จิตวิวัฒน์ : จิตวิทยาครอบครัว Family Psychology (1) : โดย ญาดา สันติสุขสกุล

ความสัมพันธ์กับบทบาทต่างๆ ในชีวิต สร้างความลงตัวและขัดแย้งได้เสมอ สำหรับหลายคน บทบาทความเป็นพ่อและแม่อาจจะเป็นเรื่องท้าทาย แต่อีกหลายคนกลับเป็นเรื่องยากเพราะกลัวว่าจะทำได้ไม่ดีพอ ประกอบกับแต่เดิม เราจะมีบทบาทหลากหลายแทรกในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว เช่น ผู้จัดการ ลูกน้อง เพื่อน สามี ภรรยา ฯลฯ การสลับบทบาทให้เหมาะสมกับสภาวะจิตใจในแต่ละสถานการณ์ ย่อมเป็นภารกิจของมนุษย์ทุกคนที่ควรเรียนรู้ เราจะมาแยกแยะถึงแต่ละด้านว่าในมุมที่สร้างความขัดแย้งต่อใจ จะมีทางออกให้กับโจทย์ชีวิตกันอย่างไรได้บ้าง

สำหรับหลายคนที่รู้สึกสับสนอลหม่านใจเมื่อเข้าสู่การเป็นพ่อแม่มือใหม่ที่ขัดแย้งกับนิสัยหลักของตนเอง ในส่วนแรก ฉันจะพาไปมองเรื่อง “ทุนเดิมของชีวิต” ที่ก่อให้เกิดแบบแผนความสัมพันธ์ต่างๆ ซึ่งหลักๆ แล้วมีอยู่สองแบบ ซึ่งจะรวบมิติของ “บาดแผลทางจิตใจ/ปม (Trauma)” ที่ส่งผลให้เราสร้างนิสัยใหม่ขึ้นเพื่อการอยู่รอดและเติบโตทั้งทางกายและทางจิตใจ จนก่อเกิดเป็นแบบแผนบุคลิกตัวตนหรือนิสัยประจำตัวของเราในปัจจุบัน “นี่แหละคือความเป็นฉัน/ผม ฉันเป็นคนรักอิสระไม่ชอบการผูกมัด ส่วนฉันอะไรก็ได้ ง่ายๆ ฉันเป็นคนพูดตรงๆ มากกว่าจะมาคอยใส่ใจความรู้สึกของคน ฯลฯ” นิสัยประจำตัวเหล่านี้จะโยงไปสู่เรื่องบุคลิกภาพตัวตนที่จะมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์รอบๆ

เมื่อชีวิตถูกขับเคลื่อนไปด้วยปมบาดแผลในอดีต อิทธิพลจากอดีตย่อมส่งผลต่อรูปแบบความสัมพันธ์จากเราไปสู่ลูก สู่คนที่เรารัก เมื่อลูกฟังเราน้อยลง และเราก็เริ่มฟังลูกได้ยากขึ้น หรือตั้งแต่เริ่มมีลูก คุณกลับรู้สึกห่างเหินกับคนรักมากขึ้น เมื่อชีวิตถูกอิทธิพลของ “ปม” เล่นงาน คุณก็เหมือนกับหุ่นที่ถูกชักใยให้มีปฏิกิริยาตอบสนองกับคนรอบข้างอย่างชัดเจนได้ง่าย และซ้ำเติมคุณไปเรื่อยๆ เหตุการณ์ต่างๆ เชื้อเชิญให้คุณพบเจอกับความปั่นป่วนทั้งทางกายและทางใจ เพราะมนุษย์เราไม่มีใครชอบชุดประสบการณ์ยากๆ และต่อต้านสิ่งที่เราไม่ชอบ เราจึงสร้างป้อมปราการขวางกั้นความสัมพันธ์ต่างๆ และเลือกทำสงครามกับตัวเอง หลายคนเลือกความวิตกกังวลแทนการแก้ไขสถานการณ์ที่เหมาะสม หลายคนเลือกต่อสู้ดิ้นรนอย่างไม่ลดละ บางคนเลือกหลบหนีความท้าทายของวิกฤตชีวิต สิ้นหวังท้อแท้และจมอยู่ในความรู้สึกพ่ายแพ้ ปล่อยให้ถูกครอบงำไปด้วยความรู้สึกไม่ปลอดภัย และจ่ายค่าเสียหายด้วยโรคภัยที่รุมเร้า

เหตุการณ์เลวร้ายไม่ได้ทำลายจิตใจเราเท่ากับวิธีการตอบสนองของเราต่อโลกภายนอก แต่เรามีทางเลือกมากกว่าที่เราเคยเป็นมา เลือกเป็นพ่อแม่ที่มีใจเปิดรับการเรียนรู้ไปพร้อมกับลูกแต่ละช่วงวัยได้ หล่อเลี้ยงให้เขาและเธอเติบโตไปเป็นคนที่พร้อมจะดูแลตนเองและใช้ชีวิตอย่างผาสุก เราจะต้องเรียนรู้กระบวนการรื้อถอนระบบความเชื่อต่างๆ ที่คอยหล่อหลอมเรา เพื่อให้เกิดทรรศนะใหม่ต่อการเป็นพ่อแม่ตามธรรมชาติ ไม่ใช่โอนเอนไปตามเสียงสังคมจนลูกไม่มีที่ยืนในแบบของเขา

Advertisement

อย่างเช่น คนเก่งคือคนที่จะถูกมองเห็นและได้รับการยอมรับ…จริงเหรอ?, เด็กเรียนดีคือเด็กที่มีพ่อแม่คอยจัดตารางพิเศษแบบเข้มข้น…จริงเหรอ?, ความมั่นใจต้องเป็นคนกล้าแสดงออก…จริงเหรอ?, คนที่เข้มแข็งคือคนที่จะไม่ร้องไห้…ใช่เหรอ?

เมื่อความเชื่อเหล่านี้กลายเป็นเสมือนลูกศรที่พ่อแม่หลายคนนำมาปักใส่ลูกของตนเอง กลายเป็นมุมมองที่วัดค่ามาตรฐานต่างๆ จะเหลือเพียงคำตัดสินว่า “ลูกของเรายังดีไม่พอ” คุณจะกลายเป็นผู้ปกครองที่ใช้ความคิดตัดสินการกระทำของเด็กตลอดเวลา แบบว่า “ทำสิ่งนี้ถูก ทำสิ่งนี้ผิด”

ฉันกำลังจะเน้นย้ำกับคุณว่า การที่ธรรมชาติให้คุณมาเจอกับคนรอบข้างที่คุณรักถือเป็นแบบฝึกหัดที่ยิ่งใหญ่นัก เมื่อคุณพร้อมจะนำธรรมชาติของความเอื้ออารี ความเมตตามอบให้ต่อกัน คุณจะเป็นพ่อแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยความสบายใจ วางใจในความสัมพันธ์ที่มั่นคง แต่ถ้าคุณละเลยธรรมชาติของจิตที่เปิดกว้าง จะส่งผลให้คุณถูกบดบังการรับรู้ความรู้สึกต่อลูกของคุณ ไม่สามารถตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของเขาได้ และไม่สามารถเข้าใจภาษาอารมณ์ของเด็กในแต่ละช่วงวัย โลกแห่งความสัมพันธ์ของคุณจะถูกพันธนาการไปด้วยความคับข้องใจ ขุ่นเคือง

Advertisement

หลายครั้งที่ฉันไปห้างสรรพสินค้า จะพบครอบครัวที่เลือกใช้เวลาร่วมกันในวันสบายๆ พวกเขาหวังจะมีเวลาเบิกบานร่วมกัน แต่ต้องมาแพ้ทางลูก เมื่อเด็กต้องการของเล่นชิ้นใหม่หรือกินไปเล่นไปในร้านอาหาร พ่อแม่จะเริ่มใช้น้ำเสียงและท่าทีปฏิเสธความต้องการของเด็กแบบเร็วๆ นำไปสู่การก่อสงครามกลางห้าง เด็กจะเริ่มร้องไห้โวยวาย และจบลงด้วยบรรยากาศน่าเบื่อหน่าย แล้วลากถูกันกลับบ้าน

ถึงแม้ “บ้าน” คือสถานที่รองรับความเป็นครอบครัวและเป็นเสมือนโรงเรียนแห่งแรก แต่เป็นที่มาของ “ปม” บาดแผลทางกายและทางใจเช่นกัน ถึงแม้ผู้ปกครองหรือพ่อแม่เองต้องการจะปกป้องเด็กให้รอดพ้นจากความเจ็บปวดต่างๆ แต่เป็นเรื่องยากที่จะยอมรับว่าคุณก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่สร้างปมภายในให้แก่เด็กด้วยเช่นกัน

เมื่อเด็กเล็กยังไม่สามารถใช้คำศัพท์อธิบายได้เท่าผู้ใหญ่ เราจึงจำเป็นต้องช่วยขยายอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ ของเขา ฉันเคยเจอพ่อแม่หลายคนที่เดินมาบอกฉันภายหลังว่า “หลายครั้งเขาและเธอพูดกับลูกเหมือนเป็นผู้พิพากษากำลังสอบคดีความ”

และเมื่อเห็นเด็กนิ่ง จึงร่ายบทเทศน์ แนะนำความรู้ทางนามธรรมที่เกินความจำเป็นแก่เด็ก

ในโต๊ะอาหารมื้อกลางวัน ฉันนั่งร่วมทานอาหารกับแม่ลูกคู่หนึ่ง คุณแม่วัยสามสิบต้นๆ กับลูกสาววัยสามขวบ คุณแม่ตั้งใจให้ลูกทานข้าวเอง แต่ก็อยากให้ลูกระวังไม่ทำเม็ดข้าวหก แต่ทุกคำที่เจ้าหนูตักข้าวเข้าปากจะต้องมีเม็ดข้าวตกลงนอกชามเสมอ คุณแม่ก็จะบอกลูกว่า “ลูกคะ ชาวนาปลูกข้าวเหนื่อยนะกว่าจะได้มาแต่ละเม็ด …” ฉันเลยลองแทรกบทสนทนาด้วยการเล่นสมมุติกับเด็ก ให้เขาจินตนาการเหมือนกำลังนำเม็ดข้าวขึ้นขบวนรถไฟพาไปเที่ยว ระวังนะ อย่าทำผู้โดยสารตกขบวน!! เจ้าหนูเริ่มยิ้มแล้วป้อนข้าวเข้าปากตัวเองอย่างระมัดระวัง ส่วนคุณแม่นั่งทึ่งกับสิ่งที่เห็น

เมื่อได้มีจังหวะคุยรายละเอียดกับคุณแม่ท่านนี้ ก็พบว่าตนเองถูกเลี้ยงดูจากแม่ที่เจ้าระเบียบในครอบครัวที่ไม่ร่ำรวย ต้องช่วยแม่ทำงานตั้งแต่เด็ก ไม่เคยเล่นสนุกเหมือนเด็กคนอื่นๆ เธอบอกว่า “จำได้ว่าตนเองเป็นคนไม่ยิ้มแย้ม จริงจังกับชีวิตไปแทบทุกเรื่อง” หลายครั้งก็กังวลใจว่าจะเลี้ยงลูกได้ดีไหม ไม่อยากให้เขาเติบโตมาแบบขาดโอกาสในชีวิตเหมือนตัวเธอเอง เพียงเพราะความไม่รู้เท่าถึงการณ์ เธอจึงอยากให้ลูกได้คิดแบบผู้ใหญ่ โดยลืมไปว่าลูกยังเล็กอยู่

คุณจะเห็นว่าคุณแม่ท่านนี้มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะเลี้ยงลูกให้ได้ดี มีระเบียบและรู้จักคิดเป็น แต่ลูกยังอยู่ในวัยที่ไม่สามารถแสดงคุณค่าที่คุณแม่ต้องการออกมาได้ จึงเป็นเหตุการณ์ที่เรา “ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของเด็กได้อย่างเหมาะสม”

ซึ่งคุณลักษณะของแบบแผนความสัมพันธ์ที่มีอยู่ในตัวแม่หรือผู้ปกครอง แบ่งออกเป็นสองแบบหลัก คือ แบบแผนความสัมพันธ์ที่มั่นคงปลอดภัย (Secure Attachment) และแบบแผนความสัมพันธ์ที่ไม่มั่นคง (Insecure Attachment) ซึ่งจะกล่าวถึงในบทความถัดไป

ญาดา สันติสุขสกุล
www.thaissf.org, twitter.com/jitwiwat
สนับสนุนโดย มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image