คุณภาพคือความอยู่รอด ตอน พนักงานที่องค์กรต้องการ : โดย วิฑูรย์ สิมะโชคดี

ภายใต้สภาวะการแข่งขันอย่างเข้มข้นของธุรกิจอุตสาหกรรมทุกวันนี้ องค์กรต่างๆ ล้วนต้องการ “พนักงานที่มีคุณภาพ”

“พนักงานที่มีคุณภาพ” ที่ว่านี้ อาจมีความหมายต่างกันไปในสายตาของเจ้าของกิจการ หรือผู้บริหารระดับสูง แต่อย่างน้อยจะต้องมีคุณสมบัติที่สำคัญอยู่ 2 ประการ ที่ทุกองค์กรต้องการ คือ (1) มีความสามารถในการเรียนรู้งานได้เร็ว และ (2) มีนิสัยที่รักการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง เพื่อการลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพ และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับองค์กร รวมตลอดถึง “การพัฒนาตนเอง” ของพนักงานที่ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น

“การปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง” (Continuous Improvement : CI) หมายถึง การทำงานได้ดีขึ้นเรื่อยๆ โดยการเรียนรู้จากประสบการณ์และหรือความผิดพลาด และปรังปรุงแก้ไขให้ถูกต้อง คือดีขึ้น ถูกต้องมากขึ้น และผิดพลาดน้อยลง

หลายบริษัทที่เพิ่งเริ่ม “ทำกิจกรรม CI” มักจะเกิดจากการที่มี “ของเสีย” จากการผลิตมากขึ้น ทำให้ต้องทำ OT จนต้นทุนสูงขึ้น ดังนั้น จึงตัดสินใจเริ่ม “กิจกรรม CI” อย่างจริงจังเป็นเรื่องเป็นราว

Advertisement

ในโรงงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมอุปกรณ์เครื่องจักรให้พร้อมเพียงใด แต่การทำงานด้วยมือคนก็ยังขาดไม่ได้ ดังนั้น โรงงานจึงต้องการการทำงานระหว่างคนกับเครื่องจักรที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

เพราะความคิดหรือไอเดียดีๆ จะเกิดขึ้นระหว่างที่ทำงานเสมอ พนักงานสามารถหาไอเดียต่างๆ เพื่อปรับปรุงงานไปเรื่อยๆ เพื่อให้งานง่ายขึ้นและเสร็จเร็วขึ้น แม้จะเป็นงานที่ยุ่งยากเพียงใดก็ตาม เพราะไม่มีงานอะไรที่ราบรื่นตั้งแต่แรก หลายเรื่องต้องลองทำดูจึงจะรู้

การปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง (โดยพนักงานที่มีคุณภาพ) จึงมีความสำคัญมากขึ้นทุกที แต่สิ่งที่ควรจะต้องเน้นให้มากๆ ก็คือ การทำให้พนักงานทุกคนเข้าใจตรงกันว่า การทำ “กิจกรรม CI” นั้น ไม่ใช่เพื่อบริษัทหรือเพื่อเจ้าของกิจการโดยตรง แต่ต้องทำเพื่อให้ทุกคนทำงานได้ง่ายขึ้น และทุกคนมีความสามารถเพิ่มขึ้น ทั้งกำลังสมองหรือความคิดอ่านและกำลังแรงงาน

Advertisement

ดังนั้น หลายองค์กรจึงไม่มีการให้รางวัลสำหรับกิจกรรม CI ก็พนักงานคิดขึ้นทำขึ้น ในขณะที่หลายองค์กรก็ให้ “เงินรางวัล” เป็นการจูงใจให้พนักงานสนใจ ร่วมทำ “กิจกรรม CI”

กิจกรรม CI ไม่ควรจะกำหนดอะไรที่ยุ่งยากเกินไป เพียงแค่จัดทำแบบฟอร์มของกิจกรรม CI ที่เขียนหรือกรอกข้อความได้ง่ายๆ ก็พอ และควรตั้งเป้าไว้อย่างน้อยเดือนละ 1 เรื่อง

เรื่องที่สำคัญของก็คือ การแบ่งปันข้อมูล ความรู้และประสบการณ์ ที่เกิดจากการทำ “กิจกรรม CI” โดยประกาศไว้ที่กระดานไวท์บอร์ดภายในโรงงาน ที่พนักงานเห็นได้ชัด เพราะนอกจากเป็นการแบ่งปันเทคนิคไอเดียและประสบการณ์แล้ว ยังเป็นการกระตุ้นจูงใจ ให้พนักงานร่วมใน “กิจกรรม CI” เพื่อเพิ่มสมรรถนะการทำงานให้สูงขึ้นไปอีกด้วย

“การปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง” จึงเป็นคุณสมบัติสำคัญประการหนึ่งของ “พนักงานคุณภาพ” ที่ทุกองค์กรต้องการ ครับผม !

วิฑูรย์ สิมะโชคดี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image