ดีเบตธิปไตย : โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

ก่อนที่จะถึงการเลือกตั้งในปลายเดือนมีนาคมนี้ เรื่องราวหนึ่งที่เป็นที่สนใจสำคัญคนในวงกว้างก็คือเรื่องของการดีเบตระหว่างผู้สมัครเลือกตั้งของแต่ละพรรค รวมไปถึงเรื่องของผู้นำพรรค

นอกจากนี้ยังรวมไปถึงเรื่องของการรับจะขึ้นดีเบตของตัว พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นพรรคที่มีความใกล้ชิดกับรัฐบาลและตัว พล.อ.ประยุทธ์ ทั้งในฐานะที่ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีและเป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

ผมเองน่าจะเป็นคนส่วนน้อยถึงน้อยที่สุดในสังคมที่ไม่ได้รู้สึกว่าการดีเบตในรอบนี้มีสีสันหรือน่าตื่นเต้นอะไรมากนัก อาจจะเป็นเพราะการจัดดีเบตนั้นมีมากจนเกินไป มีไม่รู้กี่เวที แล้วก็รู้สึกว่าเนื้อหาน่าจะวนไปวนมาอยู่ไม่ใช่น้อย

แต่ถ้ามองอีกทางหนึ่งผมก็เริ่มเห็นคล้อยกับทรรศนะของผู้คนที่เห็นคุณค่าของดีเบตและการกลับสู่ประชาธิปไตยในรอบนี้ว่า ดีเบตมันก็มีคุณูปการที่ทำให้คนได้มีโอกาสพูดคุยถกเถียงกันมากขึ้นท่ามกลางสังคมที่ถูกปิดกั้นมานานหลายปี

Advertisement

นอกจากนั้นผมก็คิดว่า ข้อดีอีกข้อในเรื่องดีเบตก็คือทำให้ผู้ชมเห็นว่า ไอ้ที่มองว่าสังคมนั้นขัดแย้งกันจนพูดคุยไม่ได้และนำมาซึ่งการยึดอำนาจ และพรากเสรีภาพกันไปนานนั้น เอาเข้าจริง ความขัดแย้งแตกต่างนั้นมี แต่ถ้ามีการอภิปรายถกเถียงกันได้บ้างแล้ว ก็พอจะอยู่ร่วมกันในสังคมได้

และการเคารพกติกาบางอย่างอาจไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องของการมีกรรมการที่ถืออาวุธ แต่อาจหมายถึงการยินยอมพร้อมใจเข้าสู่กติกา และการเคารพทั้งเพื่อนผู้อภิปราย ผู้ชม และผู้จัดก็ได้

แต่กระนั้นก็ตาม สิ่งที่สนุกสนานมากขึ้นเรื่อยๆ ในดีเบตรอบนี้อาจไม่ใช่ตัวการอภิปรายเอง เพราะมาหลายเวทีมากๆ ก็รู้ทัน/รู้ทางกันอยู่ แต่มาจากเรื่องของการจัดการดีเบต โดยเฉพาะทั้งตัวรูปแบบ ตัวคำถาม และตัวพิธีกรเองด้วย ซึ่งทำให้เราได้เห็นถึงคุณภาพและมาตรฐานของสื่อมวลชนแต่ละช่องเพิ่มขึ้น

Advertisement

เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะส่วนสำคัญอีกส่วนหนึ่งของคุณภาพประชาธิปไตยนั้นไม่ได้มีแต่คุณภาพของนักการเมืองและประชาชน

แต่เป็นเรื่องของคุณภาพของสื่อด้วย

เรื่องของการดีเบตไม่ใช่เป็นประเด็นแต่ในประเทศไทยเท่านั้น เพราะในหลายประเทศก็มีข้อถกเถียงในเรื่องของการดีเบตกับเรื่องของการเลือกตั้งและประชาธิปไตยอยู่มิใช่น้อย

อย่างในกรณีของอินโดนีเซีย เรื่องของดีเบตของผู้สมัครประธานาธิบดีในรอบนี้ ระหว่างแชมป์เก่า คือ ปธน.โจโกวี่ และผู้ท้าชิงที่แพ้ไปอย่างฉิวเฉียดในรอบที่แล้วคือ ปราโบโว่ นั้น ก็เป็นเรื่องที่ผู้คนรอคอยเป็นอย่างมาก ในการดีเบตรอบแรกเมื่อไม่นานมานี้ ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีกันในช่วงเดือนเมษายนที่จะถึงนี้

ปรากฏว่า การดีเบตครั้งแรกในโทรทัศน์ของอินโดนีเซีย ซึ่งถือเป็นดีเบตประวัติศาสตร์ กลับไม่ได้ทำให้คนรู้สึกสมหวังกับที่รอคอยมากนัก ส่วนหนึ่งก็เพราะว่า ทั้ง 2 ฝ่ายนั้นเน้นไปที่การอ่านสคริปต์ หรือพูดอะไรที่เหมือนเตรียมมาแล้วมากกว่าการโชว์ไหวพริบปฏิภาณในการตอบคำถาม และโต้ตอบกัน แต่กระนั้นก็ตาม ความเห็นในการรับชมก็แตกต่างกันไป บ้างก็ชื่นชมที่ปราโบโว่นั้นพูดโดยไม่ต้องอ่าน บ้างก็ชื่นชมโจโกวี่ว่าตอบโต้ได้ดี

อย่างไรก็ตาม ความเห็นตรงกันข้อหนึ่งของผู้ชมก็คือ คำถามหลักเรื่องการแก้ปัญหาการก่อการร้ายที่ทั้งคู่ตอบนั้นไม่ได้เป็นที่ประทับใจเท่าที่ประชาชนคาดหวัง เพราะตอบคล้ายกัน จนมองไม่เห็นทั้งความแตกต่างและทางออก

กล่าวโดยสรุป การดีเบตนั้นสาระสำคัญประการหนึ่งที่เรียนรู้จากกรณีดีเบตในอินโดนีเซียในรอบแรก (ยังมีอีกหลายรอบ เขาว่างั้น) ก็คือความสำคัญข้อหนึ่งของการดีเบตก็คือเรื่องของนโยบายหลักๆ ที่ต้องมีความโดดเด่นและเข้าใจได้ง่าย

อีกกรณีหนึ่งที่เป็นที่สนใจก็คือ การรณรงค์ในอังกฤษเองให้การดีเบตในโทรทัศน์นั้นเป็นเรื่องของการบังคับ ซึ่งเรื่องนี้มีทั้งการรณรงค์จากสื่อมวลชนเอง และจากข้อเรียกร้องของประชาชนไปที่รัฐสภา

บทเรียนที่สำคัญประการหนึ่งของอังกฤษก็คือ ในการเลือกตั้งเมื่อ ค.ศ.2010 การดีเบตในโทรทัศน์นั้นมีบทบาทสำคัญมากต่อการเลือกตั้ง โดยเฉพาะคนที่ออกมาสนับสนุนอย่างยิ่งก็คือ นิก เคล็ก (Nick Clegg) อดีตแกนนำพรรคเสรีนิยมประชาธิปไตย ที่เคยร่วมรัฐบาลกับพรรคอนุรักษนิยมมาก่อน แต่ปัจจุบันทำงานกับเฟซบุ๊กในตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารและกิจกรรมนานาชาติ

ว่ากันว่า เคล็กเป็นหนึ่งในผู้ที่รับความนิยมอย่างมากในการดีเบตในสมัยนั้น จนเป็นกระแสฮือฮา แต่ในอีกด้านหนึ่งกระแสนิยมของเคล็กในสมัยนั้นกลับสวนทางกับเก้าอี้ของพรรคที่ได้น้อยลง แม้ว่าพรรคเสรีนิยมประชาธิปไตยภายใต้การนำของเคล็กจะได้เข้าร่วมรัฐบาลก็ตาม

ในประเด็นการถกเถียงในอังกฤษ ทางหนึ่งก็วิเคราะห์กันว่า การดีเบตเป็นสิ่งดี เพราะว่าทำให้นักการเมืองต้องรับผิดชอบกับประชาชน และตอบคำถามกับประชาชน นอกจากนั้นแล้ว สื่อโทรทัศน์ก็ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น และการถ่ายทอดดีเบตก็นับเป็นจุดแข็งของสื่อประเภทโทรทัศน์ที่สื่อสิ่งพิมพ์อาจจะมีข้อจำกัดในการแข่งขันประเภทนี้

ในอีกด้านหนึ่งก็มีคนตั้งข้อสังเกตว่า บ่อยครั้งการดีเบตไม่ใช่เรื่องของสาระ แต่เป็นเรื่องของลีลาและการนำเสนอเสียมากกว่า รวมทั้งความคุ้นชินกับรูปแบบของการดีเบตด้วย โดยเฉพาะคนที่ไม่ค่อยได้ประโยชน์จากการดีเบตอย่างกรณีของ เดวิด คาเมรอน ซึ่งในตอนนั้นเป็นหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยม และในท้ายที่สุดเป็นนายกรัฐมนตรี คาเมรอนก็ยังไม่ค่อยให้คุณค่ากับการดีเบตมากนัก นอกจากนี้ยังมีการวิเคราะห์ว่าคาเมรอนนั้นเอาเข้าจริงได้ประโยชน์จากการไม่ยอมดีเบตกับผู้นำพรรคแรงงานอย่าง เอ็ด มิลลิแบรนด์ ขณะที่ป้าเทเรซ่า เมย์ ผู้นำรุ่นต่อไปของพรรคอนุรักษนิยมกลับตัดสินใจผิดพลาดที่ส่งทีมงานของตัวเองไปขึ้นเวทีแทนที่จะไปเอง

นอกจากนั้นแล้ว สื่อในอังกฤษยังวิเคราะห์ว่า เอาเข้าจริง สิ่งที่เราคิดว่าเป็นการดีเบต ส่วนมากจะเป็นเรื่องของการสร้างโอกาสให้บรรดานักการเมืองลายครามนำเอาสิ่งที่เตรียมไว้มาพูดบนเวที มากกว่าการถกแถลงกันจริงๆ จังๆ และผู้ชมในฐานะผู้มีสิทธิเลือกตั้งก็ไม่ค่อยจะได้เรียนรู้เรื่องนโยบายของแต่ละพรรคได้จริงๆ จังๆ เพราะการดีเบตบางทีเป็นเรื่องของการหยิบบางประเด็นมาโจมตีกัน สื่ออังกฤษยังตั้งข้อสังเกตไปถึงการดีเบตรอบ 2 ของการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสที่ผ่านมา ระหว่าง มาครง กับ ลาเพน โดยมองว่าเรื่องส่วนใหญ่บนเวทีเป็นเรื่องที่ไม่ใช่สาระสำคัญ

แต่อย่างน้อยการดีเบตก็ทำให้เราสามารถประเมินความแข็งแกร่งและการควบคุมตนเองของนักการเมือง (ตรงนี้ต้องระวังอคติระหว่างประเทศ ระหว่างคนอังกฤษกับฝรั่งเศสในการวิเคราะห์ด้วย)

อีกประเทศหนึ่งที่ถือเป็นต้นตำรับในเรื่องดีเบตก็คือ สหรัฐอเมริกา ซึ่งแม้ว่าจะไม่ได้มีการบังคับ แต่การดีเบตก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของประเพณีทางการเมืองของสหรัฐมาเป็นเวลายาวนาน

การดีเบตในสหรัฐเริ่มมานานแล้ว อาทิ การดีเบตในการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภามลรัฐอิลลินอยส์ ระหว่าง ลินคอน กับ ส.ว.ดักกลาส เมื่อปี 1858 ซึ่งมีการดีเบตกันถึง 7 ครั้ง โดยเป็นการถามตอบกันแบบไม่มีพิธีกร แต่สมัยนั้นยังไม่ได้มีการถ่ายทอดในโทรทัศน์ (และยังไม่มีโทรทัศน์)

ส่วนการดีเบตครั้งประวัติศาสตร์ในโทรทัศน์ครั้งแรกนั้นเกิดขึ้นเมื่อปี 1960 ระหว่างเคนเนดี ซึ่งเป็น ส.ว.แมสซาชูเซตส์ กับ รอง ปธน.นิกสัน ในการดีเบตครั้งนั้น นิกสันถือว่ามีแต้มต่อ เพราะเป็นนักการเมืองอาวุโสและรองประธานาธิบดี รวมทั้งมีความช่ำชองในการดีเบตในวิทยุ แต่จากการวิเคราะห์ในอเมริกาพบว่า นิกสันกลับเสียเปรียบเพราะไม่ชำนาญในรูปแบบการดีเบตในโทรทัศน์ และภาพลักษณ์ที่นำเสนอตั้งแต่การไม่แต่งหน้าทำผม รวมทั้งสีสูท ก็มีส่วนทำให้คนไม่ประทับใจและพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งในครั้งนั้น เพราะว่าปัจจัยสำคัญประการหนึ่งในการกำหนดชัยชนะของดีเบตในโทรทัศน์ก็คือ การที่ประชาชนจะจดจำภาพลักษณ์ของตัวผู้ดีเบตได้ และโยงภาพลักษณ์ที่ปรากฏตรงหน้ากับชุดความหมายทางการเมือง อาทิ เป็นคนมุ่งมั่น ซื่อสัตย์ ทุ่มเท จริงใจ มีอุดมการณ์

ในอเมริกาในช่วงนี้กลับมีปรากฏการณ์ที่สวนกระแสความเข้าใจต่อประชาธิปไตยอเมริกา ก็คือ การที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งเริ่มปฏิเสธการดีเบตมากขึ้น อย่างกรณี แอนดรูว์ คัวโม่ (Andrew Cuomo) ซึ่งเป็นผู้ว่าการมลรัฐนิวยอร์กมาตั้งแต่ ค.ศ.2011 ก็ปฏิเสธการดีเบต ยังไม่นับ คริส คอลลินส์ (Chris Collins) ซึ่งเป็นผู้แทนในเขตตะวันตกของนิวยอร์ก หรือที่ไม่ค่อยอยากจะดีเบตก็เช่น ลี เซลดิน (Lee Seldin) จากเขตหนึ่งของนิวยอร์ก

แม้ว่าในมุมของประชาชน การดีเบตจะเป็นเรื่องที่ทำให้พวกเขาได้มีโอกาสในการรับรู้มุมมองของนักการเมือง และทางเลือกต่างๆ ในนโยบายและการเมือง แต่สำหรับนักการเมือง การดีเบตเป็นเรื่องที่พวกเขาจะต้องคิดคำนวณให้ดีว่าจะได้หรือจะเสีย หรือได้แล้วคุ้มเสียไหม เพราะการเข้าร่วมการดีเบตก็เป็น “การเลือกเชิงยุทธศาสตร์” ของนักการเมืองเช่นกัน

การเข้าร่วมดีเบตในขณะที่คะแนนนิยมไม่ดีอาจเป็นการเปิดแผลมากขึ้น และทำให้เสียเปรียบมากขึ้น

หรือบางกรณีการเข้าร่วมดีเบตอาจสร้างภาพบวกให้นักการเมืองบางคน ในความหมายที่ว่า ผมไม่ต้องมาร่วมก็ได้ แต่ผมก็ตัดสินใจมา

ส่วนเรื่องสาระในการดีเบต บ้างก็มองว่าจะมีสาระหรือไม่นั้นไม่สำคัญเท่ากับว่า ดีเบตอาจจะเป็นที่ชื่นชอบสำหรับคนบางกลุ่มเท่านั้น ประเภทที่ชอบดูการแข่งขันกีฬาหรือต่อยมวยเลือดสาด เพราะคนจะชอบเฮ และชอบจดจำโมเมนต์หรือช็อตเด็ดๆ ที่จำได้ระหว่างดีเบตมากกว่านโยบายยาวๆ

ขณะที่นักวิเคราะห์บางคนอาจมองว่า การดีเบตอาจไม่ได้ทำให้ผู้สนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเปลี่ยนใจมาเลือกอีกฝ่าย แต่อาจมีจุดสำคัญอยู่ที่การดึงเอาผู้ที่ยังไม่ตัดสินใจเลือกใครให้คล้อยตาม

แต่สำหรับบ้านเราบางทีการที่ผลโพลยังบอกว่าคนยังไม่ตัดสินใจเลือกอีกมากนั้น อาจไม่ได้หมายความว่าเขายังไม่ตัดสินใจเลือกจริงๆ ก็ได้ เพราะอาจจะหมายถึงว่าเขาไม่ไว้ใจที่จะบอกคำตอบกับคนถาม หรือเขาอาจจะอยากจะปิดเอาไว้ก่อนให้อีกฝ่ายตกใจเล่นก็ได้

ทีนี้ก็ต้องมาดูหล่ะครับว่าในบ้านเราการดีเบตในรอบนี้กับผลการเลือกตั้ง จะออกมาตรงกันมากน้อยแค่ไหนกันครับ

(หมายเหตุ : บางส่วนจาก “Indonesians disappointed by highly anticipated first presidential debate ahead of April election”. ABC.net.au. 18 Jan 2019. “Permanent election TV debates is a step too far”. Capx.co. 17 Sep 2018. “United State Presidential Debates”. Wikipedia. “Why nobody’s debating this election season”. City & State New York. 18 Oct 2018.

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image