เวเนซุเอลากับสหรัฐอเมริกา : โดย โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

1.สีเขียวคือพื้นที่ของกลุ่มประเทศละตินอเมริกา 2.สีแดงคือประเทศที่ถูกสหรัฐอเมริกาแทรกแซง 3.ปริมาณของน้ำมันดิบสำรองของประเทศต่างๆ

เวเนซุเอลามีชื่อทางการว่า สาธารณรัฐโบลีวาร์แห่งเวเนซุเอลา (เนื่องจากซีมอน โบลีวาร์ ผู้นำในสงครามปลดแอกประเทศต่างๆ ในทวีปอเมริกาจากสเปนเกิดที่เวเนซุเอลา จึงตั้งชื่อประเทศให้เป็นเกียรติแก่โบลีวาร์) เป็นประเทศบนชายฝั่งทางเหนือของทวีปอเมริกาใต้ มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศโคลอมเบียทางทิศตะวันตก บราซิลทางทิศใต้ และติดกับประเทศกายอานาทางทิศตะวันออก เวเนซุเอลามีพื้นที่ประมาณ 916,445 ตารางกิโลเมตร และมีประชากรราว 29,105,632 คน เวเนซุเอลาเป็นสหพันธรัฐที่มีประธานาธิบดีเป็นประมุข ประกอบด้วย 23 มลรัฐ มีกรุงการากัสเป็นเมืองหลวง

เวเนเซุเอลาเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันของโลก และมีน้ำมันสำรองมากที่สุดในโลก เดิมเวเนซุเอลาเป็นประเทศด้อยพัฒนาที่ส่งออกโภคภัณฑ์ทางการเกษตร เช่น กาแฟและโกโก้ แต่เมื่อมีการค้นพบน้ำมันและก๊าซธรรมชาติมากมายจึงกลายเป็นสินค้าส่งออกและเป็นรายได้ภาครัฐเพียงอย่างเดียว เมื่อใดที่ราคาน้ำมันตกต่ำก็จะนำไปสู่วิกฤตหนี้สินภายนอกและวิกฤตเศรษฐกิจอันยาวนาน ซึ่งอัตราเงินเฟ้อของเวเนซุเอลาเคยขึ้นสูงถึง 100% ใน พ.ศ.2539 และอัตราความยากจนของคนในประเทศมีถึง 66% ใน พ.ศ.2538 โดยที่ใน พ.ศ.2541 จีดีพีต่อหัวร่วงลงอยู่ระดับเดียวกับ พ.ศ.2506 หรือลดลงหนึ่งในสามจากจุดสูงสุดจาก พ.ศ.2521 เมื่อมีการฟื้นตัวของราคาน้ำมัน เศรษฐกิจก็จะกระเตื้องขึ้นบ้าง

วัฏจักรแบบนี้ทำให้เศรษฐกิจของเวเนซุเอลาทรุดตัวลงตามลำดับเนื่องจากการพึ่งพาการส่งออกของน้ำมันเป็นสินค้าขาออกเพียงอย่างเดียวและเวเนซุเอลาต้องสั่งอาหารเป็นสินค้าขาเข้าเนื่องจากประชาชนไม่สามารถพึ่งพาการเกษตรภายในประเทศได้

วิกฤตการณ์ประธานาธิบดีเวเนซุเอลา พ.ศ.2562 มีสาเหตุมาจากประธานาธิบดีนิโกลัส มาดูโร เป็นผู้ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีเป็นสมัยที่ 2 เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2561 เนื่องจากมีการกล่าวหาว่าการเลือกตั้งเป็นไปด้วยการโกงคะแนนเสียงเลือกตั้งและการข่มขู่จับกุมฝ่ายตรงข้ามกันอย่างเปิดเผย ทำให้เกิดมีการชุมนุมคัดค้านเรียกร้องให้ประธานาธิบดีมาดูโรลาออก เริ่มตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม พ.ศ.2562 และดำเนินมาจนปัจจุบัน โดยสมัชชาแห่งชาติเวเนซุเอลา ซึ่งฝ่ายค้านเป็นฝ่ายข้างมากในรัฐสภาได้ประกาศให้นายฮวน กวยโด ประธานรัฐสภาทำหน้าที่เป็นรักษาการประธานาธิบดี (ซึ่งสหรัฐอเมริการีบประกาศรับรองให้นายฮวน กวยโด เป็นรักษาการประธานาธิบดีแทบจะทันทีเลยทีเดียว)

Advertisement

แต่ศาลฎีกาของเวเนซุเอลาพิพากษาว่าแถลงการณ์ของสมัชชาแห่งชาติไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญเนื่องจากหลักการแบ่งแยกอำนาจ

อย่างไรก็ตาม นายฮวน กวยโด เรียกร้องให้ชาวเวเนซุเอลาเดินขบวนต่อต้านมาดูโร ซึ่งก็เกิดการเดินขบวนสนับสนุนประธานาธิบดีมาดูโรมาเผชิญหน้ากัน (แบบเสื้อเหลืองกับเสื้อแดง) รัฐบาลมาดูโรอ้างว่าวิกฤตของเวเนซุเอลาในปัจจุบันเป็นความพยายามทำรัฐประหารของสหรัฐเพื่อโค่นรัฐบาลของมาดูโรและเข้าควบคุมน้ำมันสำรองมหาศาลของประเทศ ถึงแม้ว่านโยบายประชานิยมของอดีตประธานาธิบดีฮูโก ชาเวซ ผู้ล่วงลับไปแล้วเพิ่งมาล่มสลายลงในสมัยของประธานาธิบดีมาดูโรก็ตาม

แต่การบริหารการเงินการคลังที่ผิดพลาดด้วยการพิมพ์ธนบัตรขึ้นแก้ปัญหาการขาดรายได้จากราคาน้ำมันตกต่ำก่อให้เกิดปัญหาเงินเฟ้ออย่างมโหฬารถึงขั้นทำให้เศรษฐกิจของเวเนซุเอลาล่มสลาย ประชาชนเป็นจำนวนมากอดอยากถึงขนาดทำให้เกิดคลื่นผู้อพยพออกนอกประเทศเพื่อแสวงหาอาหารก็ตาม แต่ข้อกล่าวอ้างของประธานาธิบดีมาดูโรก็มีน้ำหนักน่าเชื่อถืออยู่ไม่น้อยเนื่องจากกลุ่มประเทศละตินอเมริกาพื้นที่บริเวณอเมริกากลางและอเมริกาใต้ (ดูรูป) ในอดีตเคยเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรอินคาและมายา (อินเดียนแดง) ต่อมาได้ตกอยู่ภายใต้อาณานิคมของสเปน

Advertisement

เพราะฉะนั้นวิถีชีวิตของกลุ่มคนในแถบนี้จึงเป็นการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมดั้งเดิมกับยุโรปตะวันตก ภูมิภาคละตินอเมริกาแบ่งเป็นเขตภูมิศาสตร์วัฒนธรรมย่อยได้ 6 เขต กล่าวคือ 1) เม็กซิโก 2) บราซิล 3) กลุ่มอเมริกากลาง ได้แก่ กัวเตมาลา เบลีส เอลซัลวาดอร์ ฮอนดูรัส นิการากัว คอสตาริกา ปานามา 4) กลุ่มอินเดียตะวันตก ได้แก่ บาฮามาส คิวบา จาไมกา เฮติ สาธารณรัฐโดมินิกัน กายอานา ซูรินาเม เฟรนซ์เกียนา 5) กลุ่มเทือกเขาแอนดีสทางเหนือ ได้แก่ เวเนซุเอลา โคลอมเบีย เอกวาดอร์ เปรู 6) เขตทางใต้ของทวีปอเมริกาใต้ ได้แก่ โบลิเวีย ชิลี อาร์เจนตินา ปารากวัย อุรุกวัย

ครับ! จากประวัติศาสตร์ได้ชี้ชัดว่าสหรัฐอเมริกาเข้าแทรกแซงกิจการภายในประเทศแทบทุกประเทศในภูมิภาคโดยถ้วนหน้า ไม่ว่าจะเป็นการยกกองทัพเข้ามายึดครอง หรือสนับสนุนการยึดอำนาจจากรัฐบาลของแทบทุกประเทศที่มีนโยบายต่อต้านสหรัฐอเมริกาและเข้าครอบงำทางเศรษฐกิจขูดรีดชาวละตินอเมริกาเป็นนิจ (ดูรูปที่ 2 แสดงให้เห็นการเข้าแทรกแซงกิจการภายในประเทศของกลุ่มประเทศละตินอเมริกาในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา) ซึ่งเวเนซุเอลาก็เคยโดนสหรัฐอเมริกาส่งเสริมการรัฐประหารในเวเนซุเอลามาแล้วเมื่อ พ.ศ.2545 และกำลังเผชิญหน้ากับสหรัฐอเมริกาอีกในปัจจุบัน

โปรดดูรูปที่ 3 ที่แสดงว่าเวเนซุเอลามีน้ำมันดิบสำรองมากที่สุดในโลกมากกว่าซาอุดีอาระเบียเสียอีก

โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image