เหี้ย, ตะกวด, แลน

จับเหี้ย - นายพจน์ ทับประทุม หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่า พันท้ายนรสิงห์ เจ้าหน้าที่ออกจับตัวเหี้ย เพื่อลดการสร้างความเสียหายแก่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง ใน จ. สมุทรสงคราม เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม (ภาพจาก มติชน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 12 พฤษภาคม 2559 หน้า 3)

บรรพชนคนอุษาคเนย์อย่างน้อย 2,500 ปีมาแล้ว เคยยกย่องเหี้ยหรือ ตะกวด, แลน เป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ ปัจจุบันบางแห่งในไทยช่วงสงกรานต์ยังมีพิธีพลีเซ่นตะกวด
เหี้ย เป็นคำไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยา แต่ก่อนหน้านั้นเขมรเรียกตะกวด ลาวเรียกแลน ล้วนเป็นสัตว์พันธุ์เดียวกัน แต่อาจต่างชนิดกัน
มีคำอธิบายจากนักวิชาการรุ่นใหม่ๆ ว่าเหี้ยเป็นชื่อใหม่ของสัตว์เลื้อยคลานครึ่งบกครึ่งน้ำ เพิ่งมีหลังรับศาสนาจากอินเดีย แล้วเหยียดความเชื่อพื้นเมืองลงว่าเลวทรามต่ำช้า ดูได้จากเปลี่ยนชื่อเรียกตะกวด, แลน เป็น เหี้ย คำว่า เหี้ย เพี้ยนจาก หีน (คำเดียวกับที่ใช้เรียกอวัยวะเพศหญิง) แปลว่า เลวทรามต่ำช้า

ตะกวด เป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ของบรรพชนคนสุวรรณภูมิในอุษาคเนย์ มีลายสลักบนหน้ากลองทอง (มโหระทึก) อายุ 2,500 ปีมาแล้ว สัญลักษณ์ของน้ำและความอุดมสมบูรณ์
พระพุทธเจ้าเมื่อเป็นพระโพธิสัตว์เคยเสวยพระชาติเป็นตะกวด (เรียกโคธชาดก เป็นอรรถกถาชาดกในสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย) ชาวกัมพูชาโบราณยกย่องตะกวดเป็นบรรพชน มีตำนานในตอนต้นของราชพงศาวดารกัมพูชาว่าตะกวดตัวนี้อาศัยอยู่บนต้นทะโลก (ตำนานไทยว่าต้นหมัน) ฟังเทศน์พระพุทธเจ้าจนบรรลุธรรม ต่อมาเกิดเป็นคน แล้วเป็นบรรพชนกัมพูชา
หมู่บ้านแห่งหนึ่ง ที่ จ. สุรินทร์ มีพิธีพลีเซ่นตะกวด เพราะคนหมู่บ้านนี้ยกย่องตะกวดเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ จึงไม่ทำร้าย ไม่กำจัด บรรดาตะกวดคลานเพ่นพ่านในหมู่บ้านและในวัด พอถึงสงกรานต์ชาวบ้านมีพิธีพลีเซ่นตะกวด

ตะกวด (แลน, เหี้ย) เป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ มีลายสลักรูปตะกวดอยู่เหนือหลังคาเรือน บนหน้ากลองทอง (มโหระทึก) ราว 2,500 ปีมาแล้ว พบที่เวียดนาม
ตะกวด (แลน, เหี้ย) เป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ มีลายสลักรูปตะกวดอยู่เหนือหลังคาเรือน บนหน้ากลองทอง (มโหระทึก) ราว 2,500 ปีมาแล้ว พบที่เวียดนาม
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image