ยุติการทำเหมืองทองคำ? โดย วสิษฐ เดชกุญชร

ในที่สุด คณะรัฐมนตรีก็มีมติให้ยุติการอนุญาตอาชญาบัตรสำรวจแร่ ทองคำและประทานบัตรสำรวจแร่ทองคำ และการต่ออายุประทานบัตร แต่ยังอนุญาตให้บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด ซึ่งกำลังทำเหมืองแร่ทองคำอยู่ในบริเวณที่ครอบคลุมจังหวัดเพชรบูรณ์ พิษณุโลก และพิจิตร ดำเนินการต่อไปได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2559 ทั้งนี้ก็เพื่อให้บริษัทนำแร่ที่เหลืออยู่ไปใช้ประโยชน์ ต่อจากนั้นจึงให้บริษัทปิดเหมืองทองคำ และ “เข้าสู่แผน ฟื้นฟู” ตามพระราชบัญญัติแร่

คงจะจำกันได้ว่าก่อนที่คณะรัฐมนตรีจะมีมติดังกล่าวข้างต้น ประชาชนในจังหวัดพิจิตร ซึ่งได้รับผลกระทบกระเทือนจากการทำเหมืองของ บริษัท อัครา ได้ยื่นฟ้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง กับบริษัท อัครา ต่อศาลปกครองพิษณุโลก ฐานละเลยต่อหน้าที่ ปล่อยให้บริษัทสร้างบ่อทิ้งเก็บกากแร่และประกอบโลหกรรม ส่วนย่อยโดยไม่ชอบ หรือไม่ได้รับอนุญาตจากทางราชการ ออกโฉนดที่ดิน โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และละเลยไม่ดูแลทางสาธารณประโยชน์ ในเวลา เดียวกันประชาชนในจังหวัดเพชรบูรณ์ และพิษณุโลก ก็ได้ชุมนุมเรียกร้องให้ยุติการทำเหมืองทองคำของบริษัทอัคราด้วย ศาลปกครองได้มีคำพิพากษาให้ทางราชการและบริษัทแก้ไขเปลี่ยนแปลงการทำเหมืองแร่ให้เป็นไปตามฟ้องของประชาชน แต่คำพิพากษาของศาลเป็นเพียงการชะลองานของบริษัทชั่วระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น มติคณะรัฐมนตรีครั้งนี้จึงเป็นการตอบสนองความต้องการของประชาชนที่นับว่าไม่ชักช้า ส่วนการที่คณะรัฐมนตรียังอนุญาตให้บริษัท อัครา ดำเนินการต่อไปได้จนถึงสิ้นปีนี้นั้นก็เป็นเรื่องที่มีเหตุผลและเข้าใจได้ เพราะบริษัทมีพนักงานลูกจ้าง และคนงานเป็นจำนวนมากที่จะได้รับความกระทบกระเทือนจากการยุติการทำเหมือง ที่จำเป็นจะต้องได้รับการพิจารณาเยียวยาตามสมควร

แต่ก่อนที่จะพากันดีอกดีใจและสำคัญว่าต่อไปนี้จะไม่มีการทำเหมืองทองคำในประเทศไทย เราควรจะศึกษากฎหมายและระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำเหมืองแร่เสียก่อน โดยเฉพาะพระราชบัญญัติแร่ซึ่งประกาศใช้เป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2510 และหลังจากนั้นได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลง หลายครั้ง และในปี 2557 สองปีมาแล้วคณะรัฐมนตรีได้เสนอร่างใหม่ซึ่ง ขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

ปรากฏว่าร่างพระราชบัญญัติแร่ที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรีนี้ได้รับการคัดค้านจากประชาชนหลายฝ่าย ประเด็นของการคัดค้านก็คือ คณะ กรรมการแร่จำนวน 15 คน ที่จะตั้งขึ้นตามกฎหมายฉบับใหม่นี้เป็นข้าราชการเกือบทั้งหมด ประชาชนผู้อาจได้รับผลกระทบกระเทือนจากการทำเหมืองไม่มีส่วนอยู่ในคณะกรรมการเลย นอกจากนั้นกฎหมายใหม่นี้ยังให้อำนาจในการอนุญาตทำเหมืองแก่ข้าราชการประจำตั้งแต่ระดับปลัดกระทรวงลงไปด้วย เป็นที่น่าสังเกตด้วยว่าร่างพระราชบัญญัติแร่ฉบับใหม่นี้

Advertisement

ให้ความสำคัญแก่การทำเหมืองเป็นอันดับแรก โดยให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่จะอนุญาตให้ทำเหมืองแร่ได้แม้ในพื้นที่ ที่อาจกระทบกระเทือนต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

การยุติการทำเหมืองทองคำของบริษัท อัครา จึงเป็นเพียงมาตรการเฉพาะคราวสำหรับคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบัน ยังไม่มีหลักประกันอย่างใด ที่ชัดเจนและจะทำให้เชื่อหรือนอนใจได้ว่า ในอนาคตนักการเมืองกับข้าราชการประจำจะไม่สมคบกันทำให้เกิดการทำเหมืองทองคำและเหมืองแร่ชนิดอื่นขึ้นในประเทศไทยอีก

จึงเป็นหน้าที่ของทุกคนที่ห่วงใยบ้านเมืองและประชาชน ที่จะต้องติดตามจับตาดูว่าในที่สุดสภานิติบัญญัติแห่งชาติจะผ่านพระราชบัญญัติแร่ ฉบับใหม่นี้ออกมาในรูปใด

Advertisement

และจะต้องช่วยกันคิดเสียตั้งแต่บัดนี้ว่า หากกฎหมายแร่ฉบับใหม่นี้เปิดโอกาสให้มีการหารายได้มหาศาลจากข่มขืนทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ในเมืองไทยโดยไม่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ธรรมชาติและสุขภาพอนามัยของประชาชนดังที่เคยปรากฏมาแล้ว เราจะทำอย่างไร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image