อวสานพลังงานปัจจุบัน โดย วีรพงษ์ รามางกูร

เมื่อวันศุกร์ที่ 13 พฤษภาคม สัปดาห์ที่แล้ว สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยได้จัดงานเลี้ยงอาหารค่ำ และได้เชิญ โทนี่ เซบา มาเป็นผู้แสดงปาฐกถา ในหัวข้อ “พลังงานสะอาด : ทำไมพลังงานและระบบขนส่งปัจจุบันจะถึงการอวสานราวๆ ปี ค.ศ.2030” หรือ “Clean Disruption : Why Current Energy and Transportation Systems Will Be Obsolete by 2030”

หัวข้อปาฐกถาเป็นหัวข้อที่น่าตื่นเต้นมาก เพราะปี 2030 นั้นอยู่ไม่ไกลจากปัจจุบันแล้ว เหลืออีกเพียง 15 ปีก็จะถึงแล้ว โทนี่ เซบา กล่าวคำพูดนี้ครั้งแรกเมื่อปี 2011

โทนี่ เซบา เป็นนักอนาคตศาสตร์ หรือ Futurist ทำงานวิจัยในเรื่องเกี่ยวกับตลาดพลังงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนแนวของตลาดพลังงาน รวมทั้งพลังงานจากแสงอาทิตย์ หรือ Solar energy

จากงานวิจัยตลาดพลังงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นถ่านหิน น้ำมันและแก๊สปิโตรเลียม พลังงานปรมาณู รวมทั้งพลังงานชีวมวล ผลงานวิจัยของเขาสรุปได้ว่าเทคโนโลยีทางด้านพลังงานได้ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว จนคาดการณ์ได้ว่าน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ นิวเคลียร์ ถ่านหิน อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า และเครื่องรถยนต์สันดาปภายในที่ใช้น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ จะพ้นสมัยไปทั้งหมดราวๆ ค.ศ.2030

Advertisement

สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะเทคโนโลยีในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ รวมทั้งพลังงานลม ถ้าสามารถตั้งกังหันลมในที่สูงๆ เป็นกิโลเมตร (กม.) ได้ ซึ่งเชื่อมต่อกับความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีในการเก็บรักษาพลังงานที่มีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก โดยการใช้สารโพแทสเซียมเพื่อเก็บรักษาความร้อน อัตราการสูญเสียเพียง 1% ในระยะเวลานาน 24 ชั่วโมง (ชม.) สามารถเก็บรักษาความร้อนได้เป็นเวลานานมากขึ้น ทำให้เราสามารถใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้ตลอดเวลา 24 ชม. ไม่ว่าจะเป็นกลางวัน กลางคืน ตอนฝนตก ฟ้ามืดครึ้มจากหมอกเมฆ

การที่มีระบบสายส่งไฟฟ้าแรงสูง ทำให้เราสามารถส่งไฟฟ้าในขณะที่กำลังผลิตออกไปเป็นจำนวนมากๆ เพื่อใช้ในเวลากลางวัน อีกส่วนหนึ่งเก็บไว้ในเครื่องมือที่ใช้เก็บพลังงานในห้องขนาดใหญ่ที่บรรจุก๊าซโพแทสเซียม ซึ่งสามารถเก็บความร้อนได้ถึง 99% ในเวลา 24 ชม. เพื่อนำออกใช้ในอัตราเดียวกับตอนกลางคืน ตอนฟ้ามืดครึ้มหรือตอนฝนตก

ขณะที่ราคาค่าใช้จ่ายในการสำรวจ การขุดเจาะ รวมทั้งพื้นที่ที่สูญเสียเพื่อใช้ในการขุดเจาะบนพื้นดิน ต้องใช้พื้นที่มากกว่าพื้นที่ในการติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ทำให้ราคาพลังงานที่ได้จากถ่านหินก็ดี จากน้ำมันก็ดี จากก๊าซธรรมชาติก็ดี จากอุปกรณ์พลังงานนิวเคลียร์ก็ดี มีราคาแพงขึ้นตามลำดับ

สำหรับพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซกัมมันตภาพรังสีเป็นเชื้อเพลิง ขณะนี้ก็มีราคาแพงขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะมีความต้องการใช้ทดแทนพลังงานจากปิโตรเลียมมากขึ้นตามลำดับ ขณะเดียวกันก็มีปัญหาจากแรงต่อต้านการใช้พลังงานปรมาณูมากขึ้น เยอรมนีประกาศเลิกใช้ปรมาณูอย่างเด็ดขาดในอนาคต

เมื่อเกิดอุบัติเหตุจากเหตุแผ่นดินไหว เกิดโศกนาฏกรรมจากเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์รั่วที่ฟุคุชิมา ประเทศญี่ปุ่น อันตรายที่เกิดจากการรั่วไหลของสารกัมมันตภาพรังสีที่เมืองเชอร์โนบิล ในประเทศรัสเซีย ทำให้เกิดการต่อต้านการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์มากขึ้นตามลำดับ รวมทั้งประเทศไทยด้วย การต่อต้านค่อนข้างรุนแรง โอกาสที่จะมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์คงเป็นไปไม่ได้ หรือเป็นไปได้ยาก ฝรั่งเศสเป็นประเทศที่ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์เป็นสัดส่วนที่มากที่สุดเพราะมีราคาถูก กล่าวคือไฟฟ้ากว่าร้อยละ 70 ผลิตจากพลังงานนิวเคลียร์ แต่ก็กำลังจะถูกต่อต้านให้เปลี่ยนเป็นพลังงานอย่างอื่นแทนพลังงานนิวเคลียร์

ในอนาคตอีกไม่นาน ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการเก็บความร้อนไว้ผลิตไฟฟ้าได้ตลอด 24 ชม. ก็จะต่ำกว่าต้นทุนต่อหน่วยจากการผลิตไฟฟ้าโดยใช้พลังงานปรมาณู โรงไฟฟ้าที่ใช้พลังงานปรมาณูก็ไม่มีเหตุผลที่จะดำรงอยู่ต่อไป จะถูกทดแทนโดยโรงไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ไปในที่สุด เพราะเป็นพลังงานที่สะอาดและราคาถูกกว่า

การที่สหรัฐอเมริกาค้นพบเทคโนโลยีในการเจาะพื้นพิภพ สามารถดูดก๊าซธรรมชาติและน้ำมันขึ้นมาใช้ได้ในราคาถูก ทำให้การสกัดน้ำมันจากหินทรายและหินกาบของแคนาดาราคาลดลงจนไม่คุ้มที่จะผลิตต่อไป ในขณะเดียวกันถ่านหินซึ่งเป็นเชื้อเพลิงที่สกปรกเพราะพ่นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมาก ขณะนี้ราคาถ่านหินจากเหมืองหลายแห่ง เช่น ที่อินโดนีเซีย เวียดนาม และที่อื่นๆ ไม่มีราคา ถ่านหินมีราคาเพียงเท่ากับค่าขนส่งเท่านั้น และกำลังจะมีราคาต่ำกว่าค่าใช้จ่ายในการผลิต

ซาอุดีอาระเบียเป็นประเทศที่มีน้ำมันดิบมากที่สุด ประกาศนโยบายจะเสาะหาน้ำมันดิบออกมาขายให้มากที่สุด เพื่อนำเงินมาลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ใช้ผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมรถยนต์ที่ใช้ไฟฟ้าแทนการใช้น้ำมันมากขึ้น สาเหตุสำคัญที่จะทำให้การใช้พลังงานน้อยลงก็ดี เทคโนโลยีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์ไร้คนขับได้ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว เพราะการพัฒนาแบตเตอรี่ ลิเธียมไอออน หรือ Li-ion ซึ่งสามารถเก็บไฟไว้ในแบตเตอรี่เพื่อให้รถยนต์วิ่งได้ไกลถึง 285 กม. ด้วยความเร็วเท่ากับรถยนต์ปกติ รวมทั้งกำลังทดลองรถยนต์ไร้คนขับ เพื่อให้มีต้นทุนการผลิตที่ราคาถูกลง ซึ่งจะได้ประโยชน์หลายอย่าง เช่น เครื่องยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าไม่ยุ่งยากเท่าเครื่องยนต์สันดาปภายใน ค่าบำรุงรักษาจะน้อยลง อะไหล่ที่ต้องเปลี่ยนมีน้อยลง ต่อไปโรงซ่อมรถยนต์ก็จะน้อยลงหรือหมดไป

จากงานวิจัยของโทนี่ เซบา บอกต่อไปว่า ต้นทุนการผลิตพลังงานจากฟอสซิล หรือพลังงานจากถ่านหินน้ำมันและก๊าซมีแต่จะแพงขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าสหรัฐอเมริกาจะค้นพบเทคโนโลยีในการเจาะลงใต้พื้นพิภพลึกกว่า 10 กม. และอัดน้ำมันลงไปไล่ให้ก๊าซและน้ำมันไหลออกมา นอกจากค่าขุดเจาะจะแพงขึ้นเรื่อยๆ แล้ว การขนส่งลำเลียงน้ำเข้ามาในพื้นที่หลุมขุดเจาะก็มีต้นทุนสูง นอกจากนั้นก๊าซธรรมชาติก็ขนส่งออกไปในสภาพเพื่อการส่งออกไม่ได้ ต้องอัดด้วยความดันสูงให้เป็นของเหลวเพื่อจะขนส่งทางท่อได้ซึ่งก็คือต้นทุนที่สูงขึ้น

ส่วนพลังงานจากแสงอาทิตย์ โดยวิธีตั้งแผงที่เรียกว่า solar photovoltaic หรือ PV จะมีราคาถูกลงเรื่อยๆ อัตราการลดลงของราคาต่อหน่วยของการผลิตไฟฟ้าโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์จะลดลง ไม่ใช่ในอัตราทบต้นและจะลดลงในอัตราเร่งที่เร็ว ดังนั้น ในระยะเวลาไม่เกินปี ค.ศ.2030 พลังงานจากถ่านหินก็ดี จากน้ำมันก็ดี จากก๊าซธรรมชาติก็ดีจะหมดยุคสมัยไป จะมีการลงทุนสร้างโรงงานผลิตไฟฟ้าจากพลังแสงอาทิตย์มากขึ้น และค่าไฟฟ้าก็จะมีราคาลดลงตามลำดับ

แต่อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอาจจะเกิดขึ้นในประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐ ยุโรป ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เพราะค่าใช้จ่ายในการลงทุนในระยะสั้นจะสูงเพื่อผลประโยชน์ในระยะยาว เป็นภาระหนักสำหรับประเทศกำลังพัฒนา เมื่อเทียบกับภาระของประเทศที่พัฒนาแล้วในเงินทุนจำนวนเดียวกันต่อกิโลวัตต์/ชม. ดังนั้นประเทศที่พัฒนาแล้วจะได้ประโยชน์ก่อนในการเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่ในตลาดพลังงานของโลก

ถ้าการคาดการณ์ของโทนี่ เซบา เป็นจริง แม้ว่าไม่ทั้งหมด ก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในโครงสร้างของเศรษฐกิจโลก อาจจะเท่าๆ กับการปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุโรป ซึ่งเกิดจากการค้นพบเครื่องจักรไอน้ำที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงในการขับเคลื่อนรถไฟบนราง การผลิตไฟฟ้าด้วยเครื่องกำเนิดไฟฟ้าจากพลังไอน้ำ การค้นพบน้ำมัน ทำให้เกิดอุตสาหกรรมรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน ในอนาคตจะเกิดโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ที่สามารถผลิตและมีไฟฟ้าใช้ทั้ง 24 ชม. รถยนต์เปลี่ยนเป็นรถไฟฟ้า และต่อไปถึงรถยนต์ไร้คนขับ รวมถึงมีอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้มากมายที่มีแบตเตอรี่อายุยาว และอาจจะใช้แสงอาทิตย์หรือแสงไฟฟ้าธรรมดาเป็นพลังงาน ยานอวกาศก็สามารถเดินทางไปไกลๆ ได้โดยใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ เทคโนโลยี อุตสาหกรรม วิถีชีวิตความเป็นอยู่ โครงสร้างอุตสาหกรรม ระบบการเงินคงเปลี่ยนไปไกล การเมืองระหว่างประเทศก็คงเปลี่ยนไป

ทั้งหมดเป็นเพียงจินตนาการเท่านั้น อย่าเพิ่งเชื่อมากนัก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image