รัฐบาลเสียงข้างน้อย : กรณีศึกษารัฐบาลคึกฤทธิ์ : โดย ผศ.ดร.สมหมาย จันทร์เรือง

รัฐบาลเสียงข้างน้อย คือ รัฐบาลที่มาจากพรรคการเมืองเดียวที่ไม่มีเสียงข้างมากเด็ดขาด หรือไม่มีเสียงเกินครึ่งในสภาผู้แทนราษฎร ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการผ่านกฎหมายสำคัญ เฉพาะอย่างยิ่งร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ยังผลให้รัฐบาลเสียงข้างน้อยไม่สามารถบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปตามนโยบายที่ให้สัญญาไว้กับประชาชน เพราะฝ่ายค้านมีเสียงในสภาผู้แทนราษฎรมากกว่า เช่นเดียวกับรัฐบาลของประธานาธิบดีโอบามาหลังจากรัฐบาลแพ้การเลือกตั้งสูญเสียเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรทำให้ประสบความยากลำบากในการบริหารประเทศสหรัฐอเมริกามาระยะหนึ่ง

รัฐบาลเสียงข้างน้อยในการเมืองไทย

การเมืองไทยเคยมีรัฐบาลเสียงข้างน้อยที่เป็นปัญหาการบริหารประเทศหลายสมัย ได้แก่ การเมืองไทยช่วงปี 2512-2518 กล่าวคือ

รัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร มีการจัดเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2512 ซึ่งมีพรรคใหญ่ 2 พรรค ได้แก่ พรรคสหประชาไทยที่มีจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นหัวหน้าพรรค กับพรรคประชาธิปัตย์ที่มี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นหัวหน้าพรรค การเลือกตั้งครั้งนั้นแบ่งเขตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 219 คน โดยพรรคสหประชาไทยได้ 74 คน พรรคประชาธิปัตย์ได้ 55 คน พรรคอื่นๆ รวมกับสมัครอิสระ 90 คน พรรคสหประชาไทยต้องรวมกับพรรคอื่นเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย และให้พรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้าน แต่บริหารประเทศได้เพียง 2 ปีกว่า

Advertisement

เหตุการณ์ต่อมาเกิดขึ้นเมื่อจอมพลถนอม กิตติขจร ทำรัฐประหารรัฐบาลตัวเอง และยกเลิกรัฐธรรมนูญ เกิดปัญหาต่อต้านรุนแรงในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เมื่อความขัดแย้งคลี่คลายลง มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517 จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งเป็นการต่อสู้กันระหว่างพรรคประชาธิปัตย์ ที่นำโดย ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช (หม่อมพี่) กับพรรคกิจสังคมที่นำโดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช (หม่อมน้อง) การเลือกตั้งครั้งนี้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 269 คน พรรคประชาธิปัตย์ได้ 72 คน รวมกับพรรคอื่นๆ ได้เสียงสนับสนุน 103 คน จัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย เพราะคะแนนเสียงไม่ถึงครึ่งของสภาผู้แทนราษฎร (ไม่ถึง 135 คน) เมื่อแถลงนโยบายของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ได้รับเสียงสนับสนุน 111 คน ไม่สนับสนุน 152 คน ทำให้ไม่ได้รับความไว้วางใจให้บริหารประเทศ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช และคณะรัฐมนตรี จึงต้องลาออก และสละสิทธิการจัดตั้งรัฐบาล

กรณีศึกษารัฐบาลคึกฤทธิ์

รัฐบาลคึกฤทธิ์ คือ รัฐบาลที่มี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม 2518 และพ้นจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2519 การเป็นรัฐบาลครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อรัฐบาลผสมของพรรคประชาธิปัตย์ได้รับเสียงสนับสนุนในการแถลงนโยบายไม่ถึงครึ่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรดังได้กล่าวมาแล้ว สมาชิกพรรคการเมืองส่วนมากเห็นว่า ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์เพียงพอที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปได้ แม้จะมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพียง 18 คน

Advertisement

การเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยจึงต้องอาศัยภูมิหลังที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยดำรงตำแหน่งสำคัญในทางการเมืองมาอย่างยาวนาน ประกอบกับมีความกล้าหาญ มีความเป็นผู้นำ และรอบรู้ศาสตร์ต่างๆ หลายแขนง ประการสำคัญคือ รู้จักการประสานประโยชน์อย่างเหมาะสม ทำให้ได้รับการสนับสนุนจากพรรคการเมืองต่างๆ ให้เป็นนายกรัฐมนตรีด้วยเสียงสนับสนุน 141 คน จากสมาชิกทั้งหมด 269 คน ถือว่าเกินครึ่งแล้ว

อย่างไรก็ตาม การที่พรรคกิจสังคมที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพียง 18 คน เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล คงหนีไม่พ้นการเป็นรัฐบาลผสมที่ต้องประนีประนอมกับพรรคร่วมรัฐบาลหลายพรรค (อย่างน้อย 8 พรรค) เมื่อบริหารประเทศมาระยะหนึ่งจึงเกิดปัญหาเกี่ยวกับผลประโยชน์ภายในและปัญหาการเมืองจากภายนอก จึงประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2519 ได้จัดการเลือกตั้งใหม่ แต่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช แพ้การเลือกตั้ง จึงไม่ได้เข้ามามีบทบาททางการเมืองโดยตรง ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีกต่อไป

ประวัติศาสตร์การเมืองและกรณีศึกษานี้ แสดงให้เห็นว่าการเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยที่ต้องเป็นรัฐบาลผสมเพื่อให้ได้เสียงสนับสนุนเกินครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรนั้น ต้องผจญกับวิบากกรรมทางการเมืองมากมายหลายด้าน ซึ่งต้องอาศัยความอดทน อดกลั้น และการประสานประโยชน์อย่างเหมาะสม จึงจะสามารถประคับประคองคณะรัฐบาลให้ยืนยงต่อไปได้

ความส่งท้าย

รัฐบาล ไม่ว่าจะมาจากพรรคเดียวที่มีเสียงข้างน้อย หรือมีเสียงข้างมากจนถูกเรียกว่าเผด็จการทางรัฐสภาก็ตาม การจัดตั้งรัฐบาลและการบริหารประเทศต้องอยู่บนพื้นฐานสำคัญ คือ ผลงานที่สอดคล้องกับความต้องการส่วนใหญ่ของประชาชน ความซื่อสัตย์สุจริต โปร่งใส ปราศจากทุจริตคอร์รัปชั่น การยึดหลักประชาธิปไตย ไม่ต่อต้านคัดค้านรัฐบาลนอกรูปแบบ

และเปิดโอกาสให้รัฐบาลได้บริหารประเทศตามวาระ โดยให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินผลงานในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

ผศ.ดร.สมหมาย จันทร์เรือง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image