ที่เห็นและเป็นไป : จนกว่าจะ‘เหลือทน’ : โดย สุชาติ ศรีสุวรรณ

การเมืองที่ถูกออกแบบให้ “กลุ่มอำนาจเดิม” ได้เปรียบที่จะจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้ง ถึงวันนี้ยิ่งโล่งสบายเข้าไปอีก ทางการเดินเกมที่ถลำลึกไปในทางจะถูกเขี่ยพ้นเวทีการเมืองของแนวร่วมพรรคคู่แข่ง

การช่วงชิงชัยชนะ เพื่อหาหนทางเปลี่ยนแปลงกลุ่มผู้กุมอำนาจที่มีทีท่าจะสร้างกระแสให้ผู้คนรู้สึกว่าลุ้นได้ก่อนหน้านั้น ถึงวันนี้ “ดูจะจบแล้ว”

“ทนต่อไปเหมือนที่ทนมาแล้ว 5 ปี” คืออารมณ์ที่ต่างคนต่างเตรียมทำใจกันว่าจะต้องอยู่กันสภาพนั้น

การบริหารบ้านเมืองที่ใช้อำนาจอย่างเข้มข้น เรื่องราว 2 มาตรฐานในชะตากรรมของเพื่อนร่วมชาติ นำสู่ชัยชัยชนะที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาดของฝ่ายหนึ่ง และเมื่ออีกฝ่ายพ่ายแพ้แบบหมดรูป ไม่เหลือศักยภาพที่จะลุกขึ้นมาสู้อะไรได้อีก จะเป็นการเมืองที่มีเสถียรภาพ การเมืองจะยิ่งสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนเข้ามา

Advertisement

เศรษฐกิจนโยบายไปในทางเชื่อมั่นว่า “ทุนใหญ่จะนำพาการเจริญเติบโตได้ดีกว่า” แนวความคิด “รวยกระจุก จนกระจาย” หรือ “ความเหลื่อมล้ำ” จะดูน่าอึดอัดในระยะแรก แต่จะทำให้มหาเศรษฐีทั้งหลายสร้างงานขึ้นมา และที่สุดงานที่สร้างขึ้นมาจะกระจายรายได้ไปสู่ระดับล่างเอง

ในทางสังคม การสร้างสำนึกให้ผู้คนรับรู้ถึงการอยู่ร่วมกันอย่างสุขสงบ คือฝึกให้แต่ละคนรับผิดชอบตัวเอง จะอยู่ร่วมกันให้ดีได้ ต้องปรับตัวเข้าหากันเอง

และความมั่นคงของประเทศอยู่ที่สร้างความมั่นคงของรัฐบาล และกลไกของรัฐ อันหมายถึงระบบราชการขึ้นมาให้ได้

Advertisement

ประเทศถูกทำให้อยู่รอดด้วยวิธีนี้มาแล้ว 5 ปี พร้อมกับการเขียนกฎหมายเพื่อให้ประเทศเดินไปในวิถีทางนี้อย่างมั่นคงต่อไปตาม “ยุทธศาสตร์ 20 ปี”

ก่อนหน้านั้น มีคนไม่เห็นด้วยกับ “วิถีทางการพัฒนาประเทศเช่นนี้”

มีคนกลุ่มหนึ่งเห็นว่า “เสถียรภาพทางการเมือง” ไม่ควรจะสร้างขึ้นด้วยการที่ทำให้ฝ่ายหนึ่งพ่ายแพ้อย่างราบคาบ แล้วให้อีกฝ่ายหนึ่งขึ้นมากุมอำนาจแบบเบ็ดเสร็จ เพราะการสานต่อโครงสร้างที่จะพัฒนาอำนาจไปทางนั้น จะก่อให้เกิดการผูกขาดอำนาจ ซึ่งจะตามมาด้วยการใช้อำนาจอย่างไร้คุณธรรม และไล่ล้างทำลายการตรวจสอบ จะเป็นความเสียหายในระยะยาว ก่อให้เกิดวัฒนธรรมสอพลอ หวังพึ่งพาการอุปถัมภ์ มากกว่าคิดพัฒนาเพื่อพึ่งพาตัวเอง อันเป็น “ศักดิ์ศรีที่ยั่งยืนกว่าของพลเมือง”

ขณะที่ “เศรษฐกิจ” ที่หวัง “ทุนใหญ่สร้างงาน เพื่อกระจายรายได้ให้กระจายสู่ระดับล่างนั้น” จะก่อระบบเศรษฐกิจผูกขาด ปิดกั้นโอกาสของผู้ที่ด้อยกว่า และเมื่อทุนนิยมมีแต่จะก่อสำนึกไม่รู้จักพอให้เกิดขึ้น การเอาเปรียบทางเศรษฐกิจของผู้ที่แข็งแรงกว่า ที่จะกระทำต่อผู้อ่อนแอกว่าจะมีวิธีการที่เลวร้าย กดข่มให้ยินยอมผูกขาดมากขึ้น การกระจายรายได้อย่างมากก็แค่พอให้มีกินวันๆ ทุนใหญ่ที่มีอิทธิพลกำหนดนโยบายรัฐย่อมนำพาไปในทางเพื่อประโยชน์ไม่รู้จบรู้สิ้นของตัวเอง

เช่นเดียวกันสังคมที่ไร้การเหลียวแลให้เกิดความเท่าเทียม มีความเป็นไปได้สูงที่จะก่อระบบพึ่งพิงแบบ “เจ้าพ่อ” กลับมา คนจำพวกหนึ่งที่สามารถเชื่อมโยงและต่อรองกับอำนาจรัฐได้ จะเป็นที่พึ่งของคนทั่วไป โดยเป็นตัวกลางเรียกร้องค่าตอบแทนจากการต่อรองกับอำนาจรัฐนั้น

ก่อนหน้านี้ ความหวังในประชาธิปไตยที่เห็นหากให้ประชาชนมีสิทธิมีเสียงที่เท่าเทียมกันจะก่อให้เกิดการสร้างสังคมที่เป็นไปเพื่อคนส่วนใหญ่ ไม่เสี่ยงต่อระบบที่อำนวยประโยชน์ให้คนบางกลุ่มบางพวกมากกว่า เหมือนระบบ “อำนาจเบ็ดเสร็จ”

ก่อนหน้านั้นยังพอมีความหวัง

แต่ถึงวันนี้ ดูเหมือนว่าความหวังนั้นริบหรี่ลงแบบจะสิ้นแสงเสียแล้ว

โครงสร้างอำนาจรัฐที่ปรับจากการควบคุมด้วยอาวุธ และกองกำลังมาเป็นด้วย “กฎหมาย” ที่เขียนขึ้นมาเอื้ออำนาจให้คนกลุ่มหนึ่งเต็มที่

ดูจะไม่เปลี่ยนแปลงเป็นอื่นแล้ว

แม้จะมีเสียงแห่งความไม่ยินยอมตะโกนให้ได้ยิน ให้ฮึกขึ้นมาได้บ้าง

แต่คล้ายว่านักการเมืองประเภทที่ “อะไรก็ได้” ขอให้ “ได้มามีส่วนร่วมในอำนาจ เพื่อผลประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้อง”

ร่วมกับใครก็ได้ ขอให้ได้ร่วมรัฐบาลนั้น

มีเยอะเกินไป และถูกปล่อยให้ประสบความสำเร็จในชีวิตการเมืองมาตลอด

สุชาติ ศรีสุวรรณ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image