พม่ากับปักกิ่ง (4) โดย ลลิตา หาญวงษ์

แผนที่แสดงเขตแดนระหว่างจีนกับพม่า ระหว่างปี 1885-1937 ในภาพจะเห็นเขตที่เป็นข้อพิพาทหลัก 2 เขต คือในเขตกะฉิ่น และเขตของว้า

พม่ามีชายแดนติดจีนราว 2,129 กิโลเมตร น้อยกว่าชายแดนพม่ากับไทยเพียงไม่ถึง 300 เมตร พื้นที่ชายแดนพม่า-จีนส่วนใหญ่เป็นเขตเทือกเขาสลับซับซ้อนทางทิศตะวันออกและตะวันออกเฉียงเหนือของพม่า ติดกับมณฑลยูนนานของจีน ความขัดแย้งด้านดินแดนระหว่างทั้งสองชาติเกิดขึ้นมานานตั้งแต่พม่ายังเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ในสมัยที่อังกฤษปกครองพม่า ข้าราชการของอังกฤษกับราชวงศ์ชิงในจีนมีข้อตกลงปักปันเขตแดนกันอยู่ 3 ส่วน ส่วนหนึ่งคือหมู่บ้าน 3 แห่งในเขตภูเขาสูงในรัฐกะฉิ่น ส่วนที่สองคือ คือเขตสามเหลี่ยมเมืองเมา (Mong Mao) หรือที่เรียกว่าเขตน้ำวาน (Namwan Assigned Tract) ในรัฐฉาน และส่วนที่สองคือพื้นที่ของกลุ่มว้า ในเขตรัฐฉานตอนเหนือ โธมัส อี. แมคกราธ (Thomas E. McGrath) ผู้เชี่ยวชาญด้านเขตแดนพม่า-จีน มองว่าความขัดแย้งเริ่มเกิดจากแนวคิดว่าด้วย “เขตแดน” ที่จีนและพม่ามองต่างกัน ในขณะที่ฝั่งอังกฤษมองเขตแดนว่าเขตแดนเป็นสิ่งที่จับต้องได้ มีหลักเขตที่แน่นอน และเกิดจากการสำรวจของคณะทำงานอย่างเป็นล่ำเป็นสัน จีนมองเขตแดนโดยใช้ภูมิหลังในอดีต ว่าจีนเคยมีสัมพันธ์กับดินแดนใด อย่างไร แน่นอน เมืองบางเมืองที่ปัจจุบันอยู่ในเขตพม่า เคยมีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับฝั่งจีน เคยสวามิภักดิ์ต่อจักรพรรดิราชวงศ์ชิงมาก่อน จีนจึงถือว่าพื้นที่เหล่านั้นยังเป็นเขตอิทธิพลของตนอยู่

อนึ่ง ควรกล่าวด้วยว่า สำหรับจีนการดำเนินนโยบายต่างประเทศของจีนในต้นศตวรรษที่ 20 ขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งของรัฐบาลกลาง ในต้นศตวรรษที่ 20 จีนเพิ่งผ่านการปฏิวัติล้มล้างราชวงศ์ชิง (1911-1912) มา รัฐเล็กรัฐน้อยในจีนแตกออกเป็นเสี่ยงๆ ผู้นำในท้องถิ่นตั้งตนขึ้นเป็นขุนศึก (warlord) มีกองทัพของตนเอง และเป็นอิสระจากการปกครองของรัฐบาลจีนภายใต้ซุนยัตเซ็น ในกรณีของยูนนาน หลง หยุ่น (Long Yun) เป็นข้าหลวงมณฑลยูนนานในขณะนั้น ข้าหลวงใหญ่หลงพยายามทำให้ยูนนานเป็นเอกเทศจากรัฐบาลกลาง ในปลายทศวรรษ 1920 รัฐบาลท้องถิ่นของหลงรุกเข้าไปในพื้นที่พิพาทระหว่างจีนกับพม่า
ในเขตของว้าแดง เพราะต้องการใช้ประโยชน์จากเหมืองแร่เงินที่อยู่ในเขตดินแดนที่ไม่มีเจ้าของ (No Man’s Land) นี้ แม้ข้อพิพาทนี้ดูเหมือนจะเป็นข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลขุนศึกในยูนนานกับรัฐบาลอังกฤษในพม่า

แต่ฝ่ายหลังนำประเด็นนี้ขึ้นมาหารือในระดับประเทศ ทำให้รัฐบาลกลางที่นานกิงต้องหารือกับรัฐบาลอังกฤษ รัฐบาลจีนยุคนั้นยังต้องสานสัมพันธ์ที่ดีกับอังกฤษ เพื่อให้อังกฤษช่วยตนเจรจากับญี่ปุ่นและป้องกันไม่ให้ญี่ปุ่นรุกรานจีนในอนาคต

อังกฤษแก้ปัญหาจีนยูนนานรุกล้ำอำนาจอธิปไตยของตนโดยการส่งกองทัพว้าที่ผ่านการฝึกจากตนเข้าไปประจำการในเขตพิพาท ความตึงเครียดระหว่างรัฐบาลยูนนานและอังกฤษในพม่าสิ้นสุดลงพร้อมกับบทบาทของข้าหลวงใหญ่ที่ลดลง และสงครามกลางเมืองในจีน ที่จะนำไปสู่การสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี 1949 ดังที่ได้กล่าวไปในสัปดาห์ก่อนๆ ว่าพม่าได้รับเอกราชในช่วงใกล้เคียงกับการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน ดังนั้น ข้อพิพาทด้านดินแดนจึงโหมกระพือขึ้นมาอีกครั้งหลังชัยชนะของรัฐบาลคอมมิวนิสต์จีน เมื่อจีนคอมมิวนิสต์ตีพิมพ์แผนที่จำหนึ่ง โดยอ้างว่ามยิตจีนา (เมืองเอกของรัฐกะฉิ่น) อยู่ในเขตที่ยังไม่ได้ปักปันของจีน ทันทีที่สาธารณรัฐประชาชนจีนถือกำเนิดขึ้น รัฐบาลพม่าพยายามเจรจากับปักกิ่งเพื่อแก้ปัญหาเขตแดนที่ยังคลุมเครือ แต่ปักกิ่งประวิงเวลาและขอเวลาสะสางปัญหาเฉพาะหน้าภายในประเทศก่อน

Advertisement

ข้อตกลงปักปันเขตแดนระหว่างรัฐบาลอาณานิคมในพม่ากับรัฐบาลจีนมีมาตั้งแต่ปี 1894 แต่ไม่ใช่การปักปันเขตแดนที่แน่ชัด ต่างฝ่ายต่างยึดเขตแดนเวอร์ชั่นที่ตนเองร่างขึ้น ระหว่างปี 1897-1900 คณะทำงานระหว่างจีนกับพม่าทำการหารือและปักปันเขตแดนตั้งแต่เขตภูเขาสูงในรัฐกะฉิ่นลงมาถึงแม่น้ำนานติง (Nanting River) และจากแม่น้ำน้ำคา (Nam Kha) ในรัฐฉานไปจนจรดแม่น้ำโขง ใกล้ชายแดนของลาว แต่พื้นที่ที่ทั้งสองประเทศยังมีข้อพิพาทกันมาตลอดคือเขตว้า ซึ่งจะมาตกลงปักปันเขตแดนกันได้ในปี 1941 แต่สำหรับพื้นที่พิพาทอีกหลายแห่ง เมื่อรัฐบาลจีนคอมมิวนิสต์ขึ้นมาแล้ว ก็พยายามควบรวมดินแดนเหล่านี้ไปเป็นของจีนทีละน้อย ผ่านการวาดแผนที่ฉบับใหม่ๆ ขึ้นมาดังที่กล่าวไปข้างต้น

ประเด็นนี้สร้างความไม่พอใจให้รัฐบาลพม่าอย่างมาก และมีคำสั่งให้เอกอัครราชทูตพม่าที่ปักกิ่งสอบถามไปทางรัฐบาลจีน อย่างไรก็ดี รัฐบาลอู นุ ยังมองรัฐบาลจีนในแง่ดี และหยิบยื่นไมตรีจิตให้รัฐบาลจีนเสมอมา

ตลอดทศวรรษ 1950 กรณีพิพาทเรื่องดินแดนระหว่างจีนกับพม่าไม่ใช่เรื่องการปักปันเขตแดนโดยตรง แต่เป็นการที่กองทัพปลดปล่อยประชาชนของจีนรุกรานเข้ามาในดินแดนของพม่า เพื่อขู่กองทัพอีกฝั่งหนึ่ง ได้แก่ กองทัพจีนคณะชาติ (ก๊กมินตั๋ง) แม้รัฐบาลพม่าจะไม่สามารถผลักดันกองทัพจีนทั้งสองฝ่ายให้ออกจากเขตอธิปไตยของตนได้ทันที แต่ก็มีมาตรการเฉพาะหน้า เช่น การส่งกองทัพเข้าไปปฏิบัติการในรัฐฉานตอนบน ในแถบเขตโกก้าง เมืองเมา กองทิ (Kaungti) และเขตว้าทางตอนเหนือ เพื่อแสดงให้ประชาชนในพื้นที่เห็นว่าพื้นที่เหล่านี้เป็นเขตของ
พม่า ไม่ใช่จีน กองทัพพม่ายังส่งพันเอกซอ มยิ้น (Saw Myint) เป็นผู้นำทีมสำรวจเขตแดนระหว่างพม่ากับจีน โดยเริ่มจากชายแดนอินเดีย มาจนจรดชายแดนลาว เป้าหมายของการส่งซอ มยิ้น และ “ปฏิบัติการเยง นวย พา” (Nyein New Par Operation) เข้าไป นอกจากจะสร้างความมั่นใจให้คนในพื้นที่แล้ว รัฐบาลพม่ายังต้องการประเมินว่ามีกองกำลังของจีน ทั้งฝ่ายคอมมิวนิสต์และฝ่ายก๊กมินตั๋งอยู่ในเขตอธิปไตยพม่าจำนวนเท่าใด และข้อมูลของคณะทำงานภายใต้พันเอกซอ มยิ้น นี้จะถูกนำมาใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานเพื่อการหารือและเจรจาข้อพิพาททางดินแดนกับจีนในเวลาต่อมา

Advertisement

เมื่ออู นุ ไปเยือนปักกิ่งในปี 1954 ผู้นำพม่าไม่พลาดนำประเด็นนี้หารือกับผู้นำจีน ทั้งสองฝั่งเจรจากันฉันมิตร และตกลงกันว่าจะตั้งคณะกรรมการเพื่อปักปันเขตแดนและยุติข้อพิพาทของทั้งสองชาติ แต่ก็ยังมีข่าวอยู่เนืองๆ ว่ากองทัพของจีนแทรกซึมเข้าไปในรัฐกะฉิ่น เพื่อปราบปรามและจับกุมจีนก๊กมินตั๋ง ฝั่งพม่าพยายามเจรจาให้จีนถอนกองกำลังออกจากพม่ามาโดยตลอด และสื่อพม่าก็พร้อมใจกันตีข่าวเพื่อโจมตีรัฐบาลจีน จนนายกรัฐมนตรีโจวเอินไหล ต้องเขียนจดหมายมาเตือนอู นุ ให้ช่วยปรามสื่อพม่าไม่ให้ล้ำเส้น ในปี 1956 อู นุไปเยือนจีนอีกครั้ง พร้อมกับคำมั่นสัญญาของจีนว่าจะพยายามแก้ไขปัญหาข้อพิพาทด้านดินแดนกับพม่าอย่างถึงที่สุด

ข้อพิพาทระหว่างพม่ากับจีนจะสิ้นสุดลงในต้นทศวรรษ 1960 และความสัมพันธ์ของทั้งสองชาติจะเข้าสู่สหัสวรรษใหม่พร้อมกับการเข้ามาของรัฐบาลเผด็จการทหารในพม่า เราจะมาคุยเรื่องนี้กันต่อในสัปดาห์หน้า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image