ที่ทางและหน้าที่ของกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรมในรัฐเผด็จการ : โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

ในการศึกษาสังคมไทยที่ผ่านมา ตัวแบบการศึกษาล่าสุดสองตัวแบบที่มีความสำคัญ ก็คือตัวแบบ “เครือข่าย” กับตัวแบบ “รัฐเร้นลึก”

หมายถึงตัวแบบแรกนั้นมองว่าอำนาจที่สำคัญในสังคมนั้นถูกใช้ผ่านเครือข่าย คือมีตัวแสดงหลายตัวแต่ร่วมกันเป็นหนึ่งเครือข่าย

ขณะที่ตัวแบบที่สองนั้นมองว่าอำนาจนั้นถูกใช้ผ่านกลุ่มๆ หนึ่งที่ทำงานอย่างเป็นระบบและโดยทั่วไปเรามักมองไม่เห็นกลุ่มๆ นี้ จนกระทั่งเมื่อถึงบางช่วงขณะ เราก็จะเห็นการแสดงตัวของกลุ่มๆ นี้โผล่ขึ้นมา และเราจะเห็นการใช้อำนาจของพวกเขาอย่างเป็นระบบ ซึ่งถ้าศึกษาอย่างจริงจังเราจะสามารถสืบค้นการทำงานของกลุ่มคนที่อยู่ในรัฐเร้นลึกกลุ่มนี้ได้

สิ่งสำคัญที่ผมจะเสริมเข้าไปในการคำอธิบายสองอย่างนี้ก็คือ การนำเข้าทฤษฎีอีกทฤษฎีหนึ่งที่เรียกว่า “สังคมวิทยาการเมืองของรัฐเผด็จการ” แต่แทนที่จะไปค้นหาตัวแสดงแบบสองกลุ่มคำอธิบาย (คือเครือข่าย และรัฐเร้นลึก) ผมอยากเสนอว่า การศึกษารัฐโดยเฉพาะรัฐเผด็จการนั้นจะต้องทำความเข้าใจถึง การใช้อำนาจของรัฐ (state power) ด้วย ไม่ใช่ค้นหาแต่ตัวแสดงหรือรัฐเท่านั้น

Advertisement

ในการศึกษาการใช้อำนาจของรัฐนั้น ทฤษฎีสังคมวิทยาการเมืองของรัฐเผด็จการ ทำให้เราเข้าใจได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นรัฐสมัยโบราณ หรือรัฐสมัยใหม่ นั้นจะมีรูปแบบการใช้อำนาจหลักอยู่สองแบบ หรือกล่าวอีกอย่างก็คือ เรื่องการใช้อำนาจของรัฐเป็นมุมมองที่มองจากบนลงล่าง คือเน้นไปในเรื่องของการที่ชนชั้นนำในรัฐที่ถืออำนาจรัฐนั้นจะใช้อำนาจในสองลักษณะ

หนึ่ง คือ อำนาจเผด็จการ/อำนาจบังคับฝ่ายเดียว (despotic power) หมายถึงการที่ชนชั้นนำในรัฐนั้นใช้อำนาจโดยไม่ได้ผ่านการปรึกษาหารือกับกลุ่มคนอื่นๆ โดยเฉพาะกับประชาสังคมรวมทั้งภาคส่วนอื่นๆ ของสังคม เช่นอำนาจการลงโทษ

สอง คือ อำนาจในลักษณะโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructural power) หมายถึงการที่ชนชั้นนำในรัฐหรือเรียกรวมๆ ในแง่นี้ว่ารัฐนั้นมีสมรรถภาพในการใช้อำนาจในการทะลุทะลวงหรือแทรกซึมไปตามอณูต่างๆ ของสังคม ในขอบเขตของรัฐตน นับตั้งแต่เรื่องง่ายๆ ก็คือการตัดถนนหนทาง หรือแพร่กระจายคลื่นการสื่อสารผ่านวิทยุโทรทัศน์ ไปสู่เรื่องที่ยากขึ้นเช่นการแทรกซึมเข้าไปในภาคส่วนต่างๆ ของสังคม หรือมอบประโยชน์ให้กับสังคม เช่น หยิบยื่นสวัสดิการต่างๆ ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่การทำความเข้าใจแบบง่ายๆ เหมือนที่เราเคยคุ้นชินที่เรียกว่า โครงสร้างส่วนบนแต่เพียงเท่านั้น หากแต่หมายถึงความสามารถในการแทรกซึม ทะลุทะลวง สื่อสาร และผนึกประสานภาคส่วนต่างๆ ของสังคมเข้าด้วยกันได้ โดยทำให้ประชาชนนั้นขัดขืนได้ยากและยอมตาม

Advertisement

เมื่อเราเข้าใจว่ารัฐนั้นสามารถใช้อำนาจได้ในทั้งสองแนวทาง เราก็จะเข้าใจได้มากขึ้นว่า เมื่อเราพูดถึงรัฐที่เข้มแข็งนั้น เรากำลังพูดถึงรัฐที่สามารถใช้ทั้งอำนาจบังคับฝ่ายเดียว และอำนาจแบบโครงสร้างพื้นฐาน ไปพร้อมๆ กัน และไม่ว่ารัฐนั้นจะเป็นรัฐเผด็จการ หรือรัฐประชาธิปไตย ก็ล้วนแล้วแต่มีลักษณะของการใช้อำนาจทั้งสองแนวทางทั้งสิ้น

จะเห็นได้ว่า รัฐเผด็จการ หากมองจากเบื้องบนลงมาจะมีลักษณะของรัฐที่เข้มแข็ง (ผมย้ำเรื่องนี้ตลอด เพราะถ้าเรามองจากเบื้องล่าง แน่นอนว่าอาจจะมีหนทางในการต่อสู้ต่อรองอีกมากมาย แต่ถ้ามองจากเบื้องบนลงมาจะพบความเป็นระบบระเบียบของการใช้อำนาจทั้งในแบบที่ไม่ต้องปรึกษาหารือ และอำนาจที่ใช้แทรกซึม-สื่อสาร-ผนึกประสาน ราวกับการมีเครือข่ายโครงสร้างพื้นฐานไปสู่ภาคส่วนต่างๆ (ไม่ใช่ลักษณะแค่เครือข่ายภายใน หรือเป็นเรื่องเร้นลึก) อำนาจรัฐแบบนี้จะมีช่องทางและเครือข่ายต่างๆ รองรับอย่างพร้อมเพรียงและสั่งการได้

ส่วนรัฐประชาธิปไตยนั้น ใช่ว่าอำนาจรัฐจะไม่เข้มแข็ง เพียงแต่อำนาจแบบบังคับฝ่ายเดียวต่ำ ส่วนอำนาจแทรกซึมหรืออำนาจแนวโครงสร้างพื้นฐานนั้นสูง เขายกตัวอย่างกันเช่นเรื่องของการเก็บภาษี และระบบราชการในรัฐประชาธิปไตยก็เข้มแข็ง แต่ไม่ได้ใช่ตามอำเภอใจต่างหาก (อันนี้ต้องลองคิดว่าเวลาที่เราพูดถึงการ “ลดอำนาจรัฐ” นั้นเราหมายถึงอะไรกันแน่)

รัฐเผด็จการนั้นจะมีการใช้อำนาจรัฐในหลายรูปลักษณะ และถ้าพิจารณาอำนาจในแบบอำนาจโครงสร้างพื้นฐาน จะพบว่ารัฐเผด็จการนั้นใช้อำนาจในหลายรูปลักษณะ นักสังคมวิทยาการเมืองเรื่องรัฐเผด็จการท่านหนึ่งนำเสนอว่า

ประการแรก รัฐจะใช้อำนาจแทรกซึมผ่านการสื่อสารในทุกรูปแบบในการควบคุมและสื่อสารกับประชากร และแม้ว่าอินเตอร์เน็ตอาจจะเป็นพื้นที่ที่รัฐควบคุมไม่ได้ทั้งหมด แต่รัฐก็จะพยายามในการจัดการหรือสร้างความได้เปรียบในการจัดการกับผู้คนในโลกอินเตอร์เน็ตให้ได้มากที่สุดอยู่ดี

ในประการที่สอง รัฐเผด็จการนั้นจะใช้กำลังอำนาจในการกดบังคับประชาชน และทำให้การกดบังคับนั้นเป็นเรื่องปกติ (ขณะที่รัฐประชาธิปไตยจะต้องใช้อำนาจในยามฉุกเฉินหรือกรณีพิเศษเท่านั้น) โดยเฉพาะผ่านทั้งการใช้อำนาจปืน และอำนาจกฎหมาย/อำนาจในกระบวนการยุติธรรม เนื่องจากอำนาจกฎหมายนั้นรัฐเผด็จการสามารถออกได้เอง และสามารถนำมาใช้จัดการฝ่ายตรงข้ามหรือฝ่ายปฏิปักษ์กับระบอบของตนได้ ที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือ รัฐเผด็จการจะเลือกใช้กฎหมายก่อนใช้กำลังในการจัดการฝ่ายตรงข้าม เช่น การห้ามการชุมนุม และการทำให้พรรคการเมืองบางครั้งหมดสถานะทางกฎหมายลง แต่ถ้ากฎหมายใช้ไม่ค่อยได้ผล ก็จะต้องนำเอากองทัพหรือกองกำลังรักษาความมั่นคงต่างๆ ออกมาเคลื่อนไหว และถ้าผู้นำนั้นไม่ค่อยแนบแน่นกับกองทัพ ก็จะต้องมีกองกำลังป้องกันตัวผู้นำเป็นพิเศษ ดังเช่นกรณีของรัฐในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ

ประการที่สาม ระบอบเผด็จการจะต้องสร้างความชอบธรรมทางอุดมการณ์ในระดับหนึ่งให้ประชาชนเคารพเชื่อฟัง โดยเฉพาะการสร้างลักษณะบุคลิกภาพอันโดดเด่นของตัวผู้นำให้ดูเป็นผู้มีบารมี ทั้งนี้ ระบอบเผด็จการในประเทศด้อยพัฒนาจำนวนไม่น้อยก็จะสร้างความชอบธรรมผ่านการกลับสู่ประเพณีการปกครองเดิมๆ หรือการอ้างอิงความชอบธรรมทางศาสนา ทั้งหมดนี้เพื่อทำให้ประชาชนเริ่มรู้สึกถึงความไม่มั่นคงร่วม (popular instability) ถ้าขาดสถาบันหลักของชาติเช่นผู้นำหรือศาสนา และชี้ให้เห็นว่า สถาบันหลักเช่นตัวผู้นำที่ยึดโยงกับประเพณี อาทิ ในตะวันออกกลาง และศาสนานั้นมีประโยชน์ต่อประเทศชาติ ซึ่งประโยชน์หลักๆ อีกประการหนึ่งก็คือ ทำให้ประชาชนเชื่อว่าการเปลี่ยนผ่านท่ามกลางความไม่แน่นอนนั้นเกิดขึ้นได้อย่างราบรื่น

ประการที่สี่ อำนาจในเชิงโครงสร้างพื้นฐาน หรืออำนาจแทรกซึม-สื่อสาร นั้นจะทำได้ดีก็ต่อเมื่อมีองค์กร หรือกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่มีความสามารถในการแทรกซึม-สื่อสารไปในภาคส่วนต่างๆ ของสังคมได้ และพวกเขาจะทำหน้าที่เหมือนเป็นตัวแทนของการควบคุมของระบอบเผด็จการ เช่น การมีโครงสร้างพรรคเดี่ยว หรือการมีกลุ่มคนเช่นกลุ่มเชื้อชาติ ศาสนา หรือกลุ่มทางสังคมซึ่งกลุ่มนี้จะต้องอ้างอิงและเชื่อมโยงตัวเองให้เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายหรือโครงสร้างรัฐได้ และในประเด็นนี้เอง ถ้าคนกลุ่มเดียวสีเดียวนั้นบีบให้คนอีกกลุ่มอีกสีออกจากพื่้นที่ทางอำนาจทั้งหมด ความขัดแย้งก็จะเริ่มมากขึ้น และแนวโน้มการปะทุเป็นความขัดแย้งที่ขยายวงกว้างก็จะมีมากขึ้น และการไล่ล่ากันก็จะมีมากขึ้นจากทั้งสองฝ่าย (หรือเราอาจจะมีเผ่าพันธุ์ใหม่เช่น “คนดี” ก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน)

ประการที่ห้า รัฐเผด็จการมีรูปแบบการโกงที่เป็นระบบ โดยแบ่งปันผลประโยชน์ให้กับพรรคพวก และกีดกันผลประโยชน์ออกจากคนที่มองว่าเป็นศัตรู แต่ทั้งนี้รัฐเผด็จการจะต้องคำนึงถึงการแบ่งปันประโยชน์ให้เพียงพอในหมู่ชนชั้นนำ ไม่เช่นนั้นจะเปิดศึกหลายทาง ตั้งแต่ชนชั้นนำด้วยกัน ศัตรู และประชาชนที่ไม่ได้รับส่วนแบ่งอย่างเพียงพอ

ประการที่หก รัฐเผด็จการจะพยายามแสวงหาแหล่งที่มาของความมั่งคั่งในหมู่ตนโดยไม่จำเป็นจะต้องมาจากความยินยอมของประชาชน เช่น การส่งเสริมระบบสัมปทานที่เร่งรีบโดยไม่จำเป็นต้องปรึกษาหารือกับตัวแทนของประชาชน ยิ่งในประเทศตะวันออกกลาง จะเห็นความมั่งคั่งของรัฐที่มาจากทรัพยากรธรรมชาติที่รัฐอ้างเป็นเจ้าของ เช่นน้ำมัน หรือในกรณีอื่นๆ ก็คือการขึ้นภาษีบางอย่างโดยไม่ต้องรับคำปรึกษาจากประชาชน

ประการที่เจ็ด รัฐเผด็จการจะมอบสวัสดิการสังคมบางอย่างให้กับประชาชนโดยไม่จำเป็นจะต้องมอบสิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมืองให้ไปด้วย ทั้งนี้ เพราะเป้าหมายสำคัญของการมอบสวัสดิการให้กับประชาชนนั้นไม่ใช่เพราะสำนึกถึงอำนาจอธิปไตยว่าเป็นของประชาชน แต่เพราะต้องการแลกสวัสดิการกับความภักดีและการเชื่อฟังต่อรัฐ และสิ่งนี้จะถูกเรียกว่าเป็น “สัญญาประชาคมของรัฐเผด็จการ” ซึ่งนอกจากสวัสดิการสังคมบางประการแล้วยังรวมไปถึงการประกันราคาผลผลิตหรือการช่วยเหลือทางการเกษตร แต่ทั้งนี้ระบบการช่วยเหลือดังกล่าวนี้บางส่วนทำให้เกิดการคอร์รัปชั่นมากขึ้น และอาจส่งผลต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจระยะยาว และอาจส่งผลต่อความไม่สงบทางการเมืองได้หากการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจถูกตัดหรือลดลง

ประการสุดท้าย ในหลายกรณีบทบาทของต่างชาตินั้นมีความสำคัญต่อความมั่นคงยั่งยืนของรัฐเผด็จการ ไม่ว่าจะหมายถึงมหาอำนาจ ประเทศเพื่อนบ้าน หรือเครือข่ายองค์กรระหว่างประเทศ

กล่าวโดยสรุป รัฐเผด็จการนั้นจะสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางอำนาจอยู่หลายประการดังที่กล่าวมาแล้ว โดยเฉพาะในกรณีของประเทศตะวันออกกลาง และแอฟริกาเหนือ ทั้งหมดทั้้งปวงนี้ก็เพื่อควบคุมประชาชนเอาไว้โดยการสร้างความสมานฉันท์ระหว่างผู้ที่สนับสนุนพวกตน และแบ่งแยก/ปกครองมวลชน และชนชั้นนำกลุ่มอื่นๆ เช่นหากเปิดให้มีการเลือกตั้งก็จะทำให้ฝ่ายค้านรวมตัวกันไม่ได้

แต่ในอีกด้านหนึ่ง ถ้ารัฐเผด็จการนั้นใช้อำนาจในรูปแบบการแทรกซึม-สื่อสารนี้ไม่ได้ รัฐเผด็จการเหล่านั้นก็จะเปราะบางแทนที่ประชาชนจะเปราะบาง เพราะอำนาจในแบบนี้เป็นอำนาจที่มีลักษณะสองทาง ด้วยเหตุที่ว่ามันเป็นการแทรกซึม-สื่อสาร หากฝ่ายตนเองนั้นไม่แข็งแกร่งพอ ฝ่ายที่ถูกแทรกซึมก็จะโต้กลับได้เช่นกัน รวมไปถึงชนชั้นนำที่ถูกผลักไปจากวงอำนาจก็จะโต้กลับ

โดยภาพรวมของการศึกษาการปฏิวัติร่วมสมัยโดยเฉพาะในกรณีของการลุกฮือในกลุ่มประเทศอาหรับ ข้อค้นพบหนึ่งที่สำคัญก็คือ ในรัฐเผด็จการนั้น การลุกฮือก็เกิดขึ้นได้ แต่การลุกฮือนั้นไม่ได้เกิดในประเทศที่คนตกงานสูงหรือเงินเฟ้อ หรือประเทศที่เต็มไปด้วยคนรุ่นใหม่ ข้อค้นพบก็คือ การลุกฮือต่อรัฐเผด็จการเกิดขึ้นในประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงและการคอร์รัปชั่นสูง นอกจากนี้ รัฐที่มีอำนาจในแบบโครงสร้างพื้นฐาน หรือที่เรียกว่าอำนาจแทรกซึม-สื่อสาร อาทิ การมีเครือข่ายชนชั้นนำที่ผนึกแนบแน่น (ไม่ใช่แค่มีมวลชนสนับสนุน) ยังอยู่รอดได้สูงกว่า และรัฐที่มีที่มาของรายได้โดยไม่ได้เอาจากประชาชนโดยตรง เช่น จากทรัพยากรธรรมชาติก็อยู่รอดได้มากกว่า

ในส่วนประเด็นของการคอร์รัปชั่นนั้น ข้อค้นพบก็คือ การคอร์รัปชั่นทำให้ระบอบเผด็จการล่มไม่ใช่เพราะประชาชนลุกฮือเป็นเบื้องแรก แต่การคอร์รัปชั่นนั้นทำให้เครือข่ายชนชั้นนำบางส่วนถูกกันออกและไม่ได้ผลประโยชน์ ดังนั้น ก็จะเพิ่มคนไม่พอใจกับระบอบก่อนที่ความไม่พอใจจะลงสู่มวลชนและท้องถนน นอกจากนี้ การชุมนุมบนท้องถนนผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตเท่านั้นไม่สามารถทำให้ระบอบโค่นลงได้หากอำนาจของรัฐทั้งในแบบบังคับฝ่ายเดียว และอำนาจแทรกซึมนั้นไม่อ่อนแอลง

สิ่งที่สังคมวิทยาการเมืองวิเคราะห์การล้มลงของรัฐเผด็จการนั้นพยายามจะอธิบายไม่ได้หมายถึงว่า การลุกฮือและพลังการเชื่อมโยงกันของประชาชนผ่านการสื่อสารใหม่ๆ นั้นไม่สำคัญ แต่ต้องการอธิบายว่าเงื่อนไขความสำเร็จไม่ใช่กฎเรื่องจำนวน (คือมีคนเข้าร่วมมาก หรือเสียงข้างมาก) และคนรุ่นใหม่ในฐานะเงื่อนไขอัตโนมัติที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง

แต่หมายถึงการศึกษาความแข็งแกร่งของเครือข่ายภาคประชาชนและอำนาจการสื่อสารและจินตนาการของการต่อต้านในรูปแบบใหม่ๆ นั้นไม่ใช่สูตรสำเร็จในการต่อต้านและโค่นล้มอำนาจรัฐเผด็จการได้โดยทันทีโดยปราศจากการทำความเข้าใจลักษณะการใช้อำนาจของรัฐเผด็จการดังที่ได้อธิบายเอาไว้ข้างต้น รวมทั้งการที่รัฐเผด็จการนอกจากการคำนึงถึงการใช้อำนาจของตนแล้ว จะต้องคำนึงถึงการรักษาและขยายเครือข่าย รวมทั้งการผนึกประสานการรวมตัวอยู่เบื้องหลัง/เบื้องลึกดุจรัฐพันลึกของตัวเองเอาไว้ให้ได้

ทั้งหมดทั้งปวงที่ผมเวิ่นเว้อมานี้ก็ขอให้ถือเป็นคำวินิจฉัยต่อหัวข้อของคอลัมน์ผมในสัปดาห์นี้ก็แล้วกันนะครับ

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

(หมายเหตุ : พัฒนามาจากบทความ “ต้องห้ามอ้าง” ของ Michael Mann, 2014 ที่ชื่อ The Infrastructural Powers of Authoritarian States in “the Arab Spring” จากเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image