ที่เห็นและเป็นไป : สมอง‘250ส.ว.’

โครงสร้างอำนาจรัฐ ในกติกาใหม่ของประเทศที่ถูกออกแบบมาด้วยเจตนาให้คนกลุ่มหนึ่งมีโอกาสในการกำหนด และเข้าครอบครองอำนาจมากกว่าคนส่วนใหญ่

และองค์กรหรือสถาบันถูกวางไว้ให้เจตนาดังกล่าวสัมฤทธิผลคือ “วุฒิสภา”

“วุฒิสภา” ที่สมาชิกทั้งหมด “250 คน” ล้วนมีที่มา ซึ่งไม่มีอะไรยึดโยงกับการใช้สิทธิของประชาชน เป็นหัวใจของ “รัฐธรรมนูญ” ในความหมายที่ระบุว่า “ดีไซน์มาเพื่อพวกเรา”

ทว่าถึงวันนี้ สิทธิและอำนาจของ “250 ส.ว.” ที่มากล้น ถูกดีไซน์ให้เป็น “จุดแข็ง” ที่อำนวยความได้เปรียบ ความเหนือกว่า ส่งเสริมกลไก “อภิสิทธิ์ชน” ให้แก่ผู้มีอำนาจ กลายเป็น “จุดศูนย์กลางของการโจมตีอย่างหนักหน่วง” โดยพรรคการเมือง โดยเฉพาะฝ่ายตรงกันข้ามกับ “พวกเราตามที่ดีไซน์กันไว้”

Advertisement

เพราะทุกคนทุกฝ่ายต่างมีความหวังว่า “การเลือกตั้ง” อันเป็นเงื่อนไขที่จะสร้างการรับรู้ว่า “ประเทศไทยถอยจากเผด็จการกลับเข้าสู่ประชาธิปไตยแล้ว”

จึงมีความพยายามกันอย่างเต็มที่ ที่จะให้ “รัฐบาลหลังเลือกตั้ง” เป็นที่ยอมรับว่ามาจากกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตย และความพยายามดังกล่าวทำให้เกิดการเรียกร้องสำนึกจาก “250 ส.ว.” อย่างเคร่งเครียด

มีความเชื่อของ “พรรคการเมืองฝ่ายต่อต้านการสืบทอดอำนาจ” ว่า “250 ส.ว.” จะทำหน้าที่สนองอำนาจของผู้ที่ให้การแต่งตั้งพวกตัวมา

Advertisement

และทำให้ “250 ส.ว.” ถูกโจมตีอย่างหนัก ในทางว่าเป็นต้นเหตุให้การตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้งจะหาความชอบธรรมตามอุดมการณ์ประชาธิปไตยที่เชิดชูเสียงประชาชนเป็นใหญ่ไม่ได้

การโจมตีนี้นับวันจะรุนแรงมากขึ้น

และที่สำคัญคือ การเมืองที่เข้าสู้วาระดีเบต และประเด็นนี้เป็น “คำถามใหญ่ที่จำเป็น” เพราะผู้รักความเป็นธรรมให้ความสนใจกันมาก แต่การอธิบายของ “ฝ่ายที่เชื่อกันว่าจะได้รับประโยชน์จาก 250 ส.ว.” กลับให้ความรู้สึกว่าฝืดๆ และข้างๆ คูๆ อย่างชวนให้ต้องสั่นหัวเมื่อได้ฟัง

ด้วยที่สุดแล้ว เป็นได้แค่คำอ้างในกรอบเดียวกันอย่างที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พยายามชี้ให้เห็น ด้วยการตั้งคำถามว่า “พวกคุณจะดูถูกทั้ง 250 คนนี้หรือ เขาไม่มีสมองหรือ เขาไม่รักประเทศหรือ ทุกคนต่างก็รักประเทศ อย่าหวงความรักประเทศชาติ รักประชาธิปไตยอยู่แต่เพียงพรรคการเมือง นักการเมือง ผมขอแค่นี้”

อันเป็นคำตอบที่เป็นแค่ความคิด ไม่มีอะไรเป็นหลักประกันว่า “250 ส.ว.จะมีสมองรักประชาธิปไตย” ต่างไปจาก “สภาแต่งตั้ง” ที่เห็นและเป็นไปตลอดมาของการเมืองไทย

การเลือกตั้งที่ต้องเดินหน้าหาเสียง และผู้มีอำนาจยังทรงอิทธิพลสูงยิ่งในฐานะผู้ครองอำนาจเต็ม สภาพ  “250 ส.ว.” ยังทำให้ทุลักทุเลในศรัทธาประชาชนถึงเพียงนี้

จากที่วางไว้ให้เป็น “จุดแข็ง” สำหรับการใช้อำนาจ แต่เริ่มต้นกลับกลายเป็น “จุดอ่อน” ที่ถูกหยิบมาโจมตี ชนิดที่สร้างความเสียหายยับเยินต่อ “ความเชื่อมั่นในการเลือกตั้งที่เป็นธรรม”

เมื่อประเทศชาติต้องพัฒนาไปด้วย “การเมืองที่นิ่งพอ”

แต่การเมืองที่นิ่งนั้น จะมาจากการยอมรับของประชาชนส่วนใหญ่ว่า “จากการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลที่ชอบธรรม”

บทบาทของ “250 ส.ว.” จึงมีความหมายอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ

การทำให้ “250 ส.ว.” มี “สมอง” ที่พัฒนาไปมากกว่ามนุษย์ที่เอาแต่ตัดสินใจตามคำสั่งของผู้ที่เอื้อประโยชน์กับตัวเอง

“สมอง” ที่จินตนาการไปถึง “ความชอบธรรมตามหลักการของประชาธิปไตยสากล” และ “กล้าที่จะตัดสินใจ” ตามจินตนาการนั้นได้ จึงมีความสำคัญยิ่ง เพราะเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้ “จุดอ่อน” พลิกกลับไปเป็น “จุดแข็ง” ได้อีกครั้ง

เพียงแต่ความหวังเช่นนั้น

ไม่ว่าจะคิดวนไปเวียนมาสักเท่าไร ยิ่งคิดก็ยิ่งรู้สึกว่าเป็น “สมองที่ไม่น่าจะมีอยู่ หรือเกิดขึ้นได้ในความเป็นจริง”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image