โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้ง 2562 : โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งมีอะไรที่น่าสนใจอยู่หลายประการ

ประการแรก โดยภาพรวมของบทวิเคราะห์จากต่างประเทศ แนวโน้มสำคัญของการวิเคราะห์ค่อนข้างเทไปยังมุมของการฟันธงว่า การเลือกตั้งในครั้งนี้จะนำไปสู่การสืบทอดอำนาจของระบอบการเมืองที่ดำรงอยู่ และทำให้เกิดหน้าฉากประชาธิปไตย

คำถามในทางหลักวิชารัฐศาสตร์ก็คือ สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้จะเป็นเรื่องเดียวกับสิ่งที่เราเรียกว่า “ระบอบลูกผสม” หรือ hybrid regime หรือไม่?

คำตอบก็คือ ไม่ใช่

Advertisement

ทำไมไม่ใช่ระบอบลูกผสม? อันนี้ก็ขอตอบง่ายๆ ว่า ระบอบลูกผสมนั้นเป็นคำอธิบายที่เฉพาะเจาะจงไปที่เรื่องของการที่ระบอบประชาธิปไตยนั้นไม่มีคุณภาพ หรือถูกลดคุณภาพลงจากอุดมคติที่ควรจะเป็น

กล่าวอีกอย่างหนึ่ง ในยุคร่วมสมัยไม่นานมานี้ การศึกษาเรื่องการจรรโลงหรือการสร้างสรรค์ประชาธิปไตยนั้นมีความเชื่ออย่างแรงกล้าว่า การเปลี่ยนไปสู่ประชาธิปไตยจากสังคมเผด็จการนั้นเกิดขึ้นได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีการนองเลือด และเกิดได้จากการเจรจา และการเปลี่ยนแปลงภายในสังคมด้วยกลุ่มอำนาจบางกลุ่มปรับตัวเอง เรื่องนี้จึงกลายเป็นการประเมินว่า การเปลี่ยนผ่าน และเปลี่ยนไม่ผ่านนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร

ต่อมาการศึกษาเรื่องของระบอบลูกผสมนั้นก็ตามมา เมื่อมีการพิจารณาว่าระบอบประชาธิปไตยที่เปลี่ยนผ่านมา หรือที่เคยตั้งมั่นคือเป็นที่ยอมรับร่วมกันนั้น ทำไมจึงเกิดการลุแก่อำนาจและเงื่อนไขหลายอย่างที่จะทำให้เกิดประชาธิปไตย โดยเฉพาะประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมนั้นมันไม่เกิด หรือล่มสลายลง เช่น หลักสิทธิมนุษยชน หลักการเสมอภาคทางกฎหมาย

Advertisement

หลังการศึกษาเรื่องลูกผสม สิ่งที่เริ่มเป็นที่สนใจก็คือ การศึกษาเรื่องเผด็จการ และการปรับตัวของเผด็จการให้อยู่ต่อไป เรื่องนี้ผมก็ได้อธิบายไว้อย่างพิสดารในหลายตอน แม้ว่าจะไม่ค่อยเป็นที่สนใจในวงกว้างมากนัก เรื่องสำคัญก็คือ การศึกษาเรื่องเผด็จการและการปรับตัวของเผด็จการนั้นไม่ค่อยจะเป็นเรื่องเดียวกับเรื่องของ การเปลี่ยนผ่านฯ และระบอบลูกผสมมากนัก เพราะระบอบเผด็จการนั้นเรายังเห็นว่า พื้นฐานหลักของระบอบอยู่ที่เรื่องของการที่ศูนย์อำนาจหลักยังคงเป็นเผด็จการ และการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้นยังอยู่ในมือของเผด็จการ ไม่ใช่เรื่องของการที่กลุ่มอำนาจทางการเมืองบางกลุ่มขึ้นมาสู่อำนาจโดยเบื้องแรกจากประชาธิปไตยแล้วกลายสภาพเป็นเผด็จการ หรือถูกกดดันจนต้องเปลี่ยนแปลง

เรื่องที่เรากำลังพูดกันคือ เผด็จการเปลี่ยนเพียงฉากหน้าเข้าสู่ประชาธิปไตยเท่านั้นเอง เพราะแก่นแท้ในระบอบการเมืองแบบนี้ก็คือ ระบอบเผด็จการยังกุมอำนาจเบ็ดเสร็จ และแทบไม่เห็นความจำเป็นอะไรที่จะเปลี่ยนผ่านออกจากอำนาจเผด็จการที่ตัวแก่นกลางแต่อย่างใด หรือถ้าเปลี่ยนก็ไม่ใช่เพราะแรงกดดันในแบบเดียวกับการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตย แต่เป็นเพราะต้องการกุมสภาพทางการเมืองที่ยังเหนือกว่าของพวกตนต่อเสียมากกว่า

ประเด็นสุดท้าย ในเรื่องเผด็จการนั้น คนทั่วไปมักจะสนใจศึกษาแต่เรื่องของตัวเผด็จการหรือคณะเผด็จการ หรือการใช้อำนาจของเผด็จการ โดยลืมศึกษาสิ่งที่เรียกว่า “พันธมิตร” เผด็จการ ซึ่งเป็นฐานอำนาจสำคัญที่ทำให้อำนาจของเผด็จการอยู่ได้ เรื่องนี้คือเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้เราต้องทำความเข้าใจว่า การกระตือรือร้นในการเข้าสู่การเลือกตั้งในรอบนี้ส่วนหนึ่งนั้นเกิดขึ้นได้ เมื่อเผด็จการและเหล่าพันธมิตรฯมีความเชื่อว่า ตนสามารถกุมสภาพนำทางการเมืองในรอบนี้ได้ ไม่ว่าจะด้วยกฎกติกา กฎหมาย และเงื่อนไขทางอุดมการณ์

นี่คือสิ่งที่ฝ่ายประชาธิปไตยเองจะต้องทำความเข้าใจให้ดีว่า การกำหนดชัยชนะในรอบนี้คืออะไร ชัยชนะในรอบนี้คือเรื่องของการได้เสียงข้างมากและจัดตั้งรัฐบาลในสภาพการณ์ที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ หรือชัยชนะในรอบนี้คือการเข้าสู่ปริมณฑลทางอำนาจที่อย่างน้อยก็ทำให้การต่อสู้ผลักดันประเด็นเรื่องประชาธิปไตยเป็นไปได้มากขึ้นในระยะยาว และทำให้การคัดค้านรัฐบาลมีความชอบธรรมมากขึ้น

เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล็ก เพราะส่วนหนึ่งในการกำหนดคุณภาพประชาธิปไตยที่ทำให้เกิดการยอมรับในระดับโลกนั้นไม่ได้มีแต่เรื่องของการเปิดให้มีการเลือกตั้ง การเคารพหลักการสิทธิมนุษยชน และการเคารพหลักความเสมอภาคทางกฎหมายเท่านั้น แต่ยังรวมถึงหลักการที่ว่าด้วยเรื่องของสิทธิในการแสดงความไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล และสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นด้วย

การเชื่อว่าชัยชนะของฝ่ายประชาธิปไตยหมายถึงการชนะเลือกตั้งนั้น เป็นหนึ่งในความเชื่อที่ต้องระวัง และบางครั้งอาจไปไกลถึงการเป็นมายาคติ เพราะชัยชนะในหลายครั้งที่ผ่านมาของฝ่ายประชาธิปไตยไม่สามารถทำให้ประชาธิปไตยตั้งมั่นได้เลย ทั้งจากคุณภาพของประชาธิปไตย และจากการไม่สามารถต้านทานฝ่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตยในการล้มระบบ ดังนั้น ฝ่ายประชาธิปไตยจำเป็นต้องมียุทธศาสตร์ทั้งในการชนะการเลือกตั้ง การสถาปนาอำนาจในการปกครองให้ได้ในระยะยาว

เรื่องที่ 2 ที่มีความเป็นไปได้จากการเลือกตั้งในรอบนี้ก็คือ อาจจะมีการแก้รัฐธรรมนูญโดยการริเริ่มจากฝ่ายผู้มีอำนาจเอง ไม่ใช่จากฝ่ายที่ออกมารณรงค์แก้รัฐธรรมนูญ

การทำนายของผมอาจจะฟังดูแปลกๆ แต่ขอประเมินว่าหากผลการเลือกตั้งครั้งนี้ออกมาในลักษณะที่เกิดปรากฏการณ์พรรคการเมืองแบบที่ไม่ได้เขตเลย แต่ได้คะแนนเสียงจากส่วนบัญชีรายชื่อเป็นจำนวนมาก สิ่งนี้จะนำไปสู่การพยายามในการแก้รัฐธรรมนูญจากฝ่ายผู้มีอำนาจเอง ไม่ใช่เพราะว่าเห็นดีเห็นงามกับหลักการประชาธิปไตย หรือจะแก้รัฐธรรมนูญไปในแนวทางที่เป็นเผด็จการมากขึ้น

แต่จะเป็นการแก้รัฐธรรมนญที่ทำให้ ส.ส.บัญชีรายชื่อมีจำนวนน้อยลง หรืออาจจะไม่มีไปเลยในการเลือกตั้งรอบหน้า เพราะ ส.ส.บัญชีรายชื่อเหล่านี้ไม่เป็นคุณกับกลุ่มคนที่ต้องการคุมอำนาจต่อไป หรือเป็นคุณกับฝ่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตย

กล่าวอีกอย่างก็คือ ระบบบัญชีรายชื่อและการนับคะแนนในรอบใหม่นี้จุดมุ่งหมายคือการคานอำนาจกับเสียงข้างมาก แต่ทั้งปรากฏการณ์ไทยรักษาชาติและปรากฏการณ์อนาคตใหม่นั้นทำให้เห็นว่ามีความเป็นไปได้ว่า การกันที่นั่ง 150 ที่ จาก 500 ที่นั่งไว้จะไม่เป็นคุณกับฝ่ายปฏิปักษ์เสียงข้างมาก คือพูดง่ายๆ ว่าครั้งนี้ถ้าไม่ได้ ส.ว.แต่งตั้งโดยฝ่ายมีอำนาจ 250 คนมาร่วมโหวตนายกฯ ก็จะพบว่าโครงสร้างกติกานี้ล้มไม่เป็นท่า และไม่ได้เป็นไปตามที่ฝ่ายผู้มีอำนาจเชื่อว่าจะทำให้ฝ่ายเสียงข้างมากเดิมนั้น (แม้ว่าจะไม่ใช่เสียงข้างมากเด็ดขาด เพราะขาดไปไม่กี่คะแนน) เพลี่ยงพล้ำทางการเมืองแต่อย่างใด

เหนือสิ่งอื่นใด ฝ่ายผู้มีอำนาจยังมองเห็นแล้วว่า ใช่ว่าการดูดและการต่อรองกับนักการเมืองในท้องที่จะเป็นไปไม่ได้เสียเลย ดังนั้น การสร้างกติกาแบบกันเสียงบางส่วนเอาไว้ให้ฝ่ายที่แพ้นั้นอาจไม่ได้ทำให้เกิดผลทางการเมืองตามที่คาดเอาไว้ตอนเขียนรัฐธรรมนูญก็เป็นไปได้

ประการสุดท้ายในข้อสังเกตต่อการเลือกตั้งที่จะมีในรอบนี้ ก็คือเรื่องของพฤติกรรมการเลือกตั้ง ซึ่งในเรื่องนี้คงต้องแบ่งการอธิบายออกเป็น 2 ชุด

ชุดแรกคือ พฤติกรรมการเลือกตั้ง (electoral behavior) ซึ่งหมายถึงภาพรวมของกิจกรรมการเลือกตั้งซึ่งมีหลายเรื่องราว ตั้งแต่การรณรงค์การเลือกตั้ง กฎระเบียบที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง การรายงานข่าวการเลือกตั้ง การหาเสียง การซื้อเสียง ฯลฯ เรื่องนี้จะยังไม่ขอกล่าวถึงในรายละเอียดในครั้งนี้

ชุดที่ 2 คือ พฤติกรรมการลงคะแนนเสียง (voting behavior) เป็นส่วนย่อยส่วนหนึ่งในเรื่องของพฤติกรรมการเลือกตั้ง แต่ในบางมุมนั้น พฤติกรรมการลงคะแนนเสียงถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด เพราะผลจากการลงคะแนนเสียงจะกำหนดจำนวน ส.ส. กำหนดชัยชนะทางการเมือง และการจัดตั้งรัฐบาล

ส่วนหนึ่งของข้อถกเถียงในปัจจุบันในเรื่องของการเลือกตั้ง เป็นเรื่องของการทำความเข้าใจพฤติกรรมและตัวแบบพฤติกรรมการลงคะแนนเสียง ว่าจริงหรือไม่ที่การลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง รวมทั้งการรณรงค์การเลือกตั้งเป็นเรื่องของการตัดสินใจทางการเมืองด้วยฐานของนโยบาย

ขณะที่บางสำนักบอกว่าการตัดสินใจลงคะแนนเสียงนั้นส่วนใหญ่เป็นเรื่องของอารมณ์มากกว่าเรื่องของเหตุผล และฐานทางนโยบาย

หรือบางคนอาจบอกว่า เอาเข้าจริงการลงคะแนนเสียง และการรณรงค์ มีส่วนผสมของทั้ง 2 เรื่อง และความสำคัญคือจะอธิบายลักษณะการผสมผสานของทั้ง 2 เรื่องนั้นได้อย่างไร เพราะในหลายกรณีอาจจะเป็นเรื่องของการผสมกันจริงๆ หรือบางกรณีนั้นก็อาจไม่ได้ผสมกัน แต่คงไม่ได้ยอมรับหรอกว่าไม่ได้ตัดสินใจด้วยเหตุผล หรือจะกล่าวอีกอย่างว่ามิติทางอารมณ์มีส่วนสำคัญในการช่วยให้เกิดการตัดสินใจได้ คือไม่ได้หมายความว่าตัดสินใจไปตามอารมณ์ แต่อาจจะมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องของอารมณ์ในการตัดสินใจ

ในอีกเรื่องหนึ่ง เราคงต้องพิจารณาด้วยว่าการเลือกตั้งที่จะถึงนี้นอกจากผลของคะแนนที่จะออกมาแล้ว สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ตัวแบบอะไรที่มีความสำคัญในการโหวต อาทิ

การโหวตตามผลประโยชน์ของชนชั้นของตนเอง

การโหวตตามอุดมการณ์และความเชื่อ

การโหวตตามนโยบาย

การโหวตเชิงยุทธศาสตร์ หมายถึงไม่ได้โหวตตรงๆ ตามที่ตนต้องการ แต่โหวตไม่ให้อีกฝ่ายชนะ หรือโหวตเพราะฝ่ายของตนไม่มีโอกาสเข้ามาสู้

การโหวตด้วยมิติทางอารมณ์ (emotional voting) ประเด็นของการโหวตด้วยมิติทางอารมณ์นี้ไม่ได้หมายความว่าเป็นสิ่งที่ไม่จริงแท้ หรือไม่ควรให้คุณค่ากับมัน เพราะการโหวตด้วยมิติทางอารมณ์นี้เป็นเรื่องที่มีการศึกษากันมาอย่างยาวนาน ทั้งจากฝ่ายการรณรงค์ทางการเมือง และจากแนวทางการศึกษาแบบจิตวิทยาการเมือง

การศึกษาจำนวนมากชี้ไปว่า ในการรณรงค์การเลือกตั้งและการลงคะแนนเสียงจริงนั้น ผู้ลงคะแนนจำนวนไม่น้อยนั้นจะให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์และความคาดหวังที่พวกเขามีกับตัวผู้สมัคร และภาพลักษณ์ที่สำคัญก็คือ ภาพลักษณ์ของการที่เป็นผู้มีความสามารถและภาพลักษณ์ของการเป็นผู้ที่เข้าอกเข้าใจและรับผิดชอบต่อประชาชน

อีกประการหนึ่งที่มีความสำคัญก็คือข้อถกเถียงว่า ผู้สมัครจะต้องมีหน้าตาดีหรือไม่ เอาเข้าจริงคำตอบที่พบก็คือ รูปร่างหน้าตาไม่สำคัญเท่ากับการที่จะต้องดูดีในความหมายของการมีบุคลิกภาพบางอย่าง ไม่ใช่ดูดีแค่หล่อสวย และในประเทศที่การรณรงค์พัฒนาไปอย่างมาก การดูดีในทางการเมืองต้องหมายถึงว่า พวกเขาดูดีอย่างไรท่ามกลางแรงกดดัน หรือเราคาดหวังว่าเมื่อเขาเจอสถานการณ์ทางการเมืองที่ตึงเครียดหรือกดดันแล้ว เขาจะแสดงบทบาทอย่างไร

การศึกษาพฤติกรรมการเลือกตั้งบางกรณีพบว่า ความกลัวก็เป็นมิติที่สำคัญในการพฤติกรรมการเลือกตั้งและการลงคะแนนเสียง การที่มีการค้นคำ ค้นชื่อนักการเมือง ไม่ได้หมายความว่าเขาสนใจ สนับสนุน แต่หลายครั้งการที่คนถูกค้นชื่อเยอะอาจเป็นเพราะเกิดความหวาดกลัวก็เป็นไปได้

นอกจากนี้แล้วการศึกษาพบว่า ทำไมคนชอบใส่ร้ายโจมตีกันในการณรงค์ คำตอบก็คือ ข้อมูลในแง่ลบนั้นจะลบได้ยาก คนจะจดจำได้มากกว่า

ในบางกรณี การเลือกตั้งไม่ได้มีวัตถุประสงค์ที่จะชนะกันด้วยความสุดโต่ง มีข้อค้นพบว่า การชิงความนิยมและเสียงเป็นเรื่องของการชิงคะแนนจากคนที่อยู่ตรงกลางของเส้นแบ่งอุดมการณ์ มากกว่าการแข่งกันสุดขั้วของพรรคและผู้สมัครทางการเมือง และในสถานการณ์ที่การแย่งชิงคะแนนเป็นการแย่งชิงคะแนนจากคนที่อยู่ตรงกลางๆ ที่ยังไม่ได้ตัดสินใจ หรือมีประวัติที่การลงคะแนนแต่ละครั้งสามารถลงคะแนนสลับไปมาได้ (ลงให้ได้ทุกฝ่าย) ผู้สมัครที่นำเสนอประเด็นเรื่องความปลอดภัยและความสบายใจ หรือทำให้เห็นว่าการเมืองนั้นไม่ใช่เรื่องของการปะทะกันของความขัดแย้งที่อยู่ร่วมกันไม่ได้ ผู้สมัครแนวนี้ก็จะได้รับชัยชนะไปในที่สุด

ตอนแรกผมก็ไม่เชื่อในการอธิบายเช่นนี้ แต่ก็พอเข้าใจว่าขึ้นอยู่กับริบททางการเมืองด้วย อย่างหลายครั้งการแข่งขันกันของการเลือกตั้งในหมู่นักศึกษา จะเห็นลักษณะการรณรงค์ในแบบนี้อยู่มาก เช่น การสร้างภาพของผู้สมัครให้เห็นความอบอุ่น อ่อนโยน ดูสบายใจ ไม่ได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงอะไรมากนัก เรื่องเหล่านี้ถ้าเรามองการเมืองในภาพที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง เราก็จะไม่เข้าใจบรรยากาศทางอารมณ์ของผู้คนอีกจำนวนหนึ่งที่อาจจะมีความต้องการที่จะไม่เกี่ยวกับการเมือง หรือเขาอาจจะลงคะแนนเพราะไม่ต้องการการเปลี่ยนแปลงก็ได้

ก็ต้องมาดูกันล่ะครับว่ารอบนี้ บทบาทของอารมณ์จะเกี่ยวข้องกับการลงคะแนนเสียงมากน้อยแค่ไหน และบรรยากาศในการเลือกตั้งและการลงคะแนนรอบนี้จะมีส่วนเปลี่ยนแปลงการเมืองไทยได้ไหม ในไม่กี่วันนี้ครับ

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image