การจ้างงานและอุตสาหกรรมขาลง โดย ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ ,ภคพร วัฒนดำรงค์, สมบัติ เหสกุล

1.ว่ากันว่า เทคโนโลยีในยุคนี้เปลี่ยนแปลงเร็วมาก ส่งผลต่อเศรษฐกิจทั้งทางบวกและลบ สอดคล้องกับข้อสังเกตที่ว่า “การสร้างสรรค์มีผลทำลาย” (destructive creation คำศัพท์ของท่านโจเซฟ ชุมปีเตอร์) ในโอกาสนี้ขอนำผลงานวิจัยมาเล่าสู่กันฟัง คำถามหลักของเราคือ อุตสาหกรรมประเภทใดของไทยเราที่มีลักษณะ “ขาลง” และส่งผลกระทบต่อการจ้างงานและการกระจายรายได้อย่างไร

2.ก่อนอื่นขอขยายความว่า แหล่งข้อมูลที่ใช้มาจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม คือข้อมูลจดทะเบียนโรงงาน เป็นข้อมูลขนาดใหญ่ เนื่องจากทุกโรงงานมีหน้าที่แจ้งจดทะเบียนกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม ข้อมูลนี้สามารถระบุได้ว่าในแต่ละจังหวัดมีโรงงานอุตสาหกรรมกี่แห่ง? ประเภทอะไร? ขนาดเงินทุนและการจ้างแรงงานมากน้อยเพียงใด ตามสถิติในปี 2560 มีจำนวนโรงงาน 139,446 แห่ง กระจายอยู่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ เรานำมาจัดประเภทอุตสาหกรรมออกเป็น 19 หมวด แสดงข้อมูล 3 มิติ มิติแรกระบุว่าโรงงานกระจายอยูในจังหวัดอะไร มิติที่สอง ประเภทอุตสาหกรรม มิติที่สาม สะท้อนเวลาและความเปลี่ยนแปลง นับเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์และคุณค่าต่อการวิจัย ช่วยตอบคำถามได้หลายประเด็น ตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมประเภท x กระจาย (หรือกระจุกตัว) ในจังหวัดใด? ขนาดทุนอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นหรือลดลง? มีการจ้างงานกี่คน?

Advertisement

ผลการศึกษาในเบื้องต้นสรุปเป็นประเด็นๆ ดังนี้ ประเด็นแรก ทุนภาคอุตสาหกรรมของไทยเรามีอัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ย 7% ต่อปีในช่วงปี พ.ศ.2555-2560 ขนาดเงินทุนอุตสาหกรรมรวมกันเท่ากับ 7.4 ล้านล้านบาท จากสถิติในปี 2560 ซึ่งมีจำนวนโรงงาน 139,446 แห่ง แปลว่า โดยเฉลี่ยแต่ละโรงงานใช้เงินทุน 53 ล้านบาทต่อโรง ประเด็นที่สอง โรงงานอุตสาหกรรมมีการจ้างงานรวมกันทั้งสิ้น 4 ล้านคน รูปภาพที่ 1 แสดงจำนวนการจ้างงานตามประเภทอุตสาหกรรม ซึ่งสรุปได้ว่าอุตสาหกรรมอาหารมีการจ้างงานสูงสุด รองลงมา อุตสาหกรรมสิ่งทอ และอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ไฟฟ้า

อีกมิติหนึ่งคณะวิจัยให้ความสำคัญคือ การจ้างงานกระจุกตัวหรือกระจายตัวตามจังหวัดอย่างไร รูปภาพที่ 2 ระบุจำนวนการจ้างงานภาคอุตสาหกรรมว่าอยู่ในจังหวัดใด (นับเฉพาะจังหวัดที่มีการจ้างงานเกินกว่า 1 หมื่นคน) ข้อสังเกตก็คือ 4 จังหวัดที่มีการจ้างงานอุตสาหกรรมสูงสุดได้แก่ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ สมุทรสาคร พระนครศรีอยุธยา และชลบุรี

3.ดังเกริ่นนำในตอนต้นว่าเราให้ความสำคัญต่อประเด็น “อุตสาหกรรมขาลง” และการจ้างงาน จากฐานข้อมูลนี้ระบุว่ามี 4 สาขาอุตสาหกรรมที่จำนวนโรงงานลดลงและการจ้างงานลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอ การจ้างงานลดลง 1.4 แสนคน ผลิตภัณฑ์ไม้แรงงาน และพลาสติก การจ้างงานหายไป 2 หมื่นกว่าคน และผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าแรงงานลดลง 1 หมื่นกว่าคน สรุปรวมคือการจ้างงานลดลง 2 แสนคน ใน 4 ประเภทอุตสาหกรรม

Advertisement

4.งานวิจัยของเรายังอยู่ในขั้นดำเนินการ ยังมีเป้าหมายสืบค้นต่อว่า โรงงานสิ่งทอหรือผลิตภัณฑ์ไม้ที่จำนวนโรงงานลดลงและการจ้างงานหายไป ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจังหวัดนั้นๆ อย่างไร? โดยจะใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ ลงพื้นที่สอบถามผู้ประกอบการหรือผู้เชี่ยวชาญในแต่ละพื้นที่ เราอยากรู้ผลกระทบต่อธุรกิจหอพัก ร้านอาหาร สถานบริการ ฯลฯ

เพื่อสรุปว่าเศรษฐกิจจังหวัดที่เป็นพื้นที่อุตสาหกรรมขาลงปลี่ยนแปลงอย่างไร? การจัดเก็บภาษีในจังหวัดนี้ถูกกระทบอย่างไร? ซึ่งจะนำมาเล่าสู่กันฟังในโอกาสต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image