สัญญาที่บันดุง (ตอนจบ) โดย ลลิตา หาญวงษ์

ผู้นำชาติในเอเชียและแอฟริกาในการประชุมที่บันดุง: (จากซ้ายไปขวา) ประธานาธิบดีซูการ์โนและภริยา, รองประธานาธิบดีฮัตตาและภริยา, อู นุ กับภริยา และเนห์รูกับภริยา

เมื่อการประชุมเอเชีย-แอฟริกาเริ่มต้นขึ้นที่เมืองบันดุง ประเทศอินโดนีเซีย ในวันที่ 18 เมษายน 1955 โลกกำลังเข้าสู้ภาวะตึงเครียดอันเนื่องมาจากการแข่งขันกันของมหาอำนาจ 2 ชาติ ได้แก่ สหรัฐอเมริกาฝั่งหนึ่ง และสหภาพโซเวียตอีกฝั่งหนึ่ง บรรดาผู้นำประเทศกำลังพัฒนา หรือ “ประเทศโลกที่สาม” ในเอเชียและแอฟริกา 29 ประเทศเดินทางไปบันดุงเพื่อแสดงจุดยืนว่าทุกประเทศต่อต้านระบอบอาณานิคมอย่างเด็ดขาด (ในช่วงที่กำลังมีความตึงเครียดระหว่างฝรั่งเศสกับบางประเทศในแอฟริกาเหนือ ได้แก่ โมร็อกโก แอลจีเรีย และตูนิเซีย และความพยายามครอบงำกีนีตะวันออก (New Guinea ปัจจุบันคือ Irian Jaya ในอินโดนีเซีย) ส่วนหนึ่งของจิตวิญญาณแห่งบันดุงคือการรักษาความเป็นกลางของประเทศที่เข้าร่วมประชุม และเน้นหนักไปที่การสร้างสันติภาพในโลก

นับตั้งแต่พม่าได้รับเอกราชในปี 1948 รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีอู นุพยายามแสดงออกว่าพม่าคือชาติเป็นกลาง ลอยตัวอยู่เหนือความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียต ในปีเดียวกับการประชุมที่บันดุง อู นุเดินทางไปเยือนสหรัฐอเมริกา และกล่าวกับสมาชิกวุฒิสภาสหรัฐไว้ว่าพม่ามีนโยบายการต่างประเทศแบบเป็นกลาง เพื่อรักษาความสัมพันธ์อันดีกับทุกๆ ชาติ และหลีกเลี่ยงการไปผูกติดกับมหาอำนาจฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง อย่างไรก็ดี ท่าทีที่สหรัฐอเมริกามีต่อความเป็นกลางของพม่านั้นไม่สู้ดีนัก เพราะมองว่าความเป็นกลางเป็นแนวคิดที่ “เอาต์” ไปแล้ว และจะทำให้โลกตกอยู่ในภาวะอันตรายจากการครอบงำของคอมมิวนิสต์ ครั้งหนึ่งสหรัฐก็เคยวางตัวเป็นกลางในสงครามโลก แต่ต่อมาก็ร่วมมือกับโลกเสรีเพื่อต่อสู้กับฝ่ายอักษะจนได้รับชัยชนะ ความเป็นกลางจึงเป็นวิธีคิดที่สหรัฐหวาดระแวงและมองว่าน่ากลัวไม่ต่างกับระบอบคอมมิวนิสต์

ในกลางทศวรรษ 1950 พม่าประสบกับปัญหาภายใต้ประเทศหลายด้าน โดยเฉพาะจากการลุกฮือของคอมมิวนิสต์ที่แตกออกมาจากพรรครัฐบาล AFPFL เดิม แต่พรรคคอมมิวนิสต์พม่าค่อนข้างอ่อนแอ และไม่มีพลวัตเฉกเช่นพรรคคอมมิวนิสต์ในมาลายา (มาเลเซีย) ที่ทำสงครามกับรัฐบาลยาวนานถึง 12 ปี เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะพรรคคอมมิวนิสต์พม่าไม่ได้รับการสนับสนุนที่ดีจากรัฐบาลจีน อู นุกับโจว เอินไหล ผู้นำจีนมีความสัมพันธ์ที่ดี ทั้งในเชิงการทูตระดับชาติ ไปจนถึงความสัมพันธ์ส่วนตัว โจวที่ไม่มีบุตร (มีเพียงบุตรบุญธรรม 2 คน) สนิทสนมกับครอบครัวอู นุถึงขนาดที่เขาเคยรับบุตรสาวคนหนึ่งของอู นุเป็นบุตรบุญธรรม และสองครอบครัวนี้ก็จะติดต่อสัมพันธ์กันมาตลอดจนกระทั่งโจว เอินไหลถึงแก่อสัญกรรมในปี 1976

โจว เอินไหลมีอิทธิพลทางความคิดต่ออู นุอย่างยิ่ง แม้พม่าจะพยายามวางตัวเป็นกลาง และแสดงออกมาว่าตนไม่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจทั้งสอง แต่ก็เป็นประเทศแรกๆ ในโลกที่รับรองสถานะของสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี 1949 แม้โดยส่วนตัว อู นุจะไม่ชื่นชอบระบอบคอมมิวนิสต์และประณามระบอบนี้มาโดยตลอด แต่ท่าทีที่เขามีต่อเหมา เจ๋อ ตุง และผู้นำจีนคนอื่นๆ แตกต่างออกไป และเป็นความนิยมชมชอบส่วนตัว ในสุนทรพจน์ของอู นุเนื่องในวันวีรบุรุษ (19 กรกฎาคม 1954) อู นุประกาศกร้าวว่า “พรรคก๊กมินตั๋งเต็มไปด้วยการทุจริตคอร์รัปชั่นตั้งแต่ระดับบนถึงระดับล่าง แต่สำหรับสาธารณรัฐประชาชนจีนของเหมาแล้ว ปัญหานี้หายไปราวกับหิมะที่ตกเมื่อปีที่แล้ว…ผู้นำชุดใหม่ของจีนเสียสละความสุขส่วนตัวเพื่อสร้างโลกใบใหม่สำหรับประชาชนทั้งประเทศ ในฐานะที่เราเป็นชาวเอเชียเช่นเดียวกัน เราชื่นชมก้าวสำคัญนี้ของจีน”

Advertisement

การสละจากแนวทางวางตัวเป็นกลางนี้เกิดประโยชน์กับพม่ามหาศาล เพราะทางจีนไม่ต้องการเข้าไปสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์พม่า เพราะเกรงว่าจะกระทบความสัมพันธ์ที่ดีของทั้งสองชาติ จริงอยู่ว่าจีนให้การสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์ทั่วโลกทั้งทางการเงินและในเชิงอุดมการณ์ แต่สำหรับพม่า จีนมิได้เข้าไปสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์เพื่อจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์เพื่อต่อสู้กับรัฐบาลพม่าโดยตรง ความสัมพันธ์ที่ดีกับจีนชี้ให้เห็นว่าการประกาศตนเป็นกลางในสงครามเย็นเป็นเพียงเกราะป้องกันตัว เพื่อไม่ให้ชาติมหาอำนาจเข้าแทรกแซงพม่าโดยตรงเท่านั้น ในการประชุมที่บันดุง พม่าเป็นหนึ่งในผู้นำการประชุมที่ชี้ให้เห็นความสำคัญของการสร้างสันติภาพในโลก แต่ด้วยสถานการณ์ในขณะนั้น การรักษาความเป็นกลางแทบจะเป็นไปไม่ได้ เพราะพม่าเป็นเพียงประเทศเล็กๆ มีระดับการต่อรองต่ำเมื่อเทียบกับประเทศขนาดใหญ่ที่ประกาศวางตนเป็นกลาง อย่างอินเดียและยูโกสลาเวีย

นอกจากนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างพม่ากับหลายๆ ชาติยังขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างอู นุกับผู้นำประเทศนั้นๆ มากกว่าการยึดตรึงหลักการความเป็นอยู่อย่างแน่นหนัก เมื่อเกิดวิกฤตการณ์สุเอซขึ้นในปลายปี 1956 เมื่ออิสราเอล อังกฤษ และฝรั่งเศสบุกอียิปต์เพื่อยึดครองสุเอซคืนมาจากประธานาธิบดีกามาล อับเดล นัซเซอร์ อู นุมีความสัมพันธ์ส่วนตัวที่ดีเยี่ยมกับทั้งนัซเซอร์ ผู้นำอียิปต์ และเบน-ซวี ผู้นำอิสราเอล แต่เมื่อต้องเลือกข้าง พม่ายืนอยู่ข้างหลักการสันติภาพ และร่วมประณามการบุกอียิปต์ของอิสราเอล เรียกร้องให้ทั้งอิสราเอล อังกฤษ และฝรั่งเศสถอนทหารออกจากอียิปต์โดยเร็ว ในปีเดียวกันนั้น เกิดการปฏิวัติขึ้นในฮังการี เป็นการลุกฮือของประชาชนต่อต้านสาธารณรัฐประชาชนฮังการีและการครอบงำของโซเวียต แต่การปฏิวัติก็ถูกปราบปรามอย่างรุนแรงเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตหลายพันคน ในกรณีนี้ พม่าประกาศประณามการกระทำของโซเวียตทั้งการแทรกแซงฮังการีและการปราบปรามชาวฮังการีอย่างรุนแรง และยังเสนอว่าจะนำกำลังทหาร (ที่ในเวลานั้นมีอยู่ไม่มากและกำลังง่วนอยู่กับการปราบปรามผู้ก่อความไม่สงบ) ไปช่วยกองกำลังของสหประชาชาติหากฝ่ายหลังร้องขอ

วิกฤตการณ์ในฮังการีและจุดยืนต่อต้านความรุนแรงของพม่าทำให้พม่ากลายเป็นหนึ่งในผู้นำขบวนการสันติภาพในเอเชีย และได้รับคำชมจากนานาประเทศ แม้คำว่า “ความเป็นกลาง” จะเป็นศัพท์แสงทางการทูตที่ปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัยและสถานการณ์ในโลกที่เปลี่ยนไป แต่สำหรับผู้นำพม่า การมีตำแหน่งแห่งที่ในชุมชนโลก และเป็นที่ยอมรับของนานาอารยประเทศในฐานะประเทศอิสระที่เป็นตัวของตัวเอง เป็นปณิธานสำคัญของผู้นำพม่าในยุคนั้น ดังที่เราเห็นจากบทบาทของพม่าในการประชุมที่บันดุง และท่าทีต่อวิกฤตการณ์โลก ต่างจากประเทศเกิดใหม่อีกจำนวนหนึ่งที่เลือกเข้าข้างชาติมหาอำนาจ อย่างไรก็ดี ความเป็นกลางของพม่ามีข้อจำกัด และบ่อยครั้งที่ทำให้พม่าตกอยู่ในที่นั่งลำบาก ประเทศที่เสียหายอย่างหนักจากสงครามโลก และเพิ่งได้รับเอกราชไม่นานต้องการเงินมหาศาลเพื่อพัฒนาประเทศอย่างพม่าต้องการเงินช่วยเหลือจากชาติตะวันตกอยู่มาก ในช่วงแรก พม่าเลือกรับเงินช่วยเหลือ และความช่วยเหลือทางเทคนิคจากสหรัฐและอังกฤษ

แต่ด้วยความที่ผู้นำในรัฐบาล และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนในกองทัพที่หวาดระแวงชาติตะวันตกเป็นทุนเดิม ทำให้พม่าเริ่มปลีกตัวเองออกมาจากชาติมหาอำนาจ และจะปิดประเทศในยุคเน วินตั้งแต่ทศวรรษ 1960 เป็นต้นมา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image