เลือกตั้งเป็นปกติ โดย ปราปต์ บุนปาน

การเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 24 มีนาคม 2562 ยังจะดำเนินไปเป็นปกติ
นี่คือการแข่งขันกันระหว่างนักการเมืองกับนักการเมือง และพรรคการเมืองกับพรรคการเมือง

ผ่านการขับเคี่ยวของผู้สมัคร ส.ส. ในแต่ละพื้นที่ การประชันนโยบายหาเสียงระหว่างพรรคต่างๆ และการเปรียบเทียบคุณสมบัติแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีแต่ละรายของประชาชนผู้มีสิทธิลงคะแนน

การแข่งขันทั้งหมดนี้จะขับเคลื่อนสังคมไปสู่โจทย์ใหญ่ข้อเดิมๆ

กล่าวคือภายใต้การเลือกตั้งที่ต้อง “ฟรี” และ “แฟร์” (เสรีและเป็นธรรม) ไม่ว่าจะถูกห้อมล้อมด้วยกฎกติกาที่แปลกประหลาดขนาดไหนก็ตาม ประชาชนผู้ออกเสียงจะตัดสินใจเลือก/กำหนดชะตากรรมของประเทศชาติไปในทิศทางทางใด?

Advertisement

ถามอีกอย่างได้ว่า “ประชาธิปไตย” ในนิยามของเพื่อนร่วมชาติส่วนใหญ่ จะมีหน้าตาแบบไหน ภายหลังวันที่ 24 มีนาคม?

จะเป็น “ประชาธิปไตย” ที่ฝากความหวังไว้กับบรรดาผู้แทนราษฎรจากพรรคการเมือง ซึ่งน่าจะเปิดโอกาสให้แก่เสียงที่หลากหลายและเปิดกว้างต่อการต่อสู้ต่อรองต่างๆ มากยิ่งขึ้น

หรือจะเป็น “ประชาธิปไตย” ที่ฝากความหวังกับกลไกต่างๆ ของระบบรัฐราชการ ซึ่งอาจมีพลวัต-ความยืดหยุ่นน้อยกว่า ดังที่ถูกวางรากฐานเอาไว้ตลอดหลายปีที่ผ่านมา

Advertisement

ประชาชนคือ “เสียงสำคัญ” ที่จะมีส่วนผลักดันบ้านเมืองไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่งข้างต้น

โจทย์ใหญ่อีกข้อที่ปรากฏชัดเจนขึ้น ณ ช่วงเวลาผันผวนสั้นๆ เมื่อปลายสัปดาห์ก่อน ก็คือ ความแตกแยกหรือการแบ่งฝักฝ่าย ผ่านการสมาทานความคิดความเชื่อทางการเมืองที่ต่างกัน ยังคงฝังรากลึกในสังคมไทย

นี่เป็นปัญหาที่ไม่อาจคลี่คลาย แม้เวลาจะผันผ่านมาแล้วเกินกว่าหนึ่งทศวรรษ

กระทั่งการหยุด “ระบอบประชาธิปไตยปกติ” เอาไว้ชั่วคราว นานถึง 5 ปี ก็มิอาจรักษาบาดแผลนี้ได้

แม้แต่ความเชื่อที่ว่าผลลัพธ์ของการเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม 2562 จะตัดสินกันด้วยปัจจัยอื่นๆ เช่น ปัญหาปากท้อง ไม่ใช่เรื่องอุดมการณ์อย่างเดียว ก็อาจจะไม่แน่นอนเสียแล้ว

ปรากฏการณ์ดังกล่าวจะกลายเป็นปริศนาท้าทายการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม อย่างน้อยสองประการ

ประการแรก ความคาดหวังที่ว่าการเลือกตั้งคราวนี้อาจนำไปสู่ “ข้อตกลงร่วม” ครั้งใหม่ระหว่างสมาชิกทุกๆ ฝ่ายในสังคม จะยังเป็นไปได้หรือไม่ท่ามกลางความคิดแบ่งฝ่ายที่ดำรงอยู่ชนิดเข้มข้นไม่แปรผัน?

ประการที่สอง หากวิธีคิดแบบแบ่งฝักฝ่ายที่วางฐานบนความเชื่อทางการเมืองซึ่งมิอาจอยู่ร่วมกันได้เช่นนี้ จะมีสถานะเป็นปัญหาเฉพาะในยุคสมัยของพวกเรา หรือเป็นปัญหาระดับ “ชั่วอายุคน” ซึ่งไม่มีทางยุติลงโดยง่าย

การเลือกตั้ง 24 มีนาคม จะช่วยบรรเทาเบาบางความขัดแย้งนี้ลงได้มากน้อยแค่ไหน? หรือจะทำให้ความขัดแย้งที่อำพรางซุกซ่อนตัวอยู่ ก่อรูปสร้างร่างขึ้นมาใหม่?

ผู้ที่จะร่วมกันไขปริศนาเหล่านี้ได้ มิใช่มีแค่นักการเมืองและผู้มีอำนาจฝ่ายต่างๆ หากยังรวมถึงประชาชนคนธรรมดาด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image