พระอรหันต์ พระอาจารย์‘มั่น ภูริทัตโต’ วัดสุทธาวาส จ.สกลนคร : โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร

นับถอยหลังไป 15-20 ปีที่ผ่านมาเมื่อครั้งที่ผู้เขียนเป็นอธิบดีกรมอนามัย และปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปี 2546-2549 มีโอกาสไปตรวจราชการและริเริ่มงานในโครงการอนามัยแม่และเด็กในถิ่นทุรกันดารที่ อ.กุสุมาลย์ จ.สกลนคร และได้ร่วมงานกับท่านนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสกลนครขณะนั้น คือ นายแพทย์ปรเมษฐ์ กิ่งโก้ และทีมบุคลากรในสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสกลนคร โครงการแก้ปัญหาเด็กขาดสารอาหารเรื้อรัง ในเด็กนักเรียนโรงเรียนประถมอำเภอกุสุมาลย์ ตามแนวพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ด้วยการจัดตั้ง “ศูนย์พัฒนาเด็กวัยเตาะแตะโดยผู้สูงอายุ” ที่บ้านโพนทอง หมู่ 2 ต.โพนทอง อ.กุสุมาลย์ จ.สกลนคร เป็นแห่งแรกของโครงการ ซึ่งต่อมาแนวคิดการดูแลเด็ก “อายุ 0-3 ปี” โดยผู้สูงอายุใช้ศักยภาพ ภูมิปัญญาดั้งเดิมมาดูแลเด็ก เนื่องจากในชุมชนจะมีผู้สูงอายุอยู่บ้าน ดูแลลูกหลาน ส่วนพ่อแม่จะไปทำงานในเมือง

นอกจากนี้ยังมีโครงการจัดตั้งศูนย์ตัดเสื้อผ้าในชุมชน เพื่อให้หญิงวัยทำงานตัดเย็บเสื้อผ้าในชุมชนเป็นสินค้าพื้นเมือง เพื่อสร้างรายได้ ต่อมาโครงการนี้ได้ประสบความสำเร็จดียิ่ง ขยายไปในถิ่นทุรกันดารในภาคอื่นของประเทศ และปัจจุบันมีศูนย์ดังกล่าวมากกว่า 50 แห่ง โดยโอนให้ท้องถิ่น ได้แก่ อบต. เทศบาล ดูแลปัญหาเด็กขาดสารอาหาร ส่งผลให้ปัญหาดังกล่าวลดลง และหมดไป ผลการเรียนดีขึ้น ส่วนชุมชนก็มีรายได้มากขึ้นตามลำดับ

สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนต้องกล่าวถึง ขาดไม่ได้ ท่านนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด นายแพทย์ปรเมษฐ์ กิ่งโก้ ได้พาผู้เขียนไปกราบนมัสการรูปหล่อ “หลวงปู่มั่น” พระปรมาจารย์ทางกัมมัฏฐาน ท่านได้ฟื้นฟูการปฏิบัติธรรมชั้นสูงของพระพุทธศาสนา จนเป็นที่รองรับจากปัญญาชนทั้งหลาย และยังผลปรากฏผู้ที่น้อมตัวเข้าเป็นศิษย์ “หลวงปู่มั่น” ทั้งในอดีตและปัจจุบัน รูปหล่อหลวงปู่มั่นอยู่ในบริเวณวัดสุทธาวาส เข้าประตูไปจะอยู่ขวามือ ด้านซ้ายมือจะเป็นรูปหล่อ “หลวงปู่เสาร์” หลังจากกราบนมัสการหลวงปู่แล้ว คุณหมอปรเมษฐ์ กิ่งโก้ ได้พาผู้เขียนมากราบนมัสการ “ท่านเจ้าคุณหลวงปู่คำดี” เจ้าอาวาสวัดสุทธาวาสในขณะนั้น ปัจจุบันมรณภาพไปแล้ว และก็ได้ทราบประวัติเล็กน้อยของหลวงปู่มั่น

เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2561 อาจารย์ศุภนัญ บุญญา ได้มอบหนังสือให้ผู้เขียน 1 เล่ม คือ ประวัติอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ฉบับสมบูรณ์ และได้สามัญสำนึก โดยพระเทพเจติยาจารย์ และหนังสือหลักสูตร “ญาณสาสมาธิ” ความหยั่งรู้จากสมาธิ โดยพระธรรมมงคลญาณ (หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร) ผู้เขียนได้เปิดหนังสือเกี่ยวกับประวัติของท่านหลวงปู่มั่น อ่านโดยละเอียดแล้วคิดว่ามีคุณค่ายิ่ง และโดยส่วนตัวผู้เขียนเอง เลื่อมใสบูชาเคารพนับถือท่านโดยความบริสุทธิ์ใจ จึงขออนุญาตใช้ข้อมูลจากหนังสือของพระเทพเจติยาจารย์ และหนังสือประวัติของหลวงปู่มั่นที่นายแพทย์ปรเมษฐ์ กิ่งโก้ ส่งมาให้ เผยแพร่แก่อนุชนรุ่นหลังๆ ได้รับรู้ รู้จัก “ต้นแบบ” ในสิ่งดีๆ ที่ควรใฝ่รู้และนำไปปฏิบัติตาม “หลวงปู่มั่น”…พระอรหันต์ของเรา (คนไทยทั้งประเทศ)

Advertisement

มีทั้งหมด 32 ตอน ซึ่งจะเรียบเรียงเสนอเป็นตอนจนครบถ้วน

ก่อนที่จะเข้าเรื่องเนื้อหามี 2-3 ประเด็นที่ควรกล่าวถึง กล่าวคือ ประเด็นที่ 1 ผู้เขียนประวัติหลวงปู่มั่น หนังสือเล่มนี้ คือ พระอาจารย์วิริยังค์ สิรินฺธโร เป็นลูกศิษย์ของพระอาจารย์กงมา จิรปุญโญ และพระอาจารย์กงมาก็เป็นลูกศิษย์หลวงปู่มั่น ได้จากหลวงปู่มา 10 ปี ทั้งสองท่านได้เดินธุดงค์ตามพระอาจารย์มั่น จาก อ.มะขาม จ.จันทบุรี (19 เมษายน 2484) ผ่านเข้าวัดอุดรธานีพักอยู่ 1 อาทิตย์แล้วเดินทางต่อไปยังจังหวัดสกลนครอันเป็นจุดหมายปลายทาง และเป็นจุดประสงค์อย่างยิ่งในการเดินธุดงค์อันแสนจะทุรกันดาร พระอาจารย์กงมาได้เล่าถึง “ท่านพระอาจารย์มั่น” เล่าให้ลูกศิษย์พระอาจารย์วิริยังค์ ไว้ 5 เรื่อง คือ

1.ท่านอาจารย์มั่นท่านรู้จักใจคน จะนึกคิดอะไรทราบหมด 2.ท่านอาจารย์มั่นท่านดุยิ่งกว่าใครๆ ทั้งนั้น 3.ท่านอาจารย์มั่นท่านเทศนาในธรรมปฏิบัติยอดกว่าใครทั้งสิ้น 4.ท่านอาจารย์มั่นท่านปฏิบัติตัวของท่านเป็นตัวอย่างแก่ศิษย์อย่างเยี่ยมยอด 5.ท่านอาจารย์มั่นท่านจะต้องไล่พระที่อยู่กับท่าน ถ้าหากทำผิด แม้แต่ความผิดนั้นไม่มาก แต่เป็นเหตุให้เสื่อมเสีย

Advertisement

ประเด็นที่ 2 หัวข้อการเขียนเรื่องเกี่ยวกับท่านพระอาจารย์หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต “ณ วัดสุทธาวาส จ.สกลนคร” โดยปกติแล้วท่านหลวงปู่มั่นได้พำนักสำนักสงฆ์ จำวัดอยู่หลายแห่ง สร้างวัดหลายจังหวัดในประเทศไทย แต่ข้อเท็จจริงประการหนึ่ง ก็คือ ณ วัดสุทธาวาสนี้เป็นที่ท่านพระอาจารย์มั่นได้มามรณภาพ เมื่อ พ.ศ.2492 จึงเป็นประวัติศาสตร์สำคัญวัดหนึ่ง และเป็นสถานที่ประชุมของพระคณะกัมมัฏฐานที่นับถือด้วยความเป็นศิษย์ของท่านอาจารย์มั่น ทุกๆ ปีของ “วันมาฆบูชา”

และ อีกประเด็นหนึ่ง ก็คือ วัดแห่งนี้เป็นวัดที่ท่านอาจารย์เสาร์ กันตสีลเถระ ผู้เป็นพระอาจารย์ของหลวงปู่มั่นมาสร้างไว้เป็นป่าห่างไกลจากตัวเมือง 2 กม. จึงเป็นวัดที่สงบเงียบ แต่ปัจจุบันนี้ก็มีบ้านคนมาอยู่ใกล้วัดมากขึ้น ตลอดจนมีที่ทำการของหน่วยงานราชการมาตั้งอยู่ใกล้ๆ วัด เช่น ศาลากลางจังหวัดก็มาตั้งอยู่ใกล้จึงทำให้วัดสุทธาวาสกลายเป็นวัดกลางเมืองไปในปัจจุบัน

ประเด็นสุดท้าย คำปรารภของพระอาจารย์วิริยังค์ สิรินฺธโร การเขียนประวัติ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ นั้นเป็นเรื่องสำคัญ เพราะปัจจุบันปรากฏว่าท่านได้รับการเคารพนับถือจากชาวไทยเป็นอย่างสูง เนื่องด้วยศิษย์ของท่านหลายองค์เป็นผู้มีชื่อเสียงกระฉ่อน และเป็นที่เคารพนับถืออย่างสูงทั่วประเทศไทย เช่น หลวงปู่แหวน สุจิณฺโน แห่งวัดดอยแม่ปั๋ง จ.เชียงใหม่ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร แห่งวัดป่าอุดมสมพร จ.สกลนคร หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี (พระราชนิโรธรังสี) วัดหิน-หมากเป้ง จ.หนองคายหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ วัดหนองบัวบาน (วัดป่านิโครธาราม) จ.อุดรธานี หลวงปู่ขาว อนาลโย วัดถ้ำกลองเพล จ.หนองบัวลำภู พระอาจารย์มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน แห่งวัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี หลวงปู่บุญมา ฐิตเปโม วัดสิริสาลวัน จ.อุดรธานี หลวงปู่ชอบ ฐานสโม วัดป่าสัมมานุสรณ์ จ.เลย พระอาจารย์วัน อุตตโม ภูเหล็ก จิรปุญฺโญ วัดดอยธรรมเจดีย์ จ.สกลนคร เป็นต้น และยังมีอีกหลายร้อยรูปที่เป็นศิษย์ของท่านอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ ที่ยังไม่มีใครรู้จัก เพราะท่านเที่ยวแสวงหาความสงบส่วนตนตามป่าเขาลำเนาไพร ไม่ติดต่อบุคคลภายนอกเท่าไร

ดังนั้น ศิษย์ทั้งหลายที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ จึงเป็นการส่งเสริมครูบาอาจารย์ไปด้วย ดังที่ศิษย์อาจารย์มั่นที่ได้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตามโอวาทของครูบาอาจารย์ปรากฏเด่นขึ้นในภายหลัง ทำให้ชื่อเสียงเกียรติคุณของท่านอาจารย์มั่น เด่นขึ้นอย่างมากมาย ซึ่งก่อนนั้นก็ไม่ใคร่จะมีผู้กล่าวถึงกันเท่าใดนัก มาระยะนี้ศิษย์ของท่านได้รับการเคารพนับถือทั่วประเทศ จึงส่งเสริมให้ท่านมีความสำคัญในเวลาต่อมา

ประชาชนทั่วประเทศได้กล่าวถึงท่านอย่างสูงสุด ไม่เคยมีครั้งใดที่พระเถระผู้ทรงคุณวุฒิจะได้รับการกล่าวถึงอย่างกว้างขวาง เหมือนพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระเลย

ผู้เขียนเล็งเห็นความสำคัญหลายๆ ประการ ประกอบได้เคยอยู่เป็นพระอุปัฏฐากท่าน 4 ปี ได้รู้เห็นซาบซึ้งในจริยาวัตรและอุบายวิธี คำสอนต่างๆ ทั้งส่วนสำคัญและส่วนเล็กๆ น้อยๆ เป็นเรื่องมีค่าต่อการศึกษาของกุลบุตรต่อไปอย่างยิ่ง จึงรวบรวมบันทึกความจำของผู้เขียน (พระเทพเจติยาจารย์) นำมาเป็นหนังสือประวัติ ซึ่งจะเป็นหลักฐานต่อไป

ตอนที่ 1 : ตอนมูลเหตุของพระวิริยังค์ เขียนประวัติพระอาจารย์หลวงปู่มั่น : พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ เป็นพระปรมาจารย์ทางกัมมัฏฐาน ท่านได้แสดงความสามารถในด้านนี้อย่างสูงทุกประการ ตามความเป็นจริง ก็ปรากฏอย่างไม่มีศิษย์คนใดจะกล้าปฏิเสธ คุณธรรมต่างๆ ที่ได้ปรากฏขึ้นนั้น ฝังอยู่ในดวงจิตของผู้เป็นศิษย์อย่างไม่มีทางเลือนราง เป็นความจริงเหลือเกินที่ว่า ท่านได้ฟื้นฟูการปฏิบัติธรรมชั้นสูงของพระพุทธศาสนา จนเป็นที่รับรองจากปัญญาชนทั้งหลาย ผลประโยชน์เกิดจากการฟื้นฟูการปฏิบัติธรรมนั้นย่อมปรากฏอยู่แก่ผู้ที่น้อมตัวเข้าเป็นศิษย์ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน หรือเพียงอ่านประวัติของท่าน ก็ทำให้เกิดความเลื่อมใสอย่างซาบซึ้งตรึงใจแล้ว

การอ่านประวัติของท่านอาจารย์มั่น ผู้อ่านควรจะได้ตระหนักถึงข้อปฏิบัติปฏิปทา อันจะได้นำมาเป็นตัวอย่าง ก็จะทำให้เกิดประโยชน์มากทีเดียว เพราะท่านได้ทำตัวของท่านเป็นตัวอย่างที่ดีเลิศ กับทั้งยังมีความเมตตาต่อนักบวชด้วยกันอย่างมากที่สุด มองเห็นการณ์ไกลได้เป็นอย่างดี ข้าพเจ้าใคร่จะเขียนให้ใกล้ความจริงเป็นที่สุด ซึ่งแม้จะเป็นยาขมบ้าง เข้าใจว่าอาจจะแก้โรคให้แก่ท่านภายหลัง เพราะยาขม ใครก็ไม่อยากรับประทาน จะรับประทานก็ต่อเมื่อราวจำเป็น แต่ยาขมก็ได้ช่วยชีวิตมนุษย์มาแล้วมากต่อมากมิใช่หรือ?

การเขียนประวัติของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ ของข้าพเจ้า โดยการได้ยินได้ฟังจากตัวท่านเอง และครูบาอาจารย์ของข้าพเจ้า ตลอดถึงลูกศิษย์ของท่าน เพราะท่านอาจารย์มั่นนี้ท่านเป็นนักผจญภัยเพื่อต่อสู้กับกิเลสอย่างยอดเยี่ยม จึงเป็นประวัติที่น่าศึกษาเป็นอย่างยิ่ง ข้าพเจ้าเอง ตั้งแต่เป็นสามเณรเพียงแต่ได้ยินอาจารย์ของข้าพเจ้าเล่าให้ฟัง ก็รู้สึกเลื่อมใสจริงๆ จนอยากจะพบท่านทีเดียว แต่ประวัติของท่านอาจารย์มั่นนั้นเข้าใจว่าตัวข้าพเจ้าเองไม่สามารถจะพรรณนาได้หมดแน่ เพราะเหลือวิสัยเนื่องจากมีอะไรหลายอย่างที่เป็นสิ่งลึกลับอยู่ แต่ความจริงแล้วการแนะนำพร่ำสอนในธรรมทั้งหลายนั้น ข้าพเจ้ายอมรับอย่างไม่มีข้อแม้เลยว่าเป็นธรรมที่มีเหตุผลและเป็นผลที่ได้รับจริงๆ จนข้าพเจ้าต้องอุทานออกมาคนเดียวขณะที่เพิ่งจะมาอยู่กับท่านว่า “เรามาอยู่กับท่านพระอาจารย์มั่นเพียงเดือนเดียว แจ่มแจ้งในธรรมดีกว่าอยู่กับท่านอาจารย์ของข้าพเจ้าถึง 8 ปี” แต่อะไรที่ทำให้ข้าพเจ้าต้องอุทานออกมาเช่นนี้ นี่แหละที่จะเป็นต้นเหตุให้เขียนประวัติของท่านอาจารย์มั่นต่อไป

ตอนที่ 2 : ชาติภูมิ พ.ศ.2413 : ท่านเกิดในตระกูลแก่นแก้ว บิดาชื่อคำด้วง มารดาชื่อนางจันทร์ เกิดวันพฤหัสบดี เดือนยี่ ปีมะแม พ.ศ.2413 ณ บ้านคำบง อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี มีพี่น้องร่วมท้องอยู่ 9 คน แต่ 7 คน นั้นได้ถึงแก่กรรม คงเหลือ 2 คน ท่านเป็นคนหัวปี ท่านมีร่างกายสง่าผ่าเผย หน้าตาคมสันเป็นลักษณะน่าเคารพบูชา เป็นผู้รักการรักงาน เป็นที่ไว้วางใจได้ในการงานที่ได้รับมอบหมาย จึงเป็นที่รักแก่บิดามารดาเป็นอย่างยิ่ง ท่านได้ศึกษาวิชาหนังสือไทย-ไทยน้อย-ขอม จากสำนักอาว์ ได้ศึกษารู้เร็วจนอาว์ออกปากชมว่าฉลาดมาก เมื่ออ่านหนังสือได้แล้ว ท่านก็ได้ค้นคว้าหนังสือประวัติและนวนิยายของภาคอีสาน (เขาเรียกกันว่าลำพื้นลำแผ่น) เมื่อผู้เขียนอยู่กับท่าน ท่านจะเล่าถึงนิยายเก่าอันมีคติธรรมมาก เช่น เสียวสวาท เป็นต้น

ตอนที่ 3 : เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ พ.ศ.2428 : เป็นธรรมดาอยู่เองของสังสารวัฏต้องมีการหมุนเวียนเปลี่ยนแปลง ซึ่งทำให้มนุษย์เกิด-แก่-เจ็บ-ตาย การหมุนเวียนนี้แหละ สำหรับผู้ดีมีวาสนา ก็อยากหาแต่ความดีเท่านั้นให้เป็นทุนในการท่องเที่ยว เมื่อพอแก่ความต้องการก็เท่ากับสะสมบุญมาก ซึ่งในมงคลคาถามีว่า “บุพเพ จ กตปุญฺญตา ผู้มีบุญทำไว้แล้วแต่ปางก่อน” บุญย่อมผูกนิสัยให้ดีและชอบการพ้นทุกข์เสมอไป ดังในปัจฉิมภาวิกชาติของพระบรมศาสดาของเราทั้งหลาย บารมีได้ส่งให้พระองค์ออกบรรพชาแสวงหาโมกขธรรม โดยเกิดขึ้นในพระหฤทัยของพระองค์เอง จนกระทำให้สำเร็จพระโพธิญาณในที่สุดแม้พระสาวกทั้งหลายก็เช่นกัน เมื่อบุญติดตามผูกอุปนิสัย ก็เป็นเหตุให้น้อมเข้ามาบรรพชาอุปสมบทในขอบเขตของพระบรมศาสดา พ้นทุกข์ไป

พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ ก็เห็นจะเป็นเช่นเดียวกับพระสาวกเหล่านั้นจึงมีเหตุปัจจัยแนะนำจิตของท่าน ให้น้อมไปเพื่อบรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุได้ 15 ปี หลังจากบวชเป็นสามเณรอยู่ 2 ปี บิดาขอร้องให้ลาสิกขาไปช่วยงานทางบ้าน เมื่ออายุได้ 17 ปี ท่านก็ได้ลาสิกขาไปช่วยเต็มความสามารถในการนั้น แม้ท่านลาสิกขาไปแล้ว ก็ลาแต่กายเท่านั้น ส่วนใจยังครองเพศบรรพชิต จึงทำให้ท่านระลึกอยู่ไม่วายอีกอย่างหนึ่ง เพราะติดใจคำสั่งสอนของยายว่า “เจ้าต้องบวชให้ยาย เพราะยายก็ได้เลี้ยงเจ้ายาก” คำสั่งของยายนี้ คอยสะกิดใจอยู่เสมอ

เป็นเพราะเหตุปัจจัยดังกล่าวแล้ว ท่านจึงเบื่อฆราวาสวิสัย ครั้งเมื่ออายุ 22 ปี จึงลาบิดามารดาอุปสมบท ท่านทั้งสองก็อนุญาต ท่านได้เข้าไปเล่าเรียนที่สำนักท่านอาจารย์เสาร์ กันตสีลเถระ วัดเลียบ จ.อุบลราชธานี

ต่อมาได้อุปสมบทเป็นภิกษุภาวะในพระพุทธศาสนา ที่วัดศรีทอง อ.เมือง จ.อุบลราชธานี พระอริยกวี (อ่อน) เป็นพระอุปัชฌายะ พระครูสีทา ชยเสโน เป็นกรรมวาจาจารย์ พระครูประจักษ์ อุบลคุณ (สุ่ย) เป็นอนุสาวนาจารย์ เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2934 นามมคธที่อุปัชฌาย์ตั้งชื่อให้ คือ ภูริทตฺโต แปลว่า ผู้ให้ความรู้ไงเล่าครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image