อาศรมมิวสิก ใช้ดนตรีพัฒนาเด็กอนาถศึกษาให้เป็นหุ้นส่วนในชีวิตเด็ก โดย สุกรี เจริญสุข

คุณพิภพ ธงไชย พี่ผู้ที่มีความเป็นเพื่อน เคารพนับถือกันมายาวนาน เคยเป็นผู้คอยทักท้วงเรื่องการสอนดนตรี และได้ให้คำชี้แนะในการทำกิจกรรมดนตรีเพื่อสังคม กิจกรรมดนตรีและการทำกิจกรรมดนตรีสำหรับเด็กได้ชักจูงให้มีโอกาสได้พบกันบ่อยขึ้น

วันหนึ่ง (พ.ศ.2550) นานมาแล้ว คุณพิภพ ธงไชย ได้ชักชวนให้ไปสอนดนตรีให้กับมูลนิธิเด็กบ้าง เพราะเป็นเด็กด้อยโอกาส เด็กไม่มีพ่อไม่มีแม่ เด็กที่ถูกทอดทิ้ง งานสอนดนตรีให้กับครอบครัวที่มีเงินมาตลอดนั้น ก็ควรเปิดโอกาสให้กับเด็กที่ตกอยู่ในสภาพอนาถทางความอบอุ่น ถือว่าเป็น “อนาถศึกษา” ก็แล้วกัน เพราะการสอนดนตรีเด็กที่ไม่มีพ่อแม่ เด็กด้อยโอกาส เด็กอนาถที่ไม่มีอะไรในชีวิต ซึ่งเด็กเหล่านี้นอกจากจะมีความจนแล้ว ยังมีแต่ความว่างเปล่าด้วย

ซึ่งก็ใช้เวลาในการคิดทบทวนในใจอยู่นาน เพราะชีวิตเดิมนั้น มีความคุ้นเคยกับการเล่นดนตรีแบบ “เสียงดังตังค์ไม่มา” เป็นชีวิตปรกติ ครั้นจะต้องมีเรื่องที่ช่วยเหลือโดยการให้เปล่า ก็ทำได้ยาก เพราะทำเองคนเดียวไม่ได้ ต้องไปหาคนอื่นๆ คนสมัยใหม่มาช่วย แต่นักร้องนักดนตรีหรือครูดนตรีสมัยใหม่ มีแอกครอบมาทั้งชีวิตว่า “เมื่อเสียงดังตังค์ต้องมา” จึงคิดไม่ออกว่า เมื่อทำกิจกรรมดนตรีแล้วไม่มีอะไรจ่ายให้กับคนทำนั้น จะต้องทำอย่างไร คิดทำงานสาธารณะนั้น คิดได้ง่าย แต่จัดการลำบาก เพราะทุกชีวิตก็มีภาระแบบ “ปากกัดตีนถีบมือคลำ หาเช้ากินเช้า หาค่ำกินค่ำ” ทั้งนั้น เมื่อไม่ได้เงินก็ไม่มีกิน ศิลปินเหล่านี้ยังไม่สามารถที่จะสะสมทรัพย์สินอะไรเพื่อวันพรุ่งนี้ได้

เมื่อหมดภาระจากงานราชการ ไปทำงานที่มูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข และเริ่มมีเวลามากขึ้น ก็ได้เอาปัญหาที่ติดอยู่ในใจมาคุยกับคนในมูลนิธิ ก็พอมีทางออกเพื่อไปทำงานทดลองเพื่อสอนดนตรีเด็กที่ด้อยโอกาส ให้กับเด็กในมูลนิธิเด็ก หาครูดนตรีที่เก่งเป็นอาสาสมัคร หาพ่อแม่อาสามาช่วยเด็ก ทำให้โครงการที่ตั้งใจเกิดขึ้นได้

Advertisement

ทุกวันพุธ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2561 ถึงมีนาคม 2562 เวลา 09.30-11.30 น. เป็นเวลา 4 เดือน คณะครูดนตรีเด็กเล็ก จากมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข ไปสอนเด็กที่ไม่มีพ่อไม่มีแม่ ที่มูลนิธิเด็ก อยู่ที่ซอยกระทุ่มล้ม 18 พุทธมณฑลสาย 4 เด็กอายุ 0-3 ขวบ จำนวน 36 คน ได้เรียนดนตรีกับครูดนตรีและพี่เลี้ยงผู้ช่วยรวม 9 คน มีพ่อแม่อาสา 12 คน ประจำเด็กทุกคน เด็กถูกแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มละ 12 คน ได้เรียนดนตรีกลุ่มละ 40 นาที ทั้งนี้ ครูอาสาและพ่อแม่ที่อาสา ได้มีโอกาสสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวเองและได้สร้างคุณค่าทางจิตใจให้อบอุ่น เพื่อเติมเต็มให้กับชีวิตด้วย

ครูดนตรีสำหรับเด็กเล็ก ได้สอนให้เด็กเรียนรู้เรื่องการตรงต่อเวลา สอนเรื่องความมีระเบียบ ได้รู้จักการรอคอย ระเบียบก็คือพื้นฐานของความเจริญ ดนตรีสอนให้เด็กได้เรียนรู้เรื่องความประณีตและรู้สึกถึงความละเอียดอ่อน สอนให้เด็กมีความรอบคอบ สอนเรื่องภาษา (อังกฤษ) ผ่านเพลง สอนคุณภาพชีวิตให้กับเด็ก สอนบุคลิกภาพให้กับเด็ก สิ่งที่สำคัญก็คือ ดนตรีสอนให้เด็กช่วยเหลือผู้อื่น รู้จักเสียสละ รู้จักการปรับตัวอยู่กับผู้อื่นและสังคมโดยรวม

กิจกรรมสอนดนตรี เริ่มจากครูร้องเพลงให้เด็กฟัง เด็กฟังเพลงแล้วก็ทำกิจกรรมดนตรี มีส่วนร่วมในการเรียน ครูร้องเพลงนิทานให้เด็กฟัง ทำท่าทางตามนิทาน การฟังเพลงและทำตามท่าทางของครู การร้องเพลงตาม การเต้นตามเพลง เป็นกิจกรรมหลักของห้องเรียน ครูดนตรีจำเป็นต้องร้องเพลงได้ด้วยตัวเองและเล่นดนตรี (สด) ดีด สี ตีจังหวะได้ การเล่นเปียโนประกอบการเรียนการสอนได้ เป็นคุณสมบัติที่จำเป็น

Advertisement

พ่อแม่อาสานั้น นอกจากให้ความอบอุ่นกับเด็กแล้ว จะต้องดูแลเด็กระหว่างเรียนด้วย ความจริงแล้ว พ่อแม่มีบทบาทสำคัญสำหรับการเรียนของเด็กอย่างมาก การสร้างบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็กให้เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาเด็ก จะทำให้เด็กได้พัฒนาอย่างมีเป้าหมายได้เร็วขึ้น

การเรียนดนตรีของเด็ก ไม่ได้มุ่งหวังจะให้เด็กเป็นนักดนตรีอาชีพ แต่เป็นการสร้างเด็กโดยใช้ดนตรีพัฒนาให้เป็นคนเต็มคน ตั้งแต่พัฒนาร่างกาย สมอง อารมณ์ สังคม และพัฒนาจิตใจเด็กให้เด็กสมบูรณ์ขึ้น นอกจากนี้ ดนตรียังจะช่วยให้เด็กมีดนตรีในหัวใจ

เด็กสามารถใช้ดนตรีเป็นเพื่อนในยามเหงาได้ ใช้ดนตรีเพื่อแก้ความรำคาญได้ และดนตรียังสามารถขจัดความเจ็บปวดในระหว่างวันได้

เสียงดนตรีมีอำนาจที่จะสร้างพลังภายในให้กับเด็กได้พัฒนาอย่างมีนัยยะ พลังของเสียงดนตรีก็จะเข้าไปในตัวเด็ก ทำให้เด็กมีหัวใจที่พองโต ทำให้สมองเด็กได้คิดสร้างสรรค์และจินตนาการได้ ทำให้เด็กเป็นตัวของตัวเอง ทำให้เด็กมีความกล้าหาญและกล้าที่จะตัดสินใจ ทำให้เด็กช่วยตัวเองได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะสร้างอบอุ่นให้กับเด็กโดยไม่รู้ตัว

แต่ก่อน ดนตรีเป็นวิชาข้างถนนเต้นกินรำกิน ในช่วง 30 ปีหลัง ดนตรีกลายเป็นวิชาของสังคมชั้นสูง ดนตรีต้องปีนบันไดฟัง ค่าเล่าเรียนดนตรีมีราคาแพง เครื่องดนตรีเป็นอุปกรณ์ที่หรูและแพง ดังนั้น ดนตรีได้เปลี่ยนจากวิชาของคนจน กลายไปเป็นวิชาของคนรวยอย่างไม่มีข้อสงสัยใดๆ ซึ่งจะพบว่า การเรียนดนตรี (สากล) เป็นค่าเล่าเรียนที่แพงมาก เพราะคิดเป็นชั่วโมง มีราคาตั้งแต่ 400-4,000 บาท

เมื่อดนตรีได้กลายเป็นวิชาที่มีราคาแพง โอกาสของเด็กที่ยากจนจึงไม่สามารถที่จะเรียนดนตรีได้ อย่าลืมว่า ดนตรีนั้นเป็นวิชาที่อยู่นอกห้องเรียนมาตลอด เพราะวิชาดนตรีในห้องเรียนในโรงเรียนนั้น ไม่ได้มีความจำเป็นและไม่มีความสำคัญ ในโรงเรียนไทยทั้งระบบ ไม่ให้ความสำคัญกับวิชาดนตรีแต่อย่างใด

ดนตรีที่มีบทบาทในปัจจุบันนั้น เพราะว่าในโรงเรียนนานาชาติ โรงเรียนในเครือคริสตจักร โรงเรียนเอกชน ใช้วิชาดนตรีเป็นจุดขาย เมื่อลูกเศรษฐีได้เรียนดนตรีเป็นหุ้นส่วนของชีวิต ดนตรีจึงกลายเป็นวิชาที่มีราคาแพง ประกอบกับในสภาพปัจจุบัน “ศิลปินเพลง” ดาราเกาหลี ดาราญี่ปุ่น ดาราฝรั่ง และดาราไทย ได้มีค่าตัวสูงขึ้นมาก การประกวดร้องเพลงในรายการโทรทัศน์ ทำให้นักร้องนักดนตรีได้กลายเป็นดารา

เด็กไทยสมัยใหม่คลั่งดารา ทำให้เรียนรู้ดนตรี กระทั่งกลายเป็นหุ้นส่วนของชีวิตวัยรุ่นไทย

โครงการ “อนาถศึกษา” เป็นโครงการทดลองให้เด็กด้อยโอกาสได้เรียนดนตรีจากครูที่ดี นอกจากโครงการจะช่วยสอนตัวครูเองให้รู้จักการให้ ได้เรียนรู้เรื่องการเสียสละ การให้ผู้อื่นโดยเฉพาะผู้ที่ด้อยโอกาส การให้เป็นการเอาออกจากตัวไป เป็นการสลัดออกไป เพราะเชื่อว่าอนาถศึกษาสามารถให้สำนึกทั้งผู้ที่ให้และได้ให้กับเด็กที่ไม่มี

โครงการศึกษาเรื่องอนาถ ซึ่งมีเรื่องอนาถในชีวิตให้เห็นตำตาทุกวัน จนความอนาถกลายเป็นเรื่องธรรมดาที่สามารถพบเห็นและมีอยู่ในชีวิตประจำวันของคนไทย จนไม่รู้สึกอะไรน่าอนาถอีกต่อไป เพราะว่าแม้ชีวิตของตัวเอง ก็ยังรู้สึกอนาถที่น่าศึกษาอยู่เหมือนกัน

ผู้ใหญ่ใจบุญ พ่อแม่อาสา อยากจะช่วยเด็กด้อยโอกาส เด็กที่ไม่มีพ่อแม่ เด็กที่อยู่ในโครงการอนาถศึกษา สามารถที่จะติดต่อมูลนิธิเด็กได้ด้วยตัวเอง แสดงเจตจำนงที่จะช่วยเหลือเด็กตามกำลังศรัทธา

อย่างน้อยที่สุด การให้การศึกษาที่ติดตัวไปกับเด็ก จะทำให้เด็กมีสมบัติที่ยิ่งใหญ่ในชีวิต เด็กสามารถใช้สมบัติที่เป็นความรู้ สมบัติที่เป็นความสามารถ เพื่อสร้างตัวเองและช่วยเหลือผู้อื่นในอนาคตต่อไป เพราะการให้เป็นมงคลและสร้างบารมีต่อผู้ให้ โดยที่ได้ช่วยเหลือเด็กน้อยด้อยโอกาสในสังคมที่เป็นผู้ได้รับ

สุกรี เจริญสุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image