เดินหน้าชน : เลิกตีรวน : โดย สราวุฒิ สิงห์เอี่ยม

เอามาย้ำกันอีกที กับคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด เกี่ยวกับการประมูลแหล่งปิโตรเลียมเมื่อไม่นานมานี้

เป็นคดีที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ฟ้องคณะกรรมการปิโตรเลียม คณะรัฐมนตรี (ครม.) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนประกาศคณะกรรมการปิโตรเลียม เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดพื้นที่ที่จะสำรวจหรือผลิตปิโตรเลียมในรูปแบบของสัมปทานสัญญาแบ่งปันผลผลิต หรือสัญญาจ้างบริการ และกฎกระทรวงกำหนดแบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต

โดยเห็นว่า เป็นการกำหนดเงื่อนไขที่จงใจให้ไม่สามารถนำระบบสัญญาจ้างบริการมาใช้ได้ ซึ่งขัดต่อกฎหมาย และเอื้อประโยชน์แก่ผู้รับสัมปทานเดิม

ทางศาลปกครองสูงสุด เห็นว่าการสำรวจหรือผลิตปิโตรเลียม โดยสัญญาแบ่งปันผลผลิต หรือสัญญาจ้างบริการนั้น การได้ผลประโยชน์และภาระหน้าที่ของรัฐจะแตกต่างกัน ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต สามารถจูงใจผู้ประกอบการได้มากกว่าสัญญาจ้างบริการ และ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 ให้อำนาจคณะกรรมการปิโตรเลียม โดยความเห็นชอบของ ครม.มีอำนาจประกาศกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการว่าที่ใดสมควรดำเนินการสำรวจหรือผลิตปิโตรเลียมในรูปแบบใด

Advertisement

การกำหนดวิธีการสำรวจจากปริมาณการสำรวจพบปิโตรเลียมและโอกาสพบปิโตรเลียมจึงสามารถดำเนินการได้ตามที่กฎหมายให้อำนาจ และการดำเนินการเพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างสมดุลและยั่งยืนตามรัฐธรรมนูญและ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ย่อมหมายความรวมถึงกระบวนการบริหารจัดการเพื่อให้สามารถนำทรัพยากรปิโตรเลียมมาใช้ประโยชน์ได้ด้วย

การกำหนดวิธีการจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็นปัจจัยที่จะทำให้ผู้ประกอบการทั้งในประเทศและต่างประเทศตัดสินใจเข้าสู่กระบวนการคัดเลือก การที่คณะกรรมการปิโตรเลียมใช้ดุลพินิจกำหนดให้การสำรวจหรือผลิตปิโตรเลียมที่สามารถดำเนินการในรูปแบบสัญญาจ้างบริการเฉพาะในพื้นที่ที่มีการสำรวจพบเป็นปริมาณที่มากกว่าที่มีการค้นพบแล้วในประเทศไทย จึงมีเหตุผลสนับสนุน ไม่อาจรับฟังได้ว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงพิพากษายกฟ้อง

ย้อนไปก่อนและหลังมีการประมูลขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม กลุ่มเอ็นจีโอพยายามทุกวิถีทาง ทั้งแถลงข่าวโจมตี ปลุกระดมมวลชนผ่านสื่อโซเชียล ยื่นเรื่องให้องค์กรอิสระตรวจสอบ รวมถึงฟ้องร้องต่อศาล เพื่อหวังจะล้มการประมูลครั้งนี้

ไม่ใช่เรื่องแปลกที่กลุ่มเอ็นจีโอ จะช่วยกันตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานต่างๆ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ต่อส่วนร่วมอย่างแท้จริง มิใช่มีประโยชน์อื่นใดแอบแฝง ซ่อนเร้น

แต่การเคลื่อนไหวเพื่อหวังล้มประมูลแหล่งปิโตรเลียมครั้งนี้ เป็นแผนขั้นต้นที่จะนำไปสู่การผลักดันจัดตั้งบริษัทพลังงานแห่งชาติ (เอ็นโอซี) เพื่อที่จะให้ตัวแทนของกลุ่มเข้าไปนั่งบริหารใน “เอ็นโอซี” เป็นเป้าหมายที่ตั้งไว้

มิใช่กล่าวหากัน เพราะมีแกนนำกลุ่มบางคนออกมายอมรับเองว่าต้องการตำแหน่งใน “เอ็นโอซี” จริงๆ

ทั้งที่หากล้มประมูลสำเร็จ จะทำให้ประเทศชาติเสียหายอย่างมาก เพราะ 70% ของก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ในประเทศไทย และเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าของประเทศ มาจากแหล่ง “เอราวัณ” และ “บงกช”

นอกจากนี้ ผู้ที่ชนะประมูลเสนอราคาคงที่ของก๊าซธรรมชาติที่ 116 บาทต่อล้านบีทียู ทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าถูกลง ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าลดลงไปด้วยประมาณ 15-20 สตางค์ต่อหน่วย จากปัจจุบันค่าไฟอยู่ที่ 3.6 บาทต่อหน่วย เหลือเพียง 3.4 บาทต่อหน่วย

คาดว่าเร็วๆ นี้ จะมีการลงนามระหว่างกระทรวงพลังงานกับผู้ที่ชนะการประมูลทั้ง 2 แปลง เพื่อการันตีความมั่นคงด้านพลังงาน อันเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศ

ดังนั้น เมื่อศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาออกมาแล้ว ก็ควรเคารพและยอมรับ…เลิกตีรวนได้แล้ว

สราวุฒิ สิงห์เอี่ยม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image