มติชนวิเคราะห์ : ทษช.สะดุด พปชร.คึกคัก จับตา เกมเลือกตั้ง

กว่าจะถึงวันเลือกตั้ง 24 มีนาคม การเมืองที่กำลังเคลื่อนคืบหน้าก็บังเกิดเหตุการณ์แทรกขึ้นมา

วันที่ 8 กุมภาพันธ์ ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช หัวหน้าพรรคไทยรักษาชาติ หรือ ทษช. นำแกนนำและสมาชิกเข้าสมัคร ส.ส.ที่ กกต.

ครั้งนั้น ร.ท.ปรีชาพล และคณะได้เสนอพระนามทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เป็นผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อบุคคลสมควรเป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคไทยรักษาชาติ

ณ เวลานั้นแวดวงการเมืองเกิดอาการสั่น การแสดงความคิดเห็นและอารมณ์บนสังคมออนไลน์ปะทุขึ้น

Advertisement

กระทั่งเวลาดึกของวันที่ 8 กุมภาพันธ์ มีพระราชโองการเกี่ยวกับทูลกระหม่อมหญิง

ข้อความในพระราชโองการตอนหนึ่งระบุว่า “การนำสมาชิกชั้นสูงในพระบรมราชวงศ์มาเกี่ยวข้องกับระบบการเมือง ไม่ว่าจะโดยทางใดก็ตาม จึงเป็นการกระทำที่ขัดต่อโบราณราชประเพณี ขนบธรรมเนียม และวัฒนธรรมของชาติ ถือเป็นการกระทำที่มิบังควรไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง”

และข้อความต่อมาที่ระบุว่า “อนึ่ง บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญทุกฉบับรวมทั้งฉบับปัจจุบัน มีหมวดว่าด้วยพระมหากษัตริย์เป็นการเฉพาะ ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่รองรับสถานะพิเศษของสถาบันพระมหากษัตริย์ ตามประเพณี การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่เหนือการเมือง และทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิด กล่าวหา หรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดใดมิได้

Advertisement

ซึ่งบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญดังกล่าวย่อมครอบคลุมถึงพระราชินี พระรัชทายาท และพระบรมวงศานุวงศ์ซึ่งมีความใกล้ชิดกับพระมหากษัตริย์ ดังที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ปฏิบัติพระราชกรณียกิจร่วมกับพระองค์หรือแทนพระองค์อยู่เป็นนิจ

ดังนั้น พระราชินี พระรัชทายาท และพระบรมราชวงศ์ทุกพระองค์ จึงอยู่ในหลักการเกี่ยวกับการดำรงอยู่เหนือการเมือง และความเป็นกลางทางการเมืองพระมหากษัตริย์ด้วย และไม่สามารถดำรงตำแหน่งใดๆ ในทางการเมืองได้ เพราะจะเป็นการขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

พระราชโองการนี้มีความหมายยิ่ง

ภายหลังจากมีพระราชโองการออกมา พรรคไทยรักษาชาติได้เงียบหายไปพักใหญ่ กระทั่งในเวลาต่อมา ร.ท.ปรีชาพล และแกนนำได้ปรากฏตัว

ขณะเดียวกัน นายศรีสุวรรณ จรรยา ได้ยื่นเรื่องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อยุบพรรคไทยรักษาชาติ

คณะกรรมการการเลือกตั้งได้ประชุมกันและมีมติให้ยื่นร้องให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติในเวลาต่อมาอีกไม่นาน

ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยกล่าวหาว่าพรรคไทยรักษาชาติกระทำผิดมาตรา 92 ข้อ 2 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง

ข้อหาดังกล่าวกล่าวหาว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ส่วนพรรคไทยรักษาชาติทำหนังสือขอชี้แจง โดยอ้างมาตรา 93 พ.ร.ป.ฉบับเดียวกันที่ว่า นายทะเบียนพรรคการเมืองต้องรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพื่อเสนอความเห็นต่อ กกต.พิจารณา

พรรคไทยรักษาชาติขอโอกาสในการชี้แจง

อย่างไรก็ตาม ในวันต่อมา กกต.ได้มีมติและนำคำร้องเข้ายื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยยืนยันข้อกล่าวหาพรรคไทยรักษาชาติเหมือนเดิม

ข้อหาดังกล่าวมีความผิดถึงขั้นยุบพรรค

ขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญเมื่อรับคำร้องแล้วได้นัดประชุมในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ และมีมติเอกฉันท์รับคำร้อง และเปิดโอกาสให้พรรคไทยรักษาชาติชี้แจงภายใน 7 วัน

พร้อมกันนั้นได้นัดวันพิจารณาครั้งหน้า

วันที่ 27 กุมภาพันธ์ ก่อนวันที่ 24 มีนาคม ซึ่งเป็นวันเลือกตั้ง

ผลที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้พรรคการเมืองที่อยู่คนละฟากฝั่งพรรคไทยรักษาชาติคึกคักขึ้นมา

ทั้งนี้เพราะการเมืองไทยถูกแบ่งออกเป็น 2 ขั้วตั้งแต่แรก คือ ขั้วสนับสนุน คสช. กับขั้วที่ไม่สนับสนุน

พรรคไทยรักษาชาติเป็นพรรคที่อยู่ในขั้วที่ไม่สนับสนุน คสช. และยังถูกมองว่าเป็นพรรคที่อยู่ในฟากฝั่งของพรรคเพื่อไทย เป็นพรรคที่ “แตกออกมา” เพื่อ “รวมกันตี”

รวมคะแนนเสียงเพื่อเอาชนะขั้วที่สนับสนุน คสช.

ดังนั้น เมื่อพรรคไทยรักษาชาติต้องเผชิญหน้ากับคดียุบพรรค ย่อมส่งผลสะเทือนถึงพรรคเพื่อไทยและเครือข่ายที่ไม่เอา คสช.

นอกจากนี้ ระยะเวลาการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญในกรณีดังกล่าวก็เป็นเรื่องที่น่าจับตามองทางการเมือง

หากศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องพิจารณา และตัดสินหลังการเลือกตั้งและรับรองผลการเลือกตั้งไปแล้ว

ผู้สมัคร ส.ส.ของพรรค ทษช. ที่ได้รับการเลือกตั้งเข้าสู่สภา จะสามารถโยกไปสังกัดพรรคใหม่ได้ แม้ว่าพรรคไทยรักษาชาติจะถูกยุบ

กรณีเช่นนี้ผลกระทบที่มีต่อขั้วไม่เอา คสช. มีไม่มาก เพราะบุคคลที่ได้รับผลกระทบมีเฉพาะกรรมการบริหารและตัวพรรค

ส่วน ส.ส.ของพรรคที่ได้รับการเลือกตั้่งสามารถหาที่อยู่ใหม่ได้

แต่ถ้าศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาและตัดสินก่อนการเลือกตั้ง ผลที่ตามมาย่อมมีมากกว่านั้น

ถ้าศาลตัดสินไม่ยุบพรรค ทุกอย่างก็เป็นเหมือนเดิม แต่ถ้าตัดสินยุบพรรค เท่ากับว่าพรรคไทยรักษาชาติหายไปจากสมการการเมือง

คะแนนของพรรคไทยรักษาชาติจะไปตกอยู่กับใคร

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าการเมืองที่กำลังเป็นอยู่จะพลิกผันไปกี่ตลบ แต่อารมณ์ของประชาชนคนไทยตอนนี้คือต้องการเลือกตั้ง

ดูเหมือนว่าคนไทยจะเริ่มรู้สึกว่าหลังจากการเลือกตั้งผ่านพ้นไป สังคมไทยจะมีคำตอบที่ชัดเจน

รู้ว่าใครแพ้ รู้ว่าใครชนะ

ความจริงแล้วประชาชนก็คาดคะเนกันว่า ผลการเลือกตั้งจะออกมาเช่นไร โดยดูจากคู่ต่อสู้ที่ยังเป็นขั้วอำนาจเดิมๆ ที่ปะทะกันมาตั้งแต่การเลือกตั้่งปี 2550 ปี 2554 หรือแม้แต่ปี 2557 ที่ไม่สามารถเลือกตั้งได้

แต่ประชาชนก็อยากจะให้การเลือกตั้งในปี 2562 นี้เกิดขึ้น

หวังว่าเมื่อผลการเลือกตั้งออกมา ขั้วอำนาจที่ขัดแย้ง จะยอมรับ

และนำการเมืองไทยไปสู่ความสันติสุขเหมือนกับที่ได้หาเสียงกันอยู่ขณะนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image