สภานิติบัญญัติแห่งชาติของโนบิตะ : โดย กล้า สมุทวณิช

ผมได้พบโพสต์หนึ่งที่มิตรสหายแชร์ต่อกันมาที่น่าสนใจจนทำให้ต้องครุ่นคิดอยู่นาน และเห็นว่าน่าจะนำมาขยายความกัน

โพสต์ดังกล่าวเดาว่าผู้เขียนน่าจะเป็นนักกฎหมายในภาครัฐ ซึ่งออกมา “แสดงความขอบคุณ” ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช.และกำลังจะหมดวาระลงในไม่กี่วันนี้ เนื่องจากจะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

ความรู้สึกซาบซึ้งของท่านผู้นั้นก็เนื่องมาจากว่า “เพราะไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่เราจะมีสภานิติบัญญัติที่ทำงานอย่างแข็งขันและมีประสิทธิภาพในการออกกฎหมายได้มากมายมหาศาลขนาดนี้” (แม้ประโยคออกมาจะดูแปร่งๆ ไปบ้าง คือท่านเปรียบเทียบว่า เดือนหนึ่งๆ สนช.ออกกฎหมายทีราวกับหมาออกลูก!)

ท่านให้เหตุผลว่า เพราะเมื่อพิจารณาในรายละเอียดจะพบว่ากฎหมายที่ สนช.เร่งคลอดออกมา ส่วนใหญ่เป็นร่างกฎหมายที่ถูกฝ่ายการเมืองดองเค็มเอาไว้ มิใช่การริเริ่มของ สนช.หรือแม้แต่ในรัฐบาลนี้

Advertisement

ที่ผู้เขียนข้อความเห็นว่าเป็นกฎหมายที่ดีมีประโยชน์ ก็เช่น พ.ร.บ.สถาบันการเงินประชาชน ที่เสนอมาตั้งแต่อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย การแก้ไขกฎหมายต่างๆ ให้ทันสมัย กฎหมายเทคนิคและกฎหมายพาณิชย์ต่างๆ บางอย่างก็เป็นสิทธิประโยชน์ของประชาชน เช่น การแก้ไขกฎหมายแพ่งว่าด้วยการขายฝาก กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ กฎหมายทรัพย์อิงสิทธิ และกฎหมายที่ทันสมัยอื่นๆ อีกมากมาย

เช่นนี้ ท่านผู้เขียนข้อความจึงเห็นใจว่า สนช.ท่านทุ่มเทออกกฎหมายขนาดนี้ ให้หลับคาสภากันก็ไม่แปลก ดีกว่าพวก ส.ส.ที่ฟุ้งฝอยน้ำลาย หนำซ้ำยังเสียบบัตรแทนกันอีก ช่างไม่รู้จักบทบาทและหน้าที่ของตนเอาเสียเลย

จับความสรุปได้ประมาณนี้

Advertisement

เมื่ออ่านโพสต์นี้จบ ผมก็คุ้นๆ และนึกถึงการ์ตูนโดราเอมอนตอนหนึ่งที่เคยดู จึงลองไปสืบค้นใน YouTube ก็ได้พบว่ามีผู้นำไปลงไว้แบบไม่ถูกต้องด้วยลิขสิทธิ์ จึงขออนุญาตไม่ชี้ทางให้ แต่ใครสนใจค้นหาด้วยคีย์เวิร์ดที่เกี่ยวข้องก็น่าจะหาพบได้ไม่ยากนัก

เรื่องเริ่มต้นขึ้นเมื่อคุณป้าผู้ใจดีของโนบิตะที่อยู่ฮอกไกโดนั้นไม่สามารถมาให้เงินปีใหม่โนบิตะได้ เนื่องจาก
รัฐบาลขึ้นภาษี ตามรูปเรื่อง โนบิตะก็ร้องขอให้โดราเอมอนเอาของวิเศษอะไรก็ได้ออกมาเพื่อแก้กฎหมายภาษีให้คุณป้ามาจากฮอกไกโดได้

โดราเอมอนจึงเอา “สภานิติบัญญัติแห่งชาติฉบับพกพา” ซึ่งเป็นกล่องทำเป็นรูปรัฐสภาจำลองมาให้โนบิตะเขียนกฎหมายที่ต้องการใส่ลงไป แล้วสิ่งที่เขียนใส่ลงไปนั้นจะกลายเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับได้ทั่วประเทศขึ้นมาทันที

“โนบิตะบัญญัติ” ฉบับแรกคือการลดภาษีตามความตั้งใจเดิม แต่แล้วก็มานึกได้ว่า จริงๆ ที่อยากให้คุณป้ามาจากฮอกไกโดก็เพราะอยากได้เงินปีใหม่ ถ้าอย่างนั้นก็ออกกฎหมายบังคับให้พ่อแม่ทุกคนจะต้องให้เงินปีใหม่เด็กๆ คนละหมื่นเยนเสียเลยดีกว่า หมดเรื่อง

พอโนบิตะได้เงินหมื่นเยนจะเอาไปใช้ก็พบว่าของที่อยากได้ก็ยังแพงกว่าเงินที่มี ก็เลยออกกฎหมายขึ้นมาอีกฉบับให้ราคาสินค้าทุกอย่างทั่วประเทศลดลง 90% เช่นเดิมราคาพันเยนก็ให้ซื้อได้ในราคาร้อยเยน

เป็นจุดเริ่มต้นในการออกกฎหมายตามอำเภอใจของโนบิตะ

พักเรื่องของโนบิตะและโดราเอมอนไว้เท่านี้ กลับมาที่ประเด็นของท่านผู้ที่เขียนความเห็นข้างต้น ซึ่งจากประสบการณ์ทำงานโดยตรงและจากการทำงานวิจัยกฎหมาย ออกจะ “เห็นด้วย” กับความเห็นดังกล่าวอยู่ไม่น้อยในหลายจุด

เพราะเป็นที่รู้กันในแวดวงผู้ใช้และอยู่ในวงการกฎหมาย คือในสมัยที่สภานิติบัญญัติยุค ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนแล้ว กฎหมายที่มีประโยชน์แต่ไม่ใช่นโยบายที่พรรคการเมืองที่มีเสียงข้างมากในสภานั้นมุ่งจะผลักดันนั้นช่างตราขึ้นได้ยากเย็นเข็ญใจ หลายฉบับใช้เวลานับสิบปีนี่ก็เรื่องจริง

โดยเฉพาะถ้าเป็นการแก้ไขกฎหมายพื้นฐานเดิม ได้แก่ กฎหมายแพ่งพาณิชย์ กฎหมายอาญา กฎหมายปกครองให้ทันสมัยหรือแก้ข้อติดขัดในการใช้บังคับ หรือเป็นหลักการของกฎหมายล้วนๆ ยิ่งไม่ได้รับความสนใจจากฝ่าย ส.ส.

ส่วนตัวแล้วครั้งหนึ่งผมเคยเข้าร่วมสัมมนารับฟังและให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในเรื่องของละเมิดที่แทบไม่ได้รับการแก้ไขมาร่วมครึ่งศตวรรษ โดยร่างกฎหมายใหม่นี้จะเปิดโอกาสให้ศาลกำหนดค่าเสียหายในการเยียวยาเชิงจิตใจ และค่าเสียหายเชิงลงโทษได้

ก่อนหน้านี้เคยมีคำพิพากษาฎีกาเรื่องที่ไปรษณีย์ส่งโทรเลขผิดไปแจ้งข่าวแก่บิดาว่าบุตรสาวของเขา “ถึงแก่กรรมแล้ว” ทำให้ผู้ได้รับโทรเลขเป็นลมและเศร้าสลดเสียใจอยู่นาน ค่อยมาได้ทราบว่าข้อความที่แท้จริงของผู้ส่ง คือบุตรสาวของเขา “ถึงแก่งคอยแล้ว” แต่เพราะกฎหมายไทยไม่เปิดช่อง ค่าเสียหายทางจิตใจนี้จึงไม่อาจเรียกให้ชดใช้ได้ รวมถึงการกระทำละเมิดโดยจงใจไม่แยแสความเสียหายของผู้อื่น มุ่งหวังประโยชน์ของตนเพียงฝ่ายเดียว เพราะคำนึงแล้วว่าจ่าย “ค่าเสียหาย” ถูกกว่าประโยชน์ที่ตนจะได้รับ แต่ศาลก็กำหนดให้ชดใช้ได้แต่เฉพาะค่าเสียหายจริง จะกำหนดเพิ่มเพื่อลงโทษพฤติกรรมเห็นแก่ตัวเช่นนั้นไม่ได้ จึงต้องมีการแก้ไขกฎหมายแพ่งดังกล่าว

ผมไปรับฟังสัมมนาเรื่องร่างกฎหมายนี้มาประมาณเจ็ดแปดปีมาแล้ว แต่กฎหมายแพ่งเรื่องละเมิดที่ว่านี้ก็ไม่ได้รับการแก้ไข แม้แต่โดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่ออกกฎหมาย “ราวกับหมาออกลูก” นี้ก็ตาม

หรือที่ใกล้ตัวหน่อย คือเมื่อครั้งหนึ่งที่เป็นคณะทำงานยกร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่สมัยรัฐธรรมนูญ 2550 ในตอนนั้นมีวันหนึ่งที่ผมต้องตามท่านผู้หลักผู้ใหญ่ไปรับฟังและอภิปรายกับคณะกรรมาธิการของฝ่ายสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งแน่นอนว่ามาจากพรรคการเมืองที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับศาลรัฐธรรมนูญ

เวลาของการอภิปรายกฎหมายที่ว่า คือการกระแหนะกระแหนเสียดสีศาลรัฐธรรมนูญ การจับผิดถ้อยเล็กคำน้อย เช่น สงสัยว่าศาลรัฐธรรมนูญถือเป็น “ศาล” หรือไม่ และถ้าใช่ทำไมเรียกการเสนอคดีต่อศาลว่า “คำร้อง” ไม่ใช่ “คำฟ้อง” ฯลฯ จนหมดเวลากันไปเป็นชั่วโมงๆ ยังไม่พ้นบทนิยามศัพท์เลย

เรื่องนี้จบลงโดยที่ระหว่างการใช้บังคับของรัฐธรรมนูญปี 2550 ก็ไม่มีการตรา พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญออกมาจนแล้วจนรอด และครั้งหนึ่งเมื่อความขัดแย้งระหว่างศาลรัฐธรรมนูญและฝ่ายสภาเข้มข้นในช่วงก่อนการรัฐประหาร ก็มี ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลท่านหนึ่งยกประเด็นขึ้นมาโจมตีว่าศาลรัฐธรรมนูญใช้ข้อกำหนดของตัวเองตัดสินคดี ไม่มีความชอบธรรม ขัดรัฐธรรมนูญ ทำไมถึงไม่มีไม่ใช้กฎหมายวิธีพิจารณา ลืมไปว่าที่มันไม่มีเพราะสภาของพวกท่านเองนั่นแหละไม่ยอมตราขึ้นเอง

ดังนั้น หากจะมีบางท่านชื่นชมสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหารนั้นจึงพอเข้าใจได้ กับเมื่อเทียบกับสมาชิกสภานิติบัญญัติในยุค ส.ส.ที่การตราหรือผ่านกฎหมายออกมาน้อยกว่าทั้งในเชิงจำนวน และเมื่อพิจารณาในรายฉบับก็จะพบว่ากฎหมายที่สภา ส.ส.จะออกมาได้เร็วก็มักจะเป็นกฎหมายที่เป็นการขับเคลื่อนนโยบายทางการเมืองของพรรคที่ได้หาเสียงไว้กับประชาชน

เป็นคำตอบหนึ่งว่า ทำไม สนช.ถึงออกกฎหมายมาได้มากมายขนาดนั้น นั่นก็เพราะว่าเขาไม่มีความผูกพันอันใดที่จะต้องออกกฎหมายที่ได้สัญญาไว้กับประชาชน กฎหมายที่ สนช.พิจารณาและผ่านออกไป ส่วนใหญ่จึงเป็นกฎหมายที่มาจากฝ่ายบริหารคือคณะรัฐมนตรี ซึ่งในทางปฏิบัติก็คือฝ่าย “ราชการประจำ” คือกระทรวง ทบวง กรม ต่างๆ อยากได้กฎหมายอะไรไว้ใช้ให้อำนาจตัวเองในเรื่องใดก็เร่งผลักดันกฎหมายนั้นๆ รวมถึงบรรดาภาคเอกชนที่ต้องการกฎหมาย เช่น กลุ่มผู้พิทักษ์สัตว์ก็อยากได้กฎหมายป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ กลุ่ม LGBT ก็อยากได้กฎหมายว่าด้วยความเสมอภาคทางเพศ หรือกฎหมายรับรองการสมรสเพศเดียวกัน

จึงเป็นที่รู้กันว่า ใครอยากได้กฎหมายอะไร ก็เป็น “โอกาสทอง” ให้ไปวิ่งเต้นผลักดันเอากับสภา สนช.ในระบอบรัฐประหารนี้ ถ้าโชคดีก็จะได้กฎหมายที่ต้องการสมใจ เหมือนโนบิตะในการ์ตูน

ที่เนื้อเรื่องต่อจากที่เล่าค้างไว้คือ โนบิตะฉวยโอกาสที่โดราเอมอนไปซื้อโดรายากิ (ลดราคา 90%) ออกกฎหมายเอื้อประโยชน์ให้ตัวเองไฟแลบ ในตอนแรกก็เป็นกฎหมายที่ให้มีผลใช้บังคับทั่วไปนั่นแหละ เช่น กฎหมายที่กำหนดว่า ผู้ใดต่อยผู้อื่นให้ผู้ถูกต่อยนั้นต่อยกลับได้ทันที เพื่อไม่ให้ไจแอนท์จอมเกเรรังแกตัวเองหรือเพื่อนฝูง แต่กฎหมายก็เกิดช่องว่างอันโกลาหล คือทำให้ถ้ามีการต่อยกันสักครั้งแล้วก็จะมีการต่อยกันกลับไปกลับมาไม่มีที่สิ้นสุด ทำให้โนบิตะรีบวิ่งไปยกเลิกกฎหมายแทบไม่ทัน

พาให้นึกถึงตอนช่วงแรกๆ ที่สภา สนช.ที่ว่า ซึ่งออกกฎหมายมาแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยการจำนองจำนำและการค้ำประกัน ซึ่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบการพิจารณาสินเชื่อและการบังคับเอาแก่หลักประกันของสถาบันการเงิน มีข้อทักท้วงกันใหญ่โต โชคดีว่าระหว่างนั้นเป็น “ระยะเปลี่ยนผ่าน” ที่กฎหมายยังรั้งผลการใช้บังคับอยู่ แต่เมื่อเกิดการโต้แย้งคัดค้านกันดังขึ้นเรื่อยๆ สนช.จึงต้องรีบออกกฎหมายใหม่ในเรื่องดังกล่าว มายกเลิกกฎหมายที่เพิ่งแก้ไขก่อนหน้าไม่ให้มีผลใช้บังคับ เป็นเรื่องตลกไม่ค่อยออกของวงการกฎหมายกันไป

จากนั้นทำไปทำมา โนบิตะก็ใช้สภานิติบัญญัติในกำมือออกกฎหมายเป็นประโยชน์ต่อตัวเองคนเดียวล้วนๆ เช่น กฎหมายห้ามการทบทวนบทเรียนหลังเลิกเรียนเพื่อจะได้เล่นกับชิซูกะ กฎหมายกำหนดว่าถ้ามีการเล่นเกมแข่งขันกัน ให้โนบิตะชนะทันทีโดยผลของกฎหมาย ให้วันเกิดโนบิตะเป็นวันหยุดราชการ ห้ามผู้ใดซื้อของตัดหน้าโนบิตะ ฯลฯ การ์ตูนตอนนี้จบลงด้วยการที่สภานิติบัญญัติฉบับพกพารับไม่ได้ ระเบิดตัวเองไป

ที่จะว่าไป การ์ตูนตอนที่เล่าไปนี้ก็ไม่แตกต่างจากความเป็นจริงเท่าไรนัก เพราะเมื่อใดที่ใครสักคนมีสภาที่ “สั่งได้ตามใจ” เขาย่อมใช้มันเพื่อประโยชน์ หรือคนใกล้ชิดหรือรู้ช่องทางก็พยายามมาใช้ประโยชน์ และเมื่อตัวเองได้รับประโยชน์ ก็เลยพยายามไม่มองโทษของมัน หรือต่อให้เห็นก็ไม่พูด เพราะกลัวว่าต่อไปจะเอาร่างกฎหมายไปเสียบสั่งให้ออกมาใช้บังคับไม่ได้

รวมถึงปิดหูปิดปาก เวลาที่ใครสักคนเอากฎหมายที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพผู้คน อย่างกฎหมายคอมพิวเตอร์ หรือกฎหมายความปลอดภัยไซเบอร์ ไปยัดให้สภาพกพาทันใจปั๊มเป็นกฎหมายออกมาใช้เป็นเครื่องมือด้วย

กล้า สมุทวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image