ครูใหญ่ : โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

เสวนาการศึกษาว่าด้วยร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่กับการปฏิรูปการศึกษาไทยยังไม่จบครับ เพราะเกิดมีประเด็นร้อนขึ้นมาให้ตื่นเต้นติดตามอย่างน้อย 2 เรื่องในเวลาไล่เลี่ยกัน

เรื่องแรกผู้บริหารมหาวิทยาลัยคัดค้านการตั้งกรมการอุดมศึกษา เป็นส่วนราชการสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งกรรมาธิการวิสามัญ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ผู้พิจารณาเรื่องนี้ยอมรับฟังและมีมติถอยแล้ว

เรื่องที่ 2 สมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทยคัดค้านการเปลี่ยนแปลงการเรียกตำแหน่งผู้บริหารโรงเรียน จากอำนวยการโรงเรียน เป็นครูใหญ่ เหมือนกันหมดทุกโรงเรียน

สืบเนื่องจากการประชุมคณะกรรมการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ได้ปรับปรุงแก้ไขร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ซึ่งคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา เสนอและผ่านความเห็นชอบในขั้นหลักการจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี
วันที่ 24 ตุลาคม 2561 กรณีหลังยังไม่ยุติจนกว่าร่างกฎหมายจะเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

Advertisement

แต่ไม่ว่ากฎหมายจะเข้าสภาทันหรือไม่ทัน เรื่องนี้น่ารับฟังเหตุผลของทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งคณะผู้ที่เห็นสมควรเปลี่ยนแปลง กับผู้คัดค้านการเปลี่ยนแปลง

โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่า การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวด้วยเหตุผลประการใดและจะส่งผลต่อการปฏิรูปการศึกษาไทยอย่างไร แต่ละฝ่ายน่าชี้แจงแสดงเหตุผลกับผลที่จะเกิดขึ้นต่อสาธารณะ เพื่อให้เกิดเสียงสะท้อนต่อไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติว่าผู้มีส่วนร่วม มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายคิดอย่างไรในเรื่องนี้

แต่ที่เป็นประเด็นใหญ่ก็คือ ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ กฎหมายแม่รองจากรัฐธรรมนูญ 2560 คงไม่สามารถออกมาใช้บังคับทันในยุคสภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดนี้เสียแล้ว เพราะมีกำหนดการว่าจะพิจารณากฎหมายที่ค้างอยู่จนถึงวันที่ 8 มีนาคม 2562 เท่านั้น ก่อนการเลือกตั้งทั่วไป 2 สัปดาห์

Advertisement

ผลกระทบจากการที่ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ออกใช้บังคับไม่ทันจะเป็นเช่นไร ขณะที่กฎหมายลูกบัญญัติออกมารอล่วงหน้าแล้วหลายฉบับ ตั้งแต่ พ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ร.บ.เขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา และที่กำลังจะตามมาก่อนสภานิติบัญญัติแห่งชาติยุติบทบาท ได้แก่ พ.ร.บ.จัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ร.บ.สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

แม้การดำเนินการตามกฎหมายลูกฉบับต่างๆ สามารถเดินหน้าการปฏิบัติไปได้โดยตัวมันเองบางส่วนก็ตาม แต่การที่กฎหมายแม่ไม่บัญญัติออกมาควบคู่กันไปย่อมส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติตามกฎหมายลูกอย่างแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิรูปการศึกษาในเรื่องสำคัญๆ คือ การปฏิรูปหลักสูตรทั้งระบบ การปฏิรูปการผลิต พัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา

การปฏิรูปหลักสูตร ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่บัญญัติให้มีสถาบันหลักสูตรและการเรียนรู้ รับผิดชอบในเรื่องนี้ เมื่อกฎหมายไม่ออกองค์กรนี้ก็ไม่เกิดขึ้นจริง แม้ในบทเฉพาะกาลของกฎหมายจะหาทางออกไว้ในวาระเริ่มแรกเป็นเวลาไม่เกิน 5 ปี ให้สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ทำหน้าที่เป็นสถาบันหลักสูตรและการเรียนรู้ก็ตาม แต่เมื่อกฎหมายออกมาใช้ไม่ทัน สสวท.ก็ยังไม่สามารถรับหน้าที่ดังกล่าวได้เต็มที่ทั้งระบบอยู่ดี

การปฏิรูปครู ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ ระบุว่าให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายและสำนักงานกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาร่วมกันจัดให้มีการศึกษาและวิจัยหาต้นแบบ กระบวนการและวิธีการที่หลากหลายและมีประสิทธิภาพ ในการจัดการเรียนการสอน ในการผลิตครู การพัฒนาศักยภาพครู ให้สูงขึ้นและทันต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เมื่อกฎหมายรองรับยังไม่ออกมา การปฏิบัติในเรื่องนี้ก็ทำได้ไม่เต็มที่เช่นเดียวกัน

สองประเด็นปฏิรูปนี้เป็นหัวใจสำคัญของการปฏิรูปการศึกษา ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าความมีอิสระของสถานศึกษาที่เกิดจากการกระจายอำนาจ ลดรวมศูนย์ เมื่อกฎหมายแม่ฉบับหลักยังไม่คลอด การปฏิบัติตามกฎหมายลูกที่ออกมาก่อนก็ไม่สามารถปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจไม่ตอบสนอง โดยอ้างว่ากฎหมายยังไม่ออกมาใช้บังคับให้ดำเนินการ เหมือนเหตุการณ์ในอดีต

อนาคตการศึกษาไทยจะดำเนินต่อไปอย่างไร เมื่อประเด็นปัญหาหลักยังไม่ถูกปฏิรูปอย่างจริงจัง

กลไก องค์กร กระบวนการดำเนินงานตามกฎหมายลูกที่ออกมาแล้วเพียงพอหรือไม่ ที่จะเป็นแรงผลักให้ปฏิรูปการศึกษาส่งผลถึงตัวเด็กจนเกิดคุณสมบัติสมตามที่วาดหวังกันไว้

จึงเป็นคำถามที่ทุกฝ่ายต้องช่วยหาคำตอบด้วยการลงมือทำ มีส่วนร่วมโดยไม่ปล่อยให้การศึกษาเป็นของกระทรวงศึกษา กับหน่วยงานภาครัฐแต่ฝ่ายเดียวอย่างที่ผ่านมา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image