เดินหน้าชน : สถานะ‘บิ๊กตู่’ : โดย ศุกร์มังกร

แฟ้มภาพ

การเมืองไทยในระยะเปลี่ยนผ่านที่จะมีการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคมนี้ มีปมแปลกประหลาดพิสดาร พิลึกพิลั่น ยากที่จะอธิบาย

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

เหตุคนคนเดียวที่ชื่อ “บิ๊กตู่” มีหลายบทบาท มีอำนาจหน้าที่มากมายก่ายกอง

ที่สำคัญมีสถานะ “สวมหมวก” หลายใบ!?

Advertisement

หนึ่ง ถูกเสนอชื่อจากพรรคพลังประชารัฐให้เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีและอาจเป็นว่าที่นายกฯคนต่อไปได้

หนึ่ง ปัจจุบันก็เป็นนายกฯและเป็นมาเกือบจะครบ 5 ปีแล้ว

หนึ่ง เป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งสวมหมวกใบนี้มาตั้งแต่เป็นผู้บัญชาการทหารบก

และกระทำการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ขาดเพียง 2 เดือนครึ่งเศษก็ครบ 5 ปีเต็ม

การเป็นหัวหน้า คสช.ทำให้ “บิ๊กตู่” มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด สามารถออกประกาศ คำสั่งเป็นร้อยๆ ฉบับ

กระทำการต่างๆ ที่มีผลใช้บังคับในทางนิติบัญญัติ ทางบริหาร ทางตุลาการได้อย่างไม่ผิด

โดยอ้างว่ารัฐธรรมนูญปัจจุบันกำหนดให้กระทำได้

ทั้งๆ ที่อาจขัดต่อหลัก “นิติธรรม” และ “นิติรัฐ” หรือไม่?!

มาตรา 44 คือ ข้อความที่เขียนไว้ไม่กี่บรรทัด แต่ผลที่เกิดขึ้นนั้นผูกมัด สั่นสะเทือนระบบต่างๆ ของบ้านเมืองอย่างกว้างขวาง

อย่าลืมว่าในภาวะปกติ “ผู้นำ” ประเทศไม่อาจมีอำนาจล้นฟ้าเช่นนี้ได้!

หรือไม่จริง?

อย่างไรก็ตาม “บิ๊กตู่” ยังสวมหมวกอีกหลายใบ แต่หมวกใบใหญ่สุดน่าจะเป็นหมวกหัวหน้า คสช.และหมวกนายกฯ

หมวกนายกฯนั้นเข้าใจได้ไม่ยาก เพราะมีสถานะเป็นหัวหน้ารัฐบาล มีหน้าที่กำกับดูแลคณะรัฐมนตรีและข้าราชการทุกกระทรวง ทบวง กรม

ส่วนหมวกหัวหน้า คสช.นั้นออกจะเข้าใจยาก

เพราะตำแหน่งนี้คือหัวหน้า “คณะรัฐประหาร”!

ที่มีสมาชิกรวมทั้งสิ้น 15 คน

ในการปฏิบัติหน้าที่ของ คสช.นั้น ให้หัวหน้า คสช.และ คสช.มีหน้าที่และอำนาจ ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ (รธน.) ฉบับชั่วคราว 2557 และ รธน. 2560 ไปเรื่อยๆ

จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตาม รธน. 2560 จะเข้ารับหน้าที่

สรุปอย่างรวบรัดตามแบบฉบับ “ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ” อดีตประธานกรรมาธิการยกร่าง รธน.ที่ว่า

“เขาอยากอยู่ยาว”!

ที่สำคัญหน้าที่และอำนาจในยามนี้ไม่มีอะไรยิ่งใหญ่เท่ากับ “บิ๊กตู่” มอบดาบ “บิ๊กป้อม” เป็นคนตั้งคณะกรรมการสรรหา ส.ว.จำนวน 9-12 คน เพื่อวางกฎเกณฑ์ ระเบียบ วิธีการ ให้ได้รายชื่อไม่เกิน 400 คน แล้วส่งให้ คสช.เลือกเหลือ 194 คน บวกกับอีก 6 ตำแหน่งที่เป็นผู้นำกองทัพและตำรวจ

รวมกับอีก 50 คน ที่คัดจากรายชื่อ 200 คน ที่เลือกกันเองผ่านระดับอำเภอ จังหวัด ประเทศ ขึ้นมา

ซึ่ง กกต.ได้ส่งรายชื่อแล้วตั้งแต่ 2 มกราคมที่ผ่านมา

จากนั้นจะนำรายชื่อ 250 คน เสนอโปรดเกล้าฯแต่งตั้งต่อไป

โดย ส.ว.เหล่านี้มีสิทธิโหวตเลือกนายกฯด้วย

เรื่องของ ส.ว.จึงตกเป็นประเด็นกล่าวหาโจมตี “บิ๊กตู่” มาโดยตลอด เมื่อถูกเสนอชื่อให้เป็นนายกฯในบัญชีของพรรคพลังประชารัฐ

เพราะถูกมองว่าอาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่?

ซึ่งรัฐธรรมนูญบัญญัติห้ามไว้เป็นการเฉพาะ!

ขณะเดียวกันการที่ “บิ๊กตู่” สวมหมวกหัวหน้า คสช.ถือเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือไม่?

ซึ่งคนระดับรองนายกฯ “วิษณุ เครืองาม” ออกมาการันตีว่า “ไม่ใช่”!

เพราะอย่าลืมว่า “ถ้าใช่” เจ้าหน้าที่รัฐก็ไม่มีสิทธิถูกเสนอชื่อให้เป็นนายกฯในบัญชีของพรรคพลังประชารัฐ เพราะขัดต่อรัฐธรรมนูญและเป็นการกระทำที่เอาเปรียบคู่แข่งคนอื่นๆ

ไม่นับรวมว่าหัวหน้า คสช.ก็คือหัวหน้าคณะรัฐประหาร ปมนี้จะถือว่าเป็น “ปฏิปักษ์” ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยหรือไม่?

ดังนั้นต้องรอว่า กกต.จะสรุปประเด็นเหล่านี้อย่างไร?!

ศุกร์มังกร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image