สร้างโอกาสหาเสียง : โดย ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

อนุสนธิกองทัพปากีสถานยิงเครื่องบินกองทัพอากาศอินเดียตก 2 ลำ บริเวณพื้นที่ความขัดแย้งในดินแดนแคชเมียร์เมื่อ 27 กุมภาพันธ์ ลำหนึ่งตกในบริเวณควบคุมของอินเดีย อีกลำหนึ่งตกลงในพื้นที่ควบคุมของปากีสถาน จนเป็นเหตุให้มีการปิดน่านน้ำ

แม้ต่อมาปากีสถานได้ส่งคืนตัวนักบินเครื่องบินรบให้กับอินเดียแล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีการปะทะกันอย่างประปรายโดยต่อเนื่องมิได้ขาดสาย ซึ่งเป็นความขัดแย้งครั้งที่ 4 หลังจากที่ได้รับเอกราชจากการเป็นดินแดนอาณานิคมของอังกฤษ

ปฐมเหตุแห่งการปะทะกันน่าจะเกิดจากอินเดียประสงค์จะล้างแค้นผู้ก่อการร้ายที่ทำการบุกรุกอินเดีย แต่ประชาคมโลกมองว่า น่าจะเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งทั่วไปของอินเดีย

ประเด็นความขัดแย้งแคชเมียร์ จากอดีตถึงปัจจุบัน จากศาสนาถึงประชากร จากการเมืองท้องถิ่นถึงสถานการณ์โลก ล้วนมีผลเกี่ยวโยงอันเป็นเหตุให้เกิดการกระทบกระทั่งกัน

Advertisement

ตั้งแต่อินเดียและปากีสถานได้รับเอกราชจากการเป็นดินแดนอาณานิคมอังกฤษ ตรงกลางเหลืออยู่ซึ่งพื้นที่ 1 ผืน คือแคชเมียร์ กลายเป็นดินแดนปะทะกันมาโดยตลอด

ปัจจุบันมีพื้นที่อยู่เศษ 3 ส่วน 5 ปกครองโดยอินเดีย นอกนั้นปกครองโดยปากีสถาน ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้าม เป็นชาวอิสลามเกือบทั้งหมด แต่อินเดียมีพลเมืองจำนวนหนึ่งนับถือศาสนาอิสลาม ไม่พอใจกับการแทรกแซงของปากีสถาน โดยกล่าวหาว่าปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวาย เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ จึงถูกโจมตีด้วยระเบิด ทำลายชีวิตทหารอินเดียไป 40 นาย

ครั้งเมื่อ นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย ขึ้นดำรงตำแหน่งปี 2014 ได้เคยเสนอนโยบาย neighbour first policy อีกทั้งได้เชิญ อิมราน ข่าน นายกรัฐมนตรีปากีสถานเข้าร่วมพิธีสาบานตน ตลอดจนเปิดเส้นทางเดินรถประจำทางระหว่างสองประเทศ

Advertisement

ต่อมาสถานการณ์เปลี่ยนแปลง โมดีกล่าวว่า ไม่ยอมรับการเจรจาสันติภาพ และแล้วลัทธิก่อการร้ายก็เกิดขึ้น ทั้งสองประเทศได้กลับสู่ภาวะความขัดแย้งอีกเช่นเดิม

พลันที่ปากีสถานได้สถาปนาประเทศขึ้นเมื่อ 1947 สงครามแคชเมียร์ก็เกิดขึ้น ต่อมา 1965 และ 1971 สงครามได้เกิดขึ้นตามลำดับ

แม้ว่า 2003 ทั้งสองประเทศได้ลงนามในสัญญาข้อตกลงหยุดยิง และต่างให้คำมั่นว่าหากมีการปะทะกันเกิดขึ้นทั้งสองฝ่ายจะทำการเจรจาด้วยสันติวิธี เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง หากมิใช่ยกระดับสงคราม แต่ความขัดแย้งชายแดนก็เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมิเคยว่างเว้น

การปะทะกันเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ เป็นการสู้รบขนาดใหญ่ เพราะได้ใช้เครื่องรบบินเข้าน่านฟ้าของฝ่ายตรงข้าม เป็นเรื่องที่ประชาคมโลกจับตาดูอยู่

ไม่ว่าสงครามจะเกิดขึ้นในภูมิภาคใดของโลก ล้วนเป็นโทษต่อความสันติของโลก อินเดียและปากีสถานได้เข้าสู่ภาวะสงครามอีกวาระหนึ่ง ประเทศเบอร์ใหญ่ในโลก ภายนอกเรียกร้องให้ยุติไปสู่ความสงบ แต่ภายในก็ยังแฝงด้วยผลประโยชน์ กล่าวคือ รัสเซียถูกกล่าวหาว่าเป็นคู่ค้าอาวุธยุทโธปกรณ์ที่สำคัญของอินเดีย ประเทศจีนถูกกล่าวหาว่า อาวุธยุทโธปกรณ์ที่ส่งออก 40% เป้าหมายคือปากีสถาน ส่วนสหรัฐกำลังยุยงส่งเสริมให้อินเดียขยายขอบเขตแห่งแสนยานุภาพในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก

ว่ากันว่า อินเดียจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนพฤษภาคม เนื่องจากความนิยม นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรี ได้ตกต่ำตามลำดับ มีความหวังเพียง 50% ในขณะที่ฝ่ายตรงข้ามไล่ขึ้นมาติดๆ กอปรกับภาวะการณ์เศรษฐกิจที่เริ่มตกต่ำ อัตราคนตกงานปีที่แล้วเพิ่มขึ้นตามลำดับ เดือนกุมภาพันธ์ สูงถึง 7.23% ฉะนั้น โมดีจึงเบี่ยงเบนประเด็นจากในให้เป็นนอก คือทำสงคราม

ความเห็นดังกล่าว มิใช่เป็นเรื่องที่ไม่มีเหตุผล

การคาดเดาว่า นเรนทรา โมดี น่าจะใช้วิธีทำสงครามกับปากีสถาน เป็นการหาเสียงเพื่อเบี่ยงเบนประเด็น แต่เหตุใดไม่ทำกับจีน ทั้งที่ในอดีตได้เคยเกิดการปะทะกันที่ Donglam มาแล้ว เพราะอินเดียกับจีนเป็นคู่แข่งทางเศรษฐกิจ เหมือนขมิ้นกับปูน

พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ปัจจุบันจีนได้ลงทุนในอินเดียเป็นจำนวนมหาศาล เป็นโอกาสในการสร้างงาน สามารถลดอัตราการตกงาน ความนิยมสินค้าจีนสามารถกระตุ้นตลาดการบริโภคภายในประเทศ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อสภาพเศรษฐกิจ อีกทั้งเป็นการสะสมแต้มทางการเมืองให้แก่ นเรนทรา โมดี ประเทศจีนจึงรอดพ้นจาก “ปลายดาบ” อันถือเป็นลาภงอก

ปมความขัดแย้งอินเดีย-ปากีสถานมีโทษต่อภูมิภาคและสังคมโลก แต่ถ้าทั้งสองฝั่งแปลงความขัดแย้งให้เป็นความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ก็จะเป็นประโยชน์ทั่วทั้งแคชเมียร์

น่าเสียดายที่อินเดียไม่นิยมแนวทาง one belt one road ของจีน เพราะมีความเคลือบแคลงสงสัยว่า เป็นกุศโลบายที่จีนและปากีสถานที่จะบั่นทอนเศรษฐกิจของอินเดียไม่ให้เติบโต

ถ้าโมดีใช้นโยบาย neighbor first policy ตามคำมั่นที่ได้ให้ไว้เมื่อครั้งปฏิญาณตนขึ้นดำรงตำแหน่ง ในทางทฤษฎีเป็นเรื่องที่ถูกต้องที่สุด ผลจะเป็นประการใดก็สุดแต่ภาวะการเมือง

อย่างไรก็ตาม การที่โมดีก่อสงครามเพื่อหาเสียงเลือกตั้งทั่วไปไม่ถูกต้องและสายเกินไป

ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image