การเมืองไทยในยุคหลังประชาธิปไตย โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

บทความนี้ไม่มีอะไรมากครับ เป็นเรื่องของการตั้งคำถามง่ายๆ ว่าการเมืองไทยวันนี้อยู่ในยุคหรือสภาวะอะไรกันแน่ ซึ่งผมขอเสนอคำนิยามหลวมๆ ว่าเป็นการเมืองยุคหลังประชาธิปไตย หรือที่เรียกว่า Post-Democratic Era นั่นแหละครับ

ความจริงก็มีนักวิชาการในโลกเริ่มใช้คำอธิบายเรื่องของ Post Democracy อยู่บ้างแล้ว แต่ผมคิดว่าของเรานั้นอาจจะไม่ค่อยเหมือนของเขาเท่าไหร่ เพราะถ้าสังคมยุคหลังประชาธิปไตยของบ้านเรามีจริงแล้ว มันก็คงต้องมีความเกี่ยวพันกับสังคมประชาธิปไตยแบบไทยๆ ในยุคที่ผ่านมาด้วย ดังนั้นจึงขอเว้นเรื่องราวของแนวคิดเรื่องสังคมประชาธิปไตยที่นักวิชาการฝรั่งเขาเริ่มพูดกันในแง่ของรายละเอียด จะขอรวบรัดเอาเฉพาะประเด็นที่ผมคิดว่าน่าจะเข้ากับบ้านเรามาลองนำเสนอเล่นๆ ดูก่อน

ทำไมต้อง “หลังประชาธิปไตย”? คำตอบก็คือว่า คำว่าหลังประชาธิปไตยเป็นท่าทีและลีลาในการเกี่ยวพันกับประชาธิปไตยในรูปแบบหนึ่ง เพราะถ้าหลังแปลว่าพ้นไปแล้ว มันก็คงยังไม่พ้นอย่างไร้ร่องรอยซะทีเดียว เพราะถ้าพ้นไปหรือ หลังไปในแบบแยกขาดอย่างไร้ร่องรอยจริงๆ แล้ว ก็ไม่ควรจะต้องมีคำว่าประชาธิปไตยอยู่ในคำๆ นั้นเอาเสียเลย

พูดง่ายๆ การพูดถึงยุคหลังประชาธิปไตยหรือพ้นประชาธิปไตยนั้น มันยังไงก็ไม่พ้น หรือแม้ว่าจะมองว่าเป็นยุคหลังประชาธิปไตยไปแล้ว แต่ก็ยังจะต้องกำหนดระยะห่างกับประชาธิปไตยไว้ตลอดเวลา

Advertisement

ซึ่งการกำหนดระยะห่างกับประชาธิปไตยนั้นอาจจะรวมถึงการต้องสร้างวาทกรรม หรือภาพลักษณ์ของประชาธิปไตยอย่างหนึ่งอย่างใดเอาไว้ เพื่อจะได้บอกว่า เราไม่ใช่ เราไม่เหมือน เราไม่เอา หรือรวมไปถึงการบอกว่าเราเป็นประชาธิปไตยร้อยละเก้าสิบเก้า ทั้งๆ ที่อาจจะไม่ได้เป็นประชาธิปไตยเลยสักนิด แต่ถ้ามันไม่เป็นเลยสักนิด จะเสียเวลาอ้างถึงประชาธิปไตยไปทำไม

ความจริงเราอธิบายเรื่องของอาหาร “หลัง” หรือ “พ้น” ในฐานะของการ “ก้าวไม่พ้น” “ก้าวไม่ข้าม” ประชาธิปไตยได้ไม่ยาก เพราะบ้านเมืองเราก็คุ้นชินกับความเข้าใจเรื่องผีนั่นแหละครับ ประชาธิปไตยในสังคมหลังประชาธิปไตยในแง่หนึ่งก็เหมือนกับผีนั่นแหละครับ มีก็เหมือนไม่มี ไม่มีก็ต้องอธิบายการไม่มีเข้าไปด้วย ประชาธิปไตยมันก็ยังตามมาหลอกมาหลอนอยู่ดี

เรื่องแรกที่อยากพูดถึงสังคมหลังประชาธิปไตยก็คงจะเป็นเรื่องทางแนวคิดประชาธิปไตยสักนิด อย่างตอนนี้ในโลกทางวิชาการนั้นอาจจะมีการอธิบายเรื่องของการทำความเข้าใจการเมืองและประชาธิปไตยออกเป็นสักสามแนวใหญ่ๆ หนึ่งคือการศึกษาประชาธิปไตยในแบบการเปลี่ยนผ่าน (มาสู่) ประชาธิปไตย ซึ่งพวกนี้ก็เชื่อว่าจะต้องทำให้เกิดประชาธิปไตย หรืออย่างไรเสียประชาธิปไตยก็จะต้องมาถึงในท้ายที่สุด

Advertisement

พวกที่สองคือ พวกที่เริ่มจะหมดศรัทธาในการศึกษาประชาธิปไตย พวกนี้เริ่มหันไปศึกษาความคงทนของเผด็จการ โดยดูว่าเผด็จการมันสืบสานอำนาจได้อย่างไร แบบไหนที่ได้ประโยชน์จากการสร้างพันธมิตรกับเผด็จการ

พวกที่สามคือ พวกที่มองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมนั้นไม่ใช่เรื่องของทั้งประชาธิปไตย และเผด็จการ แต่เป็นพวกผสมคือ มีความเป็นไปได้ที่จะมีระบอบการเมืองที่ผสมกันของสิ่งที่ดูจะขัดกันเองระหว่างเผด็จการกับประชาธิปไตย

ถ้าจะรวมอีกเรื่องเข้าไปด้วยในกลุ่มที่สามก็คงจะเป็นเรื่องของการทำความเข้าใจว่า ประชาธิปไตยก็มีข้อจำกัดของมันเองด้วย หรือมันมีประเด็นท้าทายที่จะต้องพยายามเข้าใจ และอาจจะแก้ไม่ได้ง่ายๆ

ถ้าพิจารณาในแบบที่ผมเล่าให้ฟังมานั้น ก็คงจะไม่ใช่ประเด็นเสียทีเดียวที่เราจะสามารถวัดประเมินระดับของประชาธิปไตย หรือทำนายว่าเราจะกลับสู่ประชาธิปไตยเมื่อไหร่ แต่ควรจะพิจารณาว่าสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในสังคมของเรานั้นจะเป็นอะไร

หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ไอ้ที่เรียกว่าโรดแมปนั้นก็ไม่ใช่เรื่องของการกลับสู่หนทางประชาธิปไตย แต่เราต้องกล้าเผชิญหน้ากับมันในแง่ที่ว่าเรากำลังจะเผชิญกับอะไรในอนาคตที่จะมาถึง

ในยุคหนึ่ง ในแง่ของการถกเถียงในเรื่องของทฤษฎีการวางแผน เราเคยมีทฤษฎีที่ว่าสังคมกำลังจะก้าวเข้าสู่ยุคการบริหารจัดการและผู้เชี่ยวชาญเต็มตัว และมองว่าสิ่งนั้นจะตรงข้ามกับการบริหารจัดการสังคมในแบบที่มีนักการเมืองที่มาจากประชาชนเข้ามาควบคุมตรวจสอบผู้เชี่ยวชาญเหล่านั้น หรือมองว่าเป็นเรื่องของระบบการเมืองกับการบริหาร หรือนักการเมืองกับข้าราชการ

หรือในอีกด้านหนึ่ง เราก็เคยฉายภาพในอนาคตว่าเป็นสังคมแห่งการควบคุมที่ถูกตรวจสอบอย่างละเอียดถี่ถ้วน ทำให้ขาดซึ่งเสรีภาพ อันเป็นรากฐานของสังคมประชาธิปไตย

แต่สิ่งที่เราจะพบในอนาคตอาจจะเป็นเรื่องที่สลับซับซ้อนกว่านั้น อาทิ เรื่องของการมีตัวแทน แต่มีรากฐานของการ “ไม่มีการเมือง” ในแง่ของการมีความขัดแย้งไม่ลงรอยกันของประชาชน เราจะพบคำว่าสมานฉันท์และสามัคคีในรูปแบบใหม่ๆ

ไม่ใช่ว่าสมานฉันท์กับสามัคคีจะต้องหมายถึงความไม่ขัดแย้งนะครับ โดยตัวคำมันเองมันอาจจะเป็นคำที่เป็นฐานรากของความขัดแย้งได้ เช่น สมานฉันท์หรือสามัคคีในกลุ่มตัวเอง เพื่อไปขัดแย้งกับกลุ่มอื่นก็ได้

แต่ความเชื่อในแง่ของความสมานฉันท์และสามัคคีในแบบหลังประชาธิปไตยหมายถึงการที่มิติทางการเมืองของการทะเลาะเบาะแว้งกัน ไม่ลงรอยกันนั้นถูกขจัดไป เพราะมองว่ามันเป็นสิ่งไม่ดี ทุกอย่างสามารถพูดคุยตกลงกันได้ เราไม่มีศัตรู แต่ถ้าใครไม่สมาทานแนวคิดนี้ต่างหากที่จะถูกกำหนดให้เป็นศัตรูของเรา

ประเด็นของการเป็นผู้เชี่ยวชาญก็อาจจะเปลี่ยน จากเดิมเรามองว่าความเป็นผู้เชี่ยวชาญคือต้องมีความรู้ในเชิงเทคนิคในเรื่องดังกล่าว มาสู่ความเชี่ยวชาญในแง่ของการก้าวข้ามความขัดแย้ง ในแง่ที่ว่ามองว่าคนที่สร้างความขัดแย้งนั้นคือพวกประชาธิปไตย แต่การเมืองที่ดีกว่าประชาธิปไตยคือคนที่มีความรู้ทางเทคนิค หรือนำเสนอภาพฉายของสังคมที่ปราศจากความขัดแย้ง

ในแง่นี้้ความขัดแย้งจึงถูกปลุกเร้าให้กลายสภาพเป็นศัตรู ผู้ใดที่ทำให้เกิดความขัดแย้งจะต้องกลายเป็นศัตรูของสังคม และจะถูกเขี่ยออกจากปริมณฑลทางอำนาจ ทั้งที่การกดทับความขัดแย้งหรือการสถาปนาตัวเองเหนือความขัดแย้ง ก็ถือเป็นชัยชนะท่ามกลางความขัดแย้งในรูปแบบหนึ่ง ตราบใดที่เราเห็นว่าผู้ที่กำหนดระยะห่างกับความขัดแย้งในรูปแบบดังกล่าวนั้นได้ประโยชน์จากสถานการณ์บางอย่าง

กล่าวง่ายๆ ก็คือ จากยุคหนึ่งที่ความเชี่ยวชาญนั้นมาจากความรู้ทางเทคนิค ในวันนี้ผู้ที่เชี่ยวชาญและสถาปนาความเป็นตัวแทนในรูปแบบใหม่ๆ นั้นนอกเหนือจะต้องเป็นนักเทคนิคแล้ว จะต้องเป็นผู้ที่สามารถสถาปนาความแตกต่างของตัวเองจากคนอื่นในแง่ของความสามารถในการไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง หรืออย่างน้อยก็จะต้องสามารถใช้กำลังสลายการขัดแย้ง ทั้งที่การกระทำดังกล่าวอาจไม่ได้เกิดจากความยินยอมพร้อมใจ หรืออาจจะเหนือกว่ามากๆ ในแง่ทำให้คนยินยอมพร้อมใจได้ด้วย โดยลืมความขัดแย้งไปทั้งที่โดยเงื่อนไขการดำรงอยู่และผลประโยชน์ ความขัดแย้งยังมีกันอยู่ในระดับรากฐาน

การอธิบายเช่นนี้อาจจะดูย้อนแย้งอยู่บ้าง ตรงที่พวกกลุ่มเครือข่ายใหม่นี้ไม่ใช่ว่าจะไม่สร้างความขัดแย้ง ทั้งที่ในความเป็นจริงพวกเขามีข้อขัดแย้งกับกลุ่มอื่นอยู่มาก แต่ความเหนือกว่าของพวกเขาคือการสถาปนาอำนาจว่าหากกลุ่มอื่นจะท้าทายพวกเขากลุ่มอื่นจะเป็นผู้สร้างความขัดแย้ง ความวุ่นวาย และความไม่สงบ แต่ถ้าความขัดแย้ง วุ่นวาย และความไม่สงบเกิดขึ้นจากพวกเขา พวกเขาจะมีความสามารถในการอธิบายว่ามันมีไว้เพื่อระงับความวุ่นวายและไม่สงบ รวมกระทั่งความขัดแย้งที่เกิดขึ้น (มาก่อนหน้านั้น)

ในระดับรูปธรรม การเมืองที่เกิดขึ้นในวันนี้ไม่มีทางที่จะกลับสู่ประชาธิปไตยแบบเดิม หรือแม้กระทั่งเผด็จการในแบบเดิม เพราะสิ่งที่กำเนิดขึ้นใหม่ท่ามกลางระยะเปลี่ยนผ่าน หรือข้อยกเว้นในช่วงที่ผ่านมาคือการสถาปนาเครือข่ายอำนาจใหม่ที่ต่างไปจากความเข้าใจการเมืองไทยในแบบเดิม ที่เราเคยเห็นรูปแบบของตัวแสดงหรือผู้มีบทบาททางการเมืองในแบบเดิมๆ คือ ทหาร ข้าราชการ นักการเมือง นักธุรกิจ ประชาชน หรือแม้กระทั่งเครือข่ายภาคประชาชนเองที่มีปริมณฑลทางอำนาจอยู่ภายนอกของรัฐบาล

ระบอบที่กำลังเกิดขึ้นนั้นคือระบอบการสถาปนาเครือข่ายอำนาจที่เป็นรูปธรรมมากขึ้นที่เชื่อมโยงทั้งองค์กรอิสระ มาสู่เครือข่ายอำนาจหลายสาย ที่ตั้งขึ้นมาเรื่อยๆ และเชื่อมโยงกับรัฐบาล ในขณะเดียวกันก็แตกยอดแทรกซึมไปตามเครือข่ายสังคมต่างๆ และทำให้เห็นว่าหากต้องการมีอำนาจต้องสร้างเครือข่าย แต่เครือข่ายเหล่านี้ไม่ใช่เครือข่ายแบบมวลชน

แม้ว่าภาพของมวล (มหาประชาชน) จะถูกนำเสนอในแง่ของจำนวนบนท้องถนนเหมือนกันกับมวลชนสีเสื้อรากหญ้า แต่รูปแบบการจัดตั้งนั้นไม่เหมือนกัน รูปแบบการจัดตั้งของการเมืองแบบประชาธิปไตยที่ผ่านมากระทำผ่านการแลกเปลี่ยนที่เป็นแนวตั้งจากพื้นหนึ่งสู่อีกพื้นที่หนึ่ง ในขณะที่ระบอบเครือข่ายอำนาจใหม่มีการสถาปนาอำนาจในแบบเครือข่ายที่ไม่ใช่แนวตั้ง แม้จะมีระบบอาวุโสอยู่ภายใน และมีลำดับขั้นการขึ้นครองอำนาจเช่นกัน แต่เครือข่ายนั้นจับตัวกันในแบบหลวมๆ เน้นจุดหมายร่วมกันมากกว่าระบบสั่งการและแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ในแบบเดิม

ถ้าลองศึกษาเส้นทางการเชื่อมโยงระหว่างเครือข่ายสังคมกับองค์กรอิสระ และองค์กรแม่น้ำหลายสาย จะพบแบบแผนหลายอย่างร่วมกัน และจะพบว่าการวิเคราะห์ในแง่ของชนชั้นเป็นการวิเคราะห์ที่ออกจะไม่ละเอียดเพียงพอ หรือถ้าจะวิเคราะห์ด้วยสายตาแบบการมองทุกอย่างเป็นกลุ่มผลประโยชน์ก็อาจจะไม่เข้าใจปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างลึกซึ้ง เนื่องจากผลประโยชน์ที่เราพูดถึงอาจไม่ใช่ผลประโยชน์เฉพาะหน้า หรือผลประโยชน์ในทางเศรษฐกิจหรือตัวเงิน

แต่อาจจะหมายถึงคุณค่าและความหมายบางอย่างที่พวกเขายึดถือร่วมกัน

การเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นดังที่ได้อธิบายมา จึงเป็นเรื่องที่จะฝากความหวังไว้กับกลุ่มพลังประชาธิปไตยที่มีอยู่เดิม หรือที่จะใช้แนวทางแบบเดิมๆ คือกลุ่มที่เน้นการปะทะกับระบอบหลังประชาธิปไตยไม่ได้มากนัก เพราะกลุ่มประชาธิปไตยแบบเดิมจะถูกสลาย หรือจัดการด้วยข้ออ้างการสร้างความไม่สงบเรียบร้อย หรือเป็นพวกสร้างความขัดแย้ง

ในขณะเดียวกัน กลุ่มที่ได้ประโยชน์จากประชาธิปไตยผ่านการเลือกตั้งแบบเดิมก็อยู่ในสภาวะแกล้งตาย และ ดำน้ำไปเรื่อยๆ เพราะมีสายป่านที่ยาว หรือมีทุนที่มากพอที่จะอยู่ในความสงบเพื่อรอเวลาในการต่อรองทั้งกับผู้มีอำนาจและกับประชาชน ในความหมายของการให้ความร่วมมือกับผู้กุมอำนาจ เพื่อรอการต่อรอง หรือเชื่อว่าเลือกตั้งเมื่อไหร่ก็ชนะ

ท่ามกลางการขยายตัวของระบอบอำนาจเครือข่ายใหม่นี้ เราจะเห็นว่าสังคมไม่สามารถสร้างแรงจูงใจให้เกิดการเมืองแบบประชาธิปไตยในแบบเดิม ที่การเมืองวางอยู่บนการเลือกตั้ง การจัดตั้งพรรคการเมือง เราพบว่าการเมืองนั้นกำลังกลายตัวเองไปอยู่ในรูปแบบใหม่คือการวิ่งเต้นที่จะเข้าสู่เครือข่ายในรูปแบบของการสถาปนาคณะกรรมการชุดต่างๆ หรือสภาขับเคลื่อนของการขับเคลื่อน สภาปฏิรูปของการปฏิรูปไปเรื่อยๆ เพื่อรองรับ (accommodate) เครือข่ายอำนาจที่เจริญงอกงามขึ้นจากเครือข่ายทางสังคม รวมไปถึงการแตกเครือข่ายออกมาเพื่อหล่อเลี้ยงกันด้วยงบประมาณโครงการต่างๆ ที่มีลักษณะกระจายตัวอย่างรวดเร็ว และยืดหยุ่นกว่าเครือข่ายระบบราชการในแบบเดิม

ย้ำว่าเครือข่ายใหม่นี้ไม่ใช่เรื่องของขบวนการสังคมในแบบใหม่ที่เคยพูดกัน หรือเห่อกันอยู่พักหนึ่ง เพราะอย่างน้อยขบวนการสังคมในแบบใหม่นั้นมีเป้าหมายในการต่อรองอำนาจและรักษาระยะห่างกับรัฐและระบอบ ในขณะที่เครือข่ายอำนาจที่เกิดขึ้นในสังคมไทยในวันนี้ แม้จะสวมชื่อของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมใหม่ๆ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือการผนวกตัวเองเข้าไปในระบอบอำนาจอย่างซับซ้อน

ถ้าเราเห็นแรงตึงเครียดระหว่างฝ่ายกลไกหลักในการยึดอำนาจกับการจัดความสัมพันธ์กับเครือข่ายใหม่ๆ ในวันนี้ เราจะเห็นว่าไม่ได้เป็นเนื้อเดียวกัน และเข้ากันไม่ได้เสมอไป

และในอีกด้านหนึ่ง พลังที่หาประโยชน์จากประชาธิปไตยในแบบเดิมก็เป็นสังคมมวลชนแบบวิ่งเต้นขออำนาจและผลประโยชน์เช่นเดียวกัน

นอกจากที่กล่าวมาแล้ว สิ่งที่สำคัญในแง่ของสังคมหลังประชาธิปไตยในอนาคตอันใกล้ก็คือ ความเปลี่ยนแปลงของการเมืองเรื่องนโยบาย เราจะพบว่าจะไม่มีลักษณะของนโยบายที่มาจากการแข่งขันกันผ่านการเลือกตั้ง หรือนโยบายมาจากระบบราชการ โดยในด้านหนึ่งแนวนโยบายต่างๆ จะถูกระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ และในอีกด้านหนึ่งนโยบายใหม่ๆ จะมาจากการวิ่งเต้นผ่านเครือข่ายนโยบายใหม่ๆ ภายใต้การสร้างสถาบันทางการเมืองใหม่ๆ กับชาวบ้านในพื้นที่ โดยมีเงื่อนไขที่ว่าความขัดแย้งเป็นสิ่งเลวร้าย เป็นเรื่องของผลประโยชน์แอบแฝงจากภายนอกชุมชน ดังนั้นการเมืองต้องเป็นเรื่องของการพูดคุยและปรึกษาหารือกันได้ทุกเรื่อง การระงับความขัดแย้งทุกหย่อมหญ้าก็กลายเป็นอุตสาหกรรมทางวิชาการที่ขยายตัวไปในหน่วยงานต่างๆ ทั้งกระบวนการยุติธรรมและองค์กรอิสระต่างๆ

ถ้ามองดูอย่างผิวเผิน การสร้างเครือข่ายนโยบายใหม่ๆ และความสมานฉันท์ในรูปแบบนี้อาจจะเป็นเรื่องที่ดีต่อความมั่นคง หรือเป็นเรื่องที่ดีในแง่ของการไม่มีความขัดแย้ง แต่ถ้ามองลึกๆ เราจะต้องสังเกตเส้นแบ่งที่บางมากระหว่างความสงบกับการกดทับความขัดแย้งเอาไว้ ท่ามกลางความไม่เสมอภาคกันของความชำนาญในการกดทับความขัดแย้ง หรือหาประโยชน์จากการอ้างว่าไม่มีความขัดแย้งเกิดขึ้นจริงๆ

ประการสุดท้าย สังคมหลังประชาธิปไตยนั้นย่อมเป็นสังคมที่จะต้องอ้างการยึดโยงกับประชาชนอยู่ดี แต่จะเป็นสังคมที่จะอ้างประชาชนในรูปแบบไหน และจะสร้างประชาชนในรูปแบบไหนก็ต้องคอยดูกันต่อไปครับ แต่อย่างน้อยมันไม่ง่ายแค่ว่าสังคมหลังประชาธิปไตยคือสังคมเผด็จการแบบเดิม หรือเพียงแต่เอาคำว่าประชาธิปไตยมาใส่ไว้ แต่เราจะเผชิญกับการปฏิเสธประชาธิปไตยแบบอ้างว่าเป็นประชาธิปไตยกว่า และเริ่มมีผู้มีบทบาทใหม่ที่เข้ามาขับเคลื่อนสังคมในแบบที่ตัวแทนประชาธิปไตยแบบเดิม หรือตัวแทนชาติแบบเดิมไม่ได้มีบทบาทแต่ฝ่ายเดียวอีกต่อไปครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image