ถ้อยคำ พัฒนา จาก ‘ประชานิยม’ สู่ ‘ประชารัฐ’

การเดินทางไปยังพื้นที่ภาคกลางโดยมีจุดเริ่มต้นที่จังหวัดนครสวรรค์ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะ เมื่อวันที่ 22 มกราคม

มีความสำคัญ

ความสำคัญมิได้อยู่ที่ภายในคณะนั้นนอกจากจะมี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ในฐานะแห่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ยังมี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ ในฐานะแห่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และยังมี พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ ในฐานะแห่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

อันถือได้ว่าเป็นรัฐมนตรีใน “สายทหาร” มีความใกล้ชิด “สนิทสนม”

Advertisement

หากที่ไม่ควรมองข้ามบทบาทและความหมายอย่างเด็ดขาด ยังเป็น นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี

เป้าหมายจึงมิได้อยู่ที่ “นครสวรรค์” หากยังอยู่ที่ “ชัยนาท”

เหมือนกับด้านหลักมุ่งดูงานเกี่ยวกับ “ภัยแล้ง” ขณะเดียวกัน ก็ทำความเข้าใจกับ “ชาวบ้าน”

Advertisement

กระนั้น ความสำคัญอย่างยิ่งยวดยังอยู่ที่การแสดง “บทบาท” ในลักษณะ “เปิดตัว” อย่างเต็มเปี่ยมโดย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ในเชิง “ความคิด”

ขอให้พิจารณาจาก “ถ้อยคำ” แต่ละ “ประโยค” ต่อจากนี้

นายกฯ อยากให้ชาวบ้านพูดกันเองผ่าน “กองทุนหมู่บ้าน” ซึ่งถือเป็นเครื่องมือของทุกรัฐบาล ไม่ใช่ของพรรคใด

ผมมีส่วนร่วมก่อตั้ง “กองทุนหมู่บ้าน”

ไม่ต้องการให้พรรคใดมาเคลมว่าเป็นของพรรคเหล่านั้น

สิ่งเหล่านี้นายกฯกำชับแล้วกำชับอีก แต่ข่าวที่ออกไปมันน้อย

การเมืองวันนี้มันไม่ปกติ ทะเลาะกันเป็น 10 ปีแล้ว ทะเลาะจนลาวจะข้ามหัวไป พวกเราไม่ต้องห่วงจะเลือกพรรคอะไรเลือกตามใจชอบ

เมื่อมีการเลือกตั้ง

แต่ระหว่างที่ยังไม่มีการเลือกตั้งนายกฯ บอกแล้วว่าจะทำให้พวกท่านยืนขึ้นมาให้ได้ อย่าไปหลงเชื่อกับคำปลุกปั้น คนไทยต้องสามัคคี

เพลงที่นายกฯแต่ง ร้องได้หรือไม่

1 มือ 1 ลมหายใจ มันไม่พอ มันทุกคนต้องร่วมมือต่อลมหายใจกัน เมื่อนั้นเมืองไทยจะเจริญ

ฉะนั้น ถ้าได้ยินคำว่า “ประชารัฐ” ขอให้สนับสนุนและขอให้นึกถึงนายกฯ ที่พยายามปลุกปั้นโครงการนี้ขึ้นมา

อย่าหลงเชื่อกับคำยุยง คำปลุกปั้น ไม่มีสิ่งใดดี

ชัดอย่างยิ่ง 1 โครงการ “กองทุนหมู่บ้าน” มิได้เป็นของพรรคการเมืองใด พรรคการเมืองหนึ่ง หากเป็นของทุกรัฐบาล

ยืนยัน 1 การมี “ส่วนร่วม” ในลักษณะเป็น “ผู้ก่อตั้ง”

ขณะเดียวกัน ก็ยืนยันอย่างหนักแน่นและมั่นคงด้วยว่า “ถ้าได้ยินคำว่า ‘ประชารัฐ’ ขอให้สนับสนุนและขอให้นึกถึงนายกฯที่พยายามปลุกปั้นโครงการนี้”

บทบาทของ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ แทบไม่มีการเปลี่ยนแปลง

เพียงแต่เมื่อภายหลังการเลือกตั้งเดือนมกราคม 2544 นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ยืนอยู่ “หลัง” เงาร่าง ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

และ ณ ปัจจุบัน เขายืนอยู่ “หลัง” เงาร่างของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

เป็นบทบาทในลักษณาการเดียวกันกับบทบาทของ นายวิษณุ เครืองาม เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเป็นรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

และบัดนี้เป็นรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา บุคคลทั้ง 2 ก็เหมือนกัน นั่นก็คือ บทบาทของทั้ง 2 ดำรงอยู่และดำเนินไปเหมือนกับ “กองทุนหมู่บ้าน” บนพื้นฐานที่เป็น “เครื่องมือ”

เมื่อเป็น “เครื่องมือ” เสียแล้วก็ต้องเป็นเครื่องมือสำหรับ “ทุกรัฐบาล”

นั่นก็คือ ยังสามารถยืน “หลังตรง” ประดุจ “ปลายทวน” ไม่มีสั่นคลอน ไม่มีแปรเปลี่ยน

บทบาทและความหมายจาก “ถ้อยคำ” ของ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ณ จังหวัดนครสวรรค์ จึงแจ่มชัด

แจ่มชัดในการสืบทอด “ประชานิยม” กระทั่งพัฒนามาเป็น “ประชารัฐ” พัฒนาจากในยุคของรัฐบาลโดยการเลือกตั้งมายังรัฐบาลโดยการรัฐประหาร

ยังยืน “หลังตรง” ประดุจ “ปลายทวน” อย่างเป็นนิรันดร์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image