อนาคต ม.ราชภัฏ… : โดย เฉลิมพล พลมุข

การศึกษาเป็นระบบหนึ่งของทุกสังคมประเทศชาติ ที่เชื่อว่าเป็นการยกระดับคุณภาพของชีวิตในประชากรของประเทศนั้นๆ ระบบดังกล่าวต้องเกี่ยวเนื่องกับการวางแผนด้านนโยบายของรัฐบาล กระทรวง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับระบบการศึกษา บุคลากรที่หลากหลายความรู้ความสามารถและทักษะวิชาชีพ งบประมาณในจำนวนมหาศาลของรัฐบาลที่ต้องทุ่มเทลงไปกับระบบดังกล่าว โดยคาดหวังว่าการศึกษาจักสามารถขับเคลื่อนระบบต่างๆ ของประเทศไปอย่างราบรื่น

ผู้นำของทุกประเทศทั่วโลกภารกิจหลักหนึ่งก็คือการให้การสนับสนุน ติดตาม ตรวจสอบและประเมินผลต่อคุณภาพของการศึกษาที่รัฐต้องจัดสรรให้กับระบบดังกล่าว หลากหลายปัญหาและคำถามที่เมื่อเกิดปัญหาต่างๆ ของสังคมต่างก็มีคำถามไปยังหน่วยงานการศึกษา สถานศึกษา รวมไปถึงรัฐมนตรีที่ต้องเกี่ยวข้องโดยตรงกับการศึกษาและผู้นำสูงสุดของประเทศที่มิอาจจะปฏิเสธในข้อเท็จจริง

ข้อมูลหนึ่งที่ถูกนำเสนอในสื่อของเมืองไทยเราก็คือ ลำดับการเป็นผู้นำของมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้งประเทศโดยนำเสนอสิบลำดับแรกก็คือ อันดับที่ 1 มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา และเป็นอันดับที่ 22 ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทย ที่ 2 มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม ที่ 3 มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ที่ 4 มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม ที่ 5 มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ที่ 6 มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ที่ 7 มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ที่ 8 มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช ที่ 9 มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี และอันดับที่ 10 มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม….(มติชนรายวัน 3 กุมภาพันธ์ 2562 หน้า 1)

มหาวิทยาลัยราชภัฏหลายแห่งก่อกำเนิดมาจากโรงเรียนฝึกหัดครู โรงเรียนการเรือน วิทยาลัยครู สถาบันราชภัฏและมาเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏโดยมีพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ.2547 โดยมีทั้งหมด 70 มาตราได้ประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ.2547 เป็นแบบหรือทางเดินเพื่อไปสู่เป้าหมายสำคัญ

Advertisement

โดยเฉพาะในมาตรา 7 ที่ได้ระบุไว้ว่า “ให้มหาวิทยาลัยเป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ที่เสริมสร้างพลังปัญญาของแผ่นดิน ฟื้นฟูพลังการเรียนรู้ เชิดชูภูมิปัญญาของท้องถิ่น สร้างสรรค์ศิลปวิทยาเพื่อความเจริญก้าวหน้าอย่างมั่นคงและยั่งยืนของปวงชน มีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษา การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน โดยมีวัตถุประสงค์ให้การศึกษา ส่งเสริมวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง ทำการสอน วิจัย ให้บริการทางวิชาการแก่สังคม ปรับปรุง ถ่ายทอด และพัฒนาเทคโนโลยี ทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ผลิตครูและส่งเสริมวิทยฐานะครู…”

จากวันเวลาที่ผ่านมาเกือบสิบห้าปี ความเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศได้ถูกตั้งคำถามจากสังคมที่หลากหลายปัญหา อาทิ คุณภาพของบัณฑิต ความรู้ความสามารถ ทักษะวิชาชีพ ความเป็นผู้นำของบัณฑิต รวมถึงคุณธรรมจริยธรรมที่พึงประสงค์ของสังคม มิอาจจะรวมไปถึงคำถามที่ตรงไปยังผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการบริหารจัดการนั่นก็คือสภามหาวิทยาลัย มีผู้ที่เป็นผู้นำหลักก็คือนายกสภา กรรมการสภามหาวิทยาลัย และผู้บริหารมหาวิทยาลัยในระดับต่างๆ อาทิ อธิการบดี รองอธิการบดี ผู้ช่วยอธิการบดี คณบดี หัวหน้าสำนักงานส่วนงานต่างๆ การบริหารงานก็เพื่ออำนวยความสะดวกให้คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ภาคส่วนต่างๆ ได้ขับเคลื่อนนโยบาย เป้าหมายให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติของมหาวิทยาลัยราชภัฏที่ได้ตราไว้

ข้อเท็จจริงหนึ่งที่เราท่านสัมผัสได้รวมถึงในบางท่านอาจจะเข้าถึงได้ก็คือ ระบบการแข่งขันกันในบรรดามหาวิทยาลัยราชภัฏในบริบทของวัตถุนิยม บริโภคนิยม เงินนิยม ทุนนิยม ประชานิยมและอำนาจนิยม ของผู้บริหารของมหาวิทยาลัยโดยเฉพาะการทำงานที่ต้องเกี่ยวเนื่องกับบุคลากรที่เป็นสมองและปัญญาของประเทศชาติโดยเฉพาะคณาจารย์ส่วนใหญ่ในสัดส่วนที่ความเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยมีในจำนวนมากกว่าข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาอยู่ในทุกมหาวิทยาลัยราชภัฏ…

Advertisement

สภาพของปัญหาหนึ่งในมหาวิทยาลัยราชภัฏที่ถูกนำเสนอในสื่อต่างๆ มาอย่างต่อเนื่องก็คือระบบธรรมาภิบาลในมหาวิทยาลัย การได้มาของกรรมการสภาบางแห่งที่เรียกว่า “สภาเกาหลัง” การทุจริตคอร์รัปชั่นในการจัดซื้อจัดจ้างก่อสร้างอาคาร การปลอมวุฒิการศึกษาเพื่อสมัครเข้าเป็นคณาจารย์ การลอกผลงานเพื่อให้ได้ตำแหน่งทางวิชาการ ปัญหาชู้สาวกับผู้เรียน การเรียกร้องขอความเป็นธรรมต่อผู้บริหารมหาวิทยาลัยรวมไปถึงการฟ้องร้องต่อศาลปกครองที่มีคดีความอยู่ในจำนวนมาก พฤติการณ์ดังกล่าวก็เกี่ยวเนื่องกับอำนาจหน้าที่และผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้องจนเป็นเหตุให้คณาจารย์ระดับปริญญาเอกแห่งหนึ่งต้องใช้วิธีการรุนแรงด้วยอาวุธปืนฆ่ากันตายเมื่อไม่นานมานี้ นำมาซึ่งความสูญเสียและเป็นคำถามที่มาจากสังคมที่ว่า ผู้ที่มีปัญญาความรู้จะใช้การตัดสินปัญหาด้วยวิธีการดังกล่าวเป็นสิ่งที่ชอบด้วยหรือไม่…

สภาพการณ์หนึ่งที่ลุกลามไปยังระบบการศึกษาในภาพรวมก็คือ จำนวนของประชากรเด็กที่เกิดใหม่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญในทุกๆ ระดับ โรงเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานหลายโรงเรียนเด็กนักเรียนลดลง ต้องยุบรวมห้อง อาจจะรวมไปถึงปัญหาการยุบรวมโรงเรียน ส่งผลให้ผู้ที่ต้องเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยราชภัฏต้องได้รับผลกระทบโดยตรงไปด้วย บางสาขาโปรแกรมไม่มีนักศึกษาเข้าเรียน คณาจารย์ของมหาวิทยาลัยต้องเป็นฝ่ายรุกการตลาดเพื่อชักชวนชี้นำและอนาคตของชีวิตที่จะชักพาเขาเหล่านั้นในการเพิ่มยอด จำนวนของผู้เข้าเรียน

ระบบการบริหารจัดการของมหาวิทยาลัยราชภัฏหลายแห่งมีกลยุทธ์ในการตลาดพร้อมทั้งคุณภาพชีวิตทางการศึกษา อาทิ เปิดโรงเรียนสาธิตปฐมวัย ประถมศึกษา มัธยมศึกษา เปิดการศึกษาภาคพิเศษที่ต้องเรียนในวันเสาร์-อาทิตย์ เปิดการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา ให้มีตลาดนัดขายสินค้าภายในมหาวิทยาลัย มีธุรกิจโรงแรม ร้านสะดวกซื้อ สนามกอล์ฟ การจัดประชุมสัมมนาและรายได้อื่นๆ ที่คาดว่าจะนำมาซึ่งความอยู่รอดในการบริหารจัดการ…

การจัดอันดับของมหาวิทยาลัยราชภัฏ มหาวิทยาลัยในเมืองไทยเราและมหาวิทยาลัยระดับโลก ของ Ranking Web of University คงจะนำมาซึ่งคำถามและการแสวงหาคำตอบทั้งจากผู้บริหารของมหาวิทยาลัยและผู้นำของรัฐบาลที่ต้องรับผิดชอบต่อระบบการศึกษาของประชากรในชาติในภาพรวม คุณภาพของเด็กไทยคงจะมิใช่การวัดในระดับที่ผู้นำของรัฐบาลได้ลงพื้นที่แล้วมีเด็กคนหนึ่งสามารถสื่อสารภาษาต่างประเทศได้ในเวลาอันสั้นเท่านั้น ในภาพกว้างของระดับคุณภาพของการศึกษาเด็กไทยเราเมื่อมีการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐานหรือที่เรียกว่าโอเน็ต ทำให้เห็นถึงระบบในความไม่เท่าเทียมกันทางการศึกษา วิชาหลักอาทิ ภาษาไทย สังคมศึกษา ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ ผลสอบได้คะแนนต่ำกว่าห้าสิบเปอร์เซ็นต์ของทุกวิชา…

ระบบการศึกษาดังกล่าวย่อมส่งผลต่อในการศึกษาระดับสูงขึ้นไปในข้อเท็จจริงหนึ่ง ผู้เรียนบางคนมีแนวคิดที่ว่าการเรียนมิได้มีความสำคัญต่อชีวิตมากนัก บางคนจบปริญญาแต่เมื่อไปสมัครงานหน่วยงานบางแห่งขอปรับระดับเงินเดือนที่ต่ำกว่าปริญญา ขณะที่กำลังเรียนระดับปริญญาบางคนมิได้ใส่ใจต่อการเรียนหวังเพียงเกรดหรือคะแนนที่ตนจะได้รับ บางคนเขียนไม่ได้ อ่านไม่ออก วิเคราะห์ไม่เป็น

ขณะเดียวกันบางคนก็อาจจะสร้างปัญหาให้กับสังคม อาทิ สูบบุหรี่ไฟฟ้า ยาเสพติด ไม่เคารพกฎระเบียบวินัย มีชีวิตคู่เป็นผัวเมียนักศึกษา ถูกให้ออกจากระบบการศึกษา และเป็นยุวอาชญากรรมที่ต้องคดีอยู่ในทัณฑสถานเรือนจำอยู่ทั่วประเทศ

ในจำนวนของผู้เรียนจำนวนมากก็ย่อมมีนักศึกษาบางคนที่รู้จักตนเอง มีความใฝ่ฝันในชีวิตที่ดี มีความอดทนมุ่งมั่น ขยัน รับผิดชอบทั้งต่อการเรียนและการใช้ชีวิต บางคนต้องทำงานล่วงเวลาในร้านสะดวกซื้อและในห้างสรรพสินค้า เปิดหมวกเล่นดนตรี ทำงานพิเศษอย่างอื่นที่มิได้ผิดต่อกฎหมายของบ้านเมืองเพื่อส่งต่ออนาคตของตนเองในวันข้างหน้า สัดส่วนของนักศึกษากลุ่มนี้ยังเป็นที่หวังอนาคตและชื่อเสียงของมหาวิทยาลัย

การปรับเปลี่ยนภาระและความรับผิดชอบจากกระทรวงศึกษาธิการไปเป็นกระทรวงใหม่ ที่คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบไปเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2561 โดยให้ใช้ชื่อว่า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ สภาวิจัยและนวัตกรรม โดยยุบรวมสี่หน่วยงานเข้าด้วยกัน อาทิ กระทรวงวิทยาศาสตร์ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยคาดหวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปการศึกษาเพื่อเตรียมความพร้อมในการแข่งขันในศตวรรษที่ 21 และนโยบายไทยแลนด์ 4.0

มโนคติของผู้บริหารมหาวิทยาลัยราชภัฏบางแห่งในอดีตที่ตนเคยมีอำนาจหน้าที่ในหน่วยงานราชการ มีวิถีชีวิตในระบบราชการมาเป็นเวลานานเมื่อวันเวลาผ่านไปมาถึงยุคปัจจุบันนี้ ความเปลี่ยนแปลงของบ้านเมือง รัฐบาล ความก้าวหน้าของระบบเทคโนโลยีรวมถึงระบบความเชื่อ ความคิด ความรู้ทั้งของคณาจารย์และบุคลากรรุ่นใหม่ที่ดูเสมือนจะเป็นไม้เบื่อไม้เมาสำหรับผู้บริหาร เขาเหล่านั้นบางคนได้มีประสบการณ์ผ่านงานในระบบบริษัท ธุรกิจเอกชนมาก่อนเมื่อเข้าสู่ระบบงานของมหาวิทยาลัยที่เรียกว่าท้องถิ่นชุมชน มีภาระงานหน้าที่ต้องรับผิดชอบ มีการประเมินผลงานด้วยเงื่อนไขการต่อสัญญาจ้าง ยังคงวนเวียนอยู่ในสภาพปัญหาของความเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยในอุดมศึกษา…

ทิศทางอนาคตของมหาวิทยาลัยราชภัฏในภายภาคหน้าจักเป็นเช่นไร เราท่านพอจะมองออกจากระบบการบริหารจัดการของผู้บริหารที่ต้องมีวิสัยทัศน์ที่ยาวไกล มองเห็นถึงประโยชน์ของมหาวิทยาลัยทั้งคุณภาพของบัณฑิตและภารกิจตามกฎหมายพระราชบัญญัติที่ได้กำหนดไว้มากกว่าผลประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้อง หากผู้บริหารบางคนมีเจตนาหรือพฤติกรรมแฝงในทางที่มิควรหรือมิชอบด้วยกฎหมาย จริยธรรมคุณธรรม การลงโทษในทางกฎหมายอาจจะยังมาไม่ถึงแต่ด้วยผลของการกระทำหลายรายเจ็บป่วยด้วยโรคที่มิอาจจะรักษาหายหรือเรียกว่าโรคเวรโรคกรรม…

พระราชบัญญัติของมหาวิทยาลัยเกิดขึ้นในรัชสมัยรัชกาลที่ 9 เมื่อมาถึงปัจจุบันในหลวงรัชกาลที่ 10 พระองค์ท่านได้เสด็จฯไปพระราชทานปริญญาบัตรให้แก่เหล่าบรรดาบัณฑิตของมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศอย่างเสมอมา สิ่งหนึ่งที่พระองค์ท่านได้ย้ำเตือนต่อผู้บริหารและมอบพระบรมราโชบายต่อผู้บริหารมหาวิทยาลัยบ่อยครั้งก็คือ

“…ให้แนะนำมหาวิทยาลัยราชภัฏ ทำงานให้เข้าเป้าในการยกระดับการศึกษาและพัฒนาท้องถิ่นในท้องที่ตน…” หรืออาจจะเรียกว่า พันธกิจสัมพันธ์กับการรับใช้สังคม ทำให้เราท่านคนของพระราชา ข้าของแผ่นดินได้นำใส่เกล้าแล้วนำไปสู่การปฏิบัติเพื่อไปสู่เป้าหมายของแผ่นดินดีแล้วหรือไม่…

เฉลิมพล พลมุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image