การเลือกตั้งที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง

การเลือกตั้งที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง (contentious election) ถือเป็นเรื่องที่ได้รับการศึกษาอย่างเอาจริงเอาจังจากนักวิชาการทางรัฐศาสตร์จำนวนหนึ่ง

ส่วนหนึ่งเพราะว่าการเลือกตั้งที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งทำให้เราเห็นภาพที่น่าสนใจมากกว่าคำอธิบายง่ายๆ ที่เป็นที่ยอมรับในระดับพื้นฐานทางรัฐศาสตร์ ประเภทที่อธิบายว่าการเลือกตั้งคือปัจจัยพื้นฐานของประชาธิปไตย เพราะการเลือกตั้งถือเป็นมรรควิธีทางประชาธิปไตย (democratic method) ที่หมายถึง การที่มีการจัดให้เกิดกระบวนการบางอย่างที่นำเราไปสู่การตัดสินใจทางการเมืองที่แต่ละคนนั้นแสวงซึ่งอำนาจด้วยการต่อสู้แข่งขันกันเพื่อให้ได้มาซึ่งคะแนนเสียงจากประชาชน

คำอธิบายแบบนี้หมายถึงเรื่องที่เรามองว่าเป็นมิติด้านการแข่งขัน (competition หรือมีลักษณะ competitive) คือมองหรือเชื่อว่าการเลือกตั้งนั้นมีลักษณะที่เป็นเรื่องของการแข่งขัน

ทีนี้เมื่อพูดเรื่องการแข่งขันนั้น บ้างก็เชื่อว่าการแข่งขันนั้นมันมีความหมายในตัวเองอยู่แล้วว่ามันต้องเท่าเทียมและเป็นธรรม เพราะเชื่อว่า “กติกา” มันเป็นธรรม และได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย

Advertisement

เรื่องนี้ก็เลยเกิดการออกมาชี้ ออกมาวัดว่า การเลือกตั้งแต่ละครั้ง แต่ละแห่งนั้น มันเท่าเทียมและ เป็นธรรมไหม

การเลือกตั้งที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งนั้นเป็นอีกมิติหนึ่งที่เริ่มพิจารณากันมากขึ้น ในฐานะส่วนหนึ่งของการศึกษาการเมืองที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง (contentious politics) ที่มีตั้งแต่เรื่องการศึกษาขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม การรวมตัวกันทางการเมืองแบบต่างๆ ความขัดแย้งทางการเมืองที่เน้นในเรื่องของความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ หรือทางศาสนา การประท้วงทางการเมือง สงครามกลางเมือง อารยะขัดขืน การต่อต้าน การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และการปฏิวัติ

การเลือกตั้งที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งนั้นหมายถึงการต่อสู้แข่งขัน (contests) ที่ต้องเผชิญกับความท้าทายหลายประการ (challenges) ที่มีต่อความชอบธรรม (legitimacy) ของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง กระบวรการเลือกตั้ง หรือผลของการเลือกตั้งเอง ซึ่งความท้าทายนี้ก็มีหลายระดับตั้งแต่ในระดับที่ไม่มากนักไปจนถึงระดับที่รุนแรงมาก

Advertisement

การเลือกตั้งที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งนี้จะเกิดขึ้นในสังคมที่มีความขัดแย้งในระดับร้าวลึก ซึ่งมีผลท้าทายไปที่ความชอบธรรมของหลายส่วน ได้แก่

1.ท้าทายความชอบธรรมของผู้ที่มีส่วนในการจัดการเลือกตั้ง (electoral actors) เช่นการตั้งคำถามไปที่เรื่องของความเป็นกลางของผู้จัดเลือกตั้ง

2.ท้าทายความชอบธรรมของกระบวนการเลือกตั้ง (electoral procedure) ที่มีตลอดวงจรของการเลือกตั้ง ตั้งแต่ความไม่เห็นด้วย/ไม่ลงรอยกันของความเห็นที่มีต่อกติกาการเลือกตั้ง อาทิ การลากเส้นแบ่งเขตเลือกตั้ง การลงทะเบียนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง การลงทะเบียนผู้สมัครรับเลือกตั้ง และการจด/ลงทะเบียนพรรคการเมือง สำนักงานพรรค การใช้จ่ายในการหาเสียง การกำกับสื่อ การกำกับกติกาการลงคะแนน และการคำนวณคะแนนที่จะมีผลต่อการได้เก้าอี้ผู้แทน

3.ท้าทายความชอบธรรมของผลการเลือกตั้ง ที่จะมีผลต่อความชอบธรรมของผู้ชนะการเลือกตั้ง ซึ่งในรายละเอียดก็รวมไปถึงตัวผู้นำประเทศ ตัวผู้แทน และตัวพรรคการเมือง

กล่าวโดยสรุป การเลือกตั้งที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง (contentious election) เป็นเรื่องที่นำเราไปสู่การตั้งคำถามถึง ความชอบธรรมของการเลือกตั้ง ขณะที่การเลือกตั้งแบบที่เราเข้าใจและถูกสอนกันมาคือการเลือกตั้งที่เป็นการแข่งขันเสรี (competitive election) เป็นเรื่องของการตั้งคำถามถึง ผลการเลือกตั้ง เป็นหลัก เพราะกติกานั้นเป็นที่ยอมรับและเข้าใจตรงกัน หรือจะกล่าวอีกอย่างก็คือการเลือกตั้งที่เป็นการแข่งขันเสรี นำไปสู่การเลือกตั้งที่มีความสมานฉันท์ (consensual election) ในความหมายของการยอมรับทั้งกติกาและผลของการเลือกตั้ง

ตัวอย่างง่ายๆ เช่นการเลือกตั้งในสหรัฐอเมริกา แม้จะมีคนตั้งคำถามกับกติกาของการเลือกตั้งที่เอื้อให้ทรัมป์ชนะก็ตาม (ระบบการลงคะแนน) แต่ทุกคนก็ยอมรับกติกา และให้ความสำคัญกับการศึกษากลยุทธ์การหาเสียง และผลการเลือกตั้ง มากกว่าการตั้งคำถามกับความชอบธรรมของการเลือกตั้ง

คุณูปการของการศึกษาการเลือกตั้งด้วยแนวคิดเรื่องการเลือกตั้งที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง ทำให้เราไม่ด่วนสรุปว่า การเลือกตั้งนั้นเท่ากับประชาธิปไตย เพราะสมัยนี้การเลือกตั้งนั้นมีขึ้นในทุกระบอบ เผด็จการก็ต้องการการเลือกตั้งในบางห้วงเวลา และที่สนุกสนานก็คือเรื่องของการเลือกตั้งในระบอบการปกครองแบบหัวมังกุท้ายมังกร ที่เรียกกันเท่ๆ ว่า “hybrid regime” นั่นแหละครับ

กรณีที่สำคัญอย่างเมื่อปี 2557 ถ้าเราไม่ด่วนตัดสินทุกฝ่าย วาทกรรมและการเรียกร้องเรื่อง “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” นั้นก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ว่า คนจำนวนหนึ่งอาจไม่ต้องการให้มีการเลือกตั้ง ซึ่งก็ต้องมาพิสูจน์กันว่าพวกเขาไม่เชื่อมั่นต่อคนจัดการเลือกตั้ง กติกาการเลือกตั้ง หรือเขารู้แน่ๆ ว่า การเลือกตั้งนั้นจะมีผลที่เขาแพ้แน่ และแพ้มาหลายครั้งแล้ว ขณะที่ฝ่ายที่เชื่อว่าชนะก็จะพากลับสู่การเลือกตั้งเสมอ เพราะเชื่อว่าชนะ ซึ่งชนะอาจไม่ได้เพราะ กกต.เข้าข้าง หรือกติกาทำให้ชนะ แต่อาจชนะเพราะยึดกุมฐานคะแนนของฝ่ายตนได้มากกว่า

ในประเด็นของการศึกษาการเลือกตั้งที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งนี้ เราจึงทำให้เราเห็นได้มากขึ้นว่าการเลือกตั้งนั้นจำต้องศึกษาบริบทแวดล้อมของมันด้วย ว่าที่มาที่ไปของการเลือกตั้งในครั้งนั้นๆ เป็นอย่างไร และต้องเข้าใจมากกว่าเรื่องของเกร็ดทางประวัติศาสตร์ แต่ต้องวิเคราะห์โครงสร้างทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง รวมทั้งโครงสร้างระบอบการเมือง และความชอบธรรมในยุคสมัยนั้นๆ อย่างเป็นระบบด้วย

อีกมิติหนึ่งที่มีความน่าสนใจในเรื่องของการเลือกตั้งที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งก็คือ ยิ่งเลือกตั้งความขัดแย้งก็ไม่ได้ลดลง หรือยิ่งเลือกตั้งก็เต็มไปด้วยความขัดแย้งที่อาจจะเพิ่มมากขึ้น แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าต้องไม่มีการเลือกตั้ง หรือต้องหันไปสู่รัฐบาลแห่งชาติเสมอไป แต่หมายความว่า การเอาใจใส่กับเรื่องของความเป็นไปของการเลือกตั้งที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งและหาทางปรับแก้ หรือสร้างหลักประกันไม่ให้มันเกิดขึ้นต่างหากที่จะทำให้ระบอบการเมืองนั้นมีเสถียรภาพ มีความชอบธรรม และเรื่องดังกล่าวนั้นมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการวิเคราะห์กลยุทธ์การเลือกตั้ง ผลการเลือกตั้ง และนโยบายของแต่ละพรรคในการเลือกตั้ง

ตามตำราว่าด้วยการเลือกตั้งที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งนั้นเขามักจะสังเกตอาการของการเลือกตั้งที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งได้หลายอย่าง ยิ่งเมื่ออาการนั้นแสดงออกในขั้นรุนแรง

หนึ่งคือ การตกต่ำลงของความไว้เนื้อเชื่อใจ และความมั่นใจต่อการเลือกตั้ง ทั้งจากตัวประชาชน และตัวชนชั้นนำ

สองคือ ในการเลือกตั้ง หรือหลังการเลือกตั้งนั้น นำไปสู่การชุมนุมประท้วงโดยสันติ การไม่ร่วมสังฆกรรมด้วยของฝ่ายค้าน การต่อสู้คดีความในศาล

สามคือในกรณีที่รุนแรงที่สุดก็คือ ความขัดแย้งเรื่องการเลือกตั้งนำไปสู่ความรุนแรง (electoral violence) ที่กระทบไปถึงความสงบเรียบร้อยของประชาชน

ส่วนสาเหตุส่วนใหญ่ที่นำไปสู่การเลือกตั้งที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งนั้นก็อาจจะมีตั้งแต่เรื่องของการโกงการเลือกตั้งที่ทำให้คนเริ่มไม่เลื่อมใสต่อการเลือกตั้ง การไม่เชื่อมั่นในการบริหารจัดการเลือกตั้งก็มีส่วนนำไปสู่การประท้วง หรือแม้กระทั่งรู้ว่าผลนั้นไม่เข้าข้างตนก็อาจจะใช้ข้ออ้างสองข้อแรกนี้ก็ได้

ทั้งหมดที่อภิปรายมานี้ที่นำไปสู่ประเด็นสำคัญที่ย้ำมาตลอดก็คือ การเลือกตั้งที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งทำให้เราเห็นถึงมิติของความชอบธรรมของการเลือกตั้ง นำไปสู่มิติของความชอบธรรมของรัฐบาล และปมปัญหาเรื่องความชอบธรรมทางการเมือง เรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องของการตัดสินว่าใครถูกหรือผิดเท่านั้น แต่อาจต้องพิจารณาว่าถ้ามิติหนึ่งของประชาธิปไตยคือเรื่องของการปกครองที่ทุกคนต้องพยายามเห็นพ้องต้องกัน ไม่ใช่แค่เรื่องของเสียงข้างมาก (เพราะเสียงข้างมาก อาจมีอำนาจทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมน้อย และไม่ใช่ชนชั้นนำ) การพยายามเข้าใจที่มาที่ไปของการเลือกตั้งที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งก็มีความสำคัญยิ่ง

ในทางรัฐศาสตร์บางสำนัก เขาจึงไม่ได้อธิบายแค่ว่า ประชาธิปไตยไม่ใช่เพียงการปกครองด้วยเสียงข้างมากจากการเลือกตั้ง (majoritarian) แต่เขาพยายามออกแบบระบบให้มีการผสมข้อดีของระบบการปกครองหลายแบบ (mixed constitution) หรือการสร้างระบบแบ่งปันอำนาจจากหลายส่วน (consensual or consociational) ด้วย เพราะเชื่อว่าระบบผสมเช่นนี้จะทำให้ทุกคนยอมอยู่ในกติกาเดียวกัน (consolidated) มากกว่าที่เมื่อฝ่ายหนึ่งแพ้ก็พร้อมจะล้มกระดานเสมอ ส่วนฝ่ายที่ชนะก็อ้างชัยชนะโดยไม่เคยคำนึงว่าชัยชนะจากการเลือกตั้งไม่ได้เท่ากับชัยชนะทางการเมืองเสมอไป หรือชนะได้แต่ปกครองไม่ได้

การศึกษาการเลือกตั้งที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งทำให้เราไม่ด่วนสรุปง่ายๆ ว่า การเลือกตั้งนั้นเป็นวิถีทางประชาธิปไตยที่ชอบธรรมโดยอัตโนมัติ แต่ต้องทำความเข้าใจว่าความชอบธรรมของการเลือกตั้งไม่ได้เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ แต่มีที่มาที่ไปของมัน และในบางครั้งการไม่เชื่อมั่นในการเลือกตั้งในหลายกรณีก็ไม่ได้หมายความว่า ผู้เลือกตั้งส่วนมากไม่มีความรู้ ถูกชักจูงด้วยเงินเท่านั้น แต่อาจหมายถึงกฎกติกาที่ร่างมาช่วยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง รวมไปถึงต้องการใช้การเลือกตั้งรวมทั้งร่างกติกาขึ้นมาเพื่อสืบทอดอำนาจ หรือแม้กระทั่งตัวกรรมการเลือกตั้งไม่น่าเชื่อถือ (บางครั้งอาจซับซ้อนหนัก เช่น ไม่ยอมทำหน้าที่ ด้วยอ้างว่ายิ่งเลือกตั้งจะขัดแย้งซึ่งก็มีส่วนจริง แต่การไม่ทำหน้าที่ก็นำไปสู่ความขัดแย้ง และไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกับตัวคณะกรรมการเลือกตั้งมากกว่าเดิม และเพิ่มเติมวิกฤต
เข้าไปอีก)

หรือที่หนักไปอีกแบบก็คือ ฝ่ายที่รู้ว่าแพ้แน่ก็ยอมรับผลการเลือกตั้งไม่ได้เช่นกันดังนั้นย่อมต้องไม่ต้องการให้เกิดการเลือกตั้งด้วยข้ออ้างต่างๆ นานา (พูดง่ายๆ ว่า ไม่ใช่ประชาชนไม่พร้อม แต่คนมีอำนาจหรือชนชั้นนำก็ไม่พร้อมเช่นกัน)

การหยุดยั้งการเลือกตั้งด้วยอ้างว่าการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นมีแนวโน้มจะเกิดเป็นการเลือกตั้งที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งก็ไม่ใช่ทางออกไปเสียทุกครั้ง แต่ต้องหมายถึงการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส และหาต้นตอที่สำคัญของเงื่อนไขต่างๆ ให้ได้ด้วย เพราะในหลายกรณีนั้นปัญหาใหญ่อาจจะอยู่ที่ตัวระบอบการเมืองในช่วงนั้นๆ เอง มากกว่าตัวการเลือกตั้ง ดังนั้น ถ้าเราไม่เข้าใจปัญหาในระดับโครงสร้างและการจัดการในระดับสถาบัน (structural and institutional) ของระบอบ เราก็จะโทษแต่การเลือกตั้งและตัวแสดงบางตัวของระบอบเท่านั้นเอง

การเลือกตั้งจึงจะต้องดำเนินต่อไป แต่การตั้งข้อสังเกตและผลักดันให้การเลือกตั้งนั้นมีความสมบูรณ์แบบ (electoral integrity) ก็จะต้องดำเนินต่อไปด้วย และการพยายามทำความเข้าใจกับการเลือกตั้งและปัจจัยโดยรอบโดยเฉพาะธรรมชาติของระบบการเมือง ความขัดแย้งที่มีในระบบการเมืองนั้น และปัญหาความชอบธรรมของระบอบการเมืองนั้นก็เป็นสิ่งที่ทิ้งไม่ได้ครับ

(พิจารณาเพิ่มเติมจาก J.Thomassen. ed. 2014. Elections and Democracy: Representation and Accountability. Oxford: Ozford University Press. และ P.Norris. Etal. 2015. Contentious Election: From Ballots to Barricades. New York: Routledge.)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image