว่า สร้างความพึงพอใจให้กับผู้ใช้บริการมากกว่า เพราะระยะทาง 20 ไมล์ใช้เวลาเพียง 12 นาที เก็บค่าบริการเพิ่มขึ้นเป็น 50 ดอลลาร์ ใครจะไม่ใช้บริการ?

บริษัท (หรือคนขับ) ก็สามารถให้บริการได้มากเที่ยวขึ้นใน 1 วันเพราะใช้เวลาน้อยลงมาก อาจได้มากถึง 40 เที่ยวต่อ 8 ชั่วโมง การทำงานใน 1 วัน รายได้จะเพิ่มเป็น 2,000 ดอลลาร์/วัน

หรือ 1.5 ล้านดอลลาร์/ปี ต่อฟลายอิ้งคาร์ 1 คัน

ฟังดูแล้วเย้ายวนใจไม่หยอกเลยทีเดียว แต่โจนาสเองก็ยอมรับว่า อุปสรรคก็ยังคงมีอยู่บ้าง ตั้งแต่ความไม่พร้อมของเทคโนโลยี เรื่อยไปจนถึงกฎระเบียบต่างๆ ปัญหาในข้อกฎหมายที่ยังไม่เคยมี

ที่สำคัญคือเรื่องพฤติกรรมของผู้บริโภค จะยอมรับกันไหม?

ถึงอย่างนั้น โจนาสก็ฟันธงไว้ครับว่า ภายในปี 2040 หรืออีกแค่ 20 ปีข้างหน้า ตลาดฟลายอิ้งคาร์จะมีมูลค่าอย่างน้อย 615,000 ล้านดอลลาร์

แต่ถ้าคิดไปในทางบวกสุดโต่ง โจนาสบอกว่าเป็นไปได้ว่า มูลค่าตลาดนี้จะสูงถึง 1.5 ล้านล้านดอลลาร์เลยทีเดียวครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image