คุณภาพคือความอยู่รอด ตอน การฝึกอบรมที่มีคุณภาพ : โดย วิฑูรย์ สิมะโชคดี

“ระบบการศึกษาของไทย” มักจะเป็น “แพะรับบาป” ของทุกเรื่องที่เป็นปัญหาในสังคม จนผู้คนส่วนใหญ่เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องมีการปฏิรูปครั้งใหญ่ในระดับโครงสร้าง

ยิ่งปัจจุบัน ที่เราต่างพบเห็นการเกิดภาวะวิกฤตจากจำนวน นักเรียนและนักศึกษา ที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ของสถาบันอุดมศึกษาและมหาวิทยาลัยหลายแห่ง ระบบการศึกษาของไทยก็ยิ่งจะต้องปรับตัวและมุ่งสู่เรื่องของ “คุณภาพ” ให้มากขึ้น ทั้งคุณภาพของผู้จบการศึกษา และคุณภาพของการเรียนการสอน

เพราะปัญหาที่เราพบเห็นและได้ยินเป็นประจำก็คือ การที่ผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรมจำนวนไม่น้อย ต่างพบว่า เมื่อรับนักศึกษาที่จบใหม่เข้าทำงานแล้ว ส่วนใหญ่จะทำงานไม่ได้ตามมาตรฐาน (ทำงานไม่ได้ตามคุณวุฒิที่ระบุในใบปริญญาบัตร) ซึ่งต้องแก้ปัญหาด้วยการจัดฝึกอบรมเพิ่มเติม ทำให้เสียทั้งเงินและเวลา

ทุกวันนี้ องค์กรหลายแห่งถึงกับต้องสร้างสถาบันการศึกษาและสร้างหลักสูตรขึ้นเอง เพื่อการทำงานในองค์กรของตนเอง และยังร่วมกับองค์กรใหญ่ๆ ในการพัฒนาผู้ที่จบหลักสูตรดังกล่าวให้ทำงานได้จริง

Advertisement

ดังกรณีของ ปตท. และ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ที่จัดตั้ง “สถาบันการศึกษา” ของตนเอง โดยมีแนวความคิดที่จะสร้างสถานศึกษาที่เรียนทั้งวิชาการและฝึกงานภาคปฏิบัติไปพร้อมกัน เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ ความสามารถเฉพาะที่เหมาะกับงานที่จะทำต่อไปในองค์กร โดยเน้นเรื่อง “จบแล้วทำงานได้เลย” ในขณะที่หลายหลักสูตรจะเป็นการสอนเพื่อให้ผู้เรียนมีความพร้อมและความสามารถที่จะเป็นเจ้าของธุรกิจส่วนตัวได้

ความเป็นจริงในวันนี้ ก็คือ องค์กรส่วนใหญ่ต้องการ “หลักสูตรที่มีคุณภาพ” ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการขององค์กรยุคใหม่ โดยความรู้และเทคโนโลยีที่นำมาสอนนั้น จะต้องได้รับการพัฒนาให้เหมาะสมและมีความทันสมัยเท่าทันปัจจุบันตลอดเวลาด้วย

แต่องค์กรส่วนใหญ่ก็ยังต้องอาศัย “การฝึกอบรม” เป็นหลัก เพื่อให้พนักงานจบใหม่และพนักงานที่มีอยู่สามารถทำงานในหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและเครื่องมือ อุปกรณ์ ต่างๆ ที่ต้องใช้ในการทำงาน

ความจำเป็นต้องทำการ “ฝึกอบรม” มากน้อยเพียงใด จึงอยู่ที่ความสามารถของพนักงานในการทำงานได้ตามมาตรฐานและบรรลุเป้าหมายหรือไม่ หากเห็นว่าพนักงานทำได้ดีอยู่แล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นต้องฝึกอบรม นอกจากเราต้องการเพิ่มระดับฝีมือแรงงานให้มากขึ้นและเพื่อการเตรียมพร้อมสำหรับงานในอนาคต

แต่เรื่องที่สำคัญคงไม่ใช่เรื่องของทักษะที่ต้องใช้เพื่อทำงานที่หน้างานเพียงอย่างเดียว เรายังจำเป็นต้องฝึกอบรมในเรื่องของแนวความคิดและทัศนคติ รวมตลอดถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้สอดคล้องกับ “ค่านิยม” และ “วัฒนธรรม” ขององค์กรอย่างมีประสิทธิภาพด้วย เพื่อความสำเร็จขององค์กรแบบองค์รวม ครับผม !

วิฑูรย์ สิมะโชคดี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image