พม่ากับปักกิ่ง : ความสัมพันธ์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ (2) โดย ลลิตา หาญวงษ์

อู มยิ้น เตง (แถวหน้า คนที่สองจากซ้าย) ตัวแทนจากพม่า ในที่ประชุมสหประชาชาติ ปี 1953 ที่พม่านำเรื่องการรุกรานของกองทัพก๊กมินตั๋งเข้าสู่การพิจารณา ในรูปนี้ยังเห็นตัวแทนจากพม่าอีกคนหนึ่ง ได้แก่ เจมส์ แบริงตัน (James Barrington, แถวบน คนที่สองจากขวา) นักการทูตคนสำคัญที่ต่อมาจะเป็นเอกอัครราชทูตพม่าประจำสหรัฐอเมริกา

ในปี 1948 อังกฤษมอบเอกราชให้พม่า แต่พม่ากลับมีช่วง “ฮันนีมูน” กับเอกราชที่ปรารถนาเพียงช่วงสั้นๆ สงครามกลางเมือง หรือการสู้รบระหว่างรัฐบาลพม่ากับชนกลุ่มน้อยปะทุขึ้นแทบทันทีหลังพม่าได้รับเอกราช ไม่นับรวมสงครามกับพรรคคอมมิวนิสต์พม่าที่สร้างพะอืดพะอมให้คนในรัฐบาลพม่าอยู่มิใช่น้อย แต่หากจะกล่าวถึงเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนความสัมพันธ์ในวงกว้างระหว่างพม่ากับจีน รวมทั้งผลกระทบที่มีต่อไทยและลาวด้วยนั้น ก็คงต้องพูดถึงปัญหาด้านเขตแดนและความมั่นคงของพม่า ดังที่เคยกล่าวไปในสัปดาห์ก่อนๆ ว่าพม่าเป็นประเทศที่มีปฏิกิริยาต่อประเด็นด้านความมั่นคงไว และออกจะ “เซ็นซิทีฟ” กับการที่ชาวต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นชาวตะวันตก อินเดีย จีน หรือแม้แต่ไทย เข้าไปใช้พื้นที่แสวงหาผลประโยชน์ในประเทศของตน ความมั่นคงและอำนาจอธิปไตยจึงเป็นปัจจัยที่กำหนดนโยบายการต่างประเทศของพม่าตลอดมาจวบจนปัจจุบัน

ในระหว่างปี 1953-1956 ประเด็นที่กลายเป็นข้อพิพาทใหญ่ระหว่างพม่ากับจีนมาจากกรณีที่กองทัพปลดปล่อยประชาชน (People’s Liberation Army หรือ PLA) ของจีนเข้าไปตั้งกองกำลังในพื้นที่ที่จีนและพม่ากำลังมีข้อพิพาทกันอยู่ คือพื้นที่ของว้า (Wa State) ในปี 1941 คณะกรรมการร่วมปักปันเขตแดนระหว่างอังกฤษกับจีน จัดทำแผนที่เขตแดนระหว่างสองประเทศขึ้น แต่แผนที่ฉบับนั้นไม่เป็นที่พอใจของฝั่งจีน เรื่องราวยืดเยื้อ เมื่อเกิดสงครามกลางเมืองในจีนก็ไม่มีการนำแผนที่ฉบับนี้กลับมาพูดถึงอีก จนเมื่อสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนไปพักใหญ่ เพิ่งจะมีการนำรายงานการปักปันเขตแดนฉบับนี้มาปัดฝุ่นในปี 1960 การนำกองทัพปลดปล่อยประชาชนไปประจำไว้ในพื้นที่พิพาทอาจเป็นท่าทีของจีนที่ต้องการกดดันพม่าให้เร่งแก้ไขอีกหนึ่งปัญหา คือการทะลักเข้ามาของกองทัพจีนคณะชาติ (ก๊กมินตั๋ง) ในพม่าตอนเหนือ ตลอดจนพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำส่วนอื่นๆ ทั้งในภาคเหนือของไทยและลาว

ในการแก้ปัญหากองทัพจีนคณะชาติที่เข้าไปประจำในพม่า พม่าพยายามแก้ปัญหาอย่างเงียบเชียบที่สุด เพราะไม่ต้องการให้ประเด็นนี้มีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างจีนและพม่า และยังไม่เชื่อในกลไกสร้างสันติภาพของสหประชาชาติ ก่อนหน้านี้ คณะทำงานของพม่า ภายใต้การนำของผู้พิพากษา อู มยิ้น เตง (U Myint Thein) เดินทางไปสหประชาชาติเพื่อเรียกร้องให้สหประชาชาติช่วยพม่าขับไล่กองทัพก๊กมินตั๋งออกไป ในเวลานั้น กองทัพก๊กมินตั๋งที่ประจำอยู่ในพม่าอยู่ภายใต้การนำของนายพลหลี่ หมี (Li Mi) มีจำนวนมากถึง 10,000 นาย และได้รับความช่วยเหลืออย่างลับๆ จากสหรัฐอเมริกา อาจเป็นด้วยเหตุนี้ที่ทำให้พม่าไม่ประสบความสำเร็จในการล็อบบี้ให้สหประชาชาติช่วยพม่าขับไล่กองทัพก๊กมินตั๋งออกไป ทำให้พม่าไม่เชื่อมั่นในศักยภาพด้านการรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ และสรุปว่ารัฐบาลพม่าจะต้องแก้ปัญหาภายในประเทศของตนเองทั้งหมด แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่สร้างปัญหาเพิ่ม และพยายามผูกมิตรกับประเทศมหาอำนาจอย่างจีนไว้ให้มั่น

คนในรัฐบาลและกองทัพพม่าเกรงว่าหากนำประเด็นเรื่องการบุกรุกของก๊กมินตั๋งเข้าไปหารือในระดับองค์การสหประชาชาติอีก ก็จะเป็นการชี้เชิญให้มหาอำนาจอื่นๆ เข้ามารุ่มร่ามในกิจการภายในของพม่า ที่อาจใช้พม่าเป็นสมรภูมิรบเหมือนกับที่เคยเกิดกับเกาหลีมาก่อน ที่แน่ๆ พม่าไม่ต้องการชนกับจีน กองทัพพม่าจึงส่งกองพลขึ้นไปสำรวจพื้นที่รอยต่อระหว่างอินเดีย พม่า จีน และลาว อย่างลับๆ เพื่อประเมินเบื้องต้นว่ากองกำลังปลดปล่อยประชาชนของจีนมีจำนวนเท่าใดกันแน่ จากการประเมินเบื้องต้นของกองทัพพม่า กองทัพปลดปล่อยประชาชนยึดพื้นที่ในเขตว้า ทางตะวันออกของรัฐฉานไว้ได้ถึง 1,000 ตารางไมล์ กองทัพจีนกับพม่าเริ่มปะทะกันรุนแรงขึ้นตั้งแต่ปี 1955 ทำให้รัฐบาลพม่าต้องส่งตัวแทนไปจีนในปลายปี 1955 เพื่อหารือเรื่องข้อพิพาททางดินแดน แต่ไม่เป็นผล ในปีต่อๆ มา กองทัพปลดปล่อยประชาชนที่มีจำนวนราว 1,500 นาย รุกคืบเข้าไปในเขตว้าแดง ประเมินกันว่าเขตอิทธิพลของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนน่าจะกินพื้นที่มาในเขตพม่ากว่า 60 ไมล์จากชายแดนจีน และมีสิ่งปลูกสร้างถาวร ตลอดจนมีเสาโทรศัพท์ที่ต่อตรงมาจากคุนหมิง ยังไม่นับทหารจากกองทัพปลดปล่อยประชาชนที่จีนส่งไปประจำในรัฐกะฉิ่นทางตอนเหนืออีกกว่า 3,000 นาย และยังมีอีกหลายพื้นที่ที่กองทัพฝ่ายสาธารณรัฐประชาชนจีนแทรกซึมเข้าไปในพม่า

Advertisement

ขนาดของกองทัพจีนในพม่าที่เริ่มใหญ่ขึ้นสร้างความกังวลใจให้รัฐบาลพม่า ความอัดอั้นนี้ทำให้พม่าต้องประกาศให้โลกรู้ว่าตนกำลังเผชิญอยู่กับการรุกรานจากจีนทั้ง 2 ฝั่ง ทั้งจากกองทัพปลดปล่อยประชาชน (ที่ก่อนหน้านี้พม่าเก็บเป็นความลับมาตลอด) และกองทัพก๊กมินตั๋ง (ที่โลกรับรู้ แต่นิ่งเฉย) รัฐบาลอู นุใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวเพื่อขอความเห็นใจและการช่วยเหลือจากประเทศในกลุ่มบันดุง เช่น อินโดนีเซีย อินเดีย และปากีสถาน แต่ก็ไม่มีชาติใดที่จะยื่นมือเข้ามาช่วยพม่าอย่างจริงจัง แน่นอน การแก้ข้อพิพาทกับจีนที่ดีที่สุดคือการหารือพูดคุยกับรัฐบาลจีน ในปลายปี 1956 อู นุจึงไปเยือนจีนอย่างเป็นทางการ เพื่อหารือกับโจว เอินไหล การหารือของสหายสนิททั้งคู่ออกดอกออกผลเป็นแถลงการณ์ร่วมระหว่างจีนกับพม่า จีนพยายามผลักดัน “ข้อเสนอที่เป็นธรรมและมีเหตุผล” ซึ่งพม่ารับว่าจะนำไปพิจารณาอย่างดี ในขณะเดียวกัน จีนก็ยอมถอนกองกำลังของตนจากพื้นที่พิพาทก่อนสิ้นปี 1956 และพม่าเองก็จะยอมถอยออกจากพื้นที่ใน 3 เมืองของเขตกะฉิ่น ได้แก่ พีมอ (Hpimaw) กังฟัง (Kangfang) และก่อลุม (Gawlum)

ท่าทีของจีนต่อข้อพิพาทด้านดินแดนกับพม่าเป็นไปทางบวก แต่ก็ชี้ให้เห็นว่าจีนต้องการขู่พม่าเพื่อต่อรองพื้นที่บางส่วนในเขตกะฉิ่น ที่ยังไม่มีการปักปันเขตแดนที่ชัดเจน จีนต้องการพื้นที่ใน 3 เมืองดังกล่าวในเขตกะฉิ่นกลับคืนมา โดยอ้างว่าเจ้าเมืองทั้งสามเมืองจ่าย “บรรณาการ” ให้กับผู้ปกครองในฝั่งจีนมาโดยตลอด ในที่สุด พม่ายอมตามข้อเสนอของจีน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะต้องการหลีกเลี่ยงข้อขัดแย้งกับจีน พม่าจึงลงนามในสนธิสัญญามิตรภาพและการไม่รุกรานซึ่งกันและกันในปี 1960 และทั้ง 2 ประเทศจะร่วมกันปักปันเขตแดนให้สมบูรณ์ภายในปี 1961

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image